'อธิบดีที่ดิน' ชี้ลดค่าธรรมเนียม โดนใจปชช.

'อธิบดีที่ดิน' ชี้ลดค่าธรรมเนียม โดนใจปชช.

"อภินันท์" อธิบดีที่ดิน ชี้มาตรการลดค่าธรรมเนียม หนุนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์3ชุด โดนใจปชช.ยอดทำธุรกรรมพุ่งลิ่ว

นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ และเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย 3 ฉบับ ลดค่าธรรมเนียมสนับสนุนการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 28 เมษายน 2559 เป็นระยะเวลา 6 เดือน มีหลักเกณฑ์การลด”ค่าธรรมเนียมโอนและจำนอง”ว่า ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ แบ่งเป็น ชุดที่ 1.ให้กรมที่ดินลดค่าธรรมเนียมในการโอน หรือซื้อขาย คือซื้อแล้วมาจดจำนองในอัตรา 0.01 เปอร์เซ็นต์ อาจจะเป็นพวกห้องชุดก็ได้ เริ่มไปตั้งแต่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา ยกตัวอย่าง จากเดิมซื้อขายในราคา 1,000,000 บาท ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมถึง 20,000 บาท แต่มาตรการนี้ให้จ่ายแค่เพียง 100 บาท ถือว่า ลดลงไปมาก เป็นมูลเหตุจูงใจ

ชุดที่ 2.ผู้มีรายได้น้อยที่อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเอง ให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ออกเงินกู้ในวงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยใช้ระยะเวลา 10 ปี ดอกเบี้ยระยะต้นจะถูกหน่อย จากนั้นจึงบวกลบไปตามอัตราดอกเบี้ย ขณะนี้ก็มีผู้มาติดต่อเป็นจำนวนมาก ชุดที่ 3.ให้กรมสรรพากรนำมูลค่าของการซื้อบ้านหลังแรกมาลดหย่อนภาษีเงินได้ 20เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อ ไปลดหย่อนได้ 5 ปี ซึ่งรัฐบาลต้องการให้ถือครองที่ดินอย่างน้อย 5 ปี ไม่ใช่แค่ซื้อมาแล้วขายไป

“มาตรการ 3 ชุด ผมว่า มันโดนใจพี่น้องประชาชน ขณะนี้ผู้คนที่มาขอจดทะเบียนรับสิทธิ์มีเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่า ตัวเลขก็ยังไม่มีนัยยะสำคัญทางสถิติ เพราะเพิ่งเริ่มดำเนินการเมื่อ 3-4 วันที่ผ่านมา แต่จำนวนเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วแบบวันต่อวัน เพิ่มขึ้นประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังมีปัจจัยแปรอีกตัวคือปีหน้ากรมธนารักษ์ ประกาศประเมินราคาที่ดินใหม่ เพราะเมื่อประเมินใหม่ราคาที่ดินก็จะสูงขึ้น ฉะนั้นจาก 0.01 เปอร์เซ็นต์ แต่ราคามันสูงขึ้น ท่านจะต้องเสียเพิ่มขึ้น ผมคิดว่า ภายในเดือนธันวาคมนี้มาตรการนี้จะมีความตื่นตัวมาก” อธิบดีกรมที่ดิน กล่าว

นายอภินันท์ ยังกล่าวถึงปัญหาที่สำคัญเกี่ยวกับการดำเนินการในระบบคิวรังวัด ว่า  การดำเนินการในเรื่องรังวัดมีความล่าช้า การดำเนินต้องใช้ระยะเวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 2 - 3 เดือนต่อรายของการไปดำเนินการทั่วประเทศ ซึ่งล่าช้ามาก อย่างเช่นที่จังหวัดปัตตานี คิวยาวเป็นปีๆ เรื่องนี้เราก็ยายามแก้ปัญหาอยู่ แต่อยากเรียนว่า บุคลากรช่างรังวัดของกรมที่ดินกำลังประสบปัญหาขาดแคลน นายช่างรังวัดเดิมที่มีอยู่ แต่ละคนอายุเฉลี่ย 50 ขึ้นไปเกือบทั้งหมด จะไปลุยทำงานแบบสมบุกสมบันก็คงจะไม่ดี ซึ่งทางแก้ไขในเรื่องนี้ เรายังมี “พระราชบัญญัติช่างรังวัดเอกชน” ขณะนี้กำลังดูว่า จะทำอย่างไรให้ช่างรังวัดเอกชนเกิดการพัฒนาในด้านประสิทธิภาพให้มากยิ่งขึ้น

“ ผมเคยถามดูเหมือนว่า ทำไมชาวบ้านไม่ไปใช้บริการช่างรังวัดเอกชน เพราะมันแพง และรังวัดถูกบ้างไม่ถูกบ้าง ต้องมาคุยกันว่าเราจะไปพัฒนา ขณะนี้แม้แต่คนที่ผ่านการอนุญาตจากพ.ร.บ.ช่างรังวัดเอกชนประมาณ 200 กว่าคน เขาก็ไม่ยอมไปเข้าสู่กระบวนการเป็นช่างรังวัดเอกชน ไม่ยอมไปแจ้งความจำนงค์เข้าเป็นช่างรังวัดเอกชน ผมก็มีหนังสือเชิญเขาไปแล้วว่า ผ่านกระบวนการตามกฎหมาย ท่านมีสิทธิ์แล้วทำไมไม่ทำอาชีพนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมเตรียมที่จะเรียกสมาคมช่างรังวัดเอกชนมาคุย จะทำอย่างไรให้การดำเนินงานมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เพราะทางเราจะขอเพิ่มอัตราบุคคลากรในส่วนนี้ที่ขาดแคลน ก็โดนมาตรการควบคุมการเพิ่มจำนวนบุคลากรภาครัฐ เลยพยายามที่จะนำอัตราว่างจากการเกษียณอายุราชการมาบรรจุเป็นตำแหน่งช่างรังวัดเพิ่ม ทั่งประเทศก็ประมาณ 2,000 อัตรา ตอนนี้ก็ใช้วิธีเกลี่ย ตรงไหนที่คิวไม่ยาวนักจะเกลี่ยไปในที่ที่คิวยาวหน่อย ถือเป็นการแก้ปัญหาในเบื้องต้นเท่านั้น ” อธิบดีกรมที่ดิน ระบุ