ส่อง 'กรธ.' องค์กรจัดทำกติกาประเทศ

ส่อง 'กรธ.' องค์กรจัดทำกติกาประเทศ

ส่อง 'กรธ.' หรือ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ องค์กรจัดทำกติกาประเทศ

ไม่เกินวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคมนี้ ประเทศไทยจะมี คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แทนฉบับเดิมที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ชุดที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

องค์ประกอบของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จะมีประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 คน รวมเป็น 21 คน เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หรือราวๆ 6 เดือนนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง

ผู้มีอำนาจแต่งตั้ง กรธ.ทั้ง 21 คน คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้า

ล่าสุด นายกฯ บอกว่า รายชื่อกรรมการคนอื่นมีหมดแล้ว เหลือเพียงประธาน กรธ. ที่ได้ทาบทาม นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา และสมาชิก คสช. โดยได้เชิญนายมีชัยเข้าพบ และนายมีชัยบอกว่าจะให้คำตอบภายในวันจันทร์ (5ต.ค.)

รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ในระหว่างการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ให้ กรธ. รับฟังความคิดเห็นของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประชาชน

 เมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้ กรธ.แจ้งคณะรัฐมนตรีทราบ และให้คณะรัฐมนตรีแจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ทราบโดยเร็ว เพื่อดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ โดยครั้งนี้ไม่มีสภาปฏิรูปแห่งชาติทำหน้าที่พิจารณาและให้ความเห็นชอบอีกแล้ว เนื่องจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.ได้สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ลงทันทีที่ลงมติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์

สำหรับกรอบการร่างรัฐธรรมนูญ ยังต้องมีเนื้อหาครอบคลุม 10 ประเด็นตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 35 เช่นเดิม อาทิ ต้องมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน,มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด เป็นต้น

แต่โจทย์ใหญ่กว่านั้น ดูจะมีอีก 3 ประเด็น ดังที่นายกรัฐมนตรีได้พูดเอาไว้ คือ ที่มาของนายกรัฐมนตรี, ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา, และการมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ หรือ คปป. ซึ่งถูกคัดค้านอย่างหนักในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์

นับจากวันตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอีก 180 วัน ก็จะทราบว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะฝ่าคลื่นลมและกระแสต่างๆ จนนำไปสู่การทำประชามติของประชาชนคนไทยทั้งประเทศได้หรือไม่