ประชารัฐ'ประยุทธ์-สมคิด'

ประชารัฐ'ประยุทธ์-สมคิด'

ครม."พล.อ.ประยุทธ์ 3" สิ่งที่ถูกคาดหวังมากที่สุดย่อมหนีไม่พ้น"งานด้านเศรษฐกิจ" จับตาว่า “ประชารัฐ” จะได้ผลเป็นอย่างไร

นับตั้งแต่มีการปรับ ครม.มาเป็น"พล.อ.ประยุทธ์ 3" สิ่งที่ถูกคาดหวังมากที่สุดย่อมหนีไม่พ้น “งานด้านเศรษฐกิจ” ซึ่งนอกจากจะเปลี่ยนรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ และทีมรัฐมนตรีใหม่แล้ว นโยบายใหม่ที่ถูกหยิบยกขึ้นมา ซึ่งเราคงได้ยินกันไปบ้างแล้วนั่นคือ “ประชารัฐ” และจากนี้คำนี้ก็จะถูกกล่าวถึงบ่อยขึ้นจากการเดินหน้าขับเคลื่อนของรัฐบาลผ่านโครงการต่างๆ  

“ประชารัฐ” ในยุคของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” ถูกยกขึ้นมาหลังเปลี่ยนตัวแม่ทัพเศรษฐกิจใหม่ จาก “หม่อมอุ๋ยม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล”เป็น “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” และใส่เกียร์เดินหน้า จนกลายเป็นที่เปรียบเทียบขึ้นมาทันทีว่า “ประชารัฐ-ประชานิยม” นั้นมีความแตกต่างอย่างไร  

ที่มาของ “ประชารัฐ” นั้น “รองฯสมคิด” ผู้เป็นกุนซือสำคัญในเรื่องนี้ ต้องการลบภาพ “ประชานิยม” สมัยรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร”  

คนในรัฐบาลวิเคราะห์นิยาม “ประชานิยม” ว่า “เป็นการให้โดยมอมเมาหวังผลทางการเมือง” ซึ่ง “ประชานิยม” เองได้ถูกเป็นคำที่ใช้แฝงไปกับนโยบายทางการเมืองของพรรคการเมืองในยุคที่ผ่านๆมา แม้รัฐบาลเพื่อไทยของ “น.ส.ยิ่งลักษณ์” ก็นำโครงการเดิมนั้นมาต่อยอด แต่จุดที่แตกต่างคือบุคคลระดับมือพระกาฬ ในยุค “เพื่อไทย” ไม่เหลือให้มาช่วยเดินหน้านโยบาย เพราะติดโทษทางการเมือง จึงทำให้เกิดความผิดพลาด จากที่เห็นในโครงการรับจำนำข้าว และรถคันแรก  

ซึ่ง “สมคิด” เองก็นำมาปรับให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ของ “บิ๊กตู่”  

สิ่งที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลในอดีตก็เป็นจุดที่ “สมคิด” นำมาตกผลึก ต้องไม่ติดกับดักที่แล้วมาที่ “ประชานิยม”เจอ และสรุปกับ “บิ๊กตู่” จนเกิดเป็น “ประชารัฐ” ออกมา ซึ่งอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการเดินหน้านโยบายนี้คือ “กระทรวงหมาดไทย” ในการขับเคลื่อนระดับท้องถิ่น  

“ประชารัฐ” นี้เองเป็นโปรเจคที่ นายกฯและสมคิด ตั้งเป้าหมายไว้เลยว่าจะแก้ปัญหาการเมืองเรื่องของ “สีเสื้อ” ได้ เพราะทำให้ประชาชนเข้มแข็ง ไม่ถูกชักจูง  

นอกจากนี้เรื่องหนึ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน ตั้งแต่ “สมคิด” เข้ามาคุมงานเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลลงไปเน้นงานเพื่อประชาชนในระดับร่างมากขึ้น และเราคงจะได้เห็น “บิ๊กตู่” และ “สมคิด” ควงคู่กันออกงานบ่อยๆ หลังจากการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจของที่ผ่านมาหมดไปกับการแก้ไขปัญหาเดิมมากกว่า  

"ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลกและเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งรายได้กว่าร้อยละ 70 จากการส่งออก ผมคิดว่าคนไทยต้องเลิกยืมจมูกผู้อื่นหายใจ เราต้องสร้างความเข้มแข็งของประเทศด้วยการพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ดังนั้นรัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร ผู้เป็นกระดูกสันหลังของประเทศ ด้วยการแก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ลดต้นทุนการผลิต พัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทาน รวมไปถึงการพัฒนาสวัสดิการสังคม และการปลูกฝังวินัยการออม ให้ครอบคลุมถึงเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยที่ประกอบอาชีพอิสระ” พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศแนวทางไว้ชัดเจน ในจดหมายข่าวรัฐบาลเพื่อประชาชน ฉบับวันที่1ต.ค.  

“นายกฯ” เองได้พูดผ่านเวทีต่างๆหลายครั้งแล้วว่าต้องการให้ประชาชนสร้างความเข้มแข็งให้ได้ ซึ่ง “บิ๊กตู่” ก็ได้มีแนวคิดในการดึงภาคประชาชนเพิ่มเข้ามาในกลไก โดยจะให้มาอยู่ในโครงสร้างของ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กลายเป็นการผนึกกำลังของรัฐบาล เอกชน ประชาชน และคาดว่าจะมีการประชุมในเร็วๆนี้  

จากนี้ต้องจับตาว่า “ประชารัฐ” แบบ “ประยุทธ์” นั้น จะได้ผลเป็นอย่างไร ล้มล้างคำเดิมได้ หรือเป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อเพื่อลบภาพเดิมๆ อย่าลืมว่าที่ผ่านมา “ประชานิยม” ก็เป็นตัวชี้วัดสำคัญของเสถียรภาพรัฐบาลในอดีต “ประชารัฐ” เองก็อาจไม่ต่างกัน!