'พาณิชย์'สั่งคุมเข้มสินค้าดัดแปลงเป็นอาวุธร้ายแรง

'พาณิชย์'สั่งคุมเข้มสินค้าดัดแปลงเป็นอาวุธร้ายแรง

กระทรวงพาณิชย์ ออกประกาศคุมเข้มและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการสินค้านำไปใช้ประโยชน์ 2 ทาง หวั่นใช้ผลิตอาวุธร้ายแรง

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้ลงนามออกประกาศกำหนดให้สินค้าที่ใช้ได้ 2 ทางเป็นสินค้าต้องขออนุญาต และต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการส่งออก 1,230 รายการ เพื่อดำเนินการตามมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในการกำหนดให้ประเทศสมาชิกกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายสูงและวัสดุเกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงสินค้าใช้ประโยชน์ได้ 2 ทาง ( Dual-use Item:DUI) คือ การใช้ประกอบสินค้าใช้ชีวิตประจำวันและอีกด้านหนึ่งกลับนำไปใช้ประกอบเป็นอาวุธร้ายแรง คณะรัฐมนตรีจึงได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับอีก 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการอุตสาหกรรมทหาร กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรมศุลกากร จัดทำระบบควบคุมสินค้าที่ใช้ได้ 2 ทาง (Thai Trade Management of Dual-use Items: TMD) ควบคุมสินค้าที่มีความเสี่ยงนำไปใช้ผลิตอาวุธได้

โดยผู้ผลิต ผู้ส่งออกสินค้า ต้องปฏิบัติตาม 2 มาตรการสำคัญภายใต้ประกาศฯ คือ มาตรการขออนุญาตส่งออก เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนในการตรวจสอบจำแนกสินค้าว่าเป็น DUI หรือไม่ และมาตรการขึ้นทะเบียนรับรองตนเองกรณีพิกัดศุลกากร (HS Code) 8 หลัก เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกสามารถรับรองตนเองก่อนการส่งออก โดยกรมศุลกากรจะระบุพิกัดสินค้าให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ส่งออกสินค้าในกลุ่มสินค้ายานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ พลาสติก ยางขึ้นรูป คอนเทนเนอร์ และเครื่องจักรกล รวมทั้งวัสดุที่เกี่ยวข้องควรต้องเตรียมการรองรับและศึกษาแนวทางการปฏิบัติภายใต้มาตรการเหล่านี้ไว้ล่วงหน้า

สำหรับสินค้าที่นำประกอบอาวุธร้ายแรง 1,230 รายการ เช่น เส้นใยคาร์บอนด์ สำหรับผลิตไม้เทนนิส แบทมินตัน อุปกรณ์กีฬา ซึ่งผลิตได้ในประเทศไทย โลหะหัวไม้กอล์ฟ เรเซอร์ ซึ่งมีศักยภาพในการขยายยูเรเนี่ยม ขณะนี้กรมการค้าต่างประเทศอยู่ระหว่างพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อรองรับการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นใจนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการเข้ามาขยายการลงทุน เช่น ญี่ปุ่น หากไม่มีการมาตฐานดังกล่าวจะหนีไปลงในประเทศอื่น โดยประกาศฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1มกราคม 2561 เป็นต้นไป เพื่อให้ภาคเอกชนได้ปรับตัว