สารนายกฯแจงร่างรธน.-สร้างปรองดอง

สารนายกฯแจงร่างรธน.-สร้างปรองดอง

สารจาก "ประยุทธ์" ถึงคนไทย มอบ "โฆษกรบ." แจง2ประเด็นใหญ่ร่างรธน.-สร้างปรองดอง ลั่นทหารเข้ามาแก้ปัญหาเป็นครั้งสุดท้าย พร้อมขอกำลังใจจากปชช.

โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย(ทรท.) ได้เผยแพร่สารจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งอ่านโดยพลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีความยาวในการออกอากาศ 17 นาที ซึ่งเนื้อหาแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นใหญ่คือ การร่างรัฐธรรมนูญและการสร้างความปรองดอง            

พลตรีสรรเสริญ กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่ประเทศเรากำลังเดินหน้าสู่การปฏิรูปและมีการยกร่างรัฐธรรมนูญเพี่อความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ดังนั้น 2 หัวข้อคือ 1.การยกร่างรัฐธรรมนูญ เริ่มจากที่วิสัยทัศน์ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้ให้แนวทางการคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่าขอให้มองที่ปัญหาของประเทศไทยในห้วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นโจทย์ แล้วก็หาวิธีแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการทางประชาธิปไตยที่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก ไม่เอาประชาธิปไตย เสรีที่ไร้ขีดจำกัดมาเป็นตัวตั้ง โดยไม่มองว่าปัญหาที่แท้จริงนั้นอยู่ตรงไหน แม้ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่หากทุกคนไม่ปฏิบัติตามและพยายามที่จะหาช่องว่างอ้างแต่เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นกระทบสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นหรือไม่ บ้านเมืองก็คงไม่มีเสถียรภาพ การรับฟังความเห็นในเรื่องรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างนั้น คสช.ได้มอบแนวทางให้กับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ว่าจะต้องดำเนินการโดยต่อเนื่องจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกมธ.ยกร่างฯ ชุดเดิมที่ได้ดำเนินรับฟังความเห็นจากประชาชนมาแล้วทั่วประเทศ ประเด็นสำคัญคือการจะต้องรับฟังจากประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ที่ผ่านมามีคนพยายามที่จะบิดเบือนว่ากมธ.ยกร่างฯ รับฟังแต่เสียงจากคนชั้นสูง ซึ่งความจริงแล้วประเทศไทยไม่มีคนชั้นสูง ชนชั้นกลางและไม่มีชนชั้นต่ำ คำพูดเหล่านั้นเป็นเพียงวาทกรรมที่นักการเมืองบางคนที่มีความพยายามแบ่งกลุ่มแบ่งฝ่าย สร้างความแตกแยกในบ้านเมืองเพื่อผลประโยชน์ในบ้านเมือง แม้กระทั่งการบังคับใช้กฏหมายให้มาตรา 112 ก็กล่าวหาว่าคสช.และรัฐบาลใช้เพื่อที่จะทำลายฝ่ายตรงกันข้าม               

“ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่ามีการกระทำผิดจริงหรือไม่ ชัดเจนหรือไม่ทั้งการพูดการชุมนุม ทั้งในโซเชียลมีเดียทั้งในและต่างประเทศ มีการกล่าวกันว่าทำไมรัฐบาลถึงไม่แก้ไขเรื่องนี้ รัฐบาลต้องเรียนให้ทราบว่าก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ส่วนราชการโดยเฉพาะหน่วยงานได้ความมั่นคงได้ดำเนินการป้องกันการพูดจาจาบจ้วงล่วงละเมิดต่อสถาบันอันเป็นที่รักของไทยมีตลอด แต่กลุ่มคนพวกนี้ยังคงใช่เทคนิคในการหลบเลี่ยงอย่างต่อ และยังให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่จะสร้างข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวเท็จทำลายความเชื่อมั่นของประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงโดยไม่มีการห้ามปรามและเอาจริงเอาจังจากผู้มีอำนาจในช่วงนั้นเลย”            

หลังจากวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)และรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศก็ยังมีการกกระทำในลักษณะเช่นนี้อยู่ซึ่งคสช.และรัฐบาลก็พยายามที่จะป้องกันการกระทำที่ผิดกฎหมายเหล่านั้นอย่างเต็มกำลังความสามารถ แต่ต้องเรียนตามความเป็นจริงว่าการป้องกันและการปิดกั้นนั้นกระทำได้ยากมาก ในประเทศก็มีการดำเนินการไปตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  แต่กลุ่มบุคคลเหล่านี้ยังอาศัยเทคนิคทางเทคโนโลยีไปเปิดเว็บไซต์แห่งใหม่ ก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะต้องดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตามเมื่อเจ้าหน้าที่สามารถติดตาม ตรวจสอบ จับกุมผู้กระทำความผิดได้ ก็มักจะมีการสร้างเครือข่ายขึ้นมาต่อต้านโดยอ้างหลักสิทธิมนุษยชน และในที่สุดก็หลบหนีไปต่างประเทศ         

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่สอง การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการร่างรัฐธรรมนูญ คสช.และรัฐบาลอยากจะขอความร่วมมือประชาชนทุกภาคส่วน ตลอดจนนักการเมือง กลุ่มการเมือง นักวิชาการ ได้แสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางที่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญได้จัดไว้น่าจะมีความเหมาะสมที่สุดดีกว่ามาแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อมวลชน เพราะอาจจะทำให้สังคมสับสนว่าเรื่องใดเป็นข้อเท็จจริง เรื่องใดเป็นการตีความไปเองหรือเป็นความคิดเห็นเฉพาะตัวที่ไม่ได้มาจากข้อมูลในรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง    

ประเด็นที่สาม เป้าหมายและสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญก็คือเราจะแก้ไขเผด็จการรัฐสภา การทุจริตประพฤติมิชอบและการกระทำที่ผิดกฎหมายได้อย่างไร การตรวจสอบ การถ่วงดุลอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและตุลาการ จะทำอย่างไรจึงจะมีความสมดุล การบริหารราชการแผ่นดินที่จะต้องมีธรรมาภิบาลจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลายปีทีผ่านมามีความรุนแรง มีการใช้อาวุธสงครามทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ มีการแบ่งแยกประชาชนออกเป็นฝักเป็นฝ่าย จะทำอย่างไรจึงจะป้องกันเหตุการณ์ทั้งหลายนี้ไม่ให้เกิดขึ้นได้อีก ทำอย่างไรจึงจะทำให้ข้าราชการไม่เสียกำลังใจ ได้รับความเป็นธรรม ไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำสิ่งที่ไม่ถูกต้องจากฝ่ายการเมือง            

การปฏิรูปให้เกิดความยั่งยืนของประเทศในทุกมิติอาจจะต้องใช้เวลานาน คงไม่ใช่หนึ่งหรือสองปีที่จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าคสช.จะอยู่จนกระทั่งจบการปฏิรูป เพียงแต่จะต้องเริ่มต้นปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่หมักหมมมาเป็นเวลานาน ปฏิรูปในเรื่องต่าง ๆ ที่จะวางรากฐานประเทศและส่งต่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งให้ดำเนินการต่อไป โดยมีกลไกมีกฎหมายควบคุมให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ครอบคลุมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 12 เป็นต้นไป โดยรัฐบาลจะต้องนำเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้ไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมเกิดผลสัมฤทธิ์ที่จับต้องได้ ทุกหน่วยราชการจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งนี้กลไกดังกล่าวจะต้องไม่ไปก้าวก่ายการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล แต่จะต้องสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้หากประเทศจะต้องประสบปัญหาขึ้นมาอีก ดังเช่นปัญหาที่มีมาก่อนวันที่ 22 ตุลาคม 2557              

“คสช.และรัฐบาลเข้าใจดีว่าคนส่วนใหญ่และต่างประเทศที่เป็นสากลคงจะไม่ค่อยชอบการที่ทหารเข้ามาแก้ไขปัญหาโดยควบคุมอำนาจการปกครองประเทศดังนั้นคสช.และรัฐบาลจึงคาดหวังว่า รัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างอยู่นี้จะได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วนในการแสดงความคิดเห็นจนเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความสมบูรณ์สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศได้ และคงเป็นการดีที่ทหารจะต้องไม่เข้ามาแก้ปัญหาเหมือนเช่นที่ผ่านมาอีก สำหรับนักการเมืองบางท่านที่เกิดความไม่สบายใจก็ขอให้อดทนเพื่อประเทศชาติและประชาชน ซึ่งคงใช้เวลาอีกไม่นานนักตามโรดแมพที่คสช.และรัฐบาลได้เรียนให้ประชาชนทราบมาโดยตลอด”พล.ต.สรรเสริญ กล่าว 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หัวข้อที่สองในเรื่องของความปรองดอง ประเด็นแรกเป็นหลักของความปรองดอง ที่หลายคนอ้างว่าหากจะเดินหน้าประเทศกลับไปเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จะต้องจัดให้มีการนิรโทษกรรมทันที ประเทศชาติจึงจะมีความสงบสุข ซึ่งก็ต้องตั้งคำถามกลับไปว่ากระบวนการยุติธรรมซึ่งทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันมันหายไปไหน หากยอมรับข้อกล่าวหากลับมาต่อสู้คดีความตั้งแต่แรกก็คงไม่เกิดปัญหา คงไม่ต้องมีคสช.และคงไม่มีประชาชนที่บาดเจ็บล้มตายจากการกระทำของกองกำลังที่อ้างว่าเป็นกำลังไม่ทราบฝ่าย ทั้งที่มีการจับกุมดำเนินคดีตัดสินความผิด ชดใช้ความผิดอยู่ในเรือนจำแล้วก็หลายราย ซึ่งทุกคนก็ทราบกันดีอยู่ว่าบุคคลพวกนี้ให้การสนับสนุนใคร หากเป็นการสนับสนุนตามระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยธรรมาภิบาล เหตุการณ์ทั้งหลายเหล่านี้คงไม่เกิดขึ้น ประชาชนก็คงไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน คสช.และรัฐบาลเชื่อมั่นว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นตรงกันว่าการสร้างความปรองดองก็คือการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันโดยยังต้องยึดมั่นอยู่ในข้อกฎหมายมิใช่ละเมิดความถูกต้องของกฎหมาย ใครผิดก็ยังต้องถูกลงโทษโดยกระบวนการยุติธรรมอย่างเด็ดขาดและเสมอภาคกัน มิฉะนั้นก็เท่ากับว่าเรากำลังสร้างหลักเกณฑ์ กติกาที่ไร้วินัย ไร้ระเบียบ เมื่อไม่มีอะไรเป็นหลักให้รักษาอีกความโกลาหลก็จะเกิดขึ้น ความไร้ระเบียบก็จะตามมาอีกมากมาย       

ส่วนประเด็นที่สองคือเรื่องความร่วมมือของประชาชนเพื่อให้เกิดความปรองดองนั้น พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า คสช.และรัฐบาลอยากให้ประชาชนพิจารณาคำพูด ข้อเสนอของนักการเมือง นักวิชาการและนักการสื่อสารบางคน หรือสื่อมวลชนบางแขนงว่าได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนหรือไม่ เกิดประโยชน์กับประเทศชาติอย่างแท้จริงหรือไม่ ซึ่งประชาชนสามารถที่จะช่วยเหลือเรื่องนี้ได้  กล่าวคือหากประชาชนเจอพวกที่มุ่งเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัวยั่วยุ หวังที่จะให้เกิดความเดือดร้อนโกลาหล ยุยงให้เกิดความเกลียดชังแบ่งฝักแบ่งฝ่ายก็ขอให้ประชาชนเลิกฟัง เลิกเชื่อ เลิกสนับสนุน ขณะนี้ประเทศกำลังอยู่ในระหว่างวางรากฐานประเทศกันใหม่ แก้ไขปฏิรูปในทุกเรื่องเสมือนการผ่าตัดใหญ่เพื่อที่จะรักษาโรคเก่าและป้องกันโรคใหม่ที่จะตามมา สิ่งที่คสช.และรัฐบาลได้ดำเนินการอยู่ทุกวันนี้ก็เพื่อจะให้ประเทศชาติของเราและประฃาฃนของเราไม่กลับไปอยู่ในสถานการณ์เช่นเดิมอีก  

โฆษกฯ กล่าวอีกว่า คสช.และรัฐบาลไม่ได้ที่จะต้องการให้เป็นศัตรูกับใคร แต่ขอยืนยันว่าจะไม่ให้ใครก็ตามที่มุ่งร้ายต่อสถาบันฯ คิดทุจริต ทำร้ายประชาชนและประเทศมากกดดันการทำงานของคสช. รัฐบาล และคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญในการที่จะทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงประเทศให้มีอนาคตที่เข้มแข็งมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน คสช.และรัฐบาลหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเข้ามาแก้ไขประเทศชองทหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จะเป็นการแก้ไขปัญหาของประเทศโดยทหารครั้งสุดท้าย โดยสรุปการร่างรัฐธรรมนูญก็จะต้องมีทั้งที่เป็นสากลไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ และก็มีทั้งกระบวนการและกลไกสำหรับช่วงระยะเวลาหนึ่งที่จะปฏิรูปจนกระทั่งประเทศของเรานั้นมีความมั่นคง มีเสถียรภาพและไม่ฝ่าฝืนกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยของสากล เพื่อที่จะพัฒนาการเมือง นักการเมือง ประชาชนทุกภาคส่วนให้มีความรักสามัคคี มีคุณธรรม จริยธรรม มีธรรมาภิบาล ปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองที่ถูกต้อง บังคับใช้กฎหมายได้อย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ตามแม้ว่าคสช.และรัฐบาลจะมีความตั้งใจจริงเพียงใด แต่หากขาดซึ่งความรัก สามัคคี จากคนไทยทุกคน ขาดความมีสติ วิจารณญาณ ความตระหนักคิดและความรักของประชาชนที่มีต่อแผ่นดินเกิด การปฏิรูปประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนก็คงไม่สามารถที่จะทำสำเร็จได้      

“สำคัญที่สุดพี่น้องประชาชนต้องช่วยกันให้กำลังใจ เอาใจช่วยกับคนที่ตั้งใจมุ่งมั่นและซื่อสัตย์ อย่าปล่อยให้ถูกกดดัน ต่อว่าเสียกำลังใจจากผู้ที่ไม่ได้รักประเทศชาติอย่างแท้จริง”พล.ต.สรรเสริญ กล่าวและปิดท้ายว่า และนี่คือสารจากใจพล.อ.ประยุทธ์ที่มีถึงประชาชนคนไทยทุกคน