คมนาคม มั่นใจรถไฟทางคู่ไทย-จีน เดินหน้าได้เร็ว

คมนาคม มั่นใจรถไฟทางคู่ไทย-จีน เดินหน้าได้เร็ว

"อาคม" รมว.คมนาคม มั่นใจการก่อสร้างรถไฟรางคู่ ไทย-จีน เดินหน้าได้เร็ว พร้อมลงนามกรอบความร่วมมือ 19 ธ.ค.นี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 ธ.ค. นี้ โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ไทย-จีน จะมีการลงนามความร่วมมือก่อสร้าง และความร่วมมือด้านสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 ของรัฐบาลจีน จากอดีตใช้วิธีเดินเท้า แต่ขณะนี้ได้เร่งพัฒนาการเดินทางเชื่อมโยงทั้งทางบกและทะเลกับทวีปต่างๆทั่วโลก และไทยจะได้ประโยชน์ทางรถไฟที่เชื่อมต่อผ่านประเทศไทย ซึ่งความคืบหน้าโครงการรถไฟรางคู่ไทย-จีนมีความก้าวหน้ามากในรัฐบาลนี้ที่มีรายละเอียดการเจรจาและมีข้อตกลงกันได้เรื่องเส้นทางก่อสร้าง การขุดอุโมงค์และสถานีรถไฟ โดยเฉพาะเส้นทางก่อสร้างคาดว่าจะทำได้เร็ว โดยเส้นทาง 4 ช่วงขณะนี้เริ่มก่อสร้างได้ในเส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย และ แก่งคอย-นครราชสีมา ส่วนแก่งคอย-มาบตาพุดและนครราชสีมา-หนองคาย ต้องใช้เทคโนโลยีสูงขุดเจาะอุโมงค์และต้องปรับเส้นทางรถไฟที่มีมากในมาบตาพุดให้ลงตัว

"รถไฟรางคู่ความคืบหน้าเราจะมีการลงนามในวันที่ 19 ธ.ค. นี้ โดยจะเริ่มจากสถานีเชียงรากน้อย ซึ่งเป็นศูนย์ควบคุมและบริหารการเดินรถ โดยรูปแบบการลงทุนและรูปแบบรถจะมีการหารือกันอีกครั้ง โดยเบื้องต้นการขุดเจาะอุโมงค์ต้องอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูงซึ่งทางจีนจะเป็นคนทำ ส่วนพื้นราบพวกรางรถไฟน่าจะเป็นทางฝั่งไทยทำ ซึ่งทางการจีนต้องการให้ไทยรับรองคุณภาพและได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ารถไฟฟ้าในไทยดำเนินการก่อสร้างโดยคนไทย เพราะฉะนั้นเรื่องคุณภาพจึงไม่เป็นปัญหา"นายอาคม กล่าว

ด้านนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์ One Belt and One Road หรือ เส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเลแห่งศตวรรตที่ 21 ของจีนจะเป็นจุดหักเหของการทำธุรกิจและเปิดช่องทางการลงทุนในอีก 5-10 ปีข้างหน้า รวมทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วยรถไฟควาเร็วสูง รถไฟ ท่าเรือ สนามบิน ถนน และ โครงสร้างพื้นฐานที่ทางการจีนจะผลักดันให้เกิดขึ้น ส่วนไทยจะได้ประโยชน์จากเส้นทางความเร็วสูงจากคุนหมิงเชื่อมจีนตะวันตกผ่านลาวมายังจังหวัดหนองคาย เชื่อมต่อมากรุงเทพฯ- สิงคโปร์ เป็นการเปิดประตูเชื่อมต่อไปยังยุโรปได้

ทั้งนี้ผลประโยชน์จากการลงทุนจากยุทธศาสตร์ One Belt and One Road คาดว่าสูงถึง 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาได้ และธนาคารมีความพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าด้านเงินลงทุน โดยปัจจุบันธนาคารมีสาขา 6 แห่งในจีน ประกอบด้วยเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เซี่ยเหมิน เซินเจิ้น ฉงชิ่ง