ตลาดนิยายในละครทีวี

ตลาดนิยายในละครทีวี

ท่ามกลางการเกิดทีวีหลายช่อง ละครนอกจากจะดึงคนดูแล้วยังเป็นรายการที่มีการแข่งขันสูง ดังนั้นการซื้อขายบทประพันธ์จึงเป็นไปอย่างรวดเร็วร้อนแรง

ละครทีวีถือเป็นอีกรายการหนึ่งที่สามารถจะตรึงคนดูให้จับจ้องอยู่หน้าจอทีวีได้ ซึ่งการที่ละครเรื่องใดเรื่องหนึ่งมีพลังอำนาจจนทำให้คนที่นั่งดูจนไม่อยากจะลุกไปไหน และต้องคอยติดตามแต่ละตอนอย่างต่อเนื่องด้วยใจจดจ่อ นอกจากจะถือเป็นความสำเร็จของละครทีวีเรื่องนั้นๆแล้ว ผลพวงที่ติดตามมายังมีมากมายอีกด้วย

ไม่ว่าจะเป็นเรตติ้งโฆษณาสินค้าที่เต็มเวลา,จำนวนคนดูที่เพิ่มมากขึ้น และที่เหนืออื่นใดก็คือรายได้มากมายที่จะหลั่งไหลเข้ามาหลายๆด้าน ทั้งสถานีทีวี,บริษัทผู้ผลิตละคร และดารา ซึ่งล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงถึงกัน

เพราะฉะนั้น ช่วงเวลาของละครทีวี ทุกวินาทีมันหมายถึงรายได้ทั้งสิ้น !

และด้วยเหตุนี้แหละ วงการทีวีในยุคปัจจุบันทั้งช่องที่เคยมีอยู่ดั้งเดิม อย่างช่อง 3,5,7,9 และช่องทีวีดิจิทัลที่เกิดขึ้นมาใหม่อีกหลายๆช่องที่เป็นช่องวาไรตี้และบันเทิง ต่างก็ยื้อแย่งแข่งขันกันสร้างละคร และทำให้เกิดปรากฏการณ์ซื้อขายบทประพันธ์กันอย่างดุเดือด พร้อมกับมีการแสวงหาหลากหลายวิธีด้วยกัน เพื่อจะได้นำเอานิยายหรือบทประพันธ์มาสร้างเป็นละครทีวี

ละครทีวีกับรูปแบบบทประพันธ์

หากจะจำแนกแยกประเภทของงานบทประพันธ์ที่นำมาสร้างเป็นละครทีวีแล้ว สามารถจะแยกได้ 4 ประเภทด้วยกันคือ

นวนิยายที่เป็นผลงานของนักเขียน ที่ผ่านการตีพิมพ์ และมีการรวมเล่มมาแล้วทั้งในอดีตและปัจจุบัน อย่างนวนิยายของนักเขียนชื่อดังหลายๆคน เช่น ผลงานของ ก.สุรางคนางค์,ไม้ เมืองเดิม,รพีพร,ทมยันตี,พนมเทียน,กฤษณา อโศกสิน,โบตั๋น,ว.วินิจฉัยกุล ,ศรีฟ้า ลดาวัลย์,โสภาค สุวรรณ ,กิ่งฉัตร ฯลฯเรื่องที่ทีมงานผู้ผลิตแต่งขึ้นมาเอง เพื่อนำมาผลิตละครโดยเฉพาะ

  3.เรื่องที่มีอยู่แล้วในตำนาน หรือเรื่องเล่าเก่าแก่ในอดีต แล้วนำมาปรุงแต่งเป็นเรื่องราว เช่น เรื่องแม่นาคพระโขนง,ผีปอบ ฯลฯ

เรื่องที่ดัดแปลง หรือไม่ก็นำเอาเรื่องจากต่างประเทศมาสร้าง แต่มีการตัดเติมเสริมแต่งเพื่อให้เป็นเรื่องไทย

ซึ่งงานเขียนทั้ง 4 ประเภทดังที่กล่าวมาแล้วนี่แหละ ที่ถือเป็นส่วนสำคัญในการผลิตละครทีวี

นวนิยายในละครทีวี

เนื่องปัจจุบันทีวีช่องบันเทิงและวาไรตี้มีการแข่งขันกันทำละครกันสูง ดังนั้น นวนิยายหรือบทประพันธ์ จึงเป็นวัตถุดิบสำคัญในการสร้างละครทีวีที่ช่องต่างๆ พยายามจะซื้อลิขสิทธิ์มาครอบครองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานนวนิยายของนักเขียนชื่อดัง ทั้งในอดีตและปัจจุบัน จะเป็นที่หมายปองอย่างยิ่งสำหรับผู้ผลิตละครทีวี ยิ่งเป็นเรื่องที่เคยสร้างเป็นละครทีวีจนโด่งดังมาแล้ว ก็ยิ่งเป็นที่หมายปอง เพราะมันผ่านกระบวนการที่ประสบผลสำเร็จมาแล้วนั่นเอง

เพราะฉะนั้น วงการละครทีวีไทย จึงมีการนำเอาเรื่องเก่ามาสร้างใหม่ หรือเป็นละครรีเมกที่สร้างวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าดังที่ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้ง ซึ่งส่วนมากจะเป็นผลงานนวนิยายที่เคยโด่งดังในอดีตมาแล้วทั้งสิ้น อย่างเช่นเรื่อง ดาวพระศุกร์,บ้านทรายทอง,ขุนศึก,ลูกทาส,พ่อปลาไหล,พ่อครัวหัวป่าก์ ทองเนื้อก้า,ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด,อีสา ฯลฯ เป็นต้น

ลิขสิทธิ์ราคาเท่าไหร่

  ในการซื้อลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาทำเป็นละครทีวีนั้น ราคาการซื้อขายมีปัจจัยหลายด้านที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณา ซึ่งราคาในการซื้อลิขสิทธิ์มีหลายราคาหลายระดับ จะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านี้

ชื่อเสียงของผู้ประพันธ์ ถ้าเป็นผลงานของนักเขียนระดับตำนาน หรือเป็นนักเขียนชื่อดัง ไม่ว่าจะเสียชีวิตไปแล้ว หรือที่ยังมีชีวิตอยู่ เรตราคาก็จะอยู่ระดับหนึ่ง โดยบรรทัดฐานของนักเขียนระดับนี้ ราคาซื้อขายตัวเลขจะอยู่ในระดับ 6 หลักเป็นอย่างต่ำ ซึ่งผลงานของนักเขียนชื่อดังระดับนี้จะมีผลงานสองระดับด้วยกัน คือ เรื่องที่เคยทำทีวีจนโด่งดัง และสร้างมาแล้วหลายครั้ง ราคาจะตกประมาณ 500,000-600,000 บาท ส่วนผลงานอีกระดับหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยสร้างเป็นละครมาก่อน ราคาก็จะอีกระดับหนึ่ง จะอยู่ในราวๆ 100,000-300,000 บาท

นอกจากนี้แล้ว ผลงานของนักเขียนชื่อดังบางคน ยังมีการซื้อขายลิขสิทธิ์ในราคาระดับหลักล้านเลยทีเดียว

ในส่วนของนักเขียนที่เสียชีวิตไปแล้วนั้น การติดต่อซื้อขายลิขสิทธิ์จะต้องผ่านทายาทและผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลผลงานเท่านั้น หรือแม้กระทั่งผลงานของนักเขียนที่เสียชีวิตผ่านไปแล้ว 50 ปีและผลงานตกเป็นมรดกของแผ่นดินแล้วก็ตาม โดยมารยาทจะต้องติดต่อกับทายาทที่เหลืออยู่ หรือไม่ก็ต้องติดต่อผ่านทางมูลนิธิที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลผลงานเหล่านั้น อย่างเช่น ผลงานบทประพันธ์ของ “พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ”

สำหรับนักเขียนที่มีชื่อเสียงระดับกลางนั้น โดยส่วนมากจะซื้อขายลิขสิทธิ์ในอัตราโดยประมาณอยู่ที่ 70,000-80,000 บาทจนกระทั่งถึงหลักแสน แต่ก็มีบางกรณีที่มีการซื้อขายเป็นแพ็กเกจ โดยซื้อรวมทีเดียว 3-5 เรื่องในอัตราราคา70,000-80,000บาท หรือไม่ก็หนึ่งล้านบาท เป็นต้น

ส่วนผลงานของนักเขียนใหม่ๆนั้น ราคาก็จะตกประมาณ 40000-50000บาทขึ้นอยู่กับเจรจาต่อรอง อีกสิ่งหนึ่งก็คือความโด่งดังของนวนิยายเรื่องดังกล่าวและการยอมรับของคนอ่านที่มีต่อผลงานนวนิยายเรื่องนั้นๆอย่างกว้างขวาง หากเป็นเรื่องดังระดับมาสเตอร์พีซแล้ว นั่นหมายถึงค่าลิขสิทธิ์จะต้องสูงอย่างแน่นอน

จะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับเงื่อนไข

ดังที่บอกเอาไว้แล้วว่า มีเงื่อนไขอีกหลายอย่างในการที่จะทำให้การซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องนั้นถูกหรือแพง โดยสิ่งที่เป็นตัวกำหนดสำคัญเลยก็คือ ระยะเวลาในการซื้อลิขสิทธิ์ในการเซ็นสัญญาระหว่างนักเขียนกับผู้ผลิตละครทีวี

โดยระยะเวลาในการทำสัญญาเช่าซื้อลิขสิทธิ์นั้น ส่วนมากแล้วมักจะเป็น 3-5-7 ปี ซึ่งภายใต้ระยะเวลานั้น หากเป็นเวลา 3 ปี จะราคาถูกกว่า 7 ปี เพราะระยะเวลาที่ครอบครองผลงานเอาไว้ยาวนาน ดังนั้น เจ้าของผลงานหรือนักเขียน สามารถจะนำเอาวันเวลาที่ยาวนานนั้นมาเพิ่มเป็นค่าลิขสิทธิ์ที่ตนเองควรจะได้รับให้เหมาะสมได้

นอกจากนี้แล้ว ความนิยมของคนดูที่มีต่อช่องนั้นๆก็มีผลในการต่อรองราคาด้วย ถ้าเป็นทีวีที่มีเรตติ้งคนดูละครที่สูง และเป็นช่องที่มีชื่อเสียงในการผลิตละครทีวี ก็สามารถจะสู้ราคาในการซื้อขายลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ ซึ่งจะตรงกันข้ามกับช่องทีวีใหม่ๆที่ยังไม่จัดเจนในการผลิตละครทีวี ก็อาจจะต่อรองกับเจ้าของผลงานบทประพันธ์ ให้ลดหย่อนราคาซื้อขายลิขสิทธิ์ได้บ้าง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นทีวีช่องไหน หรือผู้ผลิตละครทีวีรายใด ก็ต้องขึ้นอยู่กับการตกลงของทั้งสองฝ่าย รวมทั้ง การไว้เนื้อเชื่อใจในฝีมือการผลิต และความสัมพันธ์ส่วนตัวด้วย

 

ละครจะดีอยู่ที่อะไร ?

  การได้นวนิยายที่ดีเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาครอบครองเพื่อทำเป็นละครทีวี มิได้หมายความว่าละครที่ผลิตออกมาจะดีเหมือนในหนังสือเสมอไป บางทีเรื่องในหนังสือดี แต่พอทำเป็นละครทีวีอาจล้มเหลวก็ได้ เพราะขาดองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการสร้างละครทีวีนั่นเอง ซึ่งนั่นก็คือ

คนเขียนบท-คนเขียนบทจะมีบทบาทสำคัญอย่างมาก เพราะจะเป็นผู้แปลงสารจากในหนังสือนวนิยายให้ออกมาโลดแล่นอยู่บนจอนั่นเอง ดังนั้นละครทีวีจะดีจะสนุก ต้องขึ้นอยู่กับคนเขียนบท ซึ่งจะเป็นผู้ดึงตัวละคร และเนื้อหาทั้งหมดออกมา รวมทั้งยังเป็นผู้ที่จะเสริมเติมแต่งให้ละครมีความสมบูรณ์ให้ครบทุกรสชาติอีกด้วย

ผู้กำกับ-ถือเป็นบุคคสำคัญอย่างยิ่งในทีมงานสร้างละคร โดยผู้กำกับและคนเขียนบทจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด

ดารานักแสดง-นักแสดงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ ถ้าบทละครดี ผู้กำกับดี แต่ขาดดารานักแสดงที่ดี ต่อให้ซื้อนวนิยายที่โด่งดังขนาดไหนมาสร้าง ก็ไม่มีทางที่จะประสบผลสสำเร็จได้

ขายพล็อตก่อนเป็นหนังสือ

  ในอดีตที่ผ่านมานั้น โดยส่วนมากผู้ผลิตละครทีวีจะซื้อบทประพันธ์จากนักเขียนมาสร้างเป็นละคร แต่ในปัจจุบันมีรูปแบบวิธีการใหม่ๆเกิดขึ้น อย่างเช่น การซื้อเรื่องย่อหรือซื้อพล็อตเรื่อง แล้วนำมาเขียนเป็นบทละครทีวีอีกที ก่อนที่จะนำเอาบทนั้นๆมาเขียนเป็นรูปแบบนวนิยายและพิมพ์เป็นเล่มจำหน่ายอีกทอดหนึ่ง

เช่นเดียวกับการเขียนเรื่องขึ้นมาทำละครทีวีโดยเฉพาะ จากนั้นก็นำเอาบทละครมาเขียนขยายเป็นนวนิยาย ซึ่งทุกวันนี้เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้น อย่างเช่นเรื่อง “สองหัวใจนี้เพื่อเธอ”ก็จัดอยู่ในรูปแบบนี้เช่นกัน

ทีวีกับสำนักพิมพ์

อีกรูปแบบหนึ่งของการแสวงหาผลงานนวนิยายเพื่อมาสร้างเป็นละครทีวี ก็คือการร่วมกิจกรรมกันระหว่างผู้ผลิตละครทีวีกับสำนักพิมพ์ ตัวอย่างเช่นทีวีช่อง3 กับสำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ และพิมพ์คำสำนักพิมพ์ ซึ่งเป็นหนึ่งสำนักพิมพ์ในเครือ กับความสำเร็จจากละครทีวีชุด”สุภาพบุรุษจุฑาเทพที่นำมาเอาซีรีส์นวนิยายชุด สุภาพบุรุษจุฑาเทพผลงานของ ณารา, ร่มแก้ว, เก้าแต้ม, ซ่อนกลิ่น และแพรณัฐ ซึ่งเป็นของค่ายนี้ มาทำเป็นละครทีวีจนประสบผลสำเร็จอย่างสูง

เช่นเดียวกันกับนวนิยายชุด มาเฟียเลือดมังกร เสือ สิงห์ กระทิง แรด หงส์ผลงานของ5นักเขียน รพัด, ลิซ, ผักบุ้ง, ลิลลี่สีขาว, shanya ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ชูการ์บีท อีกหนึ่งสำนักพิมพ์ในเครือสถาพรบุ๊คส์ ที่ถูกนำมาสร้างเป็นละครทีวีซีรีส์ทางช่อง 3 นั่นเอง

...............................

ในปี 2559 ที่กำลังจะมาถึงในเร็ววันนี้ จะเป็นปีที่ทีวีหลายช่องมีการแข่งขันในการผลิตละครทีวีกันมากขึ้น และการแสวงหาบทประพันธ์สำหรับป้อนผู้ผลิตละครทีวีก็จะเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้แล้ว ยังจะมีวิธีการใหม่ๆในการสร้างเรื่องราวสำหรับนำมาแปลงเป็นละครทีวีหลากหลายรูปแบบด้วย

ขึ้นอยู่กับว่าค่ายไหนจะคว้าได้เร็วพลัน มีดาราแม่เหล็กและมีฝีมือในการสร้างละครมากน้อยขนาดไหนเท่านั้นเอง!