พท.โต้'สังศิต'คอรัปชั่น เป็นเรื่องการเมือง

พท.โต้'สังศิต'คอรัปชั่น เป็นเรื่องการเมือง

เพื่อไทยโต้"สังศิต"คอรัปชั่น น่าจะนำไปถกในสปท.มากกว่าจะตามล้างตามเช็ดกันทางการเมือง

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)ระบุว่า ช่วงปี 2544-2549 เป็นช่วงที่การเมืองสกปรกที่สุด มีการโกงการเลือกตั้ง โกงการแต่งตั้งข้าราชการ และมีการคอรัปชั่นอย่างมโหฬารว่า ถ้าสปท.มีวิสัยทัศน์หรือแนวคิดทางการเมืองเช่นนี้ น่าห่วงใยต่อแนวทางการปฏิรูปประเทศ ทั้งนี้ประชาชนสามารถเปรียบเทียบหรือจับต้องได้ว่า ช่วงดังกล่าวไทยอยู่ในลำดับต้นๆ ของอาเซียนในทุกๆ ด้าน

โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เราสามารถใช้หนี้ IMF ได้ก่อนกำหนด สามารถเปลี่ยนจากประเทศผู้กู้เป็นประเทศผู้ให้กู้ได้ ประชาชนเริ่มลืมตาอ้าปากได้ และอยู่ในขั้นที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนให้หมดสิ้นใน 4-8 ปีแต่ปัจจุบันธนาคารโลกหรือWorld Bank ได้ออกประกาศให้ชาวโลกได้รับรู้ว่า เศรษฐกิจไทยถดถอยต่ำสุดในอาเซียน อัตราการเจริญเติบโตแพ้แม้กระทั่งลาว พม่า และกัมพูชา ทั้งๆ ที่เรามีพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก ที่สำคัญ ธนาคารโลกยังพยากรณ์โดยหลักวิชากาีว่า ไทยจะถดถอยทางเศรษฐกิจอีกไม่ต่ำกว่า 2 ปี

นายชวลิต กล่าวอีกว่า ข้อพิจารณาสำคัญคือ ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยถดถอยต่ำสุดในอาเซียนคงไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจโลกถดถอยแต่เพียงอย่างเดียว เพราะทุกประเทศได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอยเหมือนกัน แต่ที่เศรษฐกิจไทยถดถอยต่ำสุดในอาเซียนน่าจะมาจากระบบการเมืองการปกครองหรือไม่ วิญญูชนคงจะพิจารณาได้ ขณะที่ประเด็นการโกงการเลือกตั้ง การโกงการแต่งตั้งข้าราชการ และการทุจริตคอรัปชั่นนั้น มีมาทุกยุคทุกสมัย

ทุกฝ่ายก็เห็นพ้องให้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ เราต้องให้ประชาชนได้มีโอกาสเรียนรู้และนำประสบการณ์ไปแก้ไขในรอบของการเลือกตั้งทั่วไปเหมือนนานาอารยะประเทศ แต่ประเทศไทย 83 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีที่ยืนให้ฝ่ายประชาธิปไตยอยู่ครบเทอม 4 ปี เพียง 1 ครั้งเท่านั้น เราให้เวลาประชาชนเรียนรู้และพัฒนาประชาธิปไตยน้อยไปหรือไม่นายสังศิต น่าจะนำไปถกในสปท.มากกว่าจะตามล้างตามเช็ดกันทางการเมือง ซึ่งพิสูจน์แล้วหลายรอบว่าแก้ไขปัญหาความขัดแย้งไม่ได้ กลับยิ่งเพิ่มปัญหาความขัดแย้งให้ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่มั่นใจว่า นายสังศิต เอาข้อมูลหรือสถิติ เหล่านี้มาจากไหน มีคณะทำงานไปเก็บสถิติข้อมูลอย่างไร หรือนั่งมโน คิดเองเออเองไปเรื่อยเปื่อย ซึ่งการทำแบบนี้นอกจากสังคมจะไม่ได้ประโยชน์อะไร ยังถือเป็นปัญหาสำคัญของคนพยายามจะเป็นนักวิชาการ

แต่เวลาพูดไม่เอาหลักวิชาการ ข้อมูล หรือสถิติที่น่าเชื่อถือมาจับ เลยเป็นได้แค่ การกุลีกุจอปั่นผลงานเพื่อสะสมในใบสมัครงาน เวลาไปวิ่งเต้นกับผู้ถืออำนาจในแต่ละช่วงเวลาเท่านั้น และในความเป็นจริง หากไปดูดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index: CPI) ที่จัดอันดับโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ซึ่งเป็นองค์การนานาชาติ พบว่าในช่วงปี 2544-2549 ดัชนีภาพลักษณ์ความโปร่งใสในการบริหารอยู่ในระดับที่ดีกว่าในหลายๆช่วง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ตรงกันข้ามกับชุดมโนของนายสังศิต หลายนโยบายในวันนั้นก็ถูกนำมาต่อยอดในวันนี้

ทั้งกองทุนหมู่บ้าน หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์(โอทอป) ถ้านายนายสังศิต อยากได้ข้อมูลมากกว่านี้ก็ให้ไปสอบถามเอาจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ความจริงนายสังศิตไม่ต้องพยายามอะไรขนาดนี้ก็ได้ เพราะได้เป็นทั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) อย่ามาปั่นข้อมูลต่อเนื่อง ด้วยข้อมูลที่ปราศจากหลักสถิติ ข้อมูล และหลักการทางวิชาการเลย