กลไกใหม่ของรัฐธรรมนูญฉบับ'มีชัย'

กลไกใหม่ของรัฐธรรมนูญฉบับ'มีชัย'

กลไกใหม่ของรัฐธรรมนูญฉบับ"มีชัย" ต้องถามประชาชน

โจทย์ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ให้ความสำคัญ และต้องการให้ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่เขียนโดย “มีชัย ฤชุพันธุ์” มีจารึกไว้ คือการสร้างกลไกระงับการโกง การคอร์รัปชั่น และการใช้เงินหลวงไปในทางที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน

โดยประธานกรธ. ยอมรับตอนหนึ่งระหว่างการให้สัมภาษณ์ผ่านรายการมองรัฐสภา เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมว่าการทุจริต คอร์รัปชั่น หรือการใช้งบประมาณแผ่นดินทางที่ไม่เกิดประโยชน์แท้จริง เป็นปัญหาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นว่าเป็นเรื่องหนักของประเทศ ซึ่งส่วนตัวก็ว่าจริง เพราะนับวันมีแต่นโยบายที่เอาเงินแผ่นดินไปแจกจ่ายประชาชนแล้วไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้นต้องป้องกัน ไม่ให้เกิด ไม่เช่นนั้นจะเกิดภาวะล้มละลายทั้งประเทศ เมื่อเรามีกลไกป้องกันและปราบปรามการทุจริตแล้ว ที่ยังขาดคือ กลไกระงับก่อนที่จะเกิดความเสียหาย

จับอาการแล้ว กลไกปราบโกงของประเทศไทย อาจถึงขั้นต้องยกเครื่องใหม่!! 

แต่จะยกเครื่องอย่างไร?? ที่ประชุมกรธ. ยังไร้แนวทางอย่างชัดเจน แม้"กรธ.สายประชาสังคม" เสนอให้ใช้ไอเดียของ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปฏิรูป ที่ให้มี"สภาตรวจสอบภาคพลเมืองประจำจังหวัด" ทำหน้าที่ตรวจสอบการสมัครรับเลือกตั้งเลือกตั้งทุกระดับ,การบริหารองค์กรท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐ,ใช้จ่ายเงินแผ่นดิน,ละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน และการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์

แต่กรธ.สายราชการ กลับมองว่าอำนาจนั้นทับซ้อนกับผู้ตรวจการแผ่นดิน และเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ประเด็นนี้จึงต้องพับเก็บไว้ และหันไปฟังความเห็นจากองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในสัปดาห์หน้า

ขณะที่ โจทย์ระดับรอง ตามคำฝากพิเศษของคสช. ซึ่งที่ประชุมได้เคาะแล้ว คือ1.การตรวจสอบ ป้องกันผู้ทุจริตหรือประพฤติมิชอบเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง2.การตรวจสอบการทำงานภาครัฐเพื่อความโปร่งใส และกระบวนการทำงานที่ปลอดการแทรกแซง และ3.สร้างมาตรฐานทางจริยธรรม คุณธรรม และธรรมาภิบาลในสังคมทุกระดับ และสร้างหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง   

เมื่อติดตามเนื้อหา จะพบว่าเป็นโจทย์ที่มีเนื้อหาอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปฏิรูปมาตราต่างๆ ซึ่งเน้นหนักส่วนกลไกภาคพลเมืองที่ให้สิทธิมีส่วนร่วมกับภาครัฐ แต่รายละเอียดอาจไม่ครอบคลุม หรือตรงใจเพียงพอ ทาง “กรธ.” จึงต้องหยิบมาศึกษารายละเอียดใหม่ โดยยกข้อศึกษา หรือผลงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาต่างๆ มาพิจารณาร่วมด้วย

ส่วนโจทย์ใหญ่เรื่องการเมืองที่ต้องเน้นเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มาตรการยังไม่มีออกมาให้เห็น เพราะต้องรอคณะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างการบริหารและนิติบัญญัติพิจารณา โดยแนวโน้มและความเป็นไปได้ต่อสาระสำคัญต่างๆ เช่น นายกฯคนนอก,ระบบของสภา ที่ว่าจะมี สภาเดียว หรือ 2 สภา ต้องใช้เสียงประชาชนชี้ขาด 

ด้วยการนำประเด็นไปถามประชาชน ว่าอยากได้แบบไหน สิ่งไหนที่ตรงใจที่สุด เพราะส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าไม่ว่าจะแบบไหน ล้วนมีข้อดี แต่สิ่งที่จะถูกใจผู้ปฏิบัติหรือฝ่ายการเมืองที่สุด ต้องใช้แรงสนับสนุนจากเสียงของประชาชน