ประท้วง'รัฐบาลไทย'ละเมิดเสรีภาพแรงงาน

ประท้วง'รัฐบาลไทย'ละเมิดเสรีภาพแรงงาน

สหภาพแรงงานระดับโลก ยื่นหนังสือประท้วงรัฐบาลไทย ชี้ล้มเหลวในการคุ้มครองเสรีภาพของแรงงานราว 39 ล้านคน ชี้เกือบครึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ว่า อินดัสเทรียลออล สหภาพแรงงานระดับโลกที่มีสมาชิกทั้งโลกรวมราว 50 ล้านคน และมีเครือข่ายสหภาพแรงงานในไทย 7 แห่ง ยื่นหนังสือประท้วงรัฐบาลไทย ต่อองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) หน่วยงานในสังกัดของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในนครเจนีวา โดยระบุถึงการละเมิดสิทธิแรงงาน 18 กรณี ในแถลงการณ์ที่อินดัสเทรียลออลยื่นต่อคณะกรรมการด้านเสรีภาพในการรวมตัวของไอแอลโอ เมื่อวันพุธ ระบุว่า รัฐบาลไทยล้มเหลวในการคุ้มครองแรงงานราว 39 ล้านคน ซึ่งเกือบครึ่งของจำนวนนี้เป็นแรงงานนอกระบบ

นายเยอร์กี ไรนา เลขาธิการไอแอลโอ กล่าวในแถลงการณ์ว่า ประเทศไทยนับเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทานระดับโลกของบริษัทข้ามชาติจำนวนมาก รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการในการคุ้มครองแรงงาน กลุ่มคนที่นับเป็นกำลังหลักสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็ต้องไม่ละเลยปล่อยให้มีการละเมิดแรงงานเกิดขึ้นในบริษัทย่อยหรือสายการผลิตของตน

ถ้อยแถลงยังระบุอีกว่า ราวร้อยละ 75 ของกลุ่มแรงงาน ไม่ได้รับการรับประกันจากรัฐบาล เกี่ยวกับเสรีภาพในการรวมตัวกันและเสรีภาพในการร่วมเจรจาต่อรอง ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเป็นสมาชิกสหภาพของแรงงานต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คิดเป็นร้อยละ 1.5 เท่านั้น โดยในหลายกรณีที่เกิดขึ้น แรงงานจะถูกไล่ออกเมื่อพยายามรวมกลุ่มเพื่อการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง หรือถูกกดดันให้ลาออก ขณะที่เมื่อเรื่องเข้าสู่ชั้นศาล กระบวนการขั้นตอนต่างๆ ก็ลากยาวยืดเยื้อออกไปจนทำให้แรงงานต้องยอมรับเงินชดเชยและลาออกเอง