วันนี้จะได้เห็น ประธานกรธ.'มีชัย'

วันนี้จะได้เห็น ประธานกรธ.'มีชัย'

ประธานและกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่รวม 21 คน และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อีก 200 คน จะได้เห็นหน้าตาวันนี้(5ต.ค.)

วันนี้จะได้เห็นแล้ว ทั้งประธานและกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่รวม 21 คน และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อีก 200 คน ความสำคัญจะอยู่ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือกรธ. มากกว่า โดยเฉพาะผู้ที่จะมาเป็นประธาน กรธ. จะเป็น “มีชัย ฤชุพันธุ์” หรือไม่  

ส่วนสมาชิก สปท. 200 คน โฟกัสคงอยู่แค่ว่า สุดท้ายจะมีทหารกี่คน จะมีอดีต สปช.เข้ามากี่คน ส่วนภารกิจ สปท.นั้น ถ้าเทียบกับความสำคัญกับ กรธ.ถือว่าคนละเรื่อง  

สปท.มาทำหน้าที่แทน สปช. (สภาปฏิรูปแห่งชาติ) แต่ไม่มีอำนาจไปโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเหมือน สปช. ภารกิจหลักของ สปท.อยู่ที่เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูป ซึ่งความจริง สปช.ก็ทำไว้เสร็จแล้วและส่งให้รัฐบาลแล้ว

ในส่วนของประธาน กรธ. มาถึงนาทีนี้ไม่น่าจะมีรายการพลิกโผจาก “มีชัย” แล้ว ถึงแม้ “นายกฯประยุทธ์” จะบอกกับสื่อหลังพูดคุยกับมีชัยเมื่อวันศุกร์ว่า มีชัยจะให้คำตอบในวันนี้ (5 ต.ค.) แต่ในความเป็นจริงคงไม่ใช่  

ในวันนี้ คสช.นัดประชุม 9 โมงเช้า เพื่อ “ทำคลอด” รายชื่อ กรธ.ทั้ง 21 คน เนื่องจากครบ 30 วันที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวบังคับไว้ว่าจะต้องตั้ง กรธ.นับจากวันที่ สปช.ลงมติไม่เห็นด้วย หาก “มีชัย” จะมาให้คำตอบวันนี้จริง และถ้ามีชัยปฏิเสธ คสช.ก็คงไม่สามารถไปหาคนอื่นมาได้ทัน  

มองไปข้างหน้า หากประธาน กรธ.เป็น “มีชัย” จริง ก็ต้องดูองค์ประกอบของ กรธ.ต่อไป ว่าจะมีใครบ้าง จะมีความหลากหลายแค่ไหน หรือ เป็นทีมงานมีชัยเป็นส่วนใหญ่ หรือ จะเป็นทีมตัวแทนจาก คสช.  

สำหรับระยะเวลาการทำงาน 180 วันนั้น แม้จะมีเสียงเรียกร้องว่าไม่น่าจะใช้เวลาถึง 6 เดือน แต่เอาเข้าจริงก็คงประมาณนั้น เพราะนอกจากภารกิจในการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว กรธ.ยังมีภารกิจในการทำความเข้าใจกับประชาชนและภาคส่วนต่างๆในสังคมให้ยอมรับในร่างรัฐธรรมนูญด้วย  

ภารกิจใหญ่ของ กรธ.จะอยู่ที่การทำให้ทุกภาคส่วนยอมรับร่างรัฐธรรมนูญด้วย เพราะเมื่อเสร็จแล้วจะต้องส่งตรงไปให้ประชาชน “ลงประชามติ” หากไม่เป็นที่ยอมรับ ก็เสี่ยงสูงที่จะตก  

ยกเว้น “ปลดล็อค” แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว “ตัด” เรื่องการทำประชามติออกไป!  

อย่าลืมว่าเป้าหมายของ คสช.ในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้น่าจะอยู่ที่ต้องการให้ผ่าน ต่างจากครั้งที่แล้ว  

และอย่าลืมว่ามีชัย “ไม่ปลื้ม” กับการให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ สาเหตุที่ทำให้ “รัฐธรรมนูญชั่วคราว” ฉบับแรกของ คสช.ไม่บรรจุเรื่องการทำประชามติไว้ ก็เพราะจากมีชัยเป็นสำคัญ แต่ตอนหลังมีการมาแก้รัฐธรรมนูญใส่เรื่องประชามติลงไป ก็เพราะแรงกดดันจาก กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ”    

ฉะนั้นหากประธาน กรธ.เป็น“มีชัย”นอกจากต้องจับตาดูเนื้อหาร่างธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว คงต้องจับตาเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวด้วย ซึ่งต้องมีแน่ๆ้!