ย้อนรอย'บลิสเชอร์'แชร์ลูกโซ่ขายฝัน

ย้อนรอย'บลิสเชอร์'แชร์ลูกโซ่ขายฝัน

ย้อนรอยคดีดัง"บลิสเชอร์"แชร์ลูกโซ่ขายฝัน ที่มาของโทษ“คุกแสนกว่าปี”

ถือเป็นคดีที่ต่อสู้ยาวนานมากคดีหนึ่ง สำหรับกรณี ของ บริษัท บลิสเชอร์ อินเตอร์กรุ๊พ จำกัด ที่ถูกฟ้อง ในฐานความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และเป็นคดีใช้เวลาถึง 21 ปี คดีนี้อัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องบริษัท บลิสเชอร์ อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด นาวสาวอังสุนีย์ พัฒนานิธิ อดีตกรรมการบริษัท นางสาวปัรจวรรณ เบญจมาศมงคล อดีตผู้ก่อตั้งบริษัทและผู้ถือหุ้น นายแสงทอง แซ่กิม อดีตผู้ก่อตั้งบริษัทและพนักงานฝ่ายขายอิสระ และนายอรรณพ หรืออาร์ต กุลเสวตร์ อดีตผู้จัดการสาขาศูนย์สีลม ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และความผิดตาม พ.ร.ก.ว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 หลายๆ คนอาจจะลืมชื่อของบริษัท บลิสเชอร์ อินเตอร์กรุ๊พ จำกัดไปแล้ว 

ย้อนกลับไปเมื่อสักประมาณช่วงปี 2534 ได้มีกลุ่มธุรกิจกลุ่มหนึ่ง ชื่อ “บลิสเชอร์” และระบุว่าทำธุรกิจจัดสรรวันพักผ่อน หรือไทม์แชริ่ง โดยเปิดรับสมาชิกจำนวนมาก ผู้สมัครในชั้นแรกจะต้องจ่ายเงินจำนวน 30,000 บาท และจะมีสิทธิ์เข้าพักในโรงแรมต่างๆ เป็นเวลา 4 วัน 4 คืนต่อปี นาน 20 ปี ที่น่าสนใจก็คือ หากผู้สมัครจัดหาสมาชิกเข้าร่วมโครงการจะได้ค่าตอบแทนอีก 20% และหากสามารถจัดหาผู้สมัครรายอื่นเพิ่มเติมก็จะได้ค่าตอบแทนอีก 20% โดยที่ผู้สมัครที่ให้การแนะนำเป็นคนแรกก็จะได้ค่าตอบแทนเช่นกันลดหลั่นกันไป สื่อมวลชนในยุคนั้นให้ความสนใจอย่างมากที่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของบริษัทดังกล่าว และเริ่มนำเสนอข่าวของธุรกิจไทม์แชริ่งพันธุ์ใหม่ เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2535

เนื่องจากผู้ชักชวนมักจะกระตุ้นอยู่เสมอๆ ว่า หากหาสมาชิก เพิ่มได้อย่างน้อย 4-5 คน ก็จะคุ้มทุน 30,000 บาทที่เสียไปแล้ว แต่ถ้าหาสมาชิกได้จำนวนมากกว่านี้ รายได้จากเปอร์เซ็นต์ก็จะพอกพูนขึ้นตามจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้น จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของสื่อ ความจริงที่ปรากฏก็คือการชักชวนชาวไร่ชาวสวนจากต่างจังหวัดเพื่อให้เข้ามาสมัครเป็นสมาชิก ด้วยการใช้รายได้จำนวนมหาศาลในการจูงใจ บางครั้งมีการนำเช็กที่สมาชิกบางคนได้รับมาโชว์ให้กับ “เหยื่อ” ที่กำลังสนใจได้ชมเป็นขวัญตาว่าหากทำได้จะได้รับผลตอบแทนเป็นเงิน 5 หลัก 6 หลักเลยทีเดียว ขณะที่การต้อนคนจากพื้นที่ต่างๆ เพื่อเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกยังดำเนินต่อไป แต่อีกฟากหนึ่งก็เริ่มมีเสียงร้องเรียนจากคนที่เข้าไปสมัครเป็นสมาชิกแล้วไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่บลิสเชอร์กล่าวอ้าง จากนั้นหนังสือพิมพ์หลายๆฉบับก็เริ่มนำเสนอข่าวนี้เป็นระยะๆ 

ขณะที่กระทรวงการคลังที่ประกอบด้วยคณะกรรมการ ป้องปรามธุรกิจเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และกองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ (สศก.) ได้มีการจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ การเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่ของบลิสเชอร์ มีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อกระทรวงการคลังได้ประกาศแถลงการณ์ให้ประชาชนระวังในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือร่วมลงทุนในธุรกิจใด เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2536 เมื่อมีข่าวคราวออกไปดังกล่าวทำให้ประชาชนเริ่มระวังตัวมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้การดำเนินการของบลิสเชอร์สะดุดตามไปด้วย ซึ่งบลิสเชอร์ก็พยายามแก้เกมด้วยการใช้วิธีการโฆษณาผ่าน สื่อต่างๆ และยังชักชวนให้คนที่สนใจสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกและพร้อมจะจ่ายผลตอบแทนให้ในอัตราที่สูง ขณะที่กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้สศค.และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เร่งศึกษาแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ 2 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว คือ พ.ร.ก.การกู้ยืมอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และ พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 เมื่อเริ่มจนมุม “บลิสเชอร์” ก็เริ่มออกแรงดิ้น ด้วยการยื่นฟ้องสื่อเป็นหลายคดีและเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนมาก จากการที่สื่อเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับตนเอง

ด้านกระทรวงการคลังก็ไม่หยุดนิ่งโดยได้ออกประกาศมาเตือนประชาชนอีกครั้งหนึ่งเมื่อปลายเดือนมกราคม 2537 และเริ่มมีประชาชนจากต่างจังหวัดเดินทางเข้ามาร้องเรียนต่อสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นระลอกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเป็นสมาชิกของบลิสเชอร์ จากนั้นกระทรวงการคลังก็ได้รวบรวมเรื่องราวทั้งหมดรายงานต่อนายชวนหลีกภัยนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น พร้อมนายกฯในขณะนั้นยังมี คำสั่งให้กระทรวงการคลังรีบคลี่คลายปัญหานี้โดยเร็วก่อนที่เรื่องจะบานปลาย ภายหลังการประชุมของคณะกรรมการป้องปรามธุรกิจการเงินนอกระบบเมื่อวันที่12กุมภาพันธ์ 2537 ก็ตัดสินใจลงดาบ บลิสเชอร์ ในฐานะความผิดตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2534 ตามมาตรา 4 และ 5 ฐานหลอกลวงประชาชน เป็นการปิดฉากแชร์ลูกโซ่พันธุ์ใหม่แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

โดยเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2537 อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท บลิสเชอร์ อินเตอร์กรุ๊พ จำกัด นายธน อัจฉริยวโรดม, น.ส.อังสุนีย์ พัฒนานิธิ, น.ส.ปัญจวรรณ เบญจมาศมงคล, นายสาวิตร โกกิลานนท์, น.ส.มณีรัตน์ ถาวรยศ, นายแสงทอง แซ่กิม, นายกิตติ เสนีย์สิริกุล, นายอรรณพ กุลเสวตร์ และนายสุพจน์ โชติเสรีวิทย์ ร่วมกันเป็นจำเลย โดยระบุว่ามีผู้เสียหายหลงเชื่อ24,189 ราย มูลค่าความเสียหาย 826,266,000 บาท

ซึ่งศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาจําคุกนาวสาวอังสุนีย์ นายแสงทอง และนายอรรณพ จําเลยที่ 2, 4 และ 5 ซึ่งเป็นกรรมการที่มีอํานาจในบริษัทฯ ฐานฉ้อโกงประชาชน รวม 24,189 กระทง จำคุก 120,945 ปี แต่ตามกฎหมายเมื่อรวมลงโทษทุกกระทงแล้วให้จําคุกจําเลยทั้ง 3 ได้ไม่เกิน 20 ปี และยกฟ้องจำเลยที่เหลือ ซึ่งนางสาวอังสุนีย์ และ นายแสงทอง จำเลยที่ 2 และ 4 ยื่นอุทธรณ์ ส่วนนายอรรณพ จำเลยที่ 5 ขอรับโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ขณะที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น พร้อมออกหมายจับนางสาวอังสุนีย์ และ นายแสงทอง จำเลยที่ 2 และ 4 เนื่องจากไม่มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อถึงนัด 14 ตุลาคม 58ที่ผ่านมา นางสาวอังสุนีย์ และ นายแสงทอง จำเลยที่ 2 และ 4 ไม่มาศาล ศาลจึงให้ออกหมายจับอีกครั้งเพื่อนำตัวมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา และนัดอ่านคำพิพากษาฎีกาอีกครั้งในวันนี้ ( 23 พ.ย.)