ปันผล & ซิ่ง สูตรหุ้น 'วสันต์ อิทธิโรจนกุล'

ปันผล & ซิ่ง สูตรหุ้น 'วสันต์ อิทธิโรจนกุล'

เมื่อตลาดหุ้นผันผวน กลยุทธ์เล่น 'หุ้นปันผลผสมหุ้นปั่น' คือ หนทางเพิ่มกำไรของ 'วสันต์ อิทธิโรจนกุล' เอ็มดีใหญ่ บมจ.ไพโอเนียร์ มอเตอร์

'ลงทุนแบบไม่มีความรู้ คือ หนทางแห่งหายนะ'

วลีเด็ด 'วสันต์ อิทธิโรจนกุล' เจ้าของพอร์ตหุ้นมูลค่า 'ร้อยล้าน' ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บมจ.ไพโอเนียร์ มอเตอร์ หรือ PIMO ผู้ผลิตมอเตอร์สำหรับเครื่องปรับอากาศ มอเตอร์กำลัง สำหรับภาคอุตสาหกรรม เครื่องสูบน้ำ ปั๊มหอยโข่ง และมอเตอร์สำหรับสระและสปา

จุดเริ่มต้นของความหายนะเริ่มต้นขึ้น ในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น 'วสันต์' บอกอย่างนั้น ผมตัดสินใจควักเงินก้อนแรกเล่นหุ้นจำนวน 1-2 แสนบาท ตามคำชักชวนของเพื่อน ช่วงแรกๆของการลงทุน เชื่อหรือไม่!! 'จิ้มตัวไหนก็ได้กำไร' 

ทั้งๆ ที่ความรู้เรื่องการลงทุนเท่ากับ 'ศูนย์' เมื่อยิ่งเล่นยิ่งกำไรนักลงทุนมือใหม่อย่างเราจึงหมั่นเติมเงินเข้าพอร์ตเรื่อยๆ โดยไม่ยอมถอนกำไรออกมา ทำให้พอร์ตเติบโตเป็น 'สิบล้าน' ภายในระยะเวลาไม่นาน

ในเมื่อไม่มีความรู้เรื่องการลงทุน หนทางการเล่นหุ้นในครานั้น จึงจำเป็นต้องเล่นตามคำแนะนำของเพื่อนและโบรกเกอร์เท่านั้น ช่วงนั้นมีหุ้นทุกหมวดอุตสาหกรรมเฉลี่ย 40 ตัว ด้วยความที่ไม่มีกลยุทธ์การลงทุนเป็นของตัวเองบวกกับเล่นหุ้นตามคนอื่น แถมยังเจอวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้พอร์ตลงทุนลดลงทันทีจาก 'สิบล้าน' เหลือเพียง 1-2 ล้านบาท ตอนนั้นจำใจต้อง 'ตัดขายขาดทุน' (Cut Loss) ทั้งหมด

หยุดลงทุนในตลาดหุ้นมาถึงปี 2545 'นพ.เสถียร ภู่ประเสริฐ' ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระรามเก้า ในฐานะประธานกรรมการ PIMO ชักชวนให้กลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง ช่วงนั้นเราสองคนตัดสินใจบินไปหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนแนวเทคนิคถึงประเทศสิงคโปร์ ด้วยความที่มีกูรูชาวออสเตรเลียมาสอน ค่าเรียนครั้งนั้นจึงสูงถึง 1 แสนบาท

ตอนนั้นผู้เชี่ยวชาญ สอนวิธีการลงทุนเทคนิคสำหรับตลาดหุ้นนิวยอร์ก ซึ่งเราก็นำมาประยุกต์ใช้กับตลาดหุ้นไทย คำสอนหนึ่งข้อที่จดจำได้แม่น คือ

'ต้องตั้งเงินลงทุนให้ชัดเจน เมื่อสามารถทำกำไรได้มากกว่าเท่าตัว จงถอนเงินทุนออกมา'

'วสันต์' เล่าต่อว่า หลังจากมีความรู้เรื่องการลงทุนแนวเทคนิคแล้ว ผมกลับมาลงทุนใหม่ด้วยเงินทุน 10 ล้านบาท ใช้เวลา 6 เดือน มูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านบาท หลังลงทุนด้วยกลยุทธ์ 'เก็งกำไร' ล้วนๆ เมื่อได้กำไรมากกว่าเท่าตัว ก็ทยอยถอนเงินลงทุนออกมา 10 ล้านบาท ตามคำแนะนำของกูรูชาวออสเตรเลีย

เมื่อถามถึงกลยุทธ์การลงทุนในปัจจุบัน เขา เล่าว่า ภาวะตลาดหุ้นผันผวนเช่นนี้ อาจต้องแบ่งพอร์ตหุ้นออกเป็นสองส่วน คือ 'หุ้นปันผล' และ 'หุ้นซิ่ง' สัดส่วน 70% และ 30% ตามลำดับ โดยในส่วนของหุ้นปันผลจะเน้นเลือกหุ้นที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5-7% ต่อปี

เช่น หุ้น อินทัช โฮลดิ้งส์ หรือ INTUCH ผู้ประกอบการด้านการลงทุน (Holding company) ในบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านสื่อสารโทรคมนาคมไร้สาย นอกจากจะจ่ายเงินปันผลในระดับดังกล่าวแล้ว บริษัทในเครือ INTUCH ยังสามารถสร้างกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC ,บมจ. ซีเอส ล็อกซอินโฟ หรือ CSL และ บมจ.ไทยคม หรือ THCOM

นอกจากนั้นยังชอบ หุ้น คาราบาวกรุ๊ป หรือ CBG ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มบำรุงกำลัง 'คาราบาวแดง' ข้อดีของหุ้น CBG คือ หลังเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ต้นทุนของบริษัทลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจาก CBG ถือเป็นบริษัทเพียงไม่กี่แห่งที่มีโรงงานขวดแก้ว ฉะนั้นต้นทุนส่วนนี้จะหายไปจำนวนมาก ทำให้บริษัทมีกำไรมากขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทยังมีแผนขยายธุรกิจออกไปต่างประเทศด้วย ดังนั้นราคาหุ้นมีโอกาสไปต่อ

ส่วนกลยุทธ์การเลือก 'หุ้นซิ่ง' หรือ 'หุ้นปั่น' ส่วนใหญ่จะลงทุนตามข่าวในแต่ละวัน วิธีการ คือ ซื้อเช้าขายบ่าย โดยจะตั้งจุดตัดขาดทุนที่ระดับ 10% หมายความว่า หากราคาหุ้นลดลง 10% ต้องรีบปล่อยออกทันที 'คิดจะเล่นหุ้นปั่นแล้วไม่รู้จักตั้งจุดขาย กางเกงในอาจหายได้' เขาพูดเปรียบเปรย

'หุ้นในพอร์ตที่มีอยู่สองตัวสามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ย 10-30% ต่อปี' 

เจ้าของพอร์ตร้อยล้าน อธิบายถึงวิธีการเลือกหุ้นดีๆเข้าพอร์ตว่า 1.ต้องรู้ข้อมูลและจุดแข็งของบริษัท ยิ่งรู้ข้อมูลลึกๆยิ่งดี 2.ต้องตรวจสอบความซื่อตรงของผู้บริหาร เรื่องนี้สำคัญมากสำหรับการลงทุน3.ดูเส้นเทคนิค เพราะจะได้รู้จุดซื้อจุดขาย และ 4.ตั้งจุด Cut Loss

'ตลาดหุ้นไทยปี 2558 แนวโน้มไม่ค่อยดี เพราะยังไม่เห็นว่าจะมีปัจจัยใดมากระตุ้นการลงทุน เมื่อเป็นเช่นนั้น วันนี้ผมจึงเน้นเก็บเงินสดมากกว่าลงทุนในตลาดหุ้น'

เขา ทิ้งท้ายเรื่องการลงทุนว่า ผมชอบลงทุนในที่ดิน เพราะให้ผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนในตลาดหุ้น เมื่อ 8 ปีก่อน มีโอกาสซื้อที่ดินบนถนนราชพฤกษ์ 1 แปลง ปัจจุบันขายได้กำไรมากกว่า 4 เท่าตัว ตอนซื้อยังไม่มีการตัดถนนข้ามถนนชัยพฤกษ์ แต่เรารู้ว่ากำลังจะมีถนนตัดผ่านและสร้างสะพานพระราม 4 เลยตัดสินใจซื้อดัก

'ตามสถิติทุกๆ 4 ปี ราคาที่ดินจะขึ้นแบบดับเบิ้ล'

เล็งเจาะตลาดสหรัฐฯ

'กรรมการผู้จัดการ' ถือโอกาสเล่าแผนธุรกิจในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า (2559-2563) ให้ฟังว่า บริษัทตั้งเป้าหมายจะมีรายได้รวมแตะระดับ 'พันล้าน' เฉลี่ยเติบโตปีละ 10-15% โดยจะเน้นหาเงินในตลาดต่างประเทศมากขึ้น

ปัจจุบันบริษัทมีรายได้หลักมาจากการผลิตและจัดจำหน่ายมอเตอร์ สำหรับเครื่องปรับอากาศ (Air Movement Motor) สัดส่วน 45% มอเตอร์กำลัง (Induction Motor) สัดส่วน 15% และเครื่องสูบน้ำที่มีประสิทธิภาพสูง ภายใต้สินค้า 'Pioneer' (Submersible Pump) สัดส่วน 40%
บริษัทเล็งจะรุกตลาดมอเตอร์เครื่องปรับอากาศและมอเตอร์สระว่ายน้ำ ประเทศสหรัฐอเมริกา ล่าสุดอยู่ระหว่างดำเนินการขอใบรับรองจัดการคุณภาพมาตรฐาน (UL) ของประเทศสหรัฐอเมริกาอีกจำนวนกว่า 42 รุ่น กำลังไฟฟ้า 60 Hz 115 V คาดว่าจะรู้ผลการทดสอบไตรมาส 1/2559 หรือ ไตรมาส 2/2559 ซึ่งต้องใช้งบลงทุนประมาณ 20-30 ล้านบาท

หลังจากเมื่อต้นปี 2558 บริษัทลองส่งมอเตอร์เครื่องปรับอากาศจำนวน 7 รุ่น ซึ่งใช้กำลังไฟฟ้า 50 Hz 220 V ไปทดสอบที่สหรัฐอเมริกาแล้ว และเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ทางสหรัฐได้แจ้งบริษัทว่าสินค้าเราผ่านกระบวนการตรวจสอบทั้งหมดแล้ว ฉะนั้นบริษัทจะเริ่มทำการตลาดในสหรัฐ ด้วยการเข้าไปคุยกับผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ

สาเหตุที่สนใจเข้าไปทำตลาดในสหรัฐ เป็นเพราะปริมาณการใช้เครื่องปรับอากาศต่อปีอยู่สูงถึงเฉลี่ย 4.5 ล้านเครื่องต่อปี ซึ่งสูงกว่าเมืองไทยที่มีปริมาณการใช้ปีละ 1.8 ล้านเครื่อง เมื่อปริมาณการใช้เครื่องปรับอากาศต่อปีในสหรัฐสูงมาก หมายความว่า จะมีการใช้มอเตอร์มากถึง 10 ล้านตัว ตลาดใหญ่แบบนี้ถือเป็นโอกาสในการหาเงินของเรา

หากลองคิดเล่นๆ ถ้าเรามีส่วนแบ่งการตลาด 5% คิดเป็นยอดขายมอเตอร์ของ PIMO ประมาณ 5 แสนตัวต่อปี หรือ 4 หมื่นตัวต่อเดือน แต่ปัจจุบันเรามีกำลังการผลิตเพียง 6 หมื่นตัวต่อเดือน และกำลังจะขยายกำลังการผลิตเป็น 8 หมื่นตัวต่อเดือน นั่นหมายความว่า ในอนาคตเราอาจต้องขยายกำลังการผลิตอีก 50%

'เป้าหมาย 3-5 ปี สัดส่วนยอดขายในประเทศจะอยู่ระดับ 60% ต่างประเทศ 40% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนในประเทศ 75% และต่างประเทศ 25%' 

'วสันต์' เล่าต่อว่า เราจะไม่เน้นทำสินค้าประเภท Red Ocean โดยจะขายเป็นครั้งคราวเท่านั้น แต่จะเน้นขายสินค้าประเภท Blue Ocean เนื่องจากเป็นตลาดที่มีกำไรขั้นต้นสูงเฉลี่ย 40% ปัจจุบันบริษัทกำลังมองตลาดมอเตอร์สระว่ายน้ำในสหรัฐอเมริกา ซึ่งในอเมริกามีโรงงานประกอบเครื่องปั้มน้ำสำหรับใช้ในสระว่ายน้ำจำนวน 8 แห่ง ปริมาณการผลิตอยู่ที่ 3 แสนตัวต่อปี

ทั้งนี้ผู้ประกอบการผลิตเครื่องปั้มน้ำ สำหรับสระว่ายน้ำทั่วโลกระดับ 'ไฮควอลิตี้' ส่วนใหญ่จะผลิตอยู่ใน 3 แห่งทั่วโลก คือ 'ออสเตรเลีย-อเมริกา-ฮอลแลนด์ (ยุโรป)' ซึ่งปัจจุบัน PIMO ผลิตมอเตอร์สำหรับสระว่ายน้ำส่งออกให้กับลูกค้าออสเตรเลีย 4 ราย จากผู้ประกอบการในประเทศออสเตรเลียทั้งหมด 6 ราย โดยอัตราการผลิตปั้มน้ำสำหรับใช้ในสระว่ายน้ำปีละ 3 หมื่นตัว ถือว่าเป็นปริมาณการผลิตไม่สูง แต่สินค้ามีกำไรในอัตราสูง

'จากความเชื่อมั่นและความไว้ใจของลูกค้าในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก ส่งผลให้บริษัทสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง และมีผลการดำเนินงานเติบโตขึ้นทุกๆ ปี' 

เขา พูดถึงเป้าหมายการขายสินค้าเครื่องสูบน้ำว่า ปีนี้คงจะมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้น จาก 40% เป็น 50% หลังเมื่อ 3 ปีก่อน (2555) บริษัทได้ไปเจรจากับ บมจ.กันยงอีเลคทริก (KYE) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนผลิตสินค้าของมิตซูบิชิ ซึ่งเจตนาเดิมของเรา คือ ต้องการชวนมาซื้อมอเตอร์ของ PIMO แต่เมื่อไปเจรจาผลปรากฎว่า KYE ไม่สนใจให้เราผลิตมอเตอร์เครื่องปรับอากาศ

แต่เขาสนใจมอเตอร์ปั้มน้ำ เนื่องจากมิตซูบิชิกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับยอดสั่งซื้อ ฉะนั้นทาง KYE จึงเสนอให้เราเริ่มต้นทำมอเตอร์ให้ 2 รุ่น (รุ่น 200 วัตต์ กับ 400 วัตต์) ซึ่งบริษัทส่งสินค้าให้เขาครั้งแรกเมื่อปี 2555 ยอดขายปีละ 120 ล้านบาท ปัจจุบันทาง KYE ให้บริษัทผลิตมอเตอร์ปั้มน้ำให้อีก 2 รุ่น คือ รุ่น 100 วัตต์ และ 150 วัตต์

ปัจจุบันบริษัทได้สั่งเครื่องจักรมาติดตั้งแล้ว โดยทาง KYE มีออเดอร์กับเราประมาณ 1.6 หมื่นลูกต่อเดือน ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 6 หมื่นลูกต่อเดือน เพิ่มกำลังการผลิตมาเป็น 8 หมื่นลูกต่อเดือน ซึ่งในเดือน ก.ย.2558 เป็นเดือนแรกที่เราจะรับรู้รายได้ 100 ล้านบาท อย่างไรก็ดีบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาที่จะผลิตมอเตอร์ในสินค้าตัวอื่นๆ ให้ KYE

รายได้ปี 58แตะ 550 ล้านบาท

สำหรับผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 บริษัทเชื่อว่า จะเติบโตมากกว่าในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา โดยเป้าหมายรายได้รวมในปีนี้จะอยู่ระดับ 520-550 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่มีรายได้รวม 489.47 ล้านบาท

ส่วนรายได้ปี 2559 อาจขยายตัว 20% ซึ่งเป็นการเติบโตจากออเดอร์มอเตอร์ปั๊มน้ำ และยอดขายในตลาดต่างประเทศ หลังบริษัทได้เป็นผู้ผลิตมอเตอร์เครื่องปั้มน้ำอีก 2 รุ่น จากเดิมผลิตแล้ว 2 รุ่น

ปัจจุบันบริษัทใช้กำลังการผลิต 95% เพื่อรองรับยอดคำสั่งซื้อมอเตอร์จากผู้ผลิตปั๊มน้ำและเครื่องปรับอากาศรายใหญ่ โดยสายการผลิตของบริษัทใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง

สำหรับงบลงทุนในปี 2558-2559 บริษัทตั้งไว้ระดับ 60 ล้านบาท โดยจะลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้า เช่น เครื่องจักรสำหรับแผนกฉีด, แผนกประกอบ, แผนกพ่นสี, แผนกลงคอยส์และแผนกสินค้า และเครื่องจักรเพื่อผลิตสินค้ารุ่นใหม่ รวมถึงจะนำเงินไปปรับปรุงพื้นที่โรงงานและระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และจะใช้เงินบางส่วน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการขอใบอนุญาตเพื่อนำสินค้าจำหน่ายไปยังสหรัฐฯ

'ปลายปีนี้บริษัทจะออกมอเตอร์รุ่นใหม่ ภายใต้ชื่อ Q5 สามารถประหยัดไฟได้มากกว่าปัจจุบัน'