'กำจร'ชูโครงการคุรุทายาท แก้ปัญหาผลิตครู

'กำจร'ชูโครงการคุรุทายาท แก้ปัญหาผลิตครู

"กำจร" ชูโครงการคุรุทายาท แก้ปัญหาผลิตพัฒนาครู ชี้หลักการดีเน้นคัดคนเก่ง อยากเป็นครู

รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาครูและบุคลากรทางการศึกษารวมทั้งพัฒนาระบบการสรรหาและปัญหาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ เมื่อเร็วๆนี้ ว่า สืบเนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ดูแลเรื่องการผลิตและพัฒนาครู ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้นำโครงการคุรุทายาทขึ้นมาพิจารณา ด้วยเห็นว่าหลักการของโครงการดังกล่าวมุ่งคัดเลือกคนดี คนเก่ง และตั้งใจเป็นครูจริง ๆ มาเข้าโครงการ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปจัดทำบัญชีอัตราว่างจากการเกษียณอายุราชการของครูเป็นรายโรงเรียน เพื่อจะได้มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าแต่ละปี โรงเรียนมีอัตราว่างเท่าไหร่

ทั้งนี้ สพฐ.ต้องส่งบัญชีดังกล่าวต่อให้กับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) เพื่อมอบให้กับเครือข่ายอุดมศึกษา 9 เครือข่ายคือ ภาคเหนือตอนบน-ตอนล่าง ภาคกลางตอนบน-ตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน-ตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน-ตอนล่าง ซึ่งจะไปกำหนดมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่รับผิดชอบโรงเรียนในพื้นที่นั้นๆ และดำเนินการค้นหาเด็กในพื้นที่ที่มีแววและมีความตั้งใจจะเป็นครู มาเข้าร่วมโครงการคุรุทายาทของมหาวิทยาลัยในพื้นที่และเมื่อจบการศึกษาก็จะได้บรรจุในโรงเรียนในพื้นที่ตามบัญชีที่ สพฐ.ส่งมา อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยจะติดตามเด็กตั้งเริ่มกระบวนการผลิตจนถึงบรรจุเป็นครูและมี การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 “โครงการคุรุทายาทนี้จะเป็นรูปแบบใหม่เพราะเด็กจะรู้ตัวแต่ต้นเมื่อร่วมโครงการว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะบรรจุที่โรงเรียนไหน และระหว่างศึกษาเด็กจะได้กลับไปดูโรงเรียนที่ตนเองจะไปสอนโดยมหาวิทยาลัยที่รับผิดชอบจะเข้าไปดูด้วย ซึ่งวิธีการนี้จะเป็นการกระตุ้นให้แต่ละมหาวิทยาลัยต้องแข่งขันกันด้วยว่า ใครทำได้ดีไม่ดี ซึ่งจะเห็นได้จากผลผลิตที่ออกมาและเชื่อว่าถ้าดำเนินการตามแนวทางนี้จะทำให้ได้คนดี คนเก่งเข้าไปทำงานในพื้นที่ที่ต้องการจริงๆ ทั้งนี้ นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการเมื่อเรียนจบก็จะให้ทำงานในพื้นที่เป็นเวลา 4 ปี จึงจะมีสิทธิขอย้ายได้”ปลัด ศธ.กล่าว

รศ.นพ.กำจร กล่าวต่อว่า เบื้องต้นกำหนดอัตราว่างรองรับนักศึกษาโครงการคุรุทายาทไว้25%ของอัตราว่างที่ สพฐ.มีแต่ละปีเน้นสาขาที่มีความขาดแคลนและโรงเรียนมีความจำเป็นต้องการครูสอน อาทิ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวเป็นโครงการต่อเนื่อง10ปี (ปีการศึกษา2559-2569) โดยตั้งเป้าจะเริ่มรุ่นแรกในปีการศึกษา 2559 รับนักเรียนทุนจำนวน4,500ทุน ซึ่งในรายละเอียดอื่นๆกำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลและเตรียมเสนอให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พิจารณาก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป