ขยายเวลาการใช้แวต 7%

ขยายเวลาการใช้แวต 7%

ขอนำประเด็นการขยายกำหนดเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% ของราคาสินค้าหรือค่าบริการตามพระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 592) พ.ศ. 2558 มาปุจฉา – วิสัชนา ดังนี้ 

ปุจฉา การขยายกำหนดเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% ของราคาสินค้าหรือค่าบริการ มีกำหนดระยะเวลาอย่างไร

วิสัชนา การขยายกำหนดเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% ของราคาสินค้าหรือค่าบริการ มีกำหนดขยายออกไปอีกหนึ่งปี จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2559

ปุจฉา การขยายกำหนดเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% ของราคาสินค้าหรือค่าบริการ มีวัตถุประสงค์อย่างไร

วิสัชนา วัตถุประสงค์ของการขยายกำหนดเวลาการใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ออกไป เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศยังชะลอตัว และการใช้จ่ายของภาคเอกชนยังมีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนให้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง เพื่อเป็นการผลักดันและกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประชาชนมีกำลังซื้อสินค้า อันจะทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง เมื่อสิ้นกำหนดเวลาดังกล่าว คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะขยับขึ้นเป็น 10% ของราคาสินค้าและค่าบริการ โดยอัตโนมัติ

ปุจฉา ข้อความในกฎหมายที่มีการขยายกำหนดเวลาการใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามพระราชกฤษฎีกาฯ ดังกล่าว ก็จะเห็นได้ว่า ข้อความในกฎหมายจะกำหนดเป็นอัตรา 6.3% ไม่ใช่อัตรา 7% ดังที่เป็นอยู่จริง มีเหตุผลอย่างไร 

วิสัชนา ข้อความในกฎหมายจะกำหนดเป็นอัตรา 6.3% ไม่ใช่อัตรา 7% เนื่องจากอัตรา 6.3% เป็นอัตราที่ยัง ไม่รวมภาษีส่วนท้องถิ่นที่กำหนดให้จัดเก็บภาษีส่วนท้องถิ่นจากการขายสินค้าหรือการให้บริการอีก 1 ใน 9 ของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือคิดเป็น 0.7% ของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อรวมอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มกับอัตราภาษีส่วนท้องถิ่นก็จะได้เป็นอัตรา 7% เหตุที่กระทำเช่นนั้น ก็เพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และประหยัดเวลาในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่นเป็นรายบรรทัด ซึ่งจะทำให้สูญเสียค่าใช้จ่ายอีกเป็นอันมาก ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่นไปแบ่งกันเอาเองจะดีกว่า และการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว ไม่ใช่เป็นข้อผูกมัดที่รัฐบาลจะคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 7% ไว้ตามกฎหมายดังกล่าว ตามประมวลรัษฎากรบัญญัติให้สามารถเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามความจำเป็นต่อสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม

ปุจฉา ภาษีมูลค่าเพิ่มมีประวัติความเป็นมาที่สำคัญอย่างไร

วิสัชนา อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้บังคับจัดเก็บแทนภาษีการค้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 เป็นต้นมา จวบจนปัจจุบันนั้น รัฐบาลกำหนดจัดเก็บในอัตรา 7% ของราคาสินค้าหรือค่าบริการที่ซื้อขายหรือให้บริการ และการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร มาโดยตลอด เว้นแต่ในช่วงวันที่ 16 สิงหาคม 2540 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2542 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ทางไอเอ็มเอฟ ในฐานะผู้ให้กู้ยืมเงินแก่ประเทศไทยได้แนะนำให้รัฐบาลขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10%

ในวันที่ 1 เมษายน 2542 รัฐบาล ฯพณฯ นายชวน หลีกภัย ได้ตราพระราชกฤษฎีกาฯ ว่าด้วยลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มลงเหลือ 7% อีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นการลดแบบมีเงื่อนไขที่พร้อมจะขึ้นเป็น 10% ทันทีที่ครบกำหนดเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่ระบุไว้ในกฎหมายดังกล่าว และกลายเป็นปกติประเพณีของการขยายกำหนดเวลาการใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ออกไป ทุกครั้ง ก็จะปรากฏข้อความการขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มโดยอัตโนมัติทุกครั้งไป