สะบัดพลิ้ว'โหมโรง'

สะบัดพลิ้ว'โหมโรง'

โหมโรง เวอร์ชั่นนี้ นักแสดงต้องร้อง เล่น(ละคร) ตีระนาดได้จริงๆ ไม่อย่างนั้น ผู้กำกับไม่ทำ...

แค่ได้ยินเพลง เสียงนั้นเสียงหนึ่ง ในโหมโรง เดอะมิวสิคัล ที่กลับมาเปิดแสดงอีกครั้ง และคาดว่าจะไม่กลับมาอีก ก็ทำให้รู้สึกว่า ละครเพลงบ้านเรามีความหวัง

เรื่องนี้ ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม ผู้กำกับและคนเขียนบท ตั้งใจว่า จะไม่ทำละครเพลงแบบลิปซิงค์ ถ้าทำละคร นักแสดงต้องแสดงแอ๊คติ้งได้ ร้องเพลงเก่ง โดยเฉพาะนายศร พระเอกของเรื่อง ต้องเล่นระนาดได้ดี

กว่าจะได้ตัวผู้แสดงเป็นนายศร ระนาดเอกแห่งอัมพวา คงได้ยินข่าวคราวกันแล้วว่า ใช้เวลาควานหาอยู่หกเดือน จนผู้กำกับเกือบถอดใจ และแล้ววันหนึ่ง อาร์ม-กรกันต์ สุทธิโกเศศ ก็เดินเข้ามาทดสอบ นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของโหมโรง เนื่องจากอาร์มสอบผ่าน เนื่องจากเล่นดนตรีไทยมาตั้งแต่เด็ก และเคยผ่านเวทีประกวดร้องเพลง KPN จึงร้องเพลงได้ดี

และที่สำคัญคือ การฝึกซ้อม ทั้งการแสดง ร้องเพลง และเล่นระนาดอย่างหนักหน่วง เพื่อให้สวมบทบาทมือระนาดเอกแห่งโหมโรง

1.

หากใครยังตรึงตาตรึงใจกับโหมโรง เวอร์ชั่นภาพยนตร์และละครทีวี แล้วเวอร์ชั่นละครเพลง จะอยู่ตรงไหนในใจคนดู
นี่คือความท้าทายของผู้กำกับการแสดง โดยเขาตั้งโจทย์ว่า ละครเรื่องนี้ ต้องดูสนุก และไม่มีสูตรสำเร็จใดๆ

หลังจากชมโหมโรง เวอร์ชั่นนี้แล้ว ทำให้รู้สึกว่าอยากให้คนอื่นๆ ได้ชมบ้าง แม้จะไม่สมบูรณ์แบบเต็มร้อย แต่ถือว่า กระชับ ไม่เยิ่นเย้อเกินไป ไม่เน้นแสดงดนตรีไทยยาวๆ จนน่าเบื่อ แต่ทำให้รู้สึกว่า ดนตรีไทยมีดี อวดคนทั้งโลกได้ โดยเฉพาะความกล้าหาญ ยกวงปี่พาทย์ไว้บนเวที ประชันกันสดๆ ในฉากขุนอินกับนายศร
นั่นทำให้ละครเรื่องนี้ ดูได้ทั้งผู้ใหญ่ วัยรุ่น และเด็กๆ ประมาณว่า ดูแล้วจะหลงรักดนตรีไทย

ตั้งคำถามกันตั้งแต่เปิดเรื่องยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ห้ามเคี้ยวหมาก ให้สวมหมวก และห้ามเล่นดนตรีไทย เพื่อให้สยามมีความทัดเทียมนานาประเทศ เหตุผลดังกล่าว ทำให้ดนตรีไทยในยุคนั้นไม่พัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ฉากแรกๆ คือ ท่านครูหรือศรในวัยชรา (สุประวัติ ปัทมสูต) ต้องต่อสู้กับนโยบายรัฐที่มองว่า ดนตรีไทยเป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม รัฐอยากให้ศิลปวัฒนธรรมไทยล้มหายตายจากไป ในเรื่องบทบาทการแสดง สุประวัติถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกได้ดีมาก โดยเฉพาะฉากเล่นระนาดคลอกับเปียโน และการแสดงที่ทำให้เชื่อว่าเขาคือ พ่อครู ที่รู้คุณค่าดนตรีไทย

ผู้กำกับเลือกที่จะเล่าเรื่องสลับไปมาระหว่างนายศรวัยหนุ่มที่คึกคะนอง ตอนนั้นอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5 กับท่านครู ในยุคจอมพลป.พิบูลสงคราม เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่า ยุคหนึ่งดนตรีไทยเฟื่องฟูมาก แต่ยุคหนึ่ง ศิลปินแทบจะไม่มีความหมาย ถูกมองว่า การเล่นดนตรีไทยเป็นเรื่องเก่า ครึ่มครึ ไม่ควรสนับสนุน ทำให้นักดนตรีไม่มีอาชีพ ต้องไปแบกข้าวสาร

เหมือนเช่นที่บอก ไม่ใช่เวอร์ชั่นที่เต็มร้อย แต่ทำออกมาได้ดี ไม่ว่า'อาร์ม-กรกันต์'ที่รับบทนายศรสามารถตีระนาดได้ไม่ธรรมดา ร้องเพลงก็ไพเราะ โดยเฉพาะฉากที่ร้องคู่กับแม่โชติ (สาธิดา พรหมพิริยะ) ซึ่งเป็นนักร้องตัวจริงเสียงจริง และทั้งสองเคยร้องเพลงด้วยกันหลายเวที เมื่อมาแสดงร่วมกัน ฉากนี้เพลงเสียงนั้นเสียงหนึ่ง และเพลงดอกลั่นทม จึงสะกดคนดูอยู่หมัด
และฉากประชันระหว่างนายศรกับขุนอิน (ทวีศักดิ์ อัครวงศ์) ฝีมือตีระนาดที่พลิ้วไหว ทั้งในภาพยนตร์และละครทีวี ก็ฝีมือนักดนตรีไทยคนนี้แหละ ฉากนี้จึงทั้งสดและสนุก

หากถามว่าชอบฉากไหน... คงต้องบอกว่า หลายฉาก

โดยเฉพาะฉากนายศร นอนเล่นคิดเรื่อยเปื่อยในเรือ ระหว่างนั้นทางมะพร้าวโบกพัดไปมา เป็นฉากที่พาคนดูล่องลอยไปกับจินตนาการของนายศร และฉากยุคสมัยที่แตกต่าง พล หุยประเสริฐ ผู้กำกับศิลป์ ใช้องค์ประกอบแสงและเงาให้เห็นถึงความแตกต่างได้อย่างชัดเจน

ละครเรื่องนี้ไม่ได้โดดเด่นเฉพาะนายศร ถ้าชื่นชอบความหล่อ โย่ง อาร์มแชร์ ผู้สวมบทบาทพันโทวีระ ฝีมือแสดงและร้องเพลง เขาก็ทำได้ดีทีเดียว หรือบทเปี๊ยก (วีรพล จันทร์ตรง) นักแสดงคนนี้เติบโตมาจากครอบครัวดนตรีไทย แค่ได้ยินเพลงที่เขาร้องก่อนจะยิ่งตัวตายด้วยความรู้สึกรันทดในสิ่งที่ผู้นำประเทศไม่เห็นคุณค่าดนตรีไทย เขาได้ใจคนดูไปเต็มๆ

ส่วนบทครูเทียน (ศรัทธา ศรัทธาทิพย์) ผู้สร้างแรงบันดาลใจให้นายศรอาจหาญสู้กับขุนอิน นักการละครรุ่นเก๋าที่ไม่ค่อยได้เห็นบนเวทีบ่อยนัก แม้จะออกมาไม่กี่ฉาก สีสันดูเรียบๆ แต่มีพลัง ทำให้รู้สึกได้ว่า ใครสักคนที่ผลักดันตัวเองให้เล่นดนตรีไทยได้เก่งขนาดนี้ ไม่ธรรมดาเลย ส่วนตัวละครอีกตัว ออกมากี่ครั้งก็ฮา คือ บทสมเด็จ(ศรัณย์ ทองปาน) เล่นได้สนุก ร้องเพลงได้ดีมากๆ เพราะเป็นนักร้องประสานเสียง คนนี้ต้องขอบอกว่าต้องไปฟังเขาร้องเพลง ไม่ผิดหวังแน่
โหมโรง เวอร์ชั่นนี้ จึงดูได้ ทุกเพศ ทุกวัย ลงตัวทั้งเพลง ดนตรี และการแสดง

2.
โหมโรง เคยเป็นทั้งภาพยนตร์ ละครทีวี หุ่นละครเล็ก และล่าสุดเป็นละครเพลง ซึ่งธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม กำกับและเขียนบท โดยมีอัษฎาวุธ สาคริก กำกับดนตรีไทย ทายาทรุ่นเหลนหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ซึ่งเคยร่วมทีมกับโหมโรงภาพยนตร์ ละครทีวี และหุ่นละครเล็ก

ย้อนไปถึงช่วงก่อนทำละครเรื่องนี้ ธีรวัฒน์ บอกว่า ไม่คิดว่าง่ายหรือยาก เมื่อไปขอบทจาก อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ ผู้กำกับภาพยนตร์โหมโรง แล้วลงมือทำ ก็รู้สึกว่ายากมาก เพราะเวอร์ชั่นภาพยนตร์ตัดต่อได้หมด แต่ละครเวทีต้องเล่นสดๆ ผู้แสดงเป็นนายศรต้องเล่นระนาดได้ และไม่ใช่เล่นเป็น ต้องเล่นเก่ง เพื่อให้คนเชื่อว่า นี่คือนายศร

"ผมหาคนแสดงเป็นนายศรอยู่ 6 เดือน ต้องตีระนาดเป็น และร้องเพลงได้ด้วย หายอยู่นาน ไม่ได้ซะที จนเช้าวันหนึ่งไปไหว้ท่านครูที่มูลนิธิหลวงประดิษฐ์ไพเราะ บ่ายๆ อาร์มก็เดินมาคัดตัว ครูอัษฎาวุธ บอกว่า คนนี้ปั้นได้ ร้องเพลง เล่นละคร ตีระนาดได้ เมื่อเริ่มซ้อมก็ปรึกษาครูดนตรีว่า ให้ตีระนาดสั้นลงไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของวงปี่พาทย์แนวเดิมได้ไหม เมื่อทำได้ตามที่คิด ก็เกิดความกลมกลืน "

ทั้งๆ ที่ไม่รู้เรื่องดนตรีไทยเลย ธีรวัฒน์ แค่คิดว่า อยากดูละครแบบไหน ก็ทำแบบนั้น
"ผมใช้ความรู้สึกทุกเรื่องที่ผมทำ อยากดูแบบนี้ ก็ทำออกมา หนังกับละครไม่เหมือนกัน ขุนอินในหนังตีระนาดเก่ง แต่ผู้กำกับตัดต่อช่วยเรื่องการแสดง ส่วนขุนอินในละคร ไม่อาจตัดต่อช่วยได้ ต้องทำให้คนดูรู้สึกว่า มีบารมีและเป็นคนระนาดจริงๆ เขาก็เล่นละครได้เป็นธรรมชาติ" ธีรวัฒน์ เล่าถึงพัฒนาในการปรุงรสโหมโรง
จากเรื่องที่คิดว่า 'ยาก' กลายเป็น'ง่าย' และอยากให้คนดูภาคละครเวทีอินมากกว่าในหนัง

"เราขยี้บางตอนให้ชัดขึ้น เพราะหนังขยี้ไม่ทัน ผมทำให้ตัวละครเทิด ลูกของทิว เพื่อนสนิทพ่อครู ที่กระตุ้นให้เกิดเรื่องร้ายๆ มีความโดดเด่นมากขึ้น หรือ เปี๊ยก นักดนตรีที่ยิงตัวตาย บทมีน้ำหนักมากขึ้น เพื่อให้เห็นว่านี่คือผลจากกฎเกณฑ์ที่รัฐบาลยุคนั้นห้ามเล่นดนตรีไทย ฉากพันโทวีระและแม่โชติในหนังแสดงอยู่นิดเดียว จนคนแทบจะจำไม่ได้ แต่ในละคร ผมทำให้ตัวละครเด่นขึ้น ให้เห็นว่า แม่โชติมีบทบาทสำคัญ ทำให้นายศรไม่กลัวขุนอิน " ธีรวัฒน์เล่าถึงบทบาทผู้หญิงในยุคนั้น

"เมื่อผมรู้ว่า พี่อิทธิต้องการอะไร ผมก็เอาตัวละครมาขยาย ประเด็นชัดมากขึ้น ทำให้คนดูรู้ว่า ตัวละครคิดอะไร คนดูก็อินได้ง่ายขึ้น"

3.
หากจะเล่าชีวิตนักดนตรีไทยไม่ให้น่าเบื่อ ธีรวัฒน์ เปรียบเทียบให้เห็นว่า ตอนหนุ่มๆ นายศรต่อสู้กับอัตตาตัวเอง วัยชราต่อสู้กับนโยบายรัฐที่อยากให้ดนตรีไทยหายไป

"ผมก็มาขยายทำให้เห็นว่า ศรวัยหนุ่ม คิดว่าตัวเองเก่งมาก แต่พอเจอขุนอิน ชีวิตนักดนตรีของเขาพังทลายเลย"

เมื่อมาถึงฉากไฮไลท์ประชันดนตรีไทย ผู้กำกับคิดต่อว่า ฉากนี้จำเป็นต้องมีเทคนิคพิเศษการประชันระนาดไหม เพื่อทำให้คนดูตื่นเต้น แต่เมื่อซ้อมหลายสิบรอบ เขาพบว่า ไม่จำเป็น สิ่งที่คนดูต้องได้เห็น คือ การประชันสดๆ

"แม้ผมจะไม่ได้ซาบซึ้งกับดนตรีไทยมากนัก แต่ผมรู้สึกเสียดายที่ดนตรีไทยหายไปจากชีวิตคนไทย ทำไมผมไม่ได้ดูดนตรีไทยแบบนี้ตั้งแต่เด็ก พวกเขาเล่นดนตรีไทยได้สนุก แต่ทำไมเราได้ยินดนตรีไทยเฉพาะงานศพหรืองานพิธี ซึ่งไกลตัวมาก ถ้าผมได้ยินดนตรีไทยแบบนั้นเรื่อยๆ ผมก็คงหาคนที่จะแสดงเป็นนายศรง่ายมาก "

อีกคนที่เกี่ยวข้องกับโหมโรงทุกเวอร์ชั่น อัษฎาวุธ สาคริก ผู้กำกับดนตรีไทย บอกว่า จริงๆ แล้ว เรื่องนี้เป็นละครผู้ชาย มีตัวละครเด่นผู้หญิงคนเดียวคือแม่โชติ แต่สำคัญมาก ทำให้ผู้ชายประสบความสำเร็จ

"เมื่อคุยกับผู้กำกับ ละครเรื่องนี้คงไม่เน้นการจิกกัดสังคม แต่เป็นไปตามยุคสมัย ฉากระหว่างระนาดกับเปียโนที่คลอกันไปมา My blue heaven เพลงเดียวที่ไม่เปลี่ยนเลย ตั้งแต่ภาพยนตร์ ละครทีวี และละครเวที สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เคยให้หลวงประดิษฐ์ไพเราะลองเล่นผสานกับดนตรีสากล ซึ่งท่านก็เอาไปเล่นกับบิ๊กแบนด์ เราก็ใส่ประวัติศาสตร์ส่วนนี้ นี่คือความใจกว้างของท่าน ไม่ได้กีดกันดนตรีสากล แต่อยู่ที่ว่าจะคุยกันด้วยภาษาอะไร"

ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทย เล่าอีกว่า ในประวัติศาสตร์ดนตรี จะประชันกันทั้งคืน แข่งกันว่าใครจะตีระนาดได้เร็วหรือพลิ้วไหวกว่ากัน แล้วจบด้วยเพลงเชิดต่อตัว จริงๆ เพลงนี้เล่นยาวกว่านี้ พอมาเป็นละคร ก็ต้องมีหมัดเด็ดและหมัดน็อค

"เพลงที่พระเอกจีบนางเอกในภาพยนตร์ใช้เพลงคำหวาน ตอนนั้นผู้กำกับให้นายศรเล่นซออู้ เพราะเป็นสิ่งที่นายศรผูกพันตั้งแต่อยู่อัมพวา ในฉากนี้ใช้เพลงดอกลั่นทม ซึ่งเป็นฉากที่สวยมาก"

ส่วนที่ขาดไม่ได้และถูกกล่าวถึงบ่อยที่สุดคือ บทนายศร กรกันต์ สุทธิโกเศศ บอกว่า เมื่อรู้ตัวว่าต้องรับบทนายศร ก็ไปซื้อหนังสือศาสตร์แห่งศิลป์อัครศิลปิน ชีวประวัติหลวงประดิษฐ์ไพเราะมาอ่าน หลายฉากเหมือนในหนังเลย

"ผมเรียนดนตรีตั้งแต่ประถม 4 แต่ห่างหายไปสิบกว่าปี เพื่อไปร้องเพลง พอมาแสดงเรื่องนี้ต้องฝึกตีระนาด 6-8 เดือน เพลงเชิดต่อตัว เป็นเพลงยากที่สุด ตอนแรก ผมยังตีระนาดสะบัดมือไม่ได้ เพิ่งจะสะบัดได้ไม่นาน อาศัยว่า ผมเล่นเวท เพื่อทำให้ข้อแขนแข็งแรงมากขึ้น ผมตีระนาดโดยใช้แขน ไม่ใช้ข้อแขน ฉากที่ยากที่สุด คือการประชันกับขุนอิน เพราะคนสวมบทบาทเป็นนักดนตรีไทยอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ตีได้เร็วและไว เขารู้ว่าผมจะตีได้แค่ไหน เขาก็ออมแรงให้ ส่วนฉากจีบนางเอกเป็นฉากที่ผมค่อนข้างผ่อนคลาย และร้องเพลงเข้าขากับนางเอกได้ดี"

......................
หมายเหตุ : โหมโรง เดอะ มิวสิคัล” เปิดแสดงวันนี้-29 พฤศจิกายน 2558 ที่โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 สยามสแควร์วัน จองบัตรได้ที่ ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ 02-2623456 หรือ www.thaiticketmajor.com