โจทย์ยากร่างรัฐธรรมนูญ

โจทย์ยากร่างรัฐธรรมนูญ

เรื่องสำคัญคือจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่างไร เป็นโจทย์ยากคือ คำตอบสุดท้าย ที่"มีชัย"ยกมาหารือในการประชุมกรธ.นัดแรก

ในการพบปะกันอย่างเป็นทางการครั้งแรก ของเหล่าอรหันต์ 21 คน ในนาม“กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)” นอกจากการหารือเพื่อวางตำแหน่งและบทบาทในการทำงานของกรรมการในส่วนต่างๆ แล้ว เวลากว่า 3 ชั่วโมงของการประชุมนัดแรก"มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ." ได้ยกประเด็นชวนหารือ

เรื่องสำคัญคือ“จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่างไร?” 

แม้จะมีโมเดล-ตัวอย่างที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่เคยบังคับใช้ และร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปฏิรูป ที่เขียนบทบัญญัติตามโจทย์10ประการ ที่กำหนดไว้ในมาตรา35ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557แต่สิ่งเหล่านั้นยังไม่เพียงพอ เพราะความสำคัญที่สุด ตามโจทย์เรือแป๊ะ คือ ภาคปฏิบัติที่ต้องทำได้จริง - เกิดประโยชน์ต่อประเทศ และสามารถตอบคำถามกับนานาชาติได้ถึงความเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ 

ดังนั้นในช่วงระยะเวลาเริ่มต้น ซึ่งคาดว่าจะเป็นไปอย่างน้อย1- 2สัปดาห์ต่อจากนี้ คือ การระดมความเห็นเพื่อทำข้อสรุปรวบยอด ก่อนลงมือเขียนเนื้อหาเป็นรายมาตราของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

ด้วยการยกโครงร่างที่ต้องเขียนรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมเรื่องทั้ง10เรื่อง ซึ่งเขียนไว้ในมาตรา35ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557มาตั้งบนโต๊ะ แล้วให้ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ใช้ประสบการณ์ ความรู้ มาถกเถียงในรายละเอียดไปทีละหัวข้อ ขณะที่ทีมทำงาน-ฝ่ายสนับสนุน ต้องรวบรวมบทบัญญัติที่เคยเขียนซึ่งสอดคล้องกับแต่ละเรื่อง มาให้ที่ประชุมได้เห็นในภาพรวม ซึ่งสาระของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่อดีตสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติไม่เห็นชอบ ถือเป็นส่วนสำคัญที่ใช้ประกอบการพิจารณา ส่วนหนึ่งเพื่อไม่ให้เสียเวลาตั้งโครงร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด 

สำหรับประเด็นที่พิจารณาผ่านไปแล้ว ที่สำคัญ คือกลไกที่ทำให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย และ กำหนดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งกลไกในการกำกับและควบคุมให้การใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชน   

โดยได้ผลพิจารณาอย่างไม่เป็นทางการ พบว่า ยังมีจุดที่ต้องปรับเสริม เพื่อให้กลไก โดยเฉพาะการขจัดคอร์รัปชั่น และควบคุมให้ใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญจะไม่เขียนบทกำหนดว่า “ห้ามกระทำ” เพราะกังวลว่าจะทำให้เป็นปัญหาในทางปฏิบัติ ทั้งกรณีที่พรรคการเมืองได้รณรงค์หาเสียง ประกาศนโยบายที่จะทำต่อหน้าประชาชนไปแล้ว ดังนั้นแนวทางสำคัญ คือ ทำตามนโยบายไป แต่ต้องมีการตรวจสอบและกำกับอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายต่อประเทศและประชาชนในส่วนรวม 

ขณะที่กลไกการทำงาน ต้องมุ่งความมีประสิทธิภาพและทำได้จริง ไม่ใช่เขียนเพื่อก่อให้เกิดปัญหา 

แต่ความเห็นสุดท้าย ที่"กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ"ยังปวดหัวไม่แพ้กัน คือ ปัญหาที่มีทางแก้ มักถูกเบี่ยงเบน โดย “คน” ที่ใช้รัฐธรรมนูญ ดังนั้นจุดโฟกัสสำคัญที่ต้องคุยอย่างจริงจังตลอดสัปดาห์ คือมาตรการพัฒนาคุณภาพคน ที่คนเก่งต้องไม่โกง คนทำงานต้องซื่อตรงโปร่งใส และทำงานเพื่อประโยชน์ประเทศแท้จริง

โจทย์ยากของเรื่องนี้ คือ คำตอบสุดท้าย