ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงจีดีพีปีนี้โต2.8%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงจีดีพีปีนี้โต2.8%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงจีดีพีปีนี้ขยายตัว 2.8% จากแรงหนุนลงทุนภาครัฐและท่องเที่ยว ส่วนส่งออกคาดติดลบ 5% เหตุเศรษฐกิจจีนชะลอตัว

นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรคงประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 2.8 แม้ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 3 จะอ่อนแรงกว่าที่เคยคาดไว้ โดยไตรมาส 3 เติบโตร้อยละ 2.8 จากเดิมคาดโตร้อยละ 3 ตามทิศทางการส่งออกหดตัว โดยปีนี้ส่งออกหดตัวร้อยละ 5 จากเดิมหดตัวร้อยละ 1.7 เนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าอย่างจีนยังย่ำแย่และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังอยู่ในระดับต่ำ มีผลต่อราคาสินค้าส่งออกของไทยในกลุ่มยางพารา ปิโตรเลียม และปิโตรเคมี ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 16 การส่งออกที่ติดลบเพิ่มขึ้นจะมีผลลดทอนจีดีพีร้อยละ 0.8 แต่ประเมินว่าการท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูง คาดจำนวนนักท่องเที่ยวไตรมาส 4 จะสูงถึง 8 ล้านคน จากเฉลี่ย 7.4 ล้านคนใน 3 ไตรมาสแรก และการเบิกจ่ายภาครัฐขยายตัวได้ร้อยละ 21.2 ปีนี้จะเป็นแรงหนุนสำคัญของเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้ ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5-3.5

ด้านปัจจัยเสี่ยงไตรมาสสุดท้ายส่วนใหญ่เป็นปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะความผันผวนในตลาดการเงินจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว โดยคาดการณ์เงินบาทสิ้นปีนี้อยู่ที่ 36.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปี 2559 อยู่ที่ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปัจจัยในประเทศ คือ ปัญหาภัยแล้งและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญยังมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจครึ่งปีแรกของปี 2559

ด้านนางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าขยับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ 46.5 ซึ่งสูงสุดในรอบ 5 เดือน ขณะที่ดัชนีฯ เดือนกันยายน 2558 อยู่ที่ระดับ 43.3 โดยมองว่าบรรยากาศการใช้จ่ายภาคครัวเรือนน่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2558 ครัวเรือนหลายพื้นที่เริ่มคลายความกังวลเรื่องปัญหาค่าครองชีพ หลังจากทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเร่งสานต่อภารกิจพลิกฟื้นเศรษฐกิจและมีการเยียวยาปัญหาด้านกำลังซื้อและดูแลค่าครองชีพประชาชน แต่การฟื้นตัวของความเชื่อมั่นอาจจะยังไม่ใช่ในระดับ V – Shape เพราะยังมีหลายปัจจัยเสี่ยง เช่น ภัยแล้ง