แดน (หญิง) เนรมิต

แดน (หญิง) เนรมิต

เรือนจำหญิงต้นแบบที่เปลี่ยนนิยามของ “คุก” ไม่เท่ากับ “ทุกข์” อีกต่อไป

หากจะปลูกบ้าน พื้นที่ 1 งาน อาจจะเพียงพอสำหรับการทำสวนย่อมๆ สักแปลง หรือเว้นไว้เป็นที่ใช้สอยให้สมาชิกในครอบครัวพักผ่อน แต่สำหรับ “บ้าน” หลังกำแพงสูงแห่งนี้ พื้นที่เท่านี้คือบริเวณทั้งหมดของบ้านที่มีสมาชิกกว่า 100 คน อยู่รวมกันในฐานะ “ผู้ต้องขังหญิง”

“250 คน เราก็อยู่มาแล้ว คือเราต้องอยู่ให้ได้” อุไร ส่งศิริ นักทัณฑวิทยาชำนาญการ หัวหน้าแดนหญิง เรือนจำจังหวัดอุทัยธานีบอก

เกือบ 100 ปีที่แล้ว “เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี” ได้ถูกสร้างขึ้น โดยเวลานั้นมีผู้กระทำความผิดส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย เรือนจำจึงได้กันที่เล็กน้อยในแดนชายไว้สำหรับแดนหญิงที่มีผู้ต้องขังจำนวนเพียง 30 คน แม้จำนวนผู้ต้องขังหญิงที่ส่งมายังเรือนจำแห่งนี้ไม่ได้ต่างจากเรือนจำอื่น คือ มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีมากกว่า 3 เท่าแล้ว และพื้นที่ส่วนนั้นก็ยังใช้เป็นบริเวณจองจำนักโทษหญิงตลอดมา

ปัญหาผู้ต้องขังล้นคุกยังคงแก้ไม่ตกไม่ว่าจะเป็นเรือนจำไหน แต่สำหรับที่แดนหญิงของเรือนจำจังหวัดอุทัยธานี ที่เพิ่งได้เป็น “เรือนจำต้นแบบ” ตาม “ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง” (The Bangkok Rules) หรือ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” ได้ใช้หลักการมองที่ว่า ความคับแคบไม่ใช่ปัญหา แต่คือข้อได้เปรียบ

...ไซส์เล็กไม่ได้มีข้อดีแค่ที่ผู้คุมจะยืนตรงไหนก็ดูแลได้หมด แต่ยังช่วยเปลี่ยน “คุก” ให้ “อบอุ่น” ได้ด้วย

 

แดนสารพัดนึก

“ที่ทั้งหมดของเราอาจจะเท่ากับตึกซักรีดของเรือนจำอื่น” อุไร หัวหน้าแดนหญิง เรือนจำจังหวัดอุทัยธานีเล่าให้เห็นภาพเปรียบเทียบ

แม้จะมองว่า เล็ก แต่พื้นที่หลังประตูเรือนจำแห่งนี้ก็ถูกแบ่งออกเป็นสัดส่วนให้หญิงสาวหลายวัยได้ใช้เวลากับงานของตัวเอง มีทั้งกลุ่มงานถักโครเชต์อยู่กลางห้อง ใกล้ๆ กันก็เป็นแผนกนวด ที่มุมห้องด้านหน้าก็เป็นที่รีดผ้า มุมด้านหลังมีไว้สำหรับทำกับข้าว ติดกันก็เป็นมุมสำหรับความสวยความงาม

ทั้งหมดนี้คือ “กองงาน” ฝึกฝนผู้ต้องขังหญิงให้มีความรู้ติดตัว ที่หลังจากตื่นนอน ทำภารกิจส่วนตัว รับประทานอาหารแล้ว ทุกคนต้องแยกย้ายเข้าประจำงานที่ตัวเองสนใจ

“พอแยกย้ายแล้ว เราก็เปิดร้าน ทำความสะอาดร้าน” เบียร์ สาววัย 27 เล่าถึงกิจวัตรของตัวเอง

เบียร์มีหน้าที่เป็นช่างเสริมสวยประจำโซนของกองงานฝึกอาชีพเสริมสวยที่ถูกกั้นไว้ด้วยฉากสีชมพูขนาดสิบตารางวานิดๆ มีกระจกหนึ่งบานให้ลูกค้าไว้ดูผลงานเหมือนร้านเสริมสวยทั่วไป โดยมีลูกค้าประจำทั้งหนีบผม ยืดผม ทำสี แวะเวียนมาที่มุมนี้อยู่เรื่อยๆ

“เราทำได้ เพราะมีอาจารย์มาสอน ก็เรียนกับเขา แล้วก็มีจำจากเพื่อนบ้าง” รัตน์ สาววัย 31 ปี ช่างเสริมสวยประจำมุมอีกคนบอก ตอนนี้เธอออยากให้มีสอนวิธีการดัดผม และการอบไอน้ำเพิ่ม ลูกค้าของเธอจะได้สวยอย่างหลากหลายขึ้น

นอกจากกองงานต่างๆ ภายในพื้นที่เดียวกันยังมีโซนไว้สำหรับผู้ต้องขังที่ต้องการเรียนเพิ่มเติม ซึ่งเรียกว่า “ศูนย์การเรียนรู้” มีสอนตั้งแต่ผู้ไม่รู้หนังสือ ชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา ไปจนถึง ปวช. และ ปวส. โดยใช้โต๊ะยาวตัวเดียวกับที่ใช้เป็นที่กินข้าวในเวลาอาหารมาเป็นชั้นเรียนขนาดเล็ก โดยเปลี่ยนระดับชั้นไปตามรอบเวลา

“ที่ศูนย์การเรียนรู้ ก็มีหนังสือให้ สามารถเอาเข้าไปอ่านในเรือนนอนได้ แต่ตอนเช้าก็ต้องเอาออกมา สามารถหยิบไปคนละเล่มสองเล่ม เพราะบางคนไม่ชอบดูทีวี ส่วนครูก็จะมีนักโทษที่อาสาสอนให้ มีภาษาไทยกับคณิต แล้วก็มีชาวฟิลิปปินส์สอนภาษาอังกฤษ ก็เรียนกันทั้งวัน มีเวลาพักบ้าง” ภัทรารัตน์ ชินพีระเสถียร เจ้าพนักงานราชทัณฑ์ชำนาญงานประจำแดนหญิง เล่า

การเรียนในที่นี้อาจจะไม่ได้ลึกเหมือนห้องเรียนข้างนอก แต่เน้นให้ผู้ต้องขังสามารถเอาไปปรับใช้กับชีวิตให้ได้ อย่างที่ชั้นเรียนของผู้ไม่รู้หนังสือที่มีนักเรียนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุจากที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้เลยก็ได้เริ่มเขียนจดหมายส่งกลับบ้านแล้ว

"เล่มนี้เล่มที่ 4 แล้วค่ะ” ทวาย วัย 70 เปิดสมุดคัดคำไทยพร้อมรอยยิ้ม แม้เธอจะยังเขียนเป็นประโยคถึงขั้นส่งจดหมายให้ลูกไม่ได้ แต่ก็ยังพยายามเรียนต่อไป โดยได้ลงทะเบียนเรียนชั้นประถมฯ ต่อไว้แล้ว

ภาพผู้ต้องขังหญิงกำลังง่วนอยู่กับสิ่งที่ตัวเองสนใจในพื้นที่เล็กๆ คือภาพชินตาของแดนหญิงแห่งนี้ ที่แบ่งกองงานและการเรียนรู้ภายในเรือนจำเป็นไปตามหลักการดูแลผู้ต้องขัง การแบ่งสันปันส่วนพื้นที่ได้ชัดเจนขึ้นเมื่อได้ปรับปรุงตามการตรวจประเมินของข้อกำหนดกรุงเทพ ซึ่ง ณัฐธินี วิชัยรัตน์ นักสงคมสงเคราะห์ประจำเรือนจำ บอกว่า การจัดพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนและใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดนี้ก็เหมือนเป็น “แดนเนรมิต” ที่ในแง่หนึ่งก็ช่วยให้ผู้ต้องขังรู้สึกไม่ต่างจากที่ได้ใช้ชีวิตข้างนอก

“เขามีความสุขขึ้น เพราะมันมีสถานที่ชัดเจนให้เขา เสร็จจากงานแล้วเขาจะไปห้องสมุดนะ ไปร้านเสริมสวยนะ ไปซื้อของนะ”

 

เอาใจ ใส่ใจ

แม้รั้วแน่นหนาที่มาพร้อมความเข้มงวด คือ สภาพภายนอกของ “คุก” ที่ควรจะเป็น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คุกจะอบอุ่นไม่ได้ สีหน้ายิ้มแย้มของทั้ง “ผู้คุม” และ “นักโทษ” คือคำอธิบายที่ดีว่า อยู่คุกก็ไม่จำเป็นต้องทำตัวให้ทุกข์

“ต่างจากภาพในฝันมากค่ะ” รัก ผู้ต้องขังหญิงวัย 32 เอ่ยถึงสถานที่ที่เธอใช้ชีวิตทั้งกินอยู่หลับนอนมาเป็นเวลากว่า 1 ปี รักเคยคิดไว้ว่า คุกคือฝันร้ายที่มาพร้อมกับความเลวร้าย ไม่น่าอยู่ แต่การได้เข้ามาอยู่จริงๆ ฝันที่คิดว่าจะร้ายกลับกลายเป็นดีที่ทำให้เธอพัฒนาตัวเองมากขึ้น

รักเลือกอยู่กองงานปักเลื่อม มีงานประจำ คือ ปักบั้งสำหรับติดบ่าชุดข้าราชการ และก็มีหน้าที่ช่วยทำความสะอาด คอยอ่านจดหมายเข้า จดหมายออกประจำแดนหญิง งานที่มีทุกวันแบบนี้ทำให้เธอรู้สึกเพลินมากกว่าที่จะหดหู่

“ที่เคยคิดไว้คือเหมือนในหนังเลย จะมีคนยืนเกาะลูกกรงมอง แต่เข้ามาแล้วไม่ใช่ ผู้คุมก็ใจดี ไม่มีทะเลาะกันแบบที่คิด” รักเล่า

แม้จะถูกจองจำไว้ในฐานะ “นักโทษ” ที่ต้องมี “ผู้คุม” แต่ในทางปฏิบัติ ทุกคนที่แดนหญิงคือญาติที่ต้องดูแลกัน ไม่ว่าใครจะเคยผ่านการทำผิดมาในรูปแบบไหน

“ยุคนี้มันไม่ใช่แล้ว มันเหมือนบ้าน บ้านหลังเล็กๆ เราเหมือนครูกับนักเรียน มีอะไรเราก็ชี้แนะ” อุไร หัวหน้าแดนหญิง อธิบายความสัมพันธ์ที่หวังจะให้ผู้ต้องขังของเธอมีคุณภาพชีวิตที่ดี

“ทำยังไงให้เขามีความสุข ให้เขาอยู่กับเราตรงนี้อย่างมีความสุข แล้วช่วงเวลานึงที่เขาอยู่กับเรา อย่างน้อยๆ เขาก็ได้มาพักผ่อน ก็ถือว่า อย่าคิดว่ามาติดคุก พยายามให้เขาคิดว่ามาพัก ไม่อยากให้เขาคิดแบบนั้น เพราะเดี๋ยวก็ทุกข์ ไม่มีใครช่วยเขาได้ ให้คิดว่าอยู่บ้านจะมีเวลาแบบนี้เหรอ นอนหกโมง หน้าใส เหมือนมาอยู่โรงเรียนประจำ มาหาความรู้ อยากได้อะไรก็บอก อย่างคนจบ ป.6 มาอยู่ ออกไปได้วุฒิ ปวช. ออกไปให้แม่ เขาก็บอกหนูมาเรียนหนังสือนะ ไม่ได้มาติดคุก เราต้องเปลี่ยนความคิดเขา เขาก็สุขได้" เอิน อาจิตร์ ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดอุทัยธานีเสริม

แม้เรือนจำจะไม่ใช่สถานที่ในฝันที่ใครๆ อยากไป แต่สำหรับผู้ต้องขัง การได้อยู่เรือนจำที่เอาใส่ใจความเป็นอยู่เช่นนี้คือสิ่งหล่อเลี้ยงความหวังให้ยังคงเดินหน้าต่อไปได้ ยิ่งเป็นผู้ต้องขังหญิงที่มีความละเอียดอ่อนทางร่างกายและจิตใจแล้ว ต้องมีการปฏิบัติที่พิเศษออกไป สิ่งที่แดนหญิงของจังหวัดอุทัยทำมาตลอดก็เป็นไปตามข้อกำหนดกรุงเทพที่ได้รับการอบรมมา เช่น การไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องขังประเภทไหน การรักษาความลับของบุตรผู้ต้องขัง การดูแลสุขภาพอนามัยผู้ต้องขัง หรืออย่างรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น ไม่เปลื้องผ้าผู้ต้องขังขณะตรวจค้น ไม่ใช้เครื่องพันธนาการระหว่างผู้ต้องขังหญิงเดินทางไปคลอดบุตร

ในมุมมองของ นัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เห็นว่า การปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพที่ไม่ได้อยู่ในลักษณะ “บังคับ” เหมือนกฎหมายได้นั้นจะต้องเริ่มที่ “คน”

“การปรับทัศนคติเจ้าหน้าที่สำคัญที่สุด ต้องทำให้เขาเข้าใจความแตกต่างของชาย-หญิง ให้เขาคิดวิธีการทำงานด้วยตัวเอง จริงๆ ซึ่งจะทำให้วิธีปฏิบัตินั้นยั่งยืน ไม่ใช่แค่ตอนที่ไปตรวจเยี่ยม”

 

ต้นแบบคือแรงจูงใจ

"เราจะให้แม่เขาเลี้ยงตลอด 24 ชั่วโมง ก็มีพี่เลี้ยงบ้าง มาผลัดเปลี่ยนเวลาเขาไปซักผ้า น้องก็จะนอนที่นี่ มีห้องสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เด็ก และผู้สูงอายุจะนอนโซนเดียวกัน ตอนนี้ก็เพิ่งมีคลอดใหม่ยังไม่ถึงเดือน เราก็ให้เขาให้นมที่ห้อง” ภัทรารัตน์ เล่าถึงการปฏิบัติกับหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และหญิงที่มีบุตรติด ที่เป็นไปตามข้อกำหนดกรุงเทพ โดยมีโซนที่กั้นห้องไว้เฉพาะ มีของเล่น และภาพการ์ตูนสีสดใสตกแต่งไว้ที่ผนัง

นอกจากการปฏิบัติให้ถูกต้องกับแม่และเด็กแล้ว การประเมินตามข้อกำหนดกรุงเทพที่พัฒนามาจากเครื่องมือของ Penal Reform International (PRI) จะครอบคลุมไปถึง นโยบายเรือนจำ, การรับตัว-ลงทะเบียน, สุขอนามัย, ความปลอดภัยและความมั่นคง, การติดต่อกับโลกภายนอก, การจำแนกและปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ผู้ต้องขังลักษณะพิเศษ เช่น ชาวต่างชาติ ชนกลุ่มน้อย ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี, การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย

“ก่อนหน้านี้ เราก็ได้อบรม ก็ปฏิบัติไปตามข้อกำหนด ไม่ได้เจาะลึก เราอาจจะลองผิดลองถูก ไม่ชัดเจน แต่พอเรามีคน (สถานบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย) ประเมิน คอยแนะให้ เราก็ชัดเจนขึ้นแต่ละข้อๆ” อุไร หัวหน้าแดนหญิงอธิบาย

เรือนจำหญิงต้นแบบอย่างเรือนจำจังหวัดอุทัยธานีกำลังจะกลายเป็นแรงจูงใจให้เรือนจำอื่นๆ ได้เห็นภาพความเป็นไปได้ของการยกระดับคุณภาพของเรือนจำภายใต้ข้อจำกัดไม่ว่าจะเป็นด้านพื้นที่ คน หรืองบประมาณ

“เราใช้วิธีที่ให้มันเกิดมาจากข้างใน ไม่ใช่ว่าเหมือนเป็นนักเรียนแล้วมาสอบ” ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยเอ่ยถึงวิธีการที่ส่งเสริมให้เรือนจำทั่วประเทศเกิดการพัฒนา

“ลักษณะเหมือนโค้ชชิ่ง ไม่ใช่มาเรียนสอนเล็คเชอร์ เป็นโค้ชชิ่งในเชิงที่อบรมแล้วก็เข้าไปดูในช่วงต่างๆ เพื่อที่จะให้เขาก้าวหน้าไปได้”

จากนี้ไป จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ถอดบทเรียนกันระหว่างเรือนจำมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรือนจำที่มีแดนหญิงขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่แดนชาย หรือจะเป็นเรือนจำหญิงโดยเฉพาะ

"เราเป็นผู้เริ่ม สิ่งที่สำคัญคือการมีเรือนจำต้นแบบ ในบริบทไทยซึ่งเป็นประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไร ไม่ได้ที่มีระบบดีที่สุด ทันสมัยที่สุด เราก็มีปัญหาของเราอยู่ แต่เราก็พัฒนาในบริบทของเรา นอกจากการอบรมกฎเกณฑ์ เราต้องการให้เห็นของจริงว่า เรือนจำสามารถเอาเรื่องนี้ไปใช้ได้ เราเริ่มจากการที่เราฝึกอบรมในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติด้วยว่า มีอะไร ตระหนักในความเสมอภาคทางเพศ ความเปราะบาง ข้อจำกัดของเพศหญิงควรจะเป็นยังไง ควรจะมีระบบแบบไหน เข้าใจปัญหาเมื่อเพศหญิงเข้ามาในเรือนจำ” ดร.กิตติพงษ์ อธิบายถึงความสำคัญของข้อกำหนดกรุงเทพที่มีขึ้นมาแล้ว 5 ปี ซึ่งก้าวต่อไปของข้อกำหนดกรุงเทพก็คือการเผยแพร่แนวคิดนี้ และส่งเสริมความเข้าใจให้เกิดการปฏิบัติไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ดร.กิตติพงษ์ มองว่า ด้วยข้อจำกัดของเรือนจำ และบริบทต่างๆ คงจะเป็นไปไม่ได้ที่เรือนจำทุกแห่งจะกลายเป็นเรือนจำต้นแบบ เช่นที่พูดกันบ่อยๆ ว่า ถ้าให้เลือกระหว่างสร้างโรงพยาบาลกับเรือนจำ เสียงส่วนใหญ่ก็ต้องเลือกโรงพยาบาลมากกว่า

ถึงอย่างนั้น เราก็ไม่ควรจะถือว่า การมีข้อจำกัด แปลว่า จะไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะเรือนจำที่มีพื้นที่ใช้งานแค่ 1 งาน อย่างเรือนจำจังหวัดอุทัยธานีก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทำได้