ยันระบบเลือกตั้งกาบัตร 1 ใบเป็นธรรมกับทุกพรรค

ยันระบบเลือกตั้งกาบัตร 1 ใบเป็นธรรมกับทุกพรรค

"กรธ." ชี้ระบบเลือกตั้งแบบใหม่กาบัตร 1 ใบ เป็นธรรมกับทุกพรรค ประชาชนเข้าใจง่าย เผยสัปดาห์หน้าถกหมวดองค์กรอิสระ

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติกล่าวกรณีที่กรธ.มีแนวโน้มนำคะแนนของประชาชนทุกคะแนนมาคิดคำนวนเพื่อจำนวนส.ส.ว่า วิธีการดังกล่าวจะทำให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกพรรค เนื่องจากคะแนนทุกคะแนนที่ประชาชนลงให้ไม่ว่าจะลงให้กับพรรคการเมืองใดจะถูกนำมาคิดคำนวนว่าจะได้ส.ส.จำนวนเท่าใด ซึ่งหลักการดังกล่าวจะคล้ายกับระบบสัดส่วนผสม( Mixed-Member Proportional : MMP )แต่ของกรธ.จะไม่มีโอเวอร์แฮง คือ ไม่ปล่อยให้จำนวนส.ส.ไหลไปตามทศนิยม เพราะเรากำหนดให้มีส.ส.จำนวน 500 คน แบ่งเป็นแบบแบ่งเขต 350 คน แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน

หลักการที่เราคิดแบบนี้เชื่อว่าจะช่วยให้ประชาชนลงคะแนนได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีบัตรเลือกตั้งแค่เพียง 1 ใบ และนับคะแนนของทุกคนเท่ากับว่าคะแนนของทุกคนจะมีความหมาย เมื่อเป็นแบบนี้ พรรคต้องพิถีพิถันคัดสรรคนที่ดีที่สุดลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่วน นโยบายพรรคก็ต้องแน่น นำไปสู่การพัฒนาระบบการเมืองที่แข็งแรง ซึ่งท้ายที่สุดพรรคนายทุนก็จะค่อยๆหายไป

"เราฟังเสียงทุกเสียงที่สะท้อนมาก ติติงอย่างไร เราฟังหมด เนื่องจากกรธ.ทั้ง 21 คนไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญมาใช้กันเอง แต่เราร่างให้คนทั้งประเทศโดยเฉพาะรุ่นใหม่ได้ใช้และเป็นแนวทางในการคิดหลักการต่อในอนาคต และการกำหนดหลักการเลือกตั้งแบบนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกพรรคได้แสดงฝีมือและแข่งขันกันอย่างจริงจัง" นายชาติชาย กล่าว

ส่วนกรณีที่กรธ.กำหนดให้มีกกต. 7 คน เนื่องจากเราพิจารณาจากปัญหาการทำงานของกกต.ที่ผ่านมา โดยกกต.กลางมีบุคลากร 5 คน แต่ขอบเขตการทำงานมากไม่นับแค่การจัดการเลือกตั้งแต่ต้องทำหน้าที่สืบสวนการทุจริตการเลือกตั้งด้วย จึงเห็นว่าควรมีกกต.เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2 คนเพื่อมาช่วยกันทำงาน โดยเน้นให้ทำงานแบบองค์คณะ เราเห็นความสำคัญของกกต.กลาง จึงควรที่จะมีบทบาทที่เข้มข้นขึ้น นายชาติชาย กล่าวอีกว่า

สำหรับความคืบหน้าของการร่างรัฐธรรมนูญในสัปดาห์หน้าทางกรธ.จะพิจารณาเนื้อหาในส่วนขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต่อจากสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยจะเป็นการพิจารณาในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จากนั้นจะไล่เลียงไปยังองค์กรต่างๆ อาทิ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดินผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น