ผู้นำโลกขานรับ 12 ชาติบรรลุข้อตกลง 'ทีพีพี'

ผู้นำโลกขานรับ 12 ชาติบรรลุข้อตกลง 'ทีพีพี'

บรรดาผู้นำประเทศสมาชิก "ทีพีพี" ต่างขานรับการบรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ ขณะที่สหรัฐยังต้องเผชิญกับเสียงคัดค้านทีพีพีจากคองเกรส

สหรัฐและ 11 ชาติแปซิฟิก บรรลุข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ข้ามแปซิฟิก หรือ “ทีพีพี” เมื่อวันจันทร์ (5 ต.ค.) ตามเวลาของสหรัฐ ถือเป็นการเปิดเสรีทางการค้าในวงกว้างสุดเท่าที่เคยมีมา และนับเป็นชัยชนะด้านนโยบายครั้งสำคัญของประธานาธิบดีบารัก โอบามา

นายโอบามาแถลงว่า ข้อตกลงทีพีพีเป็นหนึ่งในความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ที่แข็งแกร่งระหว่างสหรัฐกับคู่ค้าและพันธมิตรในภูมิภาค และจะเป็นข้อตกลงสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 ในเมื่อลูกค้าที่มีศักยภาพของสหรัฐกว่า 95% อยู่นอกประเทศ สหรัฐต้องไม่ยอมให้จีนเป็นคนกำหนดกฎเกณฑ์เศรษฐกิจโลก

ขณะที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่นแถลงว่า ข้อตกลงฉบับนี้นอกจากจะสร้างเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว ยังมีส่วนอย่างมากต่อความมั่นคงของญี่ปุ่น และเสถียรภาพของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และทีพีพีจะมีความหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่งหากจีนเข้าร่วมด้วยในอนาคต

ด้านกระทรวงพาณิชย์ของจีนออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้เพียงว่า ข้อตกลงทีพีพีเป็นหนึ่งในความร่วมมือด้านการค้าครั้งสำคัญยิ่งของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งเชื่อว่าข้อตกลงการค้าอีกหลายฉบับในภูมิภาคจะสามารถร่วมพัฒนาความเจริญทางเศรษฐกิจให้แก่กลุ่มประเทศในแถบนี้เช่นกัน

ส่วนนายกรัฐมนตรีสตีเฟน ฮาร์เปอร์ของแคนาดา และนายกรัฐมนตรีมัลคอล์ม เทิร์นบูลล์ของออสเตรเลีย ต่างชื่นชมข้อตกลงทีพีเช่นเดียวกันว่าเป็นข้อตกลงประวัติศาสตร์ที่เปิดการเข้าถึงตลาดและเป็นผลประโยชน์ต่อประเทศ แม้แต่นายกรัฐมนตรีจอห์น คีย์ของนิวซีแลนด์ ที่ผิดหวังว่าทีพีพียังไม่เอื้อประโยชน์แก่สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์นมของนิวซีแลนด์เท่าที่ควร ก็ยังมองว่า ทีพีพีช่วยเพิ่มการจ้างงาน เพิ่มรายได้ และยกระดับมาตรฐานชีวิตประชาชนให้สูงขึ้น

ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์มาเลเซีย “นายมุสตาปา โมฮาเหม็ด” เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าทีพีพีจะช่วยให้มาเลเซียเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น โดยเฉพาะกับสหรัฐ แคนาดา เม็กซิโก และเปรู ที่ขณะนี้มาเลเซียยังไม่ได้ทำข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีด้วย

ด้านรัฐมนตรีพาณิชย์เวียดนาม “นายโว ฮุย ฮวง” แถลงว่า ทีพีพีจะสร้างโอกาสอย่างมากมายให้กับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอของเวียดนาม

สหรัฐเผชิญกระแสต้าน "ทีพีพี" จากคองเกรส

อย่างไรก็ตาม 12 ชาติสมาชิกที่ประกอบด้วยสหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เม็กซิโก มาเลเซีย บรูไน เวียดนาม สิงคโปร์ ชิลี และเปรู จะต้องนำข้อตกลงนี้ไปให้รัฐสภาประเทศของตนลงสัตยาบัน ซึ่งคาดว่าจะเป็นความยุ่งยากของรัฐบาลสหรัฐ เพราะสมาชิกสภาคองเกรสบางคนจากทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันแสดงความกังวลหรือตั้งข้อสงสัยต่อทีพีพี

นายเบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกรัฐเวอร์มอนท์ และเป็นหนึ่งในผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2559 จากพรรคเดโมแครตเตือนว่า ทีพีพีจะสร้างความเสียหายต่อการจ้างงานและผู้บริโภค