ไอซีทีเข็นโครงการเร่งด่วนใน 3 เดือน

ไอซีทีเข็นโครงการเร่งด่วนใน 3 เดือน

อุตตม เรียกหน่วยงานในสังกัดหารือทำแฟล็กชิพ โปรเจคหวังขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมใน3เดือน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที กล่าวว่า วานนี้ ( 9 ต.ค.) ที่ผ่านมาได้เรียกหน่วยงานในสังกัด 9หน่วยงานเพื่อหารือการจัดทำโครงการสำคัญ (แฟล็กซิพ โปรเจค) ที่เห็นผลเป็นรูปธรรมในระยะเร่งด่วนอย่างน้อยภายใน 3 เดือน มาสรุปความคืบหน้าอีกครั้งหนึ่งหลังจากให้หน่วยงานต่างๆกลับไปปรับปรุงแก้ไข

โดยสามารถแบ่งโครงการออกเป็น 6 กลุ่ม ประมาณ 15 โครงการ เพื่อตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ 1.กลุ่มโครงการสร้างโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาให้กับเอกชน 2.กลุ่มโครงการสร้างความเท่าเทียมทางสังคม 3.กลุ่มโครงการการปรับเปลี่ยนการทำงานของภาครัฐเพื่อบริการประชาชน 4. กลุ่มโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อสังคม 5.กลุ่มโครงการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันของรัฐวิสาหกิจ 6.การทำโครงการสมาร์ท ซิตี้ เพื่อตอบโจทย์ซุเปอร์ คลัสเตอร์ 2 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต

ทั้งนี้แต่ละกลุ่มโครงการต้องมีการทำงานประสานกันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในองค์กร และนอกองค์กร ยกตัวอย่างเช่นโครงการสมาร์ท ซิตี้ ที่รัฐบาลต้องการสร้างให้ 2 จังหวัด คือ เชียงใหม่ และ ภูเก็ต เป็นสมาร์ท ซิตี้ ซึ่งจะเป็นการประสานการทำงานร่วมกันระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ภูเก็ต โดยสิ่งสำคัญในการสร้างสมาร์ท ซิตี้ คือการพัฒนาบุคลากร ให้มีความรู้ความสามารถ การส่งเสริมเรื่องเงินทุน ตลอดจนการเป็นพี่เลี้ยงในการสร้างสตาร์ท อัพ จัดตั้งเป็นนิติบุคคล ประกอบกับหากมีโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่ดีด้วย ก็จะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิต คอนเท็นต์ ต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น

โดยโครงการต่างๆต้องนำเทคโนโลยีไอซีทีและเทคโนโลยีดิจิตอลเข้าไปช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรวมถึงตลาดชุมชน ทั้งด้านการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การจัดการสินค้า ระบบซื้อขายออนไลน์และสร้างความปลอดภัยของระบบอี-คอมเมิร์ซ ส่งเสริมการเรียนเกี่ยวกับเทคโนโลยีไอซีทีและดิจิตอลในการศึกษาให้มากขึ้น ปรับบริการภาครัฐที่ให้บริการประชาชนให้เข้าถึงได้ง่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้เข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ผ่านระบบออนไลน์เพื่อความสะดวก ส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนให้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีไอซีทีและแหล่งข้อมูลความรู้อย่างเท่าเทียมผ่านศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีทั่วประเทศนอกจากนี้ จะเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล และรองรับการพัฒนาโครงการต่างๆเบื้องต้นด้วย

“ส่วนเรื่องงบประมาณขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดซึ่งหลังจากนี้แต่ละหน่วยงานต้องปรับปรุงแก้ไขอีกรอบหนึ่ง โดยงบประมาณที่กระทรวงมีประกอบไปด้วยงบประมาณจากงบปี 59ประมาณ 1,000 ล้านบาท งบมาจากโครงการติดตั้งไวไฟในโครงการแท็บเล็ตที่ไม่ได้ใช้ 3,700ล้านบาท และยังมีงบประมาณในแต่ละหน่วยงานที่ยังคงค้างอยู่อีกส่วนหนึ่ง คาดว่าภายใน เดือน ต.ค.จะได้ข้อสรุป จากนั้นจึงจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติต่อไป”