'พลังงาน' โจทย์ใหม่ 'สยามราช'

'พลังงาน' โจทย์ใหม่ 'สยามราช'

บมจ.สยามราช รับกำลังส่อง 'ธุรกิจไฟฟ้า' หวังช่วยหนุนรายได้อนาคตขยายตัวปีละ50% 'เกียรติ วิมลเฉลา' แม่ทัพใหญ่ ย้ำธุรกิจจำหน่ายปั๊มพระเอกปีหน้า

แม้ บมจ.สยามราช หรือSR ของ 'ตระกูลวิมลเฉลา' ที่มีสัดส่วนการถือหุ้น 60% (ตัวเลขหลังเสนอขายหุ้นไอพีโอ) จะเข้าตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ด้วยเกณฑ์ Market Capitalization Test เป็นตัวที่ 4 ต่อจาก บมจ.หุ้น เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น หรือ PACE บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ ANAN และบมจ.ไทยฟู้ดส์ กรู๊ป หรือ TFG

แต่หุ้น SR ก็สามารถเปิดซื้อขายวันแรก (11 พ.ย.) ที่ระดับ 5.05 บาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 44.29% จากราคาขายไอพีโอ 3.50 บาทต่อหุ้น ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่สำหรับหุ้นที่เข้าด้วยเกณฑ์มาร์เก็ตแคป เนื่องจากทั้งหุ้น PACE หุ้น ANAN และหุ้น TFG ต่างเปิดซื้อขายต่ำจองในวันแรก
สาเหตุสำคัญที่ทำให้หุ้น SR แตกต่างจากหุ้น 3 ตัวก่อนหน้านี้ คือ 'ผลขาดทุน' ในปี 2557 จำนวน 53.31 ล้านบาท เกิดจากการตั้งสำรองค่าเผื่อการด้อยค่า อาคารและอุปกรณ์ในสถานีบริการ สาขากำแพงเพชร และสาขาพิษณุโลก 78.66 ล้านบาท การตั้งสำรองค่าเผื่อการลดมูลค่าสินค้าคงเหลือรวมจำนวน 33.63 ล้านบาท และการบันทึกค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการจ่าย โดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชี 78.56 ล้านบาท เป็นต้น 

โดยการปรับเปลี่ยนระยะเวลาการตั้งสำรองได้ดำเนินตามคำแนะนำของสำนักงานก.ล.ต. ฉะนั้นการตั้งสำรองในครั้งเดียวจะทำให้ในปีถัดไปบริษัทไม่ต้องบันทึกค่าใช้จ่ายที่เป็นรายการพิเศษทางบัญชีอีก

ทั้งนี้หากย้อนดูงบการเงินในช่วงปี 2556 จะพบว่า บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 16.61 ล้านบาท และปรับตัวขึ้นเป็น 79.12 ล้านบาท ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาของปี 2558 ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 3 ประเภท คือ 1.กลุ่มธุรกิจก่อสร้างสถานีวัดและระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (Metering and Pipeline Transmission: MPT) 2.กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ สำหรับยานยนต์ (Natural Gas for Vehicles: NGV) 3.กลุ่มธุรกจิระบบปั๊มอุตสาหกรรม (Engineered Pumps and

ขณะเดียวกันบริษัทยังมีสัดส่วนการร่วมทุนในกิจการร่วมค้าสยามราชธานี 90% โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดหาอุปกรณ์ ประมูลงาน และก่อสร้างสถานีวัดและระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ รวมถึงยังมีสัดส่วนการร่วมทุนในกิจการร่วมค้าสยามราชธานีและเอ็นจิเนียริ่งโปรดักส์ 25% เพื่อประกอบธุรกิจให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์

'เกียรติ วิมลเฉลา' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบมจ.สยามราชบอกเหตุผลที่ทำให้ราคาหุ้น SR เปิดตัวสูงกว่าราคาจองกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ว่า แนวโน้มการทำธุรกิจในอนาคตของเราจะเติบโตต่อเนื่อง ตามแนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกปี

ขณะที่ธุรกิจระบบปั๊มอุตสาหกรรมที่ SR เป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับแบรนด์ ITT Goulds Pumps ซึ่งเป็นปั๊มประเภท Process Centrifugal Pump ชั้นนำระดับโลกจะส่งผลให้บริษัทขึ้นแท่น 'เบอร์1ของประเทศ' ฉะนั้นเรื่องนี้จะเป็นแรงผลักดันให้ฐานะการเงินของเราแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง

บมจ.สยามราชก่อตั้งเมื่อ 30 ปีก่อน เริ่มต้นจากการทำธุรกิจปั๊มอุตสาหกรรม หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง คือ พี่สาว แต่ปัจจุบันแยกตัวออกไปทำธุรกิจของตัวเองแล้ว ผมเชื่อว่า การนำพา SR เข้าตลาดหุ้นจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญขององค์กร เพราะเงินที่ได้จากการระดมทุนจะทำให้บริษัทมีประสิทธิภาพในการแข่งขันมากขึ้น และเป็นที่รู้จักในวงการ

เมื่อถามถึงแผนธุรกิจในอนาคต 'ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร' เล่าว่า สำหรับ 'ธุรกิจให้บริการงานวิศวกรรมก่อสร้างสถานีวัดและระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ' ปัจจุบันสร้างรายได้ให้บริษัทเฉลี่ย 60% ลูกค้าหลัก คือ ปตท.สผ. ,เชฟรอน รวมถึงกลุ่มโรงไฟฟ้า ล่าสุดบริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างสถานีวัดและระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ มูลค่า 665 ล้านบาท และอยู่ระหว่างเดินหน้าประมูลงานใหม่ๆ

สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในธุรกิจนี้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่อยู่ในกระบวนการสำรวจผลิต จัดหา และจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ นั่นคือ กลุ่มสำรวจและขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ ปตท.สผ. และ เชฟรอน และกลุ่มจัดหาและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ ปตท.

2.กลุ่มผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ โดยบริษัทจะได้รับการว่าจ้างจากเจ้าของโครงการโดยตรงในการก่อสร้างสถานีวัดและระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ

3.ผู้รับเหมาหลักที่รับงานจากเจ้าของโครงการ ทั้งจากกลุ่มผู้ที่อยู่ในกระบวนการสำรวจ ผลิตจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติและกลุ่มผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ โดยผู้รับเหมาหลักจะว่าจ้างบริษัทเป็นผู้รับเหมาช่วง สำหรับงานในส่วนการก่อสร้างสถานีวัดและระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ กลุ่มผู้รับเหมาหลักที่ได้รับการคัดเลือกจากเจ้าของโครงการส่วนใหญ่จะเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ที่มีคุณภาพและความสามารถในการรับงาน และเป็นที่รู้จักกันดีในอุตสาหกรรม

ส่วนแผนงานใน 'ธุรกิจให้บริการที่เกี่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์' (NGV)ภายใต้ชื่อ 'สยามราช' ล่าสุดสร้างรายได้ให้บริษัทเฉลี่ย 30% ปัจจุบันเรามีสถานีบริการ 2 แห่ง และมีสถานีบริการที่จำหน่ายให้กับรถร่วม และบขส. 2 แห่ง ตอนนี้เราอยู่ระหว่างดำเนินการในธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ มูลค่า 75 ล้านบาท และยังมีแผนจะมีการประมูลงานใหม่ๆ เพิ่มเติมอีก

สำหรับแผนงานของ 'ธุรกิจออกแบบและจำหน่ายระบบปั๊มอุตสาหกรรมและระบบวิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง' (EPS)คิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 10% โดยลูกค้าหลัก คือ โรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า

เขา เล่าว่า 'กำไรขั้นต้น' หรือ Gross marginใน 3 ธุรกิจจะมีตัวเลขที่แตกต่างกัน คือ 13% ,6-7% และ 35% ตามลำดับ สาเหตุที่ทำให้ธุรกิจออกแบบและจำหน่ายระบบปั๊มอุตสาหกรรมมีกำไรขั้นต้นที่สูงกว่าสองธุรกิจที่สร้างรายได้ในสัดส่วนที่มากกว่าเป็นเพราะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรม

ทั้งนี้ธุรกิจออกแบบและจำหน่ายระบบปั๊มอุตสาหกรรมจะ 'โดดเด่นมาก' ในปี 2559 เนื่องจากปีหน้าเราจะมีสินค้าตัวใหญ่ออกสู่ตลาด ล่าสุดบริษัทได้เป็นตัวแทนจำหน่ายปั๊มอุตสาหกรรมแบรนด์ ITT Goulds Pumps ซึ่งเป็นแบรนด์ระดับโลก เชื่อว่าจะสร้างยอดขายที่ดี

โดยสินค้าของเราจะเข้าไปในตลาดเดิมที่เรามีประสบการณ์ คือ 'ตลาดขบวนการผลิตและแปรรูป' เช่น โรงกลั่นน้ำมัน ,ปิโตรเคมี ,โรงกลั่นน้ำมันพืช ,โรงกระดาษ , โรงไฟฟ้า เป็นต้น ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าประมาณ 2,000 ราย แบ่งเป็นลูกค้าที่ 'แอ็คทีฟ' ประมาณ 300-400 ราย ฉะนั้นเพียงเราบอกลูกค้าว่า มีสินค้าตัวใหม่ที่มีประสิทธิภาพที่กว่าเขาย่อมสนใจสั่งซื้อ

ดังนั้นรายได้จากธุรกิจออกแบบและจำหน่ายระบบปั๊มอุตสาหกรรมในปี 2559 จะมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 25% จากปีนี้ที่อยู่ 10% ส่วนรายได้จากธุรกิจก่อสร้างสถานีวัดและระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติจะลดลงเหลือ 50% จาก 60% ธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์จะอยู่ที่ 25% จากเดิม 30%
ส่วนตัวมองว่า ภายใน 3 ปีข้างหน้า (2559-2561) ธุรกิจออกแบบและจำหน่ายระบบปั๊มอุตสาหกรรมจะขึ้นแท่น“พระเอก”ของกลุ่ม ซึ่งถือว่าเป็นจังหวะและโอกาสของบริษัท หลังธุรกิจให้บริการงานวิศวกรรมก่อสร้าง และธุรกิจให้บริการที่เกี่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติอาจมีการเติบโตที่ทรงตัว หรือไม่โดดเด่น

'หากธุรกิจตัวไหนไม่ดีจะมีธุรกิจอีกตัวโดดขึ้นมาเด่น นั่นคือ ข้อดีของเรา' 

'เกียรติ' บอกว่า แม้เราจะตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้ที่ระดับ 20-30% ต่อปี แต่ในความเป็นจริงแล้วอยากเห็นรายได้ขยายตัวปีละ 50% ฉะนั้นเราจำเป็นต้องมี 'ธุรกิจใหม่' เข้ามาเสริม ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ 'พลังงานไฟฟ้า' 

โดยเราจะโฟกัสในธุรกิจที่บริษัทมีความถนัด และจะไม่กระโดดเข้าไปในธุรกิจที่ไม่เคยทำหรือไม่มีประสบการณ์ ซึ่งเราให้ความสนใจธุรกิจโรงไฟฟ้า ซึ่งจะเปิดกว้างทั้งโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงต่างๆ ลักษณะการลงทุนมีทั้งลงทุนเอง หรือร่วมลงทุน คาดว่าต้นปี 2559 จะมีความคืบหน้า

'สาเหตุที่บริษัทสนใจเข้าลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า เนื่องจากประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีความต้องการใช้พลังงานมากขึ้น ถือเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ที่ดีทางหนึ่งของบริษัท' 

ในปีหน้าอาจเห็นบริษัทขยายการลงทุนเข้าไปในต่างประเทศ ปัจจุบันกำลังส่งทีมงานเข้าไปศึกษาตลาดว่าในแต่ละประเทศต้องการสินค้าแบบไหน หรือลงทุนในธุรกิจไหนที่มีความเป็นไปได้มากสุด ซึ่งบริษัทยังไม่มีรายได้จากต่างประเทศโดยตรง มีเพียงการขายสินค้าให้กับลูกค้าที่เข้าไปลงทุนในต่างประเทศเท่านั้น

เขา พูดต่อว่า สำหรับผลประกอบการณ์ปี 2559 เราตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ระดับ 1,700 ล้านบาท เติบโต 20-30% จากปี 2558 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1,600 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีงานในมือ (Backlog) ที่จะรับรู้ปีหน้า 740 ล้านบาท

แบ่งเป็นงานก่อสร้างสถานีวัดและระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ มูลค่า 665 ล้านบาท ณ สิ้นเดือน มิ.ย.58 และอีก 75 ล้านบาท ในกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ และบริษัทมีแผนจะมีการประมูลงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

สำหรับในแง่ของ 'อัตรากำไรสุทธิ' บริษัทจะพยายามรักษาอยู่ที่ระดับ 7.83% จากการลดค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน รวมถึงบริษัทจะเพิ่มสัดส่วนรายได้การจำหน่ายระบบปั๊มอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งงานนี้มีอัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิในระดับสูง

ทั้งนี้เงินที่ได้จากการระดมทุนบริษัทจะนำไปเป็นเงินทุนสนับสนุนโครงการและเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ เพื่อรองรับการขยายตัวธุรกิจ เนื่องจากแนวโน้มการใช้ก๊าซธรรมชาติในอนาคตมีเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากแผนการขยายโครงข่าย ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติสายหลัก และแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติของบริษัท ถือเป็นโอกาสที่สำคัญทางธุรกิจของบริษัทในการเติบโตในอนาคต

นายใหญ่ วิเคราะห์ว่า ประเทศไทยยังคงมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น โดยในเดือน พ.ค.2558 ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 34,870 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานไฟฟ้าจาก กฟผ.15,482 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน 44% รับซื้อจาก IPP จำนวน 13,167 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน 38% รับซื้อจาก SPP จำนวน 3,817 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน 11%

รวมถึงนำเข้าจากต่างประเทศ จำนวน 2,404 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน 7% โดยในช่วง 5 เดือนแรกปี 2558 ก๊าซธรรมชาติถูกนำมาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในสัดส่วนสูงถึง 70% ซึ่งแนวโน้มจะสูงขึ้นต่อเนื่องด้วย

ทั้งนี้ประเทศไทยมีอัตราการบริโภคก๊าซธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมและภาคการขนส่งเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 จะก่อให้เกิดความเชื่อมโยงทางด้านพลังงานทั้งในรูปแบบของการเชื่อมโยงพลังไฟฟ้ากับอาเซียน (ASEAN Power Grid) และการเชื่อมโยงท่อก๊าซธรรมชาติในอาเซียน (Transfer ASEAN Gas Pipeline)

โดยความเชื่อมโยงระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติระหว่างประเทศนี้จะเป็นผลดีต่อประเทศไทยในการเสาะหาแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่ๆ เพื่อมารองรับการบริโภคในประเทศที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงการลงทุนระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของปตท. ซึ่งในการลงทุน เพื่อขยายโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาตินี้มีความเกี่ยวเนื่องกับผลการดำเนินงานของบริษัท

ทั้งนี้เนื่องจากการลงทุนดังกล่าวจะเป็นการขยายโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้มีการส่งก๊าซธรรมชาติไปยังโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม และผู้ใช้งานอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งในการลำเลียงก๊าซธรรมชาติ เพื่อมาใช้ประโยชน์ มีความจำเป็นต้องเชื่อมต่อระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากท่อส่งก๊าซสายหลักไปยังท่อส่งก๊าซสายย่อย

รวมถึงการก่อสร้างสถานีวัดก๊าซธรรมชาติและติดตั้งอุปกรณ์วัดปริมาณ วัดส่วนประกอบ และค่าพลังงานของก๊าซธรรมชาติ เพื่อปรับคุณภาพก๊าซธรรมชาติก่อนนำไปใช้งานและเพื่อการซื้อขาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการจัดหาและซื้อขายก๊าซระหว่าง ปตท. กับผู้ใช้งานปลายทางดังกล่าว รวมถึงการลงทุนในโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ๆ ด้วย

อย่างไรก็ดีสำหรับเรื่องคดีความกับกรมศุลกากร ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของตำรวจเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท เพราะได้มีการตั้งสำรองครบตามจำนวนที่ 72 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2556 แล้ว ซึ่งในช่วงที่บริษัทนำเสนอข้อมูล(โรดโชว์) ไม่มีนักลงทุนถามประเด็นดังกล่าวเพราะเป็นประเด็นในอดีตนานแล้ว ซึ่งบริษัทยังไม่สามารถตอบได้ว่า เรื่องดังกล่าวจะสิ้นสุดเมื่อไร เพราะอยู่ในกระบวนการดำเนินงาน