วิ่งไหน ไปด้วย!!

วิ่งไหน ไปด้วย!!

วิ่งเพื่อสุขภาพดี.. วิ่งเพื่อชนะใจ.. วิ่งเพื่อลดความอ้วน.. ฯลฯ รู้ไหมว่า ยังมีอีกเหตุผลเพื่อการวิ่ง นั่นคือ วิ่งเป็น "เพื่อน"

แม้อาทิตย์ไม่ทันส่องแสงแรง แต่ทั่วสวนลุมฯ ก็เต็มไปด้วยเสียงสับฝีเท้าของพลพรรคนักวิ่งที่พร้อมใจกันมาซอยขาตามจังหวะของตัวเองจนกลายเป็นเสียงบรรยากาศที่ฟังแล้วแทบไม่ขาดช่วง

โดยเฉพาะกับ 'พวกเขา' ผู้มี 'หู' เป็นตา และมี 'สัมผัส' เป็นอาวุธนั้น เสียงซอยฝีเท้ายิ่งดูน่าตื่นเต้นและเย้ายวนให้ออกไปร่วมส่งจังหวะของตัวเองเข้าไปเป็นส่วนประกอบ..

"ใครยังไม่มีคู่ยกมือขึ้นครับ!!!" เสียงประกาศของ ทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์ หรือ 'พี่นง' ของน้องๆ นักวิ่งทั่วสารทิศดังขึ้น

เพราะการที่เหล่า นัก(อยาก)วิ่งทั้งหลายรวมตัวอยู่ที่นี่ ก็เพื่อหา 'คู่'

เปล่า.. เขาไม่ได้กำลังหาคู่ในแบบที่คนทั่วไปคิด เพราะพวกเขากำลังหา 'คู่วิ่ง' เพื่อจะพาผู้พิการทางสายตาซอยเท้าออกสู่ถนนเบื้องหน้าได้

(วิ่ง)ไปด้วยกัน

ด้วยความที่สัมผัสและคุ้นชินกับตาบอดมาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเมื่อตอนที่ประดิษฐ์สื่อการสอน 'เล่นเส้น' ที่เป็นเหมือนการเปิดโลกศิลปะให้กับคนตาบอดได้มีช่องทางในการสร้างสรรค์งานในรูปแบบของพวกเขาเองได้ ทำให้ ต่อ - ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้ก่อตั้ง และ ซีอีโอ บริษัท กล่องดินสอ จำกัด กิจการเพื่อสังคมที่เปิดตัวด้วยสิ่งประดิษฐ์เพื่อคนตาบอดอย่าง 'เล่นเส้น' ได้รับรู้เรื่องราวที่ถ้าไม่ใกล้ชิดอาจไม่ทราบมากขึ้น

"ตอนที่ทำเล่นเส้น ผมเจอคนตาบอดเยอะ ก็เลยได้พบว่า คนตาบอดมีปัญหาเยอะ ซึ่งการจะพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ จะต้องพัฒนาในหลายๆ ด้านไปพร้อมๆ กัน เรื่องสุขภาพก็สำคัญมาก สังเกตไหมครับ คนตาบอดหลายๆ คนจะค่อนข้างอ้วน นั่นก็เพราะ พวกเขาไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ตามสถิติ คนพิการจะมีอายุเฉลี่ยสั้นกว่าคนทั่วไปด้วย ผมจึงอยากจะหาวิธีให้พวกเขาได้ออกกำลังกาย ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุด ก็คือ การวิ่ง" ต่อ เอ่ย

เมื่อโจทย์มา "วิธีการ" คือ สเต็ปต่อไป

เขาเลือกที่จะเดินเข้าไปหา 'ชูใจ กะ กัลยาณมิตร' กิจการ(ครีเอทีฟ)เพื่อสังคม เพื่อร่วมกันพัฒนาไอเดียให้ออกมาเป็นรูปธรรม กระทั่งออกมาเป็นกิจกรรม 'วิ่งด้วยกัน' ที่เป็นการจับคู่ระหว่าง ผู้พิการทางสายตา และ จิตอาสาที่จะมาเป็นตาให้กับพวกเขา

"เริ่มต้นตั้งแต่เดือนเมษายนครับ เราตั้งใจจัดเดือนละครั้ง เดือนกันยายนที่ผ่านมา ก็คือ ครั้งที่ 6 แล้ว จากเริ่มต้นเรามีคนตาบอดมาวิ่งด้วย 12 คน ก็ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น จนบางครั้งสูงถึง 70 -80 คนเลยก็มีครับ" ต่อเล่า

สำหรับวิธีการวิ่งที่เหมาะสำหรับคนตาบอดนั้น ต่อ อธิบายว่า มีด้วยกัน 3 วิธี อย่างแรก คือ สำหรับคนที่ตาบอดเลือนราง พอจะมองเห็นได้บ้าง แม้จะสามารถวิ่งด้วยตัวเองได้ แต่ก็ควรมีเพื่อน(ตาดี) วิ่งไปพร้อมๆ กันเพื่อความปลอดภัย ส่วนถ้าเป็นคนตาบอดสนิทจะต้องมีไกด์รันเนอร์ร่วมวิ่งไปด้วย โดยทำได้สองวิธี หนึ่งคือ ต่างคนต่างจับเชือก อีกวิธีคือ ให้จับข้อศอก ซึ่งวิธีหลังไม่ค่อยเป็นที่นิยม เพราะต้องวิ่งใกล้กันมาก

การใช้ "เชือก" จึงเป็นคำตอบสำหรับ กิจกรรม "วิ่งด้วยกัน" ตลอดทั้ง 6 ครั้งที่ผ่านมา

"หนูคิดว่า เขาคงวิ่งไม่ได้ เพราะเขามองไม่เห็นทาง แต่ตอนนี้รู้แล้วว่า เขาวิ่งได้ แล้วบางคนก็เป็นนักกีฬา แล้วก็เก่งด้วย" เสียงหนึ่งจาก น้องเอลลี - เอริกา เศรษฐสถิต ที่มาพร้อมคุณพ่อ (ทศวร เศรษฐสถิต) และคุณแม่ (สุทธินุช วิบูลพัฒนะวงศ์)

"มาเป็นครอบครัวค่ะ จริงๆ ชอบวิ่งอยู่แล้ว เราวิ่งคนเดียวก็สนุก อยากให้คนอื่นมาสนุกอย่างเราบ้าง รู้สึกดีมาก เห็นเขามีความสุข ได้วิ่ง รู้สึกดี อยากมาอีก" คุณแม่ช่วยเสริม

สำหรับเอลลี่ แม้จะเป็นสาวนักกีฬา เล่นทั้งฟุตบอล บาสเก็ตบอล แล้วก็ว่ายน้ำ แต่สำหรับ 'วิ่ง' คือ เรื่องใหม่ของเธอ จนทำไปทำมา กลายเป็นว่า 'สมพร' คู่วิ่งชวนให้เดิน เพราะดูท่าว่า ไกด์จะไม่ค่อยไหว

"หนูวิ่งไม่ค่อยเก่ง พอหนูจูงเขา หนูเขาไม่ค่อยเก่ง เขาเลยถามหนูว่า จะเดินมั้ย หนูก็เลยสลับกับแม่ค่ะ" เอลลี่ เอ่ย

ขณะที่คู่ 'น้องพี - พี่อ้อย' หนุ่มพิการทางสายตาควบกับการเป็นนักกีฬาโกลบอลที่กำลังเก็บตัวเพื่อเตรียมเข้าแข่งขันกีฬาคนพิการ อาเซียน พาราเกมส์ ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 3-9 ธันวาคมนี้ที่ประเทศสิงคโปร์ กับนักวิ่งมือสมัครเล่นที่งานนี้มาด้วยใจล้วนๆ

"น้องพีเก่งนะคะ เค้าลากพี่ด้วยซ้ำ (หัวเราะ) พี่วิ่งช้า ก็ต้องบอกเค้าว่า ช่วยสปีดลงหน่อย ก็หาสปีดร่วมกัน ก็คุยกัน ก็ได้มุมมองหลายๆ อย่าง รู้สึกว่า โลกมันกว้าง เราสามารถแชร์กันได้ เราก็บอกน้องเค้า แต่เค้าจำแม่นมากนะ เค้ารู้หมดเลย อันไหนเป็นยังไง ถึงน้ำพุ โรงอาหาร โค้ง หรือสะพาน เขาจำได้" ไกด์พี่อ้อยเอ่ยชมจนเจ้าตัวทำท่าเขิน และออกตัวว่า.. "ก็พยายามจำน่ะครับ แต่มันก็ผิดบ้างนะ(หัวเราะ)"

ความที่เป็นนักกีฬาอยู่แล้ว ทำให้พีไม่ค่อยมีปัญหามากนักกับการวิ่งหรือการออกกำลังกาย แต่ถ้าพูดถึงการวิ่งชมวิว พี ถึงกับยกให้ 'ไกด์พี่อ้อย' ว่า เจ๋งมาก..

"พี่อ้อยคุยสนุกดีครับ อธิบายเห็นภาพดีมากเลย"

แลกเปลี่ยน เรียนรู้

"วันนี้ก็ชิลๆ ครับ มีเหนื่อยนิดนึง รอบแรกก็ชิลๆ รอบสองเปลี่ยนคู่เป็นอีกคน ก็เหนื่อยนิดหน่อยครับ" เบนซ์ - นภดล โพธิ์ศรีโสม นักกีฬาโกลบอล ผู้พิการสายตาเลือนราง (โลว์วิชั่น) เอ่ยหลังจากพักจนหายเหนื่อย

เบนซ์ เป็นอีกคนที่ยืนยันว่า คนตาบอด แม้จะทำได้หลายอย่าง แต่การวิ่งกลับเป็นสิ่งที่ถึงร่างกายจะพร้อมแต่จะทำไม่ได้หากขาดคนนำทางที่ยินดีจะวิ่งไปพร้อมกัน

"ถ้าให้ไปวิ่งบนลู่จะวิ่งไม่ได้ครับ มันจะเป๋ไปเป๋มา เพราะผมมองไม่เห็น เลยต้องวิ่งกลางแจ้ง ซึ่งถ้าเป็นที่คุ้นเคยก็วิ่งคนเดียวก็ได้ แต่ถ้าไม่คุ้นเคย ก็ต้องมีไกด์ พี่เขาก็จะคอยบอกว่า ให้เลี้ยวนะ ช้าลงนะ มีคนอยู่ข้างหน้า แต่บางที่ผมได้ยินเสียงก็บอกว่า..โหมีน้ำพุด้วย" เบนซ์เอ่ยย้ำ เพราะบางความเห็นยังอดไม่ได้ที่จะสงสัยว่า ถ้าไปวิ่งเอาท์ดอร์ไม่ได้ แล้วทำไมไม่วิ่งบนลู่?

การวิ่งเพื่อตัวเอง ใครๆ ก็ทำกัน วิ่งเพื่อสุขภาพที่ดี ลดความอ้วน หรือเพื่อคลายเครียด แต่จะมีสักกี่คนที่ลุกขึ้นมาวิ่งเพื่อ "คนอื่น" ?

สำหรับ พศิน วณิชย์วรนันต์ หนุ่มวัย 31 ผู้รักในการทำงานจิตอาสา โดยผ่านมาแล้วหลายงาน ไม่ว่าจะเป็นงานกับเด็ก งานกับสัตว์ หรืองานกับคน

พศิน เล่าว่า แต่เดิมตัวเองไม่ค่อยได้ออกกำลังเท่าไหร่ แต่ด้วยความที่ปกติชอบไปทำงานอาสาอยู่แล้ว ชอบหากิจกรรมทำไปเรื่อยๆ จนมาเจอกิจกรรม "วิ่งด้วยกัน" ก็เลยลองร่วมดู ปรากฏว่า วิ่งแค่รอบเดียวก็เหนื่อยมาก แต่เพราะตั้งใจจะมาอีก จึงตัดสินใจกลับมาออกกำลังกายให้มากขึ้น

"พอดีว่า ส่วนตัวเริ่มหันมาบริจาคพลาสมา (น้ำเหลือง) ด้วย ซึ่งไปบริจาคทุกสองอาทิตย์ และต้องดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายด้วย ก็เลยกลายเป็นสองเหตุผลที่ทำให้ลุกขึ้นมาออกกำลังกายครับ เดี๋ยวนี้ซ้อมวิ่งสัปดาห์ละ 4-5 วัน ก็ดีขึ้น ไม่ค่อยเหนื่อย จากนั้นก็โชคดีเจอ แก๊ป กับ โต้ง ที่ประกาศหาคนมาช่วยซ้อมวิ่งเพราะเขาเตรียมจะไปวิ่งฮาล์ฟมาราธอนตอนปลายปี (งานกรุงเทพมาราธอน) ซึ่งเดิมเขาซ้อมวิ่งกันเอง เพราะโต้งสายตาเลือนราง พอมองเห็น ก็เลยนำวิ่งได้ แต่พอมืดเขาก็จะเห็นไม่ชัด ก็เลยทำให้วิ่งได้แค่แป๊บเดียว" พศินเล่า

จากเดิมที่คิดว่า ทั้งโต้งและแก๊ปไม่น่าจะวิ่งได้ แต่ปรากฏว่า พอได้วิ่งจริงๆ โดยเฉพาะแก๊ปซึ่งตาบอดสนิทนั้น ถือว่า มีเซ้นส์มาก

"เขาประสาทหูดีมาก ช่วยใกล้โค้ง หรือเวลามีคนมาใกล้ๆ น้องก็จะรู้ เพราะเขาฟังเสียงเท้าของคน แต่ปัญหาคือ การวิ่งในสวนสาธารณะ มันมีทั้งคนวิ่ง คนเดิน หรือบางทีก็เต้นแอโรบิก ซึ่งน้องเขาจะไม่มีทางรู้ได้ทั้งหมด ก็เลยต้องการไกด์วิ่ง" เขาเล่า

และยังฝากไปถึงใครก็ตามที่ได้ไปหรืออยู่ใกล้สนามกีฬา หน้าหอเอเชียนเกมส์ มธ. รังสิต ในช่วงเย็นๆ ระหว่างวันจันทร์ - พฤหัสบดี และวันอาทิตย์ และสนใจอยากร่วมวิ่งด้วยนั้น สามารถเข้ามาร่วมกลุ่ม 'วิ่งด้วยกัน' ทางเฟซบุ๊คเพื่อแจ้งความสะดวกกันได้ เพราะยังมีน้องๆ ผู้พิการทางสายตาในย่านนั้นซึ่งต้องการวิ่งแต่ยังขาด 'ไกด์รันเนอร์' อีกหลายคน

ส่วนตัวเขาก็ไปวิ่งกับแก๊ปและโต้งได้แค่ จันทร์-พุธ-พฤหัสบดี ขณะที่วันอาทิตย์ทั้งคู่มีไกด์ประจำอยู่แล้ว ฉะนั้น ทุกวันอังคาร เลยกลายเป็นประหนึ่งหน้าที่ของเขาที่ต้องคอยประกาศหาไกด์มาช่วยวิ่งแทน

สู่เป้าหมาย 

"วิ่งบ้าง เดินบ้าง ไม่ไหวก็ต้องไหวครับ (หัวเราะ)" คือคำตอบจากปากนักวิ่งเจ้าของน้ำหนักทะลุร้อยกิโลกกรัมผู้ตั้งเป้าหมายจะพิชิตกิโลฯ ที่ 21 จากงานกรุงเทพมาราธอนในปีนี้ให้ได้อย่าง แก๊ป - เทอดเกียรติ บุญเที่ยง บัณฑิตตาบอดคนแรกของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันทำงานเป็น "ผู้ช่วยนักวิจัย" อยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) 

ความที่เป็นคนร่างสูงใหญ่ และออกกำลังกายเป็นประจำ จึงทำให้แก๊ปไม่เคยเดือดร้อนเท่าไหร่กับปัญหาสุขภาพ จนเมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่ทำให้ห่างหายจากกิจกรรมเสียเหงื่อไป น้ำหนักก็เข้ามาแทนที่ เผลอไม่ทันไรก็เกินร้อยกิโลกรัมไปเป็นที่เรียบร้อย

"เหนื่อยครับ ทำอะไรนิดอะไรหน่อยก็เหนื่อย เลยคิดกลับมาออกกำลังกายอีกครั้ง เพราะเมื่อก่อนผมเล่นกีฬาหลายอย่างเลย ทั้งว่ายน้ำ ฟุตซอล แล้วก็โกลบอล"

เมื่อกิจวัตรประจำวันง่ายๆ สามารถทำให้เหนื่อยหอบได้ เขาจึงคิดกลับมาออกกำลังกาย พอดีกับมีเพื่อน (โต้ง-คุณากร สุวรรณเนตร) มาชวนไปวิ่งด้วยกัน ก็เลยกลับมาวิ่งได้ราวๆ 2 เดือนกว่า โดยมีเป้าหมายคือ 'ฮาล์ฟ มาราธอน' 21 กิโลเมตร ในงาน กรุงเทพ มาราธอน เดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

"ทุกวันนี้ซ้อมอาทิตย์ละ 4 วันครับ ที่ซ้อมอยู่ทุกวันนี้ก็ได้ประมาณ 8 โลฯ ครับ ยังเหลือเวลาอีกเดือนครึ่ง ก็ต้องขยันซ้อม ก็คิดว่า คงพอได้ครับ เดินบ้าง วิ่งบ้าง"

แก๊ปเล่าให้ฟังว่า เดิมทีก็ใช้วิธีไปซ้อมกับโต้ง ซึ่งสายตาเลือนราง และใช้วิธีวิ่งตามเสียงไป แต่ก็เจอปัญหา เช่น พอตกเย็นหน่อย โต้งก็จะมองเห็นไม่ชัดเท่าตอนสว่าง เขาจึงลองไปโพสต์ที่กลุ่ม 'วิ่งด้วยกัน' โดยแอบคาดหวังเล็กๆ ว่า น่าจะมีใครตอบรับคำขอบ้าง และในที่สุดก็มีชื่อของ 'พศิน วณิชย์วรนันต์' ก้าวเข้ามาในชีวิต

ส่วนพาร์ทเนอร์จำเป็นอย่าง โต้ง - คุณากร สุวรรณเนตร เจ้าของสายตาเลือนรางและเป็นคนชวนแก๊ปไปสมัครวิ่งฮาล์ฟมาราธอนนั้น ก็ออกตัวว่า ถึงตัวเขาจะมองเห็นบ้าง และสามารถวิ่งด้วยตัวเองพร้อมพาเพื่อนอย่างแก๊ปวิ่งได้ แต่นั่นก็เฉพาะตอนที่ยังมีแสงสว่างเท่านั้น เพราะหากวันไหนฟ้าฝนไม่เป็นใจ เช่น มืดเร็ว หรือ ฝนตก การซ้อมวันนั้นก็ต้องหยุดโดยปริยาย

แต่ถ้าถามคู่หูนักวิ่งอย่าง ปราโมทย์ อินทอง นักวิ่งมือใหม่ในโลกมืดจากจังหวัดเชียงราย กับ จีรวัฒน์ มีสุข อดีตนักกีฬาพาราลิมปิคทีมชาติไทย ผู้ฝึกสอนนักกรีฑาผู้พิการทางสายตา และไกด์รันเนอร์ของปราโมทย์นั้น

สำหรับปราโมทย์ "การวิ่ง" ก็เป็นเหมือนการพิสูจน์ตัวเองในรูปแบบหนึ่ง 

"ทุกอย่างเปลี่ยนหมด ขนาดหน้าตายังจำไม่ได้เลย รู้สึกว่า อนาคตมันหมดไปแล้ว ก็อยู่แต่ในห้อง ไม่ทำอะไรเลย ไม่มีคนพาไปด้วย ไม่รู้จะใช้ชีวิตยังไง" ปราโมทย์เล่าถึงสภาพตัวเองเมื่อ 4 ปีก่อนหลังประสบอุบัติเหตุจนต้องเสียดวงตาไปทั้งสองข้าง

หลังจากเริ่มทำใจได้ และให้เพื่อนลองเสิร์ชอินเทอร์เน็ตหาโรงเรียนฝึกอาชีพ เขามาเจอ "ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด" และตัดสินใจแพ็คกระเป๋าล่องใต้มาสู่เมืองกรุง

"ผมไม่เคยตาบอดมาก่อน ก็คิดว่า มันคงทำอะไรไม่ได้หรอก จนมาที่นี่ ก็ได้เรียนรู้หลายๆ อย่าง เมื่อก่อนอยู่ในห้อง เดินไม่เป็นเลยครับ มีไม้เท้านะ แต่ใช้ไม่เป็น มานี่อาจารย์เขาสอนหมด การใช้ไม้เท้า การเดิน การฟังเสียง สัมผัส ดมกลิ่น มันดีขึ้นกว่าเก่ามาก"

แต่แค่ดีขึ้นสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันยังไม่พอหากต้องการจะมีที่ยืนอย่างภาคภูมิ ปราโมทย์ จึงมุ่งมั่นที่จะพิสูจน์ตัวเองต่อ ทั้งเรื่องอาชีพ และการเรียกความมั่นใจให้กลับคืนมา!

"การไปเจอสังคมภายนอกก็ทำให้เราไม่คิดมาก เปลี่ยนมุมมองตัวเอง ไม่หมกมุ่น คิดมากกับการตาบอด บางคนเขาไม่กล้าวิ่ง ไม่กล้าไปไหน เขากลัวสังคมภายนอก ไม่อยากไปไหนเลย ซึ่งผมผ่านมาแล้ว บอกเลยว่า อันดับแรกเราต้องมั่นใจก่อน มีใจที่อยากจะวิ่ง มีความตั้งใจ แล้วจะรู้ว่า มันไม่ยากหรอก ทุกอย่างอยู่ที่ใจ ทุกวันนี้ 10 โล ชิลๆ ครับ" ปราโมทย์เล่าพร้อมรอยยิ้ม

ถ้าถามหาเป้าหมายของกิจกรรม 'วิ่งไปด้วยกัน' สำหรับ ต่อ - ฉัตรชัย เขาบอกว่า อยากไปให้ถึงจุดที่ว่า "คนตาบอดอยากวิ่งเมื่อไหร่ก็วิ่งได้ ไม่ต้องรอให้มีอีเวนท์ อยากวิ่งก็เข้าไปในกรุ๊ป 'วิ่งด้วยกัน' แล้วเข้ามาโพสท์บอกว่า วันนี้จะไปวิ่งที่นี่ มีใครสะดวกมาวิ่งด้วยมั้ย" 

นอกจากนี้ต่อยังทดลองทำกิจกรรมนี้ผ่านช่องทางออฟไลน์โดยคุยกับสวนลุมฯ ไว้แล้ว คือ จะมีเสาต้นหนึ่ง เรียกว่า 'เสาวิ่งด้วยกัน' สำหรับให้เป็นที่รู้กันว่า ถ้าเห็นคนตาบอดมายืนที่เสานี้ แปลว่า เขากำลังต้องการไกด์พาวิ่ง 

..หากทำแล้วเห็นผล ก็จะขยายไปที่สวนสาธารณะอื่นๆ ด้วย