เพราะ 'โลก' ยังดีกว่านี้ได้

เพราะ 'โลก' ยังดีกว่านี้ได้

เสียงเล็กๆ ของคนตัวเล็กๆ ที่ขอพูดให้ 'โลก' ฟัง บนเวที One Young World 2015

ขณะที่โลกต่างจับตามองท่าทีของเหล่าผู้นำโลกจากเวที G20 ที่ตุรกีว่าด้วยเรื่องการก่อการร้าย หรือที่ใกล้บ้านเราเข้ามาหน่อยก็เป็นเวทีการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคที่ฟิลิปปินส์ซึ่งว่าด้วยเรื่องเงินๆ ทองๆ

แต่ที่จัดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันยังมีพื้นที่สำหรับเหล่าคนรุ่นใหม่ไฟแรง ที่แม้ไร้ยศไร้ตำแหน่ง แต่ที่อัดแน่นคือ "พลัง" และ "ความหวัง" สู่โลกที่ดีกว่าเดิม

พวกเขามารวมตัวกันในงานประชุมสุดยอดผู้นำรุ่นใหม่ของโลก One Young World 2015 Bangkok ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อ 18 - 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ตลอด 4 วันของการจัดงาน เต็มไปด้วยเยาวชนที่หลากหลายทั้งความสามารถและความสนใจกว่า 1,300 คน จาก 196 ประเทศทั่วโลกที่มาร่วมพูดคุยใน 6 ประเด็นสำคัญ คือ การศึกษา สิ่งแวดล้อม ธุรกิจระดับโลก สิทธิมนุษยชน ภาวะผู้นำและการปกครอง และสันติภาพกับความปลอดภัย

รูปแบบการจัดงาน นอกจากจะมีการเชิญบุคคลระดับโลกมาขึ้นเวทีสร้างแรงบันดาลใจให้กับเหล่าคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ โคฟี่ อันนัน อดีตเลขาธิการยูเอ็น, มูฮัมหมัด ยูนูส นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ, เซอร์บ็อบ เกลดอฟ ศิลปินดังระดับตำนานของประเทศอังกฤษ, โฮป โซโล ผู้รักษาประตูฟุตบอลทีมชาติอเมริกาแชมป์โลกและเหรียญทองโอลิมปิก ฯลฯ และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ การเปิดเวทีให้กับคนรุ่นใหม่ได้สะท้อนเรื่องราวที่คนตัวใหญ่ทั้งหลายได้ฟังอาจมีอึ้ง!

"โลก" ที่มีข้าวกิน

หนึ่งในไฮไลต์ที่ทำให้ห้องประชุมแน่นจนแทบหาที่ว่างไม่ได้ คือ การกลับขึ้นที่เวทีนี้อีกครั้งของ ยอนมี ปาร์ค สาวเกาหลีเหนือวัย 22 ปีที่เคยทำให้โลกตะลึงหลังจากได้ขึ้นมากล่าวทั้งน้ำตาบนเวที One Young World 2014 ที่เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ โดยมีเนื้อหาโจมตี 'ท่านผู้นำ' อย่างไม่มียั้งจนโด่งดังชั่วข้ามคืน คลิปของเธอมีคนดูมากกว่า 2 ล้านครั้ง

ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา เธอได้รับเชิญไปพูดบนเวทีเพื่อสิทธิมนุษยชนระดับโลกมากมาย เช่น Oslo Freedom Forum, Women in the World Summit ที่นิวยอร์ค และเธอได้กลับมาที่เวทีนี้อีกครั้งกับคำปราศรัยที่โลกต้องหยุดฟัง

"..ฉันเกิดในโลกที่ไม่อาจจินตนาการได้ ผู้คนอดอยาก ไม่มีแสงสว่าง แต่เราคิดว่า โลกทั้งใบเป็นแบบนี้ เราถูกสอนว่า เราอยู่ในประเทศที่ดีที่สุดในโลก และผู้คนข้างนอกคือศัตรูที่คิดร้าย" ยอนมี เริ่มต้นเล่าถึงโลกที่เธอจากมา

ขณะที่คนส่วนมากยากจะจินตนาการถึงโลกของเธอได้.. ยอนมี หรือแม้กระทั่งชาวเกาหลีเหนือคนอื่นๆ ก็ยากที่จะนึกภาพตามได้หากได้ยินใครพูดถึงอินเทอร์เน็ต สตีฟ จ๊อบส์ หรือกระทั่งการเซลฟี่

เพราะโลกที่เธอรู้จัก มีแต่ความมืดมิด และความยากไร้ ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เธอและแม่มุ่งหน้าขึ้นเหนือสู่ประเทศจีน ด้วยเหตุผลแค่ว่า ฟ้าทางเหนือมีแสงสว่าง และเธอคิดว่า ถ้าที่นั่นมีแสงสว่าง ก็น่าจะมีข้าวกิน

"ฉันไม่ได้หนีออกมาเพื่ออิสรภาพ แต่ฉันหนีออกมาแค่เพื่อข้าวหนึ่งชาม.. ฉันต้องการแค่นั้นเอง และชาวเกาหลีเหนือก็ต้องการแค่นั้น ฉันไม่รู้จักว่า อะไรคือ เสรีภาพเลยด้วยซ้ำในตอนนั้น" เธอบอก

ระหว่างที่เธอและครอบครัวพยายามหลบหนีข้ามประเทศ ตอนนั้นเธออายุเพียง 13 ปี โดยแม้ที่เมืองจีนจะช่วยให้ท้องอิ่ม แต่ที่นั่น ยอนมี และ แม่ ต้องตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์

"แม่ถูกขายในราคา 65 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนฉันถูกขายในราคา 250 ดอลลาร์ ฉันมานั่งคิดๆ ดูว่า เราสามารถทำอะไรกับเงิน 65 ดอลลาร์ได้บ้าง ฉันมั่นใจว่า มันไม่สามารถซื้อสมาร์ทโฟนที่พวกคุณทุกคนกำลังใช้มันถ่ายรูปฉันอยู่ได้.. แม่ของฉันก็มีค่าน้อยกว่าไอโฟนเครื่องหนึ่ง

พวกเขาบอกฉันว่า ถ้าไม่อยากถูกขาย ก็กลับไปซะ.. แต่ฉันตอบว่าไม่ เพราะฉันหิว และความอดอยากมันแย่ยิ่งกว่าการเป็นทาสกามเสียอีก"

หลังผ่านพ้นขุมนรกสองปีที่เมืองจีน เธอค่อยๆ ได้เรียนรู้ถึงคำว่า "อิสรภาพ" ก็เมื่อหนีมาสู่เกาหลีใต้ และสามารถมีชีวิตในฐานะ "มนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี" คนหนึ่ง

"เมื่อฉันมาถึงเกาหลีใต้ ตอนนั้นอายุ 15 แล้ว แต่ฉันยังคงไม่ประสีประสา ฉันยังไม่รู้วิธีใช้ห้องน้ำด้วยซ้ำ ไม่รู้จักธนาคาร แล้วก็ไม่รู้ว่า อินเทอร์เน็ตคืออะไร ที่โรงเรียน คนถามฉันว่าชอบสีไหน โตขึ้นอยากเป็นอะไร มันเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครถามที่เกาหลีเหนือ เพราะทุกอย่างถูกกำหนดให้โดยรัฐบาล ฉันไม่คุ้นเคยกับการมีสิทธิเลือก เรื่องสีที่ชอบไม่เคยอยู่ในความคิด"

หลังจากเธอมีชื่อเสียง และได้รับเชิญให้ไปพูดในงานต่างๆ ทั่วโลกนั้น สิ่งหนึ่งที่เธอได้พบก็คือ สำหรับสายตาชาวโลก "คิม จอง อึน" เป็นเหมือนตัวตลกที่ทั้งโลกต่างหัวเราะเยาะ

"เขาเป็นเหมือนตัวตลก ซึ่งฉันก็เห็นด้วยนะ ทั้งทรงผมที่ดูตลก แล้วเขาก็อ้วนด้วย อันนี้ฉันเห็นด้วยอย่างมาก เขาดูน่าตลก แต่จริงๆ แล้ว คิม จอง อึน ไม่ใช่ตัวตลกสำหรับฉันเลยนะ เขาเป็นเหมือนพระเจ้าที่พวกเราต้องบูชาทุกๆ วัน แล้วเขาก็เป็นฆาตกร แค่ทำให้เขาเป็นตัวตลกมันยังไม่พอ เขาอาจจะอยากฆ่าฉันอยู่ก็ได้ตอนนี้ (ยิ้ม) แต่ตอนนี้ฉันเป็นอิสระแล้ว ฉันมีสิทธิจะพูดอะไรก็ได้ที่ฉันต้องการ"

แม้จะคุ้นเคยกับอิสรภาพมาแล้วนานปี แต่ยอนมียอมรับว่า มันยังคงเป็นแผลเป็นอยู่ในใจ จนทำให้เธอยากที่จะเชื่อใจใคร แต่เมื่อเธอได้ขึ้นเวทีนี้เมื่อปีก่อน และบอกเล่าเรื่องราวที่ต้องเผชิญในวัย 13.. ในขณะที่ไม่รู้จักว่า "เซ็กส์" คืออะไร แต่เธอก็ได้เห็นแม่ถูกข่มขืน

..เธอร้องไห้ และคนฟังก็ร้องไห้ไปกับเธอ ที่นั่น เธอจึงได้เริ่มฟื้นศรัทธาในเพื่อนมนุษย์กลับขึ้นมา

"ฉันสามารถเชื่อถือผู้คนได้อีกครั้ง โดยเฉพาะผู้ชาย"

เธอยอมรับว่า เธอโชคดีที่ได้มายืนอยู่ตรงนี้ เพราะถ้าวันนั้นเธอหนีไม่สำเร็จ ก็คงไม่มีชีวิตอยู่จนได้มาพูดเรื่องราวทุกอย่างให้โลกฟัง คงไม่ได้บอกเล่าทุกแง่มุมของชีวิตบันทึกลงเป็นหนังสือ "In Order to Live: A North Korean Girl's Journey to Freedom" 

แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายในการตัดสินใจเปิดเผยทุกอย่างที่เป็นเรื่องส่วนตัว แต่เธอก็ยินดีที่จะทำ เพื่อเรียกร้องให้โลกได้นึกถึงพี่น้องอีกกว่า 25 ล้านคนที่กำลังถูกลืมอยู่ในเกาหลีเหนือ

"ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ใดถือเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นธรรมที่มีอยู่ทั้งหมด" ยอนมีทิ้งท้าย

"โลก" ที่เป็นสุข

ขณะที่ยังมีเยาวชนอีกหลายๆ คนได้ร่วมขึ้นเวทีแสดงความคิดเห็น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หัวข้อเรื่อง การก่อการร้าย สันติภาพ และความเท่าเทียม คือ ประเด็นหลักที่หลายคนให้ความสนใจ แต่แค่มองเห็นถึงปัญหายังคงไม่พอ หากไม่ลงมือทำ

อย่าง อาริซา แอนน์ เอส. โนคุม สาววัย 21 จากประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีความขัดแย้งในเรื่องศาสนาไม่ต่างจากอีกหลายๆ ประเทศนั้น เธอมองว่า ความต่างของศาสนาไม่ใช่ต้นตอของความขัดแย้ง พิสูจน์ได้ง่ายๆ ก็คือ ที่บ้านของเธอเอง เพราะเธอโตมาในบ้านที่มีสองศาสนา

“พ่อฉันเป็นมุสลิม ส่วนแม่เป็นคาทอลิก สองศาสนานี้อยู่ร่วมกันในหลังคาเดียวกันได้ พวกเขาสอนฉันเรื่องนี้"

ในความเห็นของเธอมองว่า สาเหตุที่แท้จริงของความรุนแรง เกิดจาก "ความยากจน และไม่เป็นธรรม" และยังเชื่ออีกด้วยว่า "การศึกษา" คือ หนทางที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนขึ้นมาได้

เธอจึงริเริ่มจัดตั้งห้องสมุด KRIS เพื่อให้การศึกษากับเยาวชนในพื้นที่ยากจนและพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง เพราะเห็นว่า “ความขาดแคลน” เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาภายในประเทศ ถ้าแก้ปัญหานี้ไปพร้อมๆ กับการสร้างมิตรภาพ เยาวชนทั้งหลายก็จะโตขึ้นมาอย่างเข้าใจกัน

"ตอนนี้ห้องสมุดของเรามีอยู่ 6 แห่งทั่วฟิลิปปินส์ ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคที่มีกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งมีความพยายามที่จะชักชวนเด็กมาเข้าร่วมกับกองกำลัง เมื่อมีห้องสมุด เด็กๆ ก็สามารถเข้ามาใช้ บางคนเพิ่งจะได้รู้จักคอมพิวเตอร์เป็นในชีวิตเขา ตอนที่เราเริ่มต้น เด็กมุสลิมจะไปด้าน คริสต์ก็ไปทาง แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาก็เริ่มคุยกัน ถามคำถามกัน อ่านหนังสือด้วยกัน สอนกัน และในที่สุดแล้วเขาก็จะออกไปในฐานะเพื่อนกัน”

อาริซาเป็นเยาวชนที่ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในร้อยคนของรางวัล “Influential Filipina Women in the World” ที่ให้กับผู้หญิงฟิลิปปินส์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับโลก และยังได้รางวัล "Zonta’s Young Women" ในสาขากิจกรรมสาธารณะตั้งแต่อายุ 17 ปี

ส่วนสาวไทยในวัย 19 อย่าง กมลนันท์ เจียรวนนท์ หรือ "ฟ่ง" ที่ได้รับโอกาสให้ร่วมขึ้นกล่าวในหัวข้อ "สิทธิมนุษยชน" ซึ่งเป็นเรื่องที่เธอสนใจมาตั้งแต่วัยรุ่น

"ฉันได้เดินทางไปยังภาคเหนือของประเทศไทย ติดกับชายแดนพม่า ที่นั่นฉันได้พบกับผู้หญิงคนหนึ่ง ฉันเรียกเธอว่า ซันไชน์ เพราะเธอมีรอยยิ้มที่สดใส เธอถูกกระทำทารุณกรรมทางเพศและเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์เป็นเวลาหลายปี บริเวณที่ติดกับชายแดนนี้ มีคนไร้สัญชาติเหมือนซันไชน์มากมาย และยังมีคนไร้สัญชาติประมาณ 3.5 ล้านคนที่เร่ร่อนโดยไม่ได้รับสิทธิหรือการปกป้องใดๆ" เธอเล่าบนเวที

หลังจากที่ได้เจอกับ "โลกแห่งความจริง" ฟ่งในวัย 14 ก็เลยร่วมกับเพื่อน-สวรินทร์ ภุมรินทร์ ก่อตั้งองค์กรที่มีชื่อว่า “voices” เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ถูกทำร้าย โดยเฉพาะคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ มีการระดมทุน ขอบริจาคยาเพื่อส่งไปยังชายแดน และขอให้ทนายความมาช่วยเรื่องการขอสัญชาติ แต่ก็ใช้เวลานานทีเดียว ซึ่งก็ทำให้ฟ่งยิ่งเห็นถึงความซับซ้อนของปัญหาขึ้นไปอีก

"แม้ฉันจะภูมิใจในความพยายาม แต่ก็ยังห่างไกลกับคำว่า เพียงพอ เราต้องเผชิญกับความเปราะบางมาตลอด เนื่องจากในไทย การช่วยขอสัญชาติยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และเรื่องเหล่านี้ก็แทบจะไม่ได้รับการปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลง เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน แล้วคนทั่วไปยังไม่รู้ถึงความทุกข์คนไร้สัญชาติเหล่านี้เลย" ฟ่งให้ความเห็น

วันนี้ เธอกำลังศึกษาต่อด้าน Social Work ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค พร้อมๆ กับเรียนด้าน Social Entrepreneurship ควบคู่ไปด้วย เมื่อถามถึงความรู้สึกว่า ตัวแปลกกว่าเด็กในวัยเดียวกันไหมในการลุกขึ้นมาทำเรื่องทำนองนี้..

"ก็แปลก แต่มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะแปลกหรือเปล่าคะ สิ่งที่ไม่ชอบมากๆ คือ เวลามีคนมาชมหรือทักว่า ทำไมอายุเท่านี้สนใจเรื่องแบบนี้ คือ ถ้าได้รู้เรื่องแบบนี้ แล้วทำไมเราจะไม่ลุกขึ้นมาทำล่ะ" เธอตอบ

และเธอเชื่อว่า "ทุกคน" ต่างก็สามารถลุกขึ้นทำอะไรได้ ไม่ว่ามันจะเล็กน้อยแค่ไหน

"แค่บอกต่อๆ กันว่า เราไม่ควรกั้นคนไร้สัญชาติออกจากประเทศ เราไม่ควรคิดว่า เขาไม่เหมือนเรา เราจะบอกเด็กสองขวบได้ยังไงว่า เขาไม่เหมือนเรา มันเป็นทัศนคติที่เราต้องก้าวข้ามไปให้ได้"

ขณะที่ เมรอน เซเมดาร์ หนุ่มวัย 29 จากประเทศเอริเทรีย ดินแดนซึ่งเป็นหนึ่งในผลพวงจากความรุนแรงจนต้องอพยพย้ายถิ่นฐานเช่นกัน

สำหรับตัวเขาเอง ก็เคยผ่านเส้นทางแสนอันตรายระหว่างการอพยพ ซึ่งหลายๆ คนที่เดินทางมาพร้อมกันไม่สามารถบรรลุถึงปลายทางได้ แต่เขาเองแม้จะโชคดีที่เดินทางมาถึง แต่ก็ต้องจมจ่อมอยู่ในแคมป์ผู้ลี้ภัย ไม่สามารถเข้าถึงได้ทั้งการทำงานหรือการศึกษา เขาอยู่อย่างสิ้นหวังเป็นปีๆ ก่อนจะได้รับสิทธิเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง

"เวลาที่เราพูดคุยกันถึง จำนวนผู้ลี้ภัย มันไม่ใช่แค่เรื่องตัวเลข แต่เรากำลังพูดถึง คน เหมือนกันๆ กับคุณหรือผม" เขาบอก ก่อนจะฝากทิ้งท้ายไปถึงทุกๆ คนว่า

"ผมขอวิงวอนให้ทุกๆ คนต้อนรับเหล่าผู้ลี้ภัย และเคารพในสิทธิมนุษยชนของพวกเขา"

แทบไม่ต่างกันกับสิ่งที่ แดเนียล ชูตูริก เยาวชนจากบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาพบเจอเมื่อครั้งที่เขาอาศัยอยู่ในแคมป์ผู้ลี้ภัย เขาบอกว่า มีเด็กจำนวนเพียงนิดเดียวที่สามารถไปโรงเรียนได้ แต่ก็ใช่ว่า จะโชคดีมากนัก เพราะที่โรงเรียนก็ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอน

เมื่อได้รับโอกาส แดเนียล จึงขอเลือกที่จะทำงานด้านการศึกษา โดยปัจจุบัน เขาเป็นผู้อำนวยการบริหารสมาคมเพื่อการพัฒนาสังคมความรู้ “ลูมินา” ซึ่งเขาเชื่อว่า การให้การศึกษากับเด็กๆ ผู้ลี้ภัย จะสามารถป้องกันเด็กเหล่านี้ออกจากกระบวนการผิดกฎหมายเช่นการค้ามนุษย์ได้

"ผมจำได้ว่า ตอนเด็กๆ ผมมีดินสอสีเขียว เวลาที่มันหดสั้นลงและกุดไป ผมจะร้องไห้ทุกครั้ง และปัจจุบัน เราก็ยังมีเด็กๆ ที่กำลังถือดินสอที่หดสั้นลงๆ อีกเป็นจำนวนมาก"

และนั่นย่อมหมายความว่า.. "โลกนี้ยังดีไม่พอ"