แกว่งในกรอบ 1360-1380

แกว่งในกรอบ 1360-1380

เริ่มสะสมหุ้นเมื่อดัชนีย่อลง เน้นพื้นฐานดี ปันผลสูง

UOBKH แนวโน้มตลาดวันนี้ โดย ยศพณ แสงนิล, CFA : แกว่งในกรอบ 1360-1380

ตลาดไทยวันนี้มีแนวโน้มจะถูก Take profit บ้าง โดยเฉพาะจากบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ที่ซื้อไปเยอะช่วง 2 วันที่ผ่านมาและตลาดได้ปรับตัวขึ้นมาแรงพอสมควรแล้ว อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของหุ้นหลักในกลุ่มสื่อสารจะช่วยพยุงตลาดต่อในวันนี้ และเป็นโอกาสดีให้นักลงทุนขายทำกำไรหากดัชนีเข้าใกล้ 1380 จุด

แนวรับ/แนวต้าน : 1340/1380 สัดส่วนการลงทุน : เงินสด 60% : พอร์ตหุ้น 40%

กลยุทธ์ : เริ่มสะสมหุ้นเมื่อดัชนีย่อลง เน้นพื้นฐานดี ปันผลสูง และได้ประโยชน์จากโครงการรัฐและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง

นักลงทุนระยะสั้น : NUSA (1.50) , CSS (6.20)

NUSA (1.50) เราคาดกำไรจะโตได้สูงปีนี้ ประกอบกับราคาปัจจุบันถือว่ายังถูกอยู่ในแง่ของ price to book แถมมี Land bank ซึ่งมีต้นทุนน้อยมาก บวกกับโครงการ NUSA ONE และอีกหลายโครงการในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้บริษัทในระยะยาว และในครึ่งปีหลังนี้แนวโน้มการโอนโครงการจะมีเข้ามากกว่าครึ่งปีแรกอีกด้วย หลังจากครึ่งปีแรกคอนโดขายดีจนเกินเป้าแล้วครับผม

CSS (6.20) ประกอบธุรกิจออกแบบและติดตั้งเสาแดงและอุปกรณ์รับส่งสัญญาณ ลูกค้าหลักก็คือบริษัทยักษ์ใหญ่ในกลุ่มสื่อสาร อย่างเช่น TRUE และ DTAC ราคาหุ้นเคยขึ้นจาก 6 บาทไป 8 บาทช่วงต้นปี แล้วก็ไหลลงมาเรื่อยๆจนปัจจุบันเหลือ 5 บาทต้นๆ เพราะบริษัทประกาศยกเลิกการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้า solar farm ที่ญี่ปุ่น บวกกับนักลงทุนเริ่มกังวลกันเรื่องที่บริษัทยังไม่มีงาน Backlog ที่ชัดเจนรอไว้สำหรับปีหน้าถึงแม้ว่าปีนี้จะมีรายได้และกำไรเติบโตดีก็ตาม กลยุทธ์สำหรับหุ้นตัวนี้เรามองว่า ใครที่ติดอยู่ต่ำกว่า 6 บาท อุ่นใจได้ ถือต่อและควรซื้อต่อถ้าเห็นต่ำกว่า 5 บาทอีก ภายในสิ้นปีนี้น่าจะได้เห็นกลับขึ้นไป 6 บาทได้เพราะ 1)ไตรมาส 4 ปกติและจะเป็น High season ของธุรกิจสื่อสาร ทำให้น่าจะมีงานใหม่เป็น Backlog มาเพิ่มสำหรับปีหน้า 2)การประมูล 4G จะช่วยเสริม sentiment กลุ่มสื่อสารให้เป็นบวก แต่ถ้าเห็น 6 บาทภายในสิ้นปีนี้ อย่าโลภนะครับ ต้องขาย เพราะ CSS-W1 จะหมดอายุในเดือน มี.ค.59 (120 ล้านหุ้น) 1:1.201 หุ้น ราคาใช้สิทธิ์ 1.249 บาท สรุปคือถ้าเห็น CSS ต่ำกว่า 5 บาท ซื้อ เห็น 6 บาท เผ่นครับ

นักลงทุนระยะยาว : BDMS (25.50), TVO (33.75)

BDMS (25.50) โดยขณะนี้ BDMS มีราคาถูกที่สุดและ upside ที่สูงที่สุดในกลุ่มโรงพยาบาล ด้วย Target price ที่เราให้ไว้อยู่ที่ 25.50 ซึ่งให้ upside สูงถึง 30% ปัจจัยบวก มีอยู่หลายประการนะครับ เช่น 1.)BDMS จะสร้างตึกเพิ่มอีก 6 ตึก แต่ละตึกมี 60 เตียง ลงทุน 6 พันล้านบาท และ 2 พันล้านบาท เพื่อซื้ออุปกรณ์การแพทย์ โดยจะสร้างไว้รองรับผู้ป่วยต่างชาติจากการเปิด AEC โดยเราคาดว่าจะช่วยเพิ่ม capacity ได้ถึง 74% ภายในปี 2018 2.)BDMS มีแผนเปิดโรงพยาบาลเพิ่ม คือสมิทติเวช ชลบุรีในปีนี้ และเปาโลรังสิต และจอมเทียน Hospital ในปีหน้า และตั้งใจจะซื้อโรงพยาบาลเพิ่มอีก 6 โรงพยาบาลให้มีครบทั้งหมด 50 แห่ง 3.)อัตราส่วนของผู้ป่วยต่างชาติมีมากขึ้นเรื่อยๆ (30% เทียบกับ 25% เมื่อ 5 ปีก่อน) 4.)มีแผนขยายธุรกิจขายยาและเวชภัณฑ์ที่มี Margin สูงกว่าธุรกิจโรงพยาบาลทั่วไป สรุปคือ BDMS มี upside สูงถึง 30% และมีแผนขยายธุรกิจอย่างชัดเจน จัดเป็นหุ้น defensive ที่ต้านตลาดและเศรษฐกิจขาลงได้ดี

TVO (33.75) ตลาดมันแกว่งแรงความเสี่ยงก็เยอะ เอาหุ้นปันผลสูงๆติดพอร์ตไว้ก็ดีครับ TVO ตัวนี้ Downside risk จากราคาถั่วเหลืองตกต่ำมีน้อย เนื่องจากราคาถั่วเหลืองในตลาดโลกปัจจุบันใกล้เคียงกับราคาต้นทุนของเกษตรกรสหรัฐที่ 9USD/bushel แถมให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลปี 58 ที่ดีราว 7% โดยคาดเงินปันผลปี 58 ที่ 1.62 บาท/หุ้น ประกอบกับปัจจุบันการปลูกถั่วเหลืองในสหรัฐนั้นต่ำกว่าที่คาดไว้เพราะมีปัญหาฝนตกหนักในพื้นที่ปลูกถั่วเหลือง ช่วยเสริม sentiment บวกให้กับราคาถั่วเหลืองในระยะกลางถึงระยะยาวด้วย ดังนั้นค่อยๆเก็บสะสม TVO ถือยาวๆกินปันผลกันนะครับ



ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการลงทุน

ปัจจัยภายในประเทศ

+ นายกฯ เผยต้องศึกษาผลกระทบข้อตกลงกรณีที่กลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิกทั้ง 12 ประเทศ ร่วมลงนามในความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก หรือ TPP เผยไม่อยากให้เป็นภาระประเทศ ชี้มีประเด็นอ่อนไหว ด้านพาณิชย์เตรียมสรุปเสนอ ครม. คาดยังมีเวลาอีก 1 ปี ขณะ กกร.ตั้งทีมศึกษาใน 2 เดือน คาดสิ่งทอ-เครื่องใช้ไฟฟ้ากระทบมากสุด

+ นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยว่า การลงนามของกลุ่มประเทศหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ของ 12 ประเทศประกอบด้วย ออสเตรเลีย, บรูไน, แคนาดา,ชิลี, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์,เปรู, สิงคโปร์, สหรัฐฯ และเวียดนามโดยมองว่าขั้นตอนหลังจากนี้ แต่ละประเทศต้องดำเนินการภายใน เพื่อขออนุมัติจากสภาของแต่ละประเทศก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ ทำให้ยังคงต้องติดตามผลกระทบต่อการค้าโดยรวมและเศรษฐกิจโลกในระยะปานกลางและระยะยาวต่อไปอย่างใกล้ชิด

- เม็ดเงินอุตสาหกรรมโฆษณาปี 58 ส่อ "ติดลบ" สินค้าแห่ตัดงบโฆษณาไตรมาสสี่ หวังลดต้นทุนค่าใช้จ่าย หลังประเมินกำลังซื้อไม่ฟื้น-ยอดขายพลาดเป้า ขณะที่ "กรุ๊ปเอ็ม" ลุ้นปีหน้าโต 4-5% "สื่อออนไลน์-ทีวีดิจิทัล" เข้าถึงผู้บริโภคเพิ่มขึ้น โอกาสปรับขึ้นค่าโฆษณาเฉลี่ย 5%

- คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินการขยายตัวเศรษฐกิจของไทยในปีนี้จะลดลงจากประมาณการเดิม เหลือร้อยละ 2.5-3.0 ส่งออกติดลบร้อยละ 5 เนื่องจากผลกระทบจากภาคส่งออกลดลงแรง-ท่องเที่ยวรับผลกระทบเหตุบึ้มราชประสงค์ ลุ้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เร่งด่วนภาครัฐวงเงิน 1.36 แสนล้านฟื้นช่วงที่เหลือของปี ขณะที่ท่องเที่ยวเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวช่วงไฮซีซั่น ทางด้านปลัดคลังหารือมาตรการภาคอุตสาหกรรมต่างๆ รับมือ หลังธนาคารโลกชี้ปีหน้าจีดีพีไทยจะแย่กว่าปีนี้

ปัจจัยต่างประเทศ

+ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 16,790.19 จุด เพิ่มขึ้น 13.76 จุด หรือ +0.08%

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเพียงเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (6 ต.ค.) โดยภาวะการซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวน หลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ และข้อมูลที่บ่งชี้ว่ายอดขาดดุลการค้าของสหรัฐพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 5 เดือน ขณะที่ดัชนี S&P500 และ NASDAQ ปิดตลาดในแดนลบ เนื่องจากนักลงทุนทุบขายหุ้นกลุ่มธุรกิจเพื่อสุขภาพ

+ ดัชนี FTSE 100 ปิดเพิ่มขึ้น 27.24 จุด หรือ 0.43% ที่ 6,326.16 จุด

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเมื่อคืนนี้ (6 ต.ค.) โดยได้รับแรงหนุนจากหุ้นบริษัทน้ำมันรายใหญ่ๆ ที่ปรับตัวแข็งแกร่งตามราคาน้ำมัน ขานรับความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก)

+ ดัชนีนิกเกอิปิดพุ่งขึ้น 180.61 จุด หรือ 1% แตะที่ 18,186.10 จุด

ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดบวกเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 5 วันทำการ เนื่องจากบรรยากาศการซื้อขายได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นทั่วโลก และความหวังเกี่ยวกับการยกระดับการค้าหลังจากกลุ่มประเทศหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ได้บรรลุข้อตกลงการค้าเสรีเมื่อวานนี้

- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย.พุ่งขึ้น 2.27 ดอลลาร์ หรือ 4.9% ปิดที่ 48.53 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (6 ต.ค.) หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐ (EIA) ระบุว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐปรับตัวลดลงในเดือนก.ย. พร้อมกับคาดการณ์ว่า การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐจะปรับตัวลดลงไปจนถึงช่วงกลางปี 2559 ซึ่งรายงานดังกล่าวทำให้นักลงทุนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานล้นตลาด