ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคก.ย.ต่ำสุดในรอบ16เดือน

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคก.ย.ต่ำสุดในรอบ16เดือน

ม.หอการค้าไทย เผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย.อยู่ที่ 72.1ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 - ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกันยายนที่ผ่านมาอยู่ที่ 72.1 ลดลงจากเดือนสิงหาคมที่อยู่ที่ 72.3 ซึ่งถือเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และต่ำสุดในรอบ 16 เดือนนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลก และการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัวขึ้นพร้อมกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคเริ่มมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะฟื้นตัวในอนาคต จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตทุกรายการปรับตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงเคลื่อนไหวต่ำอยู่ที่ระดับ 100 สะท้อนว่าผู้บริโภคยังคงเห็นถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวไม่มากนัก ทั้งนี้ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน การส่งออกที่ยังหดตัว ปัญหาภัยแล้ง ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ยังคงบั่นทอนความเชื่อมั่นโดยรวมของประเทศไทยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม มองว่า การฟื้นตัวของการบริโภคน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น หลังจากเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ตั้งแต่ไตรมาส 4 เป็นต้นไป

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 มาอยู่ที่ 61.2 จากเดือนก่อนที่ 61.5 ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่มิถุนายน 2557 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้า ในเดือนกันยายนปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 73.7 จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 73.1 เนื่องจากความหวังว่าเศรษฐกิจอาจปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลล่าสุด

สำหรับปัจจัยลบในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้เหลือ 2.7% จากเดิมที่ 3% หลังจากมองว่าเศรษฐกิจมีความเสี่ยงสูง จากการที่ส่งออกชะลอตัว แม้จะมีมาตรการภาครัฐเข้ามากระตุ้น ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ราคาพืชผลทางการเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำ ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเมศปรับตัวเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคมีความกังวลกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูง

ทั้งนี้ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น 3 มาตรการ วงเงิน 1.36 แสนล้านบาทที่มุ่งเน้นการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย หากสามารถดันจีดีพีไตรมาส 4/2558 เติบโตได้ถึง 3% จะส่งผลดีต่อการขยายตัวในปีหน้าค่อนข้างมาก รวมทั้งในปีหน้าจะมีการประมูล 4G ซึ่งจะส่งผลให้จีดีพีปี 59 ขยายตัวเกิน 3.5%