ปฏิวัติ 4Ps ศาสตร์รอดธุรกิจ

ปฏิวัติ 4Ps ศาสตร์รอดธุรกิจ

กลเม็ดหมัดเด็ดใดจะชี้ทาง“รอด”ธุรกิจ รับยุคเทคโนโลยี ผู้บริโภค-โลกเปลี่ยน ส่องศาสตร์ใหม่การตลาดผ่านผอง “กูรู” ตีแตก 4Ps ให้ลึกและอินไซด์

ธุรกิจยังต้องประมือกับ “ปัจจัยเสี่ยง” ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยัง “ไม่ฟื้นตัว” เต็มที่ ซ้ำร้ายยังเผชิญ “ภัยก่อการร้าย” อย่างเหตุการณ์ล่าสุด กับการกราดยิงหลายจุดในมหานครปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่ส่งผลกระทบลามไปถึงสู่ธุรกิจของประเทศคู่ค้า  

ขณะที่ในไทย ซึ่งพึ่งพารายได้จากการส่งออกเป็นหลัก เศรษฐกิจจึงยังลุ่มๆดอนๆตามภาวะเศรษฐกิจโลก การเมืองก็ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้กำลังซื้อผู้บริโภคก็อยู่ในอาการต้องรับ “ยาแรง” อย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นไข้

ปัจจัยที่มีผลต่อกระทบต่อธุรกิจไม่หมดเท่านี้ เมื่อวิวัฒนาการของเทคโนโลยี ตลอดจนผู้บริโภคยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงราว “พลิกฝ่ามือ” หากจับทางหนีทีไล่ไม่ทัน ไม่ต้องหวังจะเพิ่มยอดขาย แค่ “รักษา” ส่วนแบ่งการตลาดไว้ ยังเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก

"กลยุทธ์ใด? จะเป็นไม้เด็ดเพิ่มทางรอดให้ผู้ประกอบการ.. !!!

เป็นประจำทุกปีที่บรรดา “กูรูการตลาด” จะตกผลึกสถานการณ์เศรษฐกิจ กำลังซื้อ ปัจจัยบวกและลบที่จะยังผลกระทบต่อภาคธุรกิจ เพื่อมองแนวโน้ม (เทรนด์) กลยุทธ์ใหม่สำหรับแวดวงการค้า เมื่อแนวโน้มปี 59 ปัจจัยความผันผวน เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง! คาดว่ายังมี แถมมาด้วยสปีดที่เร็วและแรง ตามเทคโนโลยี ทำให้นักธุรกิจต้องระแวดระวังในการทุ่มเม็ดเงิน การทำแคมเปญการตลาดจะ “สาด” เป็น Mass หว่านไปทั่วคงไม่ได้ “อนุวัตร เฉลิมไชย” นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย แนะ

นอกจากนี้ การอาศัยเครื่องมือเดิมๆอย่างหน้าตาสินค้า ราคา ช่องทางการขายเดิมๆ รวมถึงโปรโมชั่นชิงโชคอาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมด ถึงเวลาที่นักการตลาดต้อง “ปฏิรูป” ส่วนประสมทางการตลาด

“Rethink Marketing : Reforming 4Ps”

การอยู่รอดในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลทรงพลัง การดึง “ส่วนประสมทางการตลาด” หรือ Marketing mix (4Ps) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ (Product) ราคา (Price) ช่องทางจำหน่าย(Place) และส่งเสริมการขาย (Promotion) เขาย้ำว่า “ต้องกล้าที่จะออกจากกรอบเดิมๆ” เริ่มคิดค้นไอเดียเก๋ไก๋ให้กระฉูดหลุดข้อจำกัดการตลาดแบบเก่าให้ได้..!!

โดยใช้เทคโนโลยีนำทาง ช่วยผลักดันให้เกิด “โมเดลใหม่” เพื่อ “สร้างคุณค่า” (Value)ให้ผลิตภัณฑ์ หนีสงครามทะเลเลือด “Red Ocean” 

ตัวอย่างที่น่าสนใจยุคนี้ยกให้ “ธุรกิจเกิดใหม่” หรือสตาร์ทอัพ หลายคนมีไอเดียแล้ว “ปฏิบัติ” ทันทีให้ประสบความสำเร็จ แม้ว่าบางไอเดียอาจ “ฆ่าตัวเอง” แต่กระนั้นก็จะทำให้เกิดการเรียนรู้ นำไปสู่การค้นพบ “โมเดลธุรกิจใหม่ๆ” ไม่สิ้นสุด

การตลาดลูกผสมหรือ “Hybrid marketing” ก็ต้องเน้น เมื่อคนไทยเสพออนไลน์ เทคโนโลยี 4G ที่กำลังจะเข้ามาในปีหน้า จะส่งผลให้การเดินทางของข้อมูลเร็วติดสปีด สิ่งนี้สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการ “สื่อสารการตลาด” ทำยังให้เกิดความสนุก สะดวก สบายต่อผู้บริโภค

สไตล์ “ไทยแลนด์ โอนลี่”

แม้ทุกช่องจะเปิดช่องให้ออนไลน์เข้ามาขับเคลื่อน (Dominate)  ตลาด แต่ต้องไม่ลืม “โลกที่ไม่ใช่ดิจิทัล” จุดนี้นักการตลาดต้องหาทาง “สร้างสมดุล” ให้เกิดขึ้น

“ไม่มีทางที่ลูกค้าจะเทไปทางใดทางหนึ่งหมด” เขาย้ำ พร้อมยกตัวอย่างธุรกิจค้าปลีกที่มีการผสมผสาน(hybrid)เป็น Omni channel เชื่อมช่องทางจำหน่ายทั้งหมดรวมเป็นหนึ่งเดียว เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคหลากหลาย บ้างดูสินค้าผ่านออนไลน์ แต่ซื้อสินค้าผ่านหน้าร้านเป็นออฟไลน์ บ้างเลือกดูสินค้าผ่านหน้าร้าน เสมือนโชว์รูม แต่ซื้อสินค้าออนไลน์ 

กลายเป็นว่า ผู้บริโภคนั่งอยู่บ้านเฉยๆก็มีความต้องการและสามารถชอปปิงสินค้าได้ 

นี่คือวิฒนาการ“ช่องทางขาย” ที่ไม่ได้อยู่แค่ “หน้าร้าน” อีกต่อไป

ทว่า จะคิดให้หลุดโลกแค่ไหน ? โปรโมชั่นเรียกร้องความสนใจจากผู้บริโภคได้ แต่ก็ไร้ประโยชน์หาก “ปิดการขาย” ไม่ได้ 

“สิ่งสำคัญคุณ(แบรนด์สินค้าและบริการ)ได้เงินจากลูกค้ามาด้วยหรือเปล่า”  เพราะหากขายไม่ได้ธุรกิจก็ “ไม่รอด”

คิดใหม่ในการทำตลาดมานาน 2-3 ปีแล้ว สำหรับธุรกิจ “ค้าปลีก” (รีเทล)ที่มีมูลค่าตลาดรวมในไทยกว่า 3 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ แต่ก็ยังต้องรอ “เทคโนโลยี” เพราะ 3G ที่มาแล้ว แต่เหมือนกระดึ๊บมาทีละ G ครั้นประมูลคลื่น 1800 รองรับ 4G ก็ยังต้องลุ้นว่า จะมาเร็วยกยวงหรือทีละ G เหมือนเดิม

“การทำลาดรีเทล (ค้าปลีก) คิดใหม่ตั้งนานแล้ว วันนี้มันเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ใหม่ เราเริ่มเอาเทคโนโลยีมาช่วยบริการลูกค้า ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ปีหน้าแม้ตลาดจะไม่โต แต่ก็ต้องลงทุนเรื่องเทคโนโลยี” นี่คือทิศทางธุรกิจค้าปลีกปีหน้าที่ “ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์”ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ระบุ

หากคิดใหม่ในการทำตลาดแน่นอน “ไม่พ้น” 4Ps แต่ยุคนี้ต้อง “ชำแหละ” ลงลึกยิ่งขึ้น จะทำแบบเดิมไม่ได้ เพราะ “ผู้บริโภค” และ “ลูกค้า” อุดมด้วยข้อมูล เสาะแสวงหาได้จากหลากหลาย เรียกว่า “ฉลาดขึ้น”

 Product ของค้าปลีกวันนี้คือรูปร่างหน้าตาของอาคาร ห้างร้านที่สวย โดดเด่น แปลกตา ตบด้วยสินค้า(Merchandise)ตอบสนองความต้องการลูกค้า Place คือทำเลที่ตั้งของห้าง รวมไปถึงการออกแบบสถานที่(Layout)ให้ลงตัว ขณะที่ Price และ Promotion ก็ไม่หนีจากธุรกิจอื่นนัก แต่ P ที่เพิ่มมากับค้าปลีก คือ คน(People)

“เบสิคมันต้อง 4Ps แต่ต้องแตกมันเอง เพราะหลายตัวอยู่ข้างใน อย่างแพ็คเกจจิ้งก็อยู่ใน P แรก People มาอยู่ในโปรโมชั่น อยู่ข้างในนั้น ต้องแตกมาเรื่อยๆ”

อีกหนึ่ง P ที่ต้องคิดใหม่ คือ ช่องทางจำหน่าย หรือ Place กลายเป็นเรื่อง Omni channel หลอมรวมหลากช่องทางขายให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งฟันธงว่าเทรนด์นี้มาแน่นอน แต่ตอบไม่ได้ว่า จะสมบูรณ์เมื่อใด

คร่ำหวอดกับแวดวงลักชัวรีร่วมทศวรรษ จากวันแรกถึงวันนี้ภาพตลาดเปลี่ยนแปลงไปมาก กลายเป็นปัจจัยทำให้การทำตลาดต้องแก้เกมทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อให้อยู่ยั้งยืนยง นี่เป็นมุมมองของกูรูสินค้าหรูอย่าง “ชุติมณฑน์ สถิตทอง” ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาแบรนด์และกลยุทธ์ บริษัท เอ-ลิสต์ คอร์ปอเรท จำกัด ตัวแทนจำหน่ายสินค้าแฟชั่นแบรนด์ระดับโลกทั้ง วาเลนติโน(Valentino) จิมมี่ ชู โคลเอ้(Chloe) และมีแบรนด์สินค้าของตัวเองอย่างดิษยา(Disaya) บูดัวร์(Boudoir by Disaya) เป็นต้น

ความเปลี่ยนแปลงฝั่ง “ผู้บริโภค” กลุ่มเป้าหมายที่มีบทบาทสำคัญต่อการซื้อสินค้าแฟชั่นหรูหรายุคนี้ เป็นคนรุ่นใหม่ ชนชั้นกลาง และเศรษฐีหน้าใหม่จากต่างจังหวัด สัดส่วนมากถึง 50% จากเดิมคือคนดังบนหน้าหนังสือแม็กกาซีน ออกงานสังคมเป็นกลุ่มใหญ่กว่า

ไลฟ์สไตล์คนมีสตางค์ยุคใหม่ไม่ได้ใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนมทั้งตัว หรือขับรถหรูหราราคาแพงเพื่อมาชอปปิง 

ทว่า แต่งตัวสบายสายชิลมาช้อปสินค้าแฟชั่นแพงๆ การเทรนด์พนักงานให้ “ยินดีต้อนรับ”กลุ่มเป้าหมายที่จ่ายเงินจริงๆ

“ตอนทำบริษัทแรกๆ(10ปีก่อน) คนซื้อเป็นคนละกลุ่มกับตอนนี้ เดิมเป็นคนที่เห็นตามแม็กกาซีน งานสังคม แต่สมัยนี้เหมือนทุกคนชอบไปช้อปที่ต่างประเทศ คนที่เหลือช้อปในไทย ถ้าลูกค้าเราจริงๆ เป็นตลาดใหม่หรือ Emerging market ชนชั้นกลางเกิดใหม่ ลูกเศรษฐีต่างจังหวัดที่ไม่รู้ว่าใคร แต่เป็นลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงมาก หลายคนไม่แคร์ว่าราคาสินค้าจะต่ำกว่าต่างประเทศหรือไม่”

นอกจากนี้ พฤติกรรมก็เปลี่ยน จากเดิมผู้บริโภคใช้สินค้าหรู เพื่อบ่งบอก “สถานะ” เผยตัวตนว่าร่ำรวยแค่ไหน อยู่สถานะใดของสังคม ตอนนี้การใช้แบรนด์เนมเป็นเรื่องของ “ความพึงพอใจส่วนตัว” (Personal pleasure) เพื่อตอบสนองความต้องการจากข้างใน (Inner) อย่างแท้จริง

“เป็นความรู้สึกของเรา ใช้แล้วรู้สึกดี ความหมายมันอาจไม่ใช่สิ่งของที่แพงที่สุด หายากหรือลิมิเต็ด เอ็ดดิชัน” เธอบอก และขยายความหรูหราสำหรับบางคน อาจเป็นแค่การซื้อวัตถุดิบอาหารไปปรุงเป็น “คลีนฟู้ด” รับประทานที่บ้านก็ลักชัวรี ลิ้มลองเบเกอรี่แบรนด์ธรมดาจากอังกฤษ “Paul” ที่เซ็นทรัล เอมบาสซี ขนมพอล ก็รู้สึกหรูหรา บางคนมีเงินเดือนนับแสนใช้จ่ายท่องเที่ยวในแหล่งแปลกที่ไม่มีใครไป กับอีกคนเที่ยวฮ่องกง ชิมอาหารจีนชื่อดังก็เป็นความโก้หรู อยู่กับว่าผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับอะไร

ช่องทางจำหน่ายที่มีพ่อค้าแม่ขายนิยม “หิ้ว” แบรนด์เนมมาจำหน่าย ช็อปของแบรนด์ดังก็ต้องเพิ่มบริการให้มีมาตรฐาน เข้มข้น และต้องเป็นเลิศ สร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าได้สัมผัส ซึ่งสิ่งนี้หาไม่ได้จากช่องทางหิ้ว!

“เมื่อนิยามและความหมาย ‘ลักชัวรี’ ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป แบรนด์ต้องทำความเข้าใจกับตลาด สิ่งที่ลูกค้าต้องการให้มากขึ้น เพราะนั่นเป็น ‘เทรนด์’ ในการบริโภคของกลุ่มเป้าหมาย สิ่งที่เสนอให้ลูกค้าจึงต้องปัจจุบันทันด่วน และตรงกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการ”

เธอยังยกตัวอย่างการขายปากกาด้ามหนึ่ง หากใช้การขายแบบเดิม วิธีเดิมย่อมไม่ได้ เพราะลูกค้าเคยเจอประสบการณ์นั้นมาแล้ว หากจะให้ซื้อสินค้าคล้ายๆแบบเดิมอีก ก็ต้องหาวิธีใหม่ๆให้เกิดความสนใจ ทว่า สำหรับข้อดีของแบรนด์หรูมีจุดที่ให้ผู้บริโภคสัมผัสทั้งความเป็นเอ็กซ์คลูสีพ เช่น เมื่อมีแคมเปญระดับโลก แฟชั่นโชว์ที่ออกอากาศจากต่างประเทศ ซึ่งในโลกของความจริงเป็นสิ่งที่เข้าถึงยาก แต่ผู้บริโภคก็มีโอกาสเมื่อแบรนด์มาเปิดในเมืองไทยทำให้มีโอกาสสัมผัสบรรยากาศของจริง

นักการตลาดอาจคิดค้นกลยุทธ์ใหม่ๆ มาไขโจทย์ความต้องการของลูกค้า 

ทว่า สิ่งสำคัญ 4Ps สำหรับแบรนด์ต้อง “แข็งแกร่ง” นั่นเป็นพื้นฐานเพื่อต่อยอดฉีกกรอบเดิม 

“ถ้าทำเบสิคให้ดีไม่ได้ ก็ยากที่ประสบความสำเร็จ”

--------------------------------

๐เมื่อค้าปลีกโตต่ำสุดรอบ 20 ปี๐

 เมื่อต้นปีนี้ “24 บิ๊ก” ธุรกิจค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย ทั้งเครือสหพัฒน์, เซ็นทรัล, เดอะมอลล์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) และไทยเบฟเวอเรจ ตบเท้าเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีเสียงสะท้อนหนึ่งจากนักธุรกิจผู้ขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” ยอดขายเป็นหมื่นล้านต่อปี (เครือสหพัฒน์) เอ่ยปากว่า ยอดขายในช่องทางค้าปลีกนั้นโตต่ำสุดรอบ 20 ปี

ข้อความนี้ถูกย้ำอีกครั้ง จากคำบอกเล่าของ “ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์” ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยว่า แนวโน้มภาพรวมธุรกิจค้าปลีกปี 2558 คาดว่าจะเติบโต 3% ขณะที่ 6 เดือนที่ผ่านมา เติบโต 2.8%

ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจปี 2559 “ดร.ฉัตรชัย” คาดว่ายังทรงตัว อาจจะมีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อย เพราะปีนี้ถือว่าผ่าน “จุดต่ำสุด” ไปแล้ว หากเทียบเป็นกราฟอาจเป็นยู (U) ที่เริ่มอยู่ในจุดเอียงขึ้น แต่ไม่ได้มีนัยสำคัญ ขณะที่ปัจจัยบวกของปีหน้าจะมาจากการใช้จ่ายเงินของภาครัฐผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจค) ล้วนๆ

ส่วนความท้าทายปีหน้า คือ การที่ธุรกิจต้องพึ่งพาการการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งอัดฉีดลงไปค่อนข้างมาก แต่คงเห็นผลไม่ทันใจ เพราะกว่าเม็ดเงินจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และส่งผ่านมาถึงภาคธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเป็นปลายทางต้องใช้เวลา 4-8 เดือน อย่างเม็ดเงินที่เพิ่งอัดฉีดเข้ากองทุนหมู่บ้านต่างๆ กว่าจะเห็นผลต่อค้าปลีกคือกลางเดือนม.ค.-ก.พ.

ขณะที่การลงทุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคกดปุ่มลงทุนเมื่อไหร่ ก็รออีก 8 เดือน คือไตรมาส 1-2 จึงจะเห็นผลลัพธ์

“เศรษฐกิจปีหน้า เราไม่มองภาพเลวร้าย แต่ก็ต้องตั้งรับกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ทั้งไทยและจากทั่วโลกด้วย แต่คาดว่าการฟื้นตัวจะเห็นภาพในปี 2560"

ดังนั้นความท้าทายของรีเทลปีหน้าคือเอาตัวรอดให้ได้...Survival ได้ก็โอเคแล้ว

-------------------------------

๐4Ps ศาสตร์คลาสสิก๐

“วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด ผู้ผลิตอาหารพร้อมรับประทานแช่แข็งและแช่เย็น และเบเกอรีอบสดในกลุ่มบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บอกว่า การทำตลาดยุคนี้ยังไม่หลุดจากศาสตร์คลาสสิก 4Ps

โดยเฉพาะในธุรกิจอาหารจำเป็นต้องมี “ผลิตภัณฑ์ใหม่” (Product)ตลอดเวลา หากหยิบยกตัวอย่างความต้องการของผู้บริโภคที่รับประทานอาหาร ทานผัดเผ็ดปลาดุก วันพรุ่งก็ต้องมองหาเมนูใหม่ ถ้าผลิตภัณฑ์จำเจ ยอดขายจะไม่เติบโต

“ราคา”(Price)เมื่อไหร่ก็ตามที่สินค้าของผู้ประกอบการเจ้าหนึ่งในตลาดขายดิบขายดี ถึงเวลาที่ “คู่แข่ง” ต้องใช้กลยุทธ์ราคามาเป็นตัวช่วย และต้องมุ่งไปยัง “ช่องทางจำหน่าย”(Place)เดียวกันเพื่อขอส่วนแบ่งตลาด ตามด้วยโหมทำ “กิจกรรมส่งเสริมการขาย”(Promotion)เป็นหมัดแย็บต่อเนื่อง เพื่อรักษาไว้หรือเพิ่มยอดขาย

“4Ps คลาสสิกมากสำหรับการทำตลาด ตัวอย่างหากมีเจ้าใหม่ผลิตสินค้าออกมาขายดี แต่เจ้าตลาดสู้ไม่ได้ ก็ต้องใช้กลยุทธ์ราคาเข้าแข่ง และขายช่องทางเหมือนเขา”

และหากต้องการอยู่รอดในยุคนี้ ควรสรรหา “นวัตกรรมการตลาดใหม่” เข้ามาช่วย เขายกตัวอย่างเครื่องดื่มเสริมสุขภาพบางแบรนด์ที่โฟกัสการทำตลาดไปยังกลุ่มนักเรียน-นักศึกษา ติวเข้มสอบเอ็นทรานซ์

ส่วนธุรกิจอาหารที่ทำได้วันนี้ เขาให้น้ำหนักไปยัง “ช่องทางจำหน่าย” เดิมทีผู้บริโภคจะวิ่งไปหาสถานที่จัดจำหน่าย วันนี้ทำอย่างไรจะแบรนด์และสินค้าจะตอบโจทย์เป็นฝ่าย “วิ่งเข้าหา” ผู้บริโภคแทน พร้อมยกตัวอย่างการใช้บริการเรียกแท็กซี่ผ่านมือถือ ผู้บริโภคสามารถขึ้นรถได้ทันทีเมื่อจากอาคารสำนักงาน

“จะทำอย่างไรไม่ให้ผู้ประกอบการอยู่กับที่ ต้องวิ่งไปหาผู้บริโภค”

ปัจจุบันธุรกิจอาหารกำลังถูกคุกคามจากผู้บริโภคที่ฉลาดขึ้นทุกวัน ความท้ายทายของผู้ประกอบการจึงแขวนอยู่บนการผลิตสินค้า “คุณภาพ” และต้องสื่อสารสิ่งที่ดำเนินการกับผู้บริโภคให้ได้เฉกเช่นในต่างประเทศ ซึ่งกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ เพาะปลูกวัตถุดิบเป็นอย่างไร ตวรจสอบย้อนกลับได้ นี่เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“ยุคนี้เป็นโลกของมีเดีย สังคมออนไลน์ และผู้บริโภคฉลาดขึ้นทุกวัน หมายความว่าเขาเลือกซื้อสินค้าเป็น เมื่อก่อนวางสินค้ายังไงก็ได้ แต่วันนี้ผู้บริโภคดูฉลาก ดูวันหมดอายุ ดูการผลิต องค์ประกอบของสินค้า เราต้องทำยังไงให้สินค้าเราสื่อสารกับผู้บริโภคได้”

-------------------------------

๐ตลาด “ลักชัวรี” พลิกโฉม๐

เมื่อตลาดสินค้าลักชัวรีในเวทีการค้าโลกเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นรถซูเปอร์คาร์ เสื้อผ้าแฟชั่นฯ อดีตผู้คนอยากใช้ผลิตภัณฑ์หรูหราฟู่ฟ่า แบรนด์เนม แต่ปัจจุบันเลือกที่จะสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวพักผ่อนสุดหรูแทน “ดร.ฐิติพร สงวนปิยะพันธ์” ผู้อำนวยการศูนย์องค์ความรู้ด้านลักชัวรี่ ให้มุมมอง

นอกจากนี้ ตลาดผู้บริโภคสินค้าแบรนด์เนมยังเบนเข็มจากสหรัฐ ญี่ปุ่น มาเป็น “จีน” ที่ใช้จ่ายเงินเพื่อสินค้าลักชัวรีมากที่สุด ตามด้วยอาเซียน ตลาดเกิดใหม่ ชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มเป้าหมายในประเทศเหล่านี้ล้วนต้องการใช้ของแพงเพื่อบ่งบอกความมั่งคั่งและสถานะทางสังคม

ส่วนในไทย ตลาดลักชัวรี สินค้าที่อยู่ในกระแสหลักที่เคยถูกใช้กัน เติบโตเต็มที่แล้ว ส่งผลให้ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง “หนี” ไปใช้แบรนด์เฉพาะ (Niche) แทน เช่น จูดิธ ลีเบอร์ (Judith Leiber) อาเยส เบ (Agnès b. VOYAGE) กระทั่งแบรนด์ที่ไปเจอเมื่อเที่ยวต่างแดน

“คนไทยผ่านการใช้สินค้าหรูเพื่อโชว์ออฟ โชว์สถานะมาแล้ว ตอนนี้เป็นวิถีชีวิตและความชอบ ซึ่งผู้ใช้สินค้าหรู ต้องการความแตกต่างไม่เหมือนใคร ต้องการสินค้าที่มีความพิเศษ(Unique)มากขึ้น ไม่ใช่ทั่วๆไป”

สำหรับภาพรวมตลาดสินค้าหรู ตัวแทนจำหน่ายแบรนด์ดังอย่าง “ชุติมณฑน์ สถิตทอง” ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาแบรนด์และกลยุทธ์ บริษัท เอ-ลิสต์ คอร์ปอเรท จำกัด ไม่กล้าการันตีปีหน้าตลาดลักชัวรีจะเป็นขาขึ้น กลับกันมีฟากการเงินของบริษัทส่งสัญญาณด้วยความกังวลว่าเศรษฐกิจ “ครึ่งปีแรกปีหน้า” จะแย่! จากหลากปัจจัยทั้งเศรษฐกิจโลก การเงินมีความผันผวน ส่วนในประเทศแม้รัฐจะอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ

ตลาดลัวชัวรีมีรายได้หลายทาง หนึ่งในนั้นคือการท่องเที่ยว ซึ่งหลังเกิดเหตุระเบิดย่านราชประสงค์ นักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายก็ยังไม่กลับมาเหมือนเดิม ส่วนจำนวนที่มาจากทัวร์จีน ที่เน้นช้อป ชิมสินค้าไทยมากกว่า

ส่วนภาพรวมยอดขายของบริษัทปีนี้จะเติบโตเฉลี่ย 30% โดยเฉพาะแบรนด์วาเลนติโน แต่ถ้ามองปัจจัยเศรษฐกิจก็ไม่ได้เอื้อต่อธุรกิจนัก และยังต้องมานั่งลุ้นไฮซีซั่นว่าจะดีหรือไม่