รื่นเริง @ เฉิงตู

รื่นเริง @ เฉิงตู

จากพื้นราบสู่ยอดเขาสูง ภูมิประเทศและภูมิอากาศอาจแตกต่าง แต่ที่เหมือนกันคือความประทับใจในระดับ ‘สุด’

ไม่ว่าบนโลกนี้จะมีสถานที่สุดวิเศษรอคอยนักท่องเที่ยวให้ไปเยือนมากแค่ไหน แต่เชื่อเถิดว่าบางแห่งไม่ใช่แค่อยากไปก็ไปได้ เพราะไม่ใช่แค่เรื่องเงินเรื่องทองที่ใช้จ่าย แต่ต้องมี ‘ใจ’ ที่ขับเคลื่อนร่างกายด้วย


เฉิงตู เป็นสถานที่อย่างที่ว่า...


อย่าเพิ่งรีบยกมือค้าน เพราะบางคนเคยไปมาแล้ว หรือบางคนเคยได้ยินชื่อเมืองเฉิงตูจากสื่อต่างๆ (โดยเฉพาะเรื่องหมีแพนด้า) เพราะใช่ว่าคุ้นหูคุ้นตาแล้วจะหมายความว่าอะไรจะง่ายดายไปหมด นั่นเพราะเฉิงตูไม่ได้มีแค่หมีแพนด้า แต่ยังมีของดี (ยิ่งกว่าสี่ภาค) ให้นักท่องโลกได้สัมผัสกันหลายแง่มุม ทั้งประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ ชอปปิง แม้กระทั่งประสบการณ์แบบจอมยุทธ์


-1-


มีคนเคยบอกไว้ว่า “อ่านสามก๊กครบสามจบ คบไม่ได้” ไม่แน่ใจว่าใครเริ่มกล่าวประโยคนี้คนแรก บางทีคนนั้นอาจอ่านไม่จบก็เลยดักคอคนที่อยากอ่านวรรณกรรมระดับตำนานเรื่องนี้ไว้ (อิจฉาล่ะสิ) เพราะเท่าที่รู้จักคนที่สนใจเรื่องสามก๊ก หลายคนอ่านเป็นสิบๆ รอบ ทุกวันนี้ก็ยังคบค้าสมาคมเป็นปกติ
บอกตามตรง อ่านสามก๊กครบสามจบไม่ใช่เรื่องยาก การจะจำตัวละครและรายละเอียดทั้งเรื่องได้สิยากกว่า แต่ไม่แน่ว่าถ้าได้สัมผัสประสบการณ์ตรง คนที่สนใจสามก๊กครึ่งๆ กลางๆ อย่างผมอาจ ‘อิน’ ก็เป็นได้

และที่เฉิงตูก็ตอบโจทย์จริงๆ เพราะสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของเมืองนี้คือ อู่โหวฉือ หรือแปลไทยได้ความว่า ศาลขงเบ้ง ที่นี่ไม่ใช่ศาลเจ้าไก่กาปาจิงโกะนะครับ แต่ถึงขั้นได้รับสมญานามว่า ‘ดินแดนศักดิ์สิทธิ์สามก๊ก’ เลยทีเดียว

ชื่อศาลและสมญานามบ่งบอกซะขนาดนี้ ข้างในต้องมีสามก๊กเน้นๆ แน่นๆ แน่ๆ

เริ่มด้วยวีรบุรุษแห่งจ๊กก๊ก เช่น เล่าปี่ ขงเบ้ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือถึงขนาดมีรูปปั้นมากกว่า 50 รูป ฝีมือของประติมากรในสมัยราชวงศ์ชิง ต่อมารูปปั้นเหล่านี้กลายเป็นเทพมงคลในสายตาประชาชนอันนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล ความผาสุก สติปัญญา และโชคลาภ

นอกจากจะมีรูปปั้นวีรบุรุษ (ซึ่งกลายเป็นเทพ...) ยังมีศิลาจารึกอีกกว่าครึ่งร้อยรวมทั้งป้ายโคลงกลอนต่างๆ มากกว่า 70 ชิ้น

หากแบ่งศาลขงเบ้งออกเป็นส่วนๆ จะได้สามส่วนคือ ส่วนโบราณวัตถุ เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์สามก๊กทั้งสิ้น ส่วนอุทยาน เกี่ยวกับวัฒนธรรมสามก๊ก และส่วนถนนคนเดินจิ๋นหลี่

เห็นชื่อว่าถนนคนเดินแล้วขาช้อปทั้งหลายเริ่มคันไม้คันมือ แต่ก่อนจะไปเสียสตางค์ต้องไม่พลาดสามจุดสำคัญ คือ ศาลขงเบ้งหรือศาลจูกัดเหลียง, ศาลเล่าปี่ และสุสานฮุ่ยหลิง (สุสานเล่าปี่)

ศาลขงเบ้งสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงขงเบ้ง อัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊กในยุคสามก๊ก ซึ่งทำงานหนักจนล้มป่วยและถึงแก่อสัญกรรมที่สนามรบอู่จั้งหยวน...
เดี๋ยวนะ เพิ่งเริ่มเล่าก็ถึงฉากอสัญกรรมแล้วเหรอ ไม่ได้สิ เพราะคุณงามความดีของขงเบ้งที่ชาวจีนจำนวนมากยกย่องดุจเทพเจ้านั้นมากมายเหลือเกิน เช่น ตอนที่ยังมีชีวิตขงเบ้งเคยได้รับแต่งตั้งเป็นอู่เชียงโหว ซึ่งเทียบเท่ากับบรรดาศักดิ์ ‘พระยา’ ของไทย และหลังจากถึงแก่อสัญกรรม (นั่นไง...ฉากตายอีกแล้ว) เขาก็ได้รับการอัพเกรดเป็นจงอู่โหว นั่นจึงเป็นที่มาของศาลเจ้าที่ระลึกถึงขงเบ้งว่า ‘อู่โหวฉือ’

ภายในมีรูปปั้นขงเบ้งสวมหมวกและถือพัดขนนกระเรียนด้านหน้ารูปปั้นมีกลองสำริดที่สร้างขึ้นในคราวที่ขงเบ้งยกทัพไปปราบดินแดนทางตอนใต้ จนกลองใบนี้ได้รับฉายาว่า ‘กลองขงเบ้ง’

ตามบันทึกประวัติศาสตร์สามก๊ก หลังจากเล่าปี่เสียชีวิตที่เมืองไป๋ตี้ ได้มีการเคลื่อนศพกลับมาฝังที่เมืองเฉิงตู แน่นอนว่าสถานที่ฝังศพเล่าปี่ก็คือที่นี่ สุสานฮุ่ยหลิงหรือสุสานเล่าปี่เป็นที่ฝังศพของเล่าปี่และภรรยาทั้งสองของท่าน

รู้ข้อมูลดังกล่าวแล้วก็ตามไปดูของจริงทางทิศตะวันตก สิ่งที่เห็นคือ ‘เนินเขา’

นั่นแหละครับ หลุมฝังศพที่ใหญ่มากระดับเนินเขา ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา (ชลบุรีหรือสระบุรี ทำเลยอดนิยมสำหรับสร้างฮวงซุ้ย แพ้ไปเลย)
ด้วยความที่ที่นี่มีทั้งศาลขงเบ้งและศาลเล่าปี่อยู่ร่วมกัน ที่นี่จึงเป็นสถานที่เดียวที่ศาลของขุนนางกับศาลของกษัตริย์อยู่ร่วมกัน ซึ่งหาไม่ได้ที่ไหนแล้ว

เอาล่ะ...ได้เวลาขาช้อป เพราะเพียงเดินออกมาจากศาล จะเจอถนนคนเดินที่มีกลิ่นอายของความเก่าผสมใหม่ เป็นความรู้สึกโพสท์โมเดิร์นที่ขมุกขมัว...บอกไม่ถูก

คือถ้าใครชอบของเก่าก็พอได้ ถ้าชอบของใหม่ก็พอมี...ทำนองนั้น

ความน่าสนใจของอู่โหวฉือทำให้เมื่อปี 2006 ได้รับเลือกเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับ 4A (ประมาณคะแนน 4 เต็ม 5) จากกรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศจีน และมีนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมกว่าปีละล้านคน

-2-

ชื่อนคร ‘เฉิงตู’ ซึ่งหมายความว่า ‘กลายเป็นนครหลวง’ เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช มีที่มาจากความตอนหนึ่งในตำนานการสร้างเมืองของโจ่วไท่หวัง พระปัยกา (ปู่ทวด) ของโจวอู่หวัง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โจว ที่กล่าวไว้ว่า ‘หนึ่งปีรวมเป็นชุมชน สองปีกลายเป็นเมือง สามปีกลายเป็นนครหลวง’ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันเฉิงตูเป็นเมืองประวัติศาสตร์แห่งเดียวของจีนที่ไม่เคยเปลี่ยนชื่อและย้ายที่ตั้ง

ความเป็นมายาวนาของชื่อเมืองสอดคล้องกับสิ่งก่องสร้างโบราณที่อยู่คู่นครเฉิงตูมากว่า 2,200 ปี นั่นคือ เขื่อนตูเจียงเยี่ยน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำหมินเจียง ห่างจากตัวเมือง 56 กิโลเมตร

ความสำคัญของเขื่อนนี้คือป้องกันอุทกภัยมาตั้งแต่อดีต โดยเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของประชาชนช่วยกันสร้างเขื่อนนี้ขึ้น ณ ตอนบนของแม่น้ำหมินเจียง เพราะเดิมที่แม่น้ำสายนี้เกิดภัยพิบัติบ่อยครั้งทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมฉับพลัน เมื่อสร้างเสร็จปุ๊บชีวิตของชาวมณฑลเสฉวนก็ดี๊ดีขึ้นทันตา

เมื่อเดินขึ้นไปมองจากจุดชมวิวด้านบนจะเห็นสายน้ำสายใหญ่นี้ถูกแบ่งออกเป็นอีกสาย พอนึกถึงว่าคนยุคนั้นซึ่งยังไม่มีเทคโนโลยีการก่อสร้างใดๆ จะสร้างเขื่อนนี้ได้ด้วยกำลังคนได้อย่างไร

บอกตรงๆ ‘อึ้ง’ และ ‘ทึ่ง’ มากๆ

ไหนๆ ก็กล่าวถึงสามก๊กมาซะยาวเหยียด ขอบอกว่าเขื่อนแห่งนี้ก็มีส่วนเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์สามก๊ก เพราะในสมัยนั้นจูกัดเหลียงหรือขงเบ้ง สมุหกลาโหมในพระเจ้าเล่าปี่ ก็เคยมาเยือนเขื่อนนี้ และแต่งตั้งข้าราชการพิเศษประจำเขื่อนเพื่อดูแลโดยเฉพาะ มิหนำซ้ำบุคคลในประวัติศาสตร์โลกอย่าง มาร์โค โปโล นักเดินทางชาวอิตาเลียนได้ขี่ม้าเป็นเวลา 20 กว่าวันจากเมืองฮั่นจง มายังเขื่อนตูเจียงเยี่ยนเพื่อชมทัศนียภาพและได้จดจารลงในบันทึกการเดินทางของเขาด้วย

โด่งดังขนาดนี้ ปีค.ศ. 2000 ยูเนสโกจึงยกย่องให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เพื่อยืนยันว่าถึงคุณค่าและความเป็นเขื่อนดินเก่าแก่ที่สุดของโลก
สถานที่ต่อไปคือ ‘เขาเขียว’

เขาเขียวจริงๆ นะ แต่ไม่ใช่เขาเขียวที่ชลบุรี แต่เป็น ชิงเฉิงซาน ขุนเขาเขียวแห่งศาสนาเต๋า ซึ่งเขาลูกนี้ห่างจากเขื่อนเพียง 10 กิโลเมตร ซึ่งชื่อของเขาลูกนี้ก็แปลเป็นไทยว่าภูเขาที่เมือนเมืองแห่งแมกไม้สีเขียว เป็นไงล่ะ ตอกย้ำความเขียวกันไปเลย

สำหรับความสำคัญด้านทรัพยากรธรรมชาติ เขาลูกนี้เป็นแหล่งระบบนิเวศขนาดใหญ่ อุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าอากาศภาคพื้นดินของเฉิงตูจะร้อนอย่างไร บนเขาจะเย็นสบายและชุ่มชื้นชื่นใจ

และด้วยฉายาที่เกี่ยวกับศาสนาเต๋า จึงเชื่อกันว่าเขาลูกนี้เป็นสถานที่บำเพ็ญพรตของ จางเต้าหลิง ผู้ให้กำเนิดศาสนาเต๋า ยิ่งไปกว่านั้นว่ากันว่านักพรตผู้นี้บำเพ็ญสำเร็จจนเป็นเซียนเหาะขึ้นสวรรค์กันไปเลย

เส้นทางท่องเที่ยวบนภูเขาลูกนี้ค่อนข้างสะดวก แม้จะมีบันไดขึ้นๆ ลงๆ แต่ก็ไม่เกินความสามารถของทุกคน (มั้ง) แต่สำหรับนักปีนเขาผู้เชี่ยวชาญ ส่วนด้านหลังจะมีเส้นทางธรรมชาติขนานแท้ ทั้งขรุขระและลาดชันไว้รองรับ

สำหรับความเขียวและเจ๋งของที่นี่ก็เข้าตากรมการท่องเที่ยวประเทศจีนจนได้รับ 5A ซึ่งถือว่า ‘ที่สุด’

ยังไม่ทันสิ้นเสียงคำว่า ‘ที่สุด’ เราจะพาไปเจอกับ ‘ที่สุด’ อีกอย่างหนึ่งแห่งเฉิงตู แต่แนะนำว่าให้ไปเตรียมเสื้อชูชีพและครีมกันแดดให้พร้อม...แล้วไปกัน

-3-

ที่ย่อหน้าข้างบนบอกให้ไปเตรียมเสื้อชูชีพและครีมกันแดด เพราะเรากำลังจะล่องเรือไปตามแม่น้ำซึ่งอดีตได้ชื่อว่าเกิดเหตุเรืออับปางบ่อย
อย่าเพิ่งเข้าเกียร์ถอยหลัง เพราะนั่นคืออดีต แต่ปัจจุบันแม่น้ำอันเชี่ยวกรากต้องเจอกับพุทธคุณของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ยักษ์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

พระใหญ่เล่อซาน เป็นพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาหินประดิษฐานอยู่ที่เขาเล่อซาน เดิมมีชื่อว่ารูปสลักหินพระศรีอริยเมตไตรยวัดหลิงอวิ๋นแห่งเมืองเจียโจว

ตามตำนานอดีตบริเวณนี้เกิดเรืออับปางบ่อย ฤดูน้ำหลากก็เกิดอุทกภัยบ้านเรือนเสียหาย ผู้คนล้มตาย...เรียกได้ว่าเป็นจุดตาย เจ้าที่แรง สยองมากๆ
จนกระทั่งปี ค.ศ.713 หลวงจีนไห่ทง สร้างพระพุทธรูปนี้ขึ้น อานิสงส์ของพระพุทธรูป และเศษหินจากการแกะสลักภูเขาจึงช่วยปรับร่องน้ำให้ตื้นขึ้นและลดความแรงของกระแสน้ำได้ ซึ่งกว่าจะสร้างเสร็จต้องมีผู้สร้างถึงสามรอบ สิริรวม 90 ปีจึงแล้วเสร็จ กลายเป็นพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาหินองค์ใหญ่ที่สุดในโลก

ด้วยความยิ่งใหญ่และคุณูปการซึ่งสะท้อนถึงพลังศรัทธาและภูมิปัญญาของชาวจีนโบราณ ยูเนสโกจึงขึ้นทะเบียนพระพุทธรูปองค์นี้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติคู่กับ เขาง้อไบ๊ ในปี 2011 และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับ 5A ด้วย

ย่อหน้าเมื่อกี้เห็นชื่อคุ้นหูคุ้นตาไหมครับ...

ใช่แล้ว เขาง้อไบ๊ ชื่อเทือกเขาที่คนไทยคุ้นหูกันดี และมีภาพจำถึงจอมยุทธ์ในหนังจีนกำลังภายใน แค่ได้ยินชื่อนี้เสียงกระบี่ฟาดฟันกัน ภาพจอมยุทธ์เหาะเหินเดินอากาศ คงแวบเข้ามาทันใด

แต่ช้าก่อน! เพราะง้อไบ๊จริงๆ ไม่ได้ขึ้นชื่อเรื่องเหล่านั้น แต่ง้อไบ๊หรือเอ๋อเหมยซาน เป็นภูเขาที่เกี่ยวพันกับพุทธศาสนามากกว่าเรื่องบู๊ๆ เสียอีก
การเดินทางไปเขาง้อไบ๊ต้องนั่งรถโดยสารขึ้นไปแล้วต้องไปต่อรถรางโมโนเรล มีช่วงที่ต้องเดินบ้าง ชันบ้าง ถ้า ‘ใจ’ ไหว ขาก็น่าจะไหว

ชื่อเขาง้อไบ๊คุ้นหูมานาน แต่ความหมายจริงๆ ยังไม่เคยรู้ จนกระทั่งมาถึงที่นี่...

ง้อไบ๊มาจากลักษณะของภูเขาที่สวยเหมือนวงคิ้วของสาวงาม (ง้อ หรือ เอ๋อ แปลว่า สูง ส่วนคำว่า ไบ๊ หรือ เหมย แปลว่า คิ้ว) เมื่อแสงอาทิตย์กระทบยอดเขาจะเกิดประกายแสง เขาง้อไบ๊จึงมีอีกชื่อว่า ‘เทือกเขาแห่งแสงสว่าง’

สำหรับยอดเขาที่สูงที่สุดคือ ยอดว่านฝอติ่ง หรือ ยอดหมื่นพระพุทธ อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 3,099 เมตร ด้วยความที่ง้อไบ๊มีความหลากหลายทางระบบนิเวศและมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ที่นี่จึงมีพืชพรรณกว่า 3,000 ชนิด และสัตว์น้อยใหญ่กว่า 2,300 ชนิด

อย่างที่บอกไปว่าง้อไบ๊เกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนา เพราะเดิมทีเขาลูกนี้เป็นที่ตั้งของอารามนักพรตเต๋ามาช้านาน แต่ต่อมาด้วยความเชื่อทางพุทธศาสนาว่า เขาง้อไบ๊เป็นสถานที่บำเพ็ญบารมีของพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ผู้เป็นเลิศทางจริยาและเป็นตัวแทนของจริยาบารมี เขาแห่งนี้จึงได้รับยกย่องเป็น 1 ใน 4 พุทธคีรีของประเทศจีน

นอกจากนักท่องเที่ยวจะขึ้นไปเที่ยวบนเขาง้อไบ๊ได้ตามปกติแล้ว สำหรับคนที่อยากดื่มด่ำกับความเข้มขลังและซึมซับความเป็นง้อไบ๊ ก็ยังขึ้นไปที่จุดสำคัญที่ไม่ควรพลาดอย่างยอดเขาจินติ่ง หรือ ยอดทอง ได้ด้วย เพราะยอดเขาจินติ่งเป็นจุดชมวิว 360 องศาที่กวาดสายตาไปได้รอบๆ เพื่อลิ้มรสความงดงาม

แต่สำหรับคนที่คิดว่าแค่นั้นยังไม่หนำใจเพราะรถโมโนเรลที่จะพาไปถึงยอดเขาจินติ่งจะหมดประมาณ 5 โมงเย็น การนอนค้างคืนที่โรงแรมบนนั้นก็เป็นอีกวิธีที่น่าสนใจ

...แน่นอนว่าผมต้องค้างคืน

ไม่ว่าอากาศที่อื่นจะร้อนหนาวแค่ไหน แต่บนง้อไบ๊ยามเย็นบอกได้เลยว่า ‘หนาวมาก!’ และอุณหภูมิจะลดต่ำลงเรื่อยๆ เมื่อพลบค่ำ และในที่สุดความทรมานดั่งการบำเพ็ญพรตก็ได้เริ่มต้นขึ้น

ไม่ใช่แค่อากาศหนาว แต่ความสูงระดับนั้นทำให้อากาศเบาบางมาก สมกับคำกล่าวที่ว่า ‘ยิ่งสูงยิ่งหนาว’ แถมยัง ‘ยิ่งหวิว’ อีกด้วย

หากยืนนิ่งๆ แต่รู้สึกได้ว่าหัวหมุนๆ หรือโลกนี้กำลังโยกเยกช้าๆ นั่นแหละครับคุณกำลังได้สัมผัสอากาศเบาบางแล้วล่ะ

วิธีที่ดีที่สุดคือเข้าห้อง เปิดฮีทเตอร์ แล้วนอนซะ เพราะพรุ่งนี้เช้ามีพระอาทิตย์ขึ้นสวยๆ ให้ได้ชื่นชม...

เช้ามืด ผมสวมเสื้อกันหนาวเดินฝ่าอากาศที่ยังคงเย็นเยียบ แล้วดื่มด่ำกับภาพพระอาทิตย์ดวงกลมโตที่โผล่รับวันใหม่... นั่นคือสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นหากไม่มีฝน 

ใช่ครับ ฝนตกตั้งแต่เช้ามืด จนฟ้าสว่าง ลามไปจนถึงตอนสาย ผมกับพระอาทิตย์จึงไม่ได้สบสายตากัน แต่ไม่เป็นไรเพราะง้อไบ๊กลางสายฝนก็ฉ่ำชื่นไปอีกแบบ ที่สำคัญคือยังมีอะไรให้เที่ยวอีกตั้งเยอะ เช่น วิหารทอง วิหารเงิน และวิหารทองแดง ซึ่งแตกต่างจากวิหารอื่นๆ ตรงที่วิหารทั่วไปจะหันหน้าไปทางทิศใต้ แต่วิหารบนยอดเขาจินติ่งหันไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า

และที่บริเวณลานกว้างบนยอดเขาจินติ่งมีรูปเคารพขนาดมหึมาสีทองอร่ามของพระสมันตภัทรโพธิสัตว์สิบเศียรประทับเหนือบัลลังก์บัวบนหลังช้างเผือก 4 เชือกด้วย

นอกจากนี้ยังมีวัดเก่าแก่อีก 26 แห่งอยู่ทั่วเขาง้อไบ๊ แต่วัดที่ห้ามพลาดเลยคือวัดว่านเหนียน หรือ วัดหมื่นปี ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาในช่วงรัชศกหลงอันสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออก ภายในวัดมีตำหนักหลายหลัง โดยเฉพาะตำหนักอู๋เหลียงจวน ด้านในมีพระทันตธาตุ พระคัมภีร์ใบลาน พระราชลัญจกร และรูปหล่อทองเหลืองของพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ประทับเหนือบัลลังก์บัวบนหลังช้างเผือกหกงา เป็นรูปหล่อที่ยอดฮิตโดยเฉพาะช่วงบั้นท้าย
เพราะเชื่อกันว่าถ้าได้ขอพรแล้วลูบวนตรงขาหลังของช้างเผือกหกงา จะสมหวังดังตั้งใจ (ผู้หญิงใช้มือซ้าย ผู้ชายใช้มือขวา)

ทั้งสวย ทั้งสูง ทั้งศักดิ์สิทธิ์ ง้อไบ๊จึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับ 5A อย่างไม่ต้องสงสัย