คลังชงแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน

คลังชงแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน

"กฤษฎา" เผย กระทรวงคลังเตรียมแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย คุมเข้มผู้บริหารธนาคารรัฐ

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค.ได้เสนอแก้ไข พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน มาตรา 120 ให้กับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง พิจารณาแล้ว เพื่อให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าไปกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (ธนาคารรัฐ) ได้เต็มที่เหมือนกับกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ก่อนเสนอผ่านความเห็นชอบจาก ครม. และการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่าจะดำเนินการให้มีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 59

ทั้งนี้ การเข้าไปกำกับธนาคารรัฐของ ธปท.ที่ผ่านมา ยังมีปัญหาทำได้ไม่เต็มที่ เพราะยังติดปัญหากฎหมายจัดตั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจในแต่ละแห่ง เช่น ในเรื่องของการเปลี่ยนตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหาร ให้เป็นอำนาจของ รมว.คลัง หรือ ให้ ครม.เห็นชอบ แต่หากแก้ไขกฎหมายธุรกิจสถาบันการเงินก็จะให้เป็นอำนาจของ ธปท. ทั้งหมด

"การแก้กฎหมายมาตรา 120 จะให้อำนาจ ธปท. เต็มที่ทำได้ทุกอย่าง โดยเขียนไว้ชัดเจนหากกฎหมายจัดตั้งขัดกับกฎหมายธุรกิจสถาบันการเงิน ก็ให้ ธปท. มีอำนาจตามกฎหมายธุรกิจสถาบันการเงิน จะทำให้ ธปท. เข้าไปดูการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการและผู้บริหารของสถาบันการเงินทั้งหมด"

รายงาน ข่าวกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้โอนการกำกับดูแลธนาคารรัฐไปให้ ธปท. กำกับดูแลตามมติของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ ซุปเปอร์บอร์ด เพราะต้องการให้ทำงานของสถาบันการเงินมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ไม่เป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองที่ดำเนินสนองนโยบายมาตรการ จนเกิดความเสียหายเหมือนโครงการจำนำข้าวที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ภายหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ธนาคารรัฐที่จะได้รับกระทบมากที่สุด คือ ธนาคารออมสิน เนื่องจากมีปัญหาหนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะหนี้เสียจากครู ที่ตอนนี้มีหนี้เสีย 2,000 ล้านบาท และมีหนี้ที่จะตกชั้นเป็นหนี้เสียในปีนี้อีกกว่า 10,000 ล้านบาท หากการแก้ไขปัญหาไม่สำเร็จปีหน้านี้เสียครูจะเพิ่มเป็น 50,000 ล้านบาท โดยนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังระบุว่าการแก้ไขปัญหาหนี้เสียครูของออมสินไม่ได้ง่าย และที่ผ่านมาได้สั่งการให้ฝ่ายบริหารของธนาคารเร่งแก้ไขมานานแล้ว ก็ต้องดูต่อไปว่าจะได้ผลหรือไม่

ส่วนของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ก็เป็นธนาคารอีก 2 แห่ง ที่ถูก ธปท. กำกับดูแลเข้มข้น เนื่องจากมีหนี้เสียจำนวนมากรวมกันถึง 80,000-90,000 ล้านบาท โดยเฉพาะการแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารเข้าไปดูแลจะถูกตรวจสอบจาก ธปท. เพื่อไม่ให้เข้าไปสร้างความเสียหายให้กับธนาคารอีกต่อไป