ภาคต่อ 'เถ้าแก่น้อย' ท้าฝัน ปักธง 'โกลบอล'

ภาคต่อ 'เถ้าแก่น้อย' ท้าฝัน ปักธง 'โกลบอล'

จากเด็กหาเงินได้เรือนแสน ขยับสู่เศรษฐีพันล้านใน10ปี ในวัย 31 เผชิญทั้งสำเร็จ-ล้มเหลว ภาคต่อ ชายชื่อ “ต๊อบ-อิทธิพัทธ์" กล้าฝันสู่ โกลบอล

ต้นฉบับเด็กไทยกล้าคิด “พลิกชีวิต” เหนือความคาดหมาย !!

ในวัยมัธยมภาพลักษณ์เป็นเด็กติดเกม หารายได้ในวัยเรียนจากการขายอาวุธในเกม “EverQuest”  ทำเงินเดือนได้เรือนแสน 

ก่อนรุกสู่เถ้าแก่ธุรกิจแฟรนไชส์ขายเกาลัดหลักล้าน 

จนไต่เต้าสร้างโรงงาน ”สาหร่ายแปรรูป” ธุรกิจหลักพันล้าน ในวัยเพียง 19 ปี

ความสำเร็จทั้งหมดนี้ ใช้เวลา “เพียง 10 ปี”  กับความเก่งบวกเฮงของ “ต๊อบ” อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) 

เรื่องราวความสำเร็จของเขา ยังถูกถ่ายทอด เป็นภาพยนตร์เรื่อง “วัยรุ่นพันล้าน” ผู้ปลุกปั้นแบรนด์เถ้าแก่น้อย จนถูกยกให้เป็นหนึ่งในเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่งในไทย ที่เริ่มต้นธุรกิจจากศูนย์ 

ปัจจุบัน “สาหร่ายเถ้าแก่น้อย” คือ เบอร์ 1 แบรนด์สาหร่ายที่มียอดขายมากที่สุดในไทย 

ปีที่ผ่านมา มีส่วนแบ่งการตลาด 62%  จากมูลค่าตลาดรวม 2,355 ล้านบาท 

ทว่า ไขว่คว้าความสำเร็จว่ายากยิ่งแล้ว 

การรักษาความสำเร็จไว้ พร้อมไต่ไปอีกขึ้น ยิ่งยากกว่า ..!!

กับ “ฝันใหญ่” ที่เป็น “ภาคต่อ” ของเถ้าแก่ต๊อบ  

ปลายทางความฝันของแบรนด์ไทย กับแรงปรารถนา ที่ต้องการขยับจากแบรนด์ไทย สู่ แบรนด์ภูมิภาคใน 5 ปี และโกลบอลแบรนด์ใน 10 ปีจากนี้  

ไต่ระดับยอดขายแตะ 5,000 ล้านบาท ในปี 2561 ขึ้นไปแตะ 10,000 ล้านบาทในปี 2568 หรือ 10 ปีข้างหน้า รวมถึงการเพิ่มฐานลูกค้าจาก 35 ประเทศ เป็น 100 ประเทศ  

เจ้าตัวยังบอกต่ออีกว่า..

วันที่ก่อร่างสร้างธุรกิจ 10 ปีแรก มีอายุ 19-30 ปี เป็นช่วงเวลา “บุกตะลุย” ลองผิดลองถูก

“ล้านแรก” ของความสำเร็จคือ เถ้าแก่ ลงมือทำเองทุกอย่าง 

ทว่า “พันล้าน” ไปสูหลัก “หมื่นล้าน” ต้อง..คิดใหม่ ทำใหม่

สร้างสตอรี่ใหม่สแน็คแบรนด์ไทย ปักธงโกลบอล !!

“เราขอเป็นแนวหน้าแบรนด์ไทย แรงบันดาลใจสร้างให้คนเห็นคนไทยต้อง “กล้าคิด กล้าทำ” ความสำเร็จระดับประเทศไม่พอ เราต้องการเป็นแบรนด์ไทยที่ไปสร้างความสำเร็จระดับโลก เหมือนอย่างเกาหลีมีซัมซุง อเมริกามีกูเกิล ไมโครซอฟต์”

ต๊อบ ออกตัวว่า แม้แผนงานดูจะยาก ยิ่งใหญ่ และท้าทายฝีมือเถ้าแก่เช่นเขา แต่ก็พร้อมจะพิสูจน์ อย่าง “คนกล้าฝัน”

ด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ที่ “ตกผลึก” จากการรุกธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา

1.เป้าหมายต้องชัดเจน 

2.ต้องวางแผนก้าวเดินชัด ลงรายละเอียดรายวัน รายอาทิตย์ รายเดือน รายปี แบบมีโฟกัส 

3.ต้องดึงคนเก่ง มืออาชีพ เข้ามาช่วยงาน 

“ไม่ว่าธุรกิจจะมียอดขายพันล้าน หรือหมื่นล้าน วิธีการทำแผนธุรกิจคอนเซ็ปต์ไม่ต่างกันตรงที่ 3 ข้อแรก"

ขณะที่เป้าหมายการปักธงต่างแดนของเถ้าแก่น้อย 

ต๊อบเล่าว่า เขาต้องการ “เพิ่มรายได้” จากการส่งออกให้ “แซงหน้า” ยอดขายในประเทศ ประเมินจากแนวโน้มการส่งออกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 2555- 2557 รายได้จากการส่งออกเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% ทำให้สัดส่วนรายได้จากส่งออกในปัจจุบันเพิ่มจาก 32% เป็น 43% 

สวนทางกับการเติบโตของตลาดภายในประเทศที่ “ลดลง 5%” จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว 

ต๊อบยังตั้งเป้าว่า  ในปี 2558  สัดส่วนการส่งออก จะเพิ่มเป็น 50% เท่ากับ รายได้ในประเทศ 

โดยเฉพาะการส่งออกสาหร่ายทอดไปยังตลาดจีน ซึ่งกลายเป็นตลาดส่งออกหลัก โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบอัตราเติบโตเฉลี่ย 200%

ตลาดส่งออกรองลงมา คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์  ฮ่องกง 

เช่นเดียวกับตลาดอาเซียน 10 ประเทศ ที่ต๊อบบอกว่า เถ้าแก่น้อยขึ้นแทน “ผู้นำ” ตลาดสาหร่ายในอาเซียนไปแล้ว

จึงขอท้าทายตัวเองด้วยเป้าหมายที่ใหญ่ ด้วยการขยายฐานส่งออกจาก 35 ประเทศ เป็น 100 ประเทศ

“เราจะวางเป้าหมายส่งออกเป็นรายประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาด จากแบรนด์เอเชียฝั่งตะวันออก 3 ตลาดหลัก จีน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ขยายสู่ อินเดีย ตะวันออกกลาง ฝั่งยุโรป จนไปถึงสหรัฐอเมริกา”

ขณะที่ “ทางโต” ในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศนั้น จะนำ “กลยุทธ์ความสำเร็จ” ในการดำเนินธุรกิจในไทยไปปรับใช้

ภายใต้แนวคิด ”คิดใหญ่ ทำเล็ก”  (Think global action for local) 

“ไม่ว่าไปประเทศไหน ก็ต้องคิดถึงโลคอล (ท้องถิ่น) ถึงแม้จะนำรูปแบบการเติบโตจากไทยไปใช้ คิดใหญ่ได้ แต่ต้องทำเล็ก หมายถึงเราเป็นแบรนด์คิดระดับโลก แต่ต้องเข้ากับผู้บริโภคในแต่ละท้องถิ่น”

ด้วยกลวิธีใช้ “เครือข่ายเก่า” ขยายไปหา “ตลาดใหม่”  

นำ “สินค้าใหม่” ไปนำเสนอใน “ตลาดเก่า” หรือ “ตลาดใหม่”

การเพิ่มกิจกรรมการตลาด “กระตุ้นกำลังซื้อให้กับตลาดเดิม” ที่ปัจจุบันสินค้าในกลุ่มกว่า 200 รายการ 

สุดท้าย คือ “คิดสินค้าใหม่ให้เข้ากับตลาดใหม่” ที่จะไปบุก ขึ้นอยู่กับรสนิยมผู้บริโภคของแต่ละตลาดที่จะปรับใช้แต่ละประเทศ

“เราพอมีพื้นฐานไปต่างประเทศแล้ว แต่ความท้าทายต่อไปสร้างแบรนด์ระดับเอเชีย และระดับโลกให้ได้

โดยเฉพาะสิ่งสำคัญที่ทำควบคู่กันคือ ทำให้ชื่อหรือแบรนด์เถ้าแก่น้อยเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคถามหา และจดจำเรื่องราวความสำเร็จของนักธุรกิจ อย่างที่เกิดขึ้นในไทย ไปพร้อมกับการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย

“การสร้างแบรนด์ให้คนรับรู้ เริ่มจากมีพื้นฐานการสร้างแบรนด์ในประเทศ เรียนรู้ทดลองผิดถูกในประเทศ จนค้นพบสิ่งที่ดีและไม่ดี จนมีพื้นฐานระดับหนึ่งที่จะต่อยอดไปต่างประเทศ” 

โดยเขาเชื่อว่า ผลิตภัณฑ์สาหร่ายแบรนด์เถ้าแก่น้อย ยังมีช่องว่างการสร้างปรากฎการณ์ในตลาดต่างประเทศได้อีกมาก ประเมินจากเทรนด์การบริโภคขนมขบเคี้ยว (Snack) ที่เพิ่มขึ้นทุกปี แม้เศรษฐกิจจะชอลอตัว

---------------------------------

Ownership โมเดลปลุกพลังองค์กร

นอกจากการวางแผนการตลาดแล้ว 

ต๊อบ-อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) มองว่า อีกแผนสำคัญไม่แพ้กันคือ 

การกลับมาปรับบทบาทการบริหารงาน

“10 ปีที่ผ่านมาผู้บริหารต้องเติบโตตามองค์กร ยอมรับบางครั้งโตไม่ทันองค์กรที่เติบโตเร็วมาก วิธีบริหารองค์กร ผมจะมุ่งเน้นสองข้อหลักๆ คือ สร้างวัฒนธรรมองค์กร (Culture)เถ้าแก่น้อยชัดเจน คือ มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ หรือ เป็นเถ้าแก่ (Ownership) ดึงความสามารถของพนักงานทุกคนผลักดันภารกิจให้บรรลุเป้าหมายไปด้วยกัน และมีทางโตในตำแหน่งหน้าที่การงาน (career path) ที่ชัดเจน”

ต๊อบบอกว่า ความเป็นเจ้าของถือเป็น “รากเหง้า” เพราะเถ้าแก่น้อยก็เกิดมาจากกตั้งต้นธุรกิจเล็กๆแบบเถ้าแก่ 

ดีเอ็นเอ เหล่านี้ก็ถือเป็นการกลับมามองที่ “รากเหง้า” ของเรา

เขายังยกตัวอย่างองค์กรที่เข้าไป “ถอดโมเดล” การเป็นองค์การที่สร้างความเป็นเจ้าของ นำมาประยุกต์กับโมแดลเถ้าแก่น้อย คือ เสริ์ชเอ็นจิ้นระดับโลกอย่าง “กูเกิล” ที่ได้ชื่อว่าเป็นองค์กรนวัตกรรรม มีวัฒนธรรมคนล้ำๆ จากการฝึกให้พนักงานทุกคนคิดไปข้างหน้า 

หรือแม้กระทั่งองค์กรไทยๆ เช่น ซีพี ออลล์ (ผู้บริหารร้านค้าปลีก เซเว่น อีเลฟเว่น - แมคโคร) ถือเป็นองค์กรฝึกให้พนักงานทุกรนเป็นเถ้าแก่ค้าปลีก จัดการร้านด้วยตัวเอง รวมไปถึงองค์กรเจ้าของซอฟต์แวร์ระดับโลก อย่าง “ไมโครซอฟต์” ก็มีวิธีสร้างคนให้รู้สึกให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรเพื่อผลักดันความสำเร็จขององค์กรร่วมกัน

ในขณะเดียวกัน สิ่งที่เขาพยายามสอดแทรกและแฝงอยู่ในองค์กร”เถ้าแก่น้อย”คือ การรวมพลังคนรุ่นใหม่ที่ มีความสุข" ในการทำงาน “มีความจริงจัง” แต่ในขณะเดียวกนก็มี ความยืดหยุ่น" ปรับตัวให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงตลาดและโลก

แม้อายุยังน้อย ได้เป็นเจ้าของกิจการพันล้าน ต้องนำทัพพนักงานที่อาจมีอายุและประสบการณ์มากกว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเขา ที่ต้องสวมบท สร้างบารมีแม่ทัพ ปลุกขวัญพนักงานในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

ต๊อบบอกว่า วันนี้หน้าที่ซีอีโอ คือการรวบรวมคน ปลุกขวัญคนในองค์กรเป็นผู้เปลี่ยนโลก เช่น สตีฟจ็อบส์ 

เขายังบอกว่า ศาสตร์การบริหารคน เรียนรู้มาจากพ่อ ที่เคยให้โอกาสเขาลองทำธุรกิจ 

“เป็นเรื่องให้โอกาส เวลาทำงานไม่คิดว่าตัวเองแก่งทุกอย่าง ต้องให้คนที่เก่งกว่ามาเสริม ให้เกียรติคนอื่นที่เต็มใจเข้ามาทำงานกับเรา คนทำงานกับเราก็จะรู้สึกซาบซึ้ง”  

ส่วนหนึ่งที่จะทำให้คนรักและทุ่มเททำงานให้องค์กรได้ ยังอยู่ที่ “การวางตัวของซีอีโอ” ต้องไม่วางมาดเป็นบอสชี้นิ้วสั่ง เพราะใช้ไม่ได้กับมนุษย์ที่รักอิสระ รักคุณค่าในตัวเองในยุคนี้ 

ดังนั้นซีอีโอ จะต้องทำหน้าที่เป็น “เพื่อนร่วมทีม”  

“ต้องใช้ความพยายาม ความอยาก ความลุ่มหลง จากพนักงานเป็นตัวหล่อเลี้ยงความสำเร็จ หากอยากเป็นบริษัทที่จะประสบความสำเร็จระดับโลก ต้องมี Passion มากๆ ทำคนเดียวไม่พอ ต้องทำให้ทุกคนเห็นตรงกันว่า อยากสร้างเถ้าแก่น้อยวันนี้ให้เป็น องค์กรระดับโลก”

เขายังบอกด้วยว่า การลงทุนที่ดีที่สุดในการสร้างโอกาสทางธุรกิจ คือ “การเรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง” 

“สิ่งสำคัญกล้าเรียนรู้ กล้าลอง กล้าพลาด อายุระหว่าง 10 ถึง 30 ปี ควรเรียนรู้จากความผิดพลาดให้พอ หลังจากนั้นก็จะมีประสบการณ์มาก พออายุ 30-40 ปี ก็จะรู้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ เพราะเราเรียนรู้จากความผิดพลาดมาก่อน ลองมาเยอะ ผิดพลาดมาเยอะ” 

เมื่อประสบการณ์ส่วนตัว ผสมกับการดึงผู้มีประสบการณ์มาร่วมทีม กลายเป็นความกล้าท้าโลกธุรกิจ  

-----------------------------------------

แรงกระเพื่อม ธุรกิจไทย...!! แข่งโลก

เส้นชัยที่แท้จริงของบริษัทคนไทย

สำหรับต๊อบ -อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) ในวันที่เติบโตวัย 31 ปี 

เขาบอกว่า เป้าหมายสูงสุดฝันไปถึงระดับโลก (โกลบอล) เพราะอยากเป็นบริษัทที่คนไทยที่เริ่มต้นจากศูนย์ สร้างธุรกิจทะยานระดับโลก  

“หมื่นล้าน แสนล้าน อยู่ที่การสร้างเถ้าแก่น้อยให้เป็นตำนานคนรุ่นหลัง เป็นแรงบันดาลใจ ว่ามีบริษัทหนึ่งที่ปลุกปั้นจากเด็กคนหนึ่งที่เริ่มจากศูนย์ ไม่เคยทำอาหารมาก่อน ไม่มีเงินทุน แต่สร้างบริษัทไประดับเวทีโลกได้"

นี่คือเป้าหมายอันท้าท้ายกว่า 

เพราะปลายทางของความสำเร็จ จะเป็นรอยเท้าให้บริษัทไทยในโกลบอล สร้างแรงกระเพื่อมให้กับบริษัทไทยหลายรายได้ให้ลุกขึ้นมาแข่งขัน สร้างตำนาน  คิดไกล มองไกลกว่าคำว่าตลาดภายในประเทศ แต่ต้องต่อจิ๊กซอว์ระดับโลก

“การสร้างธุรกิจที่มีอยู่ตอนนี้ รู้สึกว่าอยากทำให้มีแรงกระเพื่อม ทำให้คนไทยกล้าคิด กล้าทำ”

เถ้าแก่น้อย ไม่ออกตัวทะเยอทะยาน ตอนนี้เรายังบอกไม่ได้ว่าพันธกิจจะสำเร็จลุล่วงหรือไม่ แต่เป็นความตั้งใจที่อยากจะปล่อยเรือออกจากฝั่ง ไปสร้างบทเรียนการทำธุรกิจฉบับคนไทยในต่างแดน

“ขอเป็นแนวหน้าบริษัทไทย ผิดพลาดล้มเหลว สำเร็จไม่สำเร็จไม่รู้ แต่ผมอยากลองให้คนรุ่นหลัง ได้เห็นว่าสำเร็จเพราะอะไรหากผิดพลาดเพราะอะไร”

โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นใบเบิกทาง หนุนความมั่นใจในการพาสาหร่ายออกทะเลไปคว้าน่านน้ำที่ใหญ่ขึ้นให้เต็มเอเชีย และก้าวไปสู่ทวีป อื่นๆ อาทิ ยุโรป และสหรัฐอเมริกา 

“ปลายปีนี้เถ้าแก่น้อยจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ จะเป็นแรงหนุนให้สถานการณ์การเงินเข้มแข็งที่จะขยายธุรกิจไปอีกเยอะ”

การแต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ในเดือนธันวาคมของ เถ้าแก่น้อย วางเป้าหมายเพื่อระดมทุนมูลค่า 578 ล้านบาท เพื่อหันไปสร้างโรงงานใหม่เพิ่มกำลังการผลิตจากเดิมที่โรงงานนพวงศ์ ไปสู่ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากเดิมมีกำลังการผลิต 3,600ตันต่อปี ขยายเป็นเท่าตัวเพิ่มเป็น 7,626 ตันต่อปี 

โดยเริ่มก่อสร้างแล้วตั้งแต่เดือนเม.ย. 2558 ใช้เวลา 13 เดือน เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดต่างประเทศในช่วง 3-5 ปีจากนี้ 

ปลดล็อกกำลังการผลิตที่เต็มในโรงงานเดิม ที่ใช้กำลังการผลิตเต็มที่แล้ว แต่ยังไม่เพียงพอกับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ 

ต๊อบ ยังเล่าประโยชน์จากการเข้าตลาดหลักทรัพย์ ใน 3 ประการว่า จะเพิ่มความน่าเชื่อถือ เพิ่มแหล่งเงินทุน และ ให้โอกาสพนักงานเป็นเจ้าของร่วมกับเถ้าแก่น้อย

สำหรับเขาแผนการเข้าระดมทุนเป็นการยืนยันถึงความเป็น “มือาชีพระดับโลก” ที่จะต้องมีหลักการบริหารงาน และวิธีคิดจากเดิมมีผู้เกี่ยวข้องคือบอร์ดกับลูกค้า แต่การเข้าตลาดหลักทรัพย์ทำให้มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพิ่มขึ้น จึงต้องคิดถึงการวางสมดุลประโยชน์ 

“โดยให้กำไรกับลูกค้า คู่ค้า และผู้ถือหุ้น ที่สำคัญให้กำไรกับพนักงาน และสร้างกำไรในใจคน”