'สมพงษ์'เห็นด้วยแนวคิดนิรโทษฯของ'ประยุทธ์'

'สมพงษ์'เห็นด้วยแนวคิดนิรโทษฯของ'ประยุทธ์'

"สมพงษ์"ระบุเห็นด้วยกับแนวคิดนิรโทษกรรมของ"ประยุทธ์" แนะให้ศึกษาการนิรโทษกรรมในอดีตเพิ่มเติม

นายสมพงษ์ สระกวี สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงเรื่องของการนิรโทษกรรม 3 ระยะ ว่าเรื่องดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นายกฯยังคงยืนยันในเรื่องของการนิรโทษกรรม ซึ่งถือว่าดี เพียงแต่เป็นการนิรโทษกรรมอย่างมีขั้นตอน ซึ่งการนิรโทษกรรมนั้นต้องถือว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการปรองดอง โดยส่วนตัวไม่ขัดข้องกับแนวคิดทั้ง 3 ระยะของนายกฯ และยอมรับได้ แต่ก็ต้องตั้งคำถามต่อไปว่า พอจะกำหนดคร่าวๆได้หรือไม่ว่า คนในกลุ่มที่หนึ่งซึ่งเป็นคนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและตัดสินแล้ว และกลุ่มคนที่สอง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อยู่ระหว่างกระบวนการยุติธรรม จะได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อไหร่ และมีผลต่อพวกเขาอย่างไร ตอนไหน หรือจะมีกระบวนการอย่างไรที่จะผลักดันและเร่ง รวมถึงติดตาม แนวคิดนิรโทษกรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ ให้มีการปฏิบัติเป็นรูปธรรมจริง 

นายสมพงษ์ กล่าววอีกว่า ขอเสนอแนะให้คณะกรรมการที่ทำงานด้านนิรโทษกรรมตามแนวคิดของนายกฯ ให้ศึกษาถึงแนวคิดจารีตประเพณีที่ผ่านมาว่า นายกฯคนก่อนๆมีการนิรโทษกรรมที่ผ่านมาอย่างไร เช่น การนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่กระทำความผิดในช่วง 14 ต.ค.16 อย่างไร หรือในสมัยของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ ที่ได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมหรือผ่อนปรนให้กับผู้ที่กระทำความผิดทางอาญาในเหตุการณ์นักศึกษาหนีเข้าป่าอย่างไร ซึ่งเรื่องการนิรโทษกรรมให้กับประชาชนไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมไทย แต่เคยมีมาแล้ว 3-4 ครั้ง 

เมื่อถามถึงเงื่อนไขที่ 3 ของนายกฯที่ระบุว่า คนที่กำลังหนีคดีอยู่จะเข้าสู่การปรองดองไม่ได้ จะทำให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าถึงการนิรโทษกรรมยากขึ้นหรือไม่ นายสมพงษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ทราบ แต่เวลาพูดเรื่องเหล่านี้ก็ไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงนายทักษิณ แต่เป็นการพูดกันไปเองมากกว่า หากพูดถึงการนิรโทษกรรมในตอนนี้ ก็ต้องหมายถึงการช่วยประชาชนคนเล็กคนน้อย

ทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กปปส. หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ที่มีการยึดสนามบิน ปิดทำเนียบรัฐบาล บุกสถานราชการต่างๆ เป็นต้น ดังนั้นแม้ว่าการนิรโทษกรรมของนายกฯ จะมีขั้นตอนเพิ่มเติม แต่ตนก็ยังจะทำหน้าที่ผลักดันวาระนี้ต่อไป โดยยืนยันว่าไม่ขัดข้องและยอมรับได้กับแนวคิดนี้ แต่ขอให้มีการศึกษาเพิ่มเติม