'พรเพชร'แนะกรธ.ศึกษาร่างรธน.ฉบับที่ตก เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข

'พรเพชร'แนะกรธ.ศึกษาร่างรธน.ฉบับที่ตก เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข

"พรเพชร" แนะกรธ.ศึกษาร่างรธน.ฉบับที่ตกไป เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข ขณะที่สนช.พร้อมสนับสนุนข้อมูลจากการรับฟังความเห็นผ่านเวทีสนช.พบประชาชน

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.). กล่าวถึงกรอบการทำงาน 180 วัน ของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ส่วนตัวคาดว่ากรธ.จะใช้เวลาครบหรือเกือบครบตามกำหนด 180 วัน โดยสนช.มีมุมอง 2 มิติ คือกรธ.ต้องศึกษาจากร่างรัฐธรรมนูญ. ฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรโณ ที่ตกไปก่อนหน้านี้ ว่ามีส่วนใดสมควรต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร และต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน.ซึ่งในส่วนนี้สนช.มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ถูกต้อง ผ่านเวทีสนช.พบประชาชนซึ่งจัดขึ้นทุกสัปดาห์ โดยสนช.จะส่งต่อความเห็นของประชาชนให้กับกรธ. 

ต่อข้อถามถึงสนช.บางคนที่ได้รับการทาบทามให้เป็นที่ปรึกษากรธ.นายพรเพชร. กล่าวว่า บุคคลที่ได้รับเชิญมีส่วนสำคัญในการยกร่างรัฐธรรมนูญหลายฉบับ ทั้งฉบับปี 2540 ,2550 และฉบับล่าสุดที่ไม่ผ่านความเห็นชอบของสนช. โดยเกี่ยวข้องเป็นกรรมการยกร่างหรือเลขานุการคณะกรรมการยกร่าง ซึ่งถือเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดข้อมูลค่อนข้างมาก 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่กรธ.อาจยกร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมถึงช่วงก่อนที่จะมีการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมือง ประธานสนช.กล่าวว่า เท่าที่รับฟังไม่พบว่ามีประเด็นดังกล่าว มีเพียงการออกมาพูดของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ว่าการเมืองไทยที่มีปัญหาทุกวันนี้  เพราะเราได้นักการเมืองที่มีปัญหาถูกลงโทษให้ตัดสิทธิทางการเมือง หรือได้รับโทษทางอาญา ถ้าสามารถตัดสิทธิบุคคลดังกล่าวได้อย่างถาวรอาจทำให้การเมืองพัฒนาได้ดีขึ้น ส่วนประเด็นที่กรธ.บางคนออกมาพูดถึงกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น ตนยังไม่ขอวิจารณ์ เพราะในชั้นนี้สมาชิกกรธ. หรือบุคคลท่่วไปสามารถพูดได้ การด่วนวิพากษ์วิจารณ์จะเป็นการทะเลาะกับประชาชนจำนวนมาก จึงควรรอให้เรื่องเข้าสู่กระบวนการแล้วค่อยวิจารณ์หรือให้ความเห็น หากเป็นข้อเสนอแนะที่ดีเชื่อว่ากรธ.จะรับไปปฏิบัติ แต้ถ้าไม่ดีก็ไม่ควรรับไว้เพื่อไม่ให้นำไปสู่ความขัดแย้ง   

สำหรับประเด็นการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) นั้น. นายพรเพชร กล่าวว่า. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ไม่ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการสรรหาองค์กรอิสระแสดงว่ากระบวนการเดิมนั้นมีองค์ประกอบที่น่าเชื่อถือ. โดยสนช.จะทำหน้าที่ตรวจสอบกลั่นกรองรายชื่อจากคณะกรรมการสรรหาหากเห็นว่าเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสมก็เห็นชอบ สำหรับตนมีฐานะเป็นกรรมการสรรหาป.ป.ช. ดังนั้นจะไม่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในขั้นตอนของสนช.