สัมผัสเสน่ห์ไทยผ่านพู่กันมังกร

สัมผัสเสน่ห์ไทยผ่านพู่กันมังกร

นิทรรศการ ‘Thailand Through the Dragon’s Brushes’จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 ตุลาคม ศกนี้








ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ศิลปินแห่งชาติของจีน ไช จือซิน (Cai Zhixin) ได้นำกลุ่มจิตรกรชั้นแนวหน้าของจีน เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อร่วมกันรังสรรค์ผลงานชิ้นเอก ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิถีชีวิตของผู้คน วัฒนธรรม และทิวทัศน์อันงดงามของประเทศไทย

ผลงานการวาดภาพของจิตรกรเหล่านี้ เกิดขึ้นจากการเข้าเยี่ยมชมมรดกทางวัฒนธรรม และสถานที่สำคัญต่างๆ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร , พระนครศรีอยุธยา , ลำปาง และ เชียงใหม่ รวมเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ จากนั้นจะนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ ‘Thailand Through the Dragon’s Brushes’ ศิลปินจากแดนมังกรวาดภาพทัศนียภาพของเมืองไทย ที่จะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม ศกนี้ เวลา 18.00 น. ณ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์

งานนี้จัดขึ้นโดย หนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น , หนังสือพิมพ์ ไชน่า เดลี่ และ สมาคมศิลปะและวัฒนธรรมจีน เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน

“ผมได้เคยเดินทางไปสถานที่ต่างๆ มากมาย แต่ไม่ใช่ประเทศไทย ผมรู้สึกตื่นเต้นกับวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมาก ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ในด้านของวัฒนธรรม คนไทยศรัทธาในพุทธศาสนา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจและยังสะท้อนให้เห็นถึงความมีคุณธรรมสูงของพวกเขา”

“ประเทศไทยมีทัศนียภาพที่สวยงามเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นพืชพรรณต่างๆ สัตว์หลากหลายชนิด และยังมีวัดวาอารามอีกมากมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่อุดมสมบูรณ์ จากการเยี่ยมชมในครั้งนี้ โดยเฉพาะที่วัดต่างๆ จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเราเป็นอย่างมาก ผมหวังว่ามิตรภาพระหว่างไทยกับจีนจะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น” ไช จือซิน หนึ่งในศิลปินของจีน กล่าวไว้กับทางเดอะ เนชั่น ที่สตูดิโอช่อง NOW26 สยามสแควร์

ในเวลาเดียวกัน กลุ่มศิลปินยังได้ให้สัมภาษณ์เป็นการพิเศษ โดย ซุย จืออัน (Cui Zhian) จิตรกรจีนที่นิยมวาดภาพนกกับดอกไม้ เล่าว่า แนวทางของภาพวาดเหล่านี้ เจริญก้าวหน้ามากในสมัยราชวงศ์ซ้อง (ค.ศ.960-1279) เพียงแต่สำหรับตัวเขานั้นจะเพิ่มเติมลักษณะใหม่ ให้มีความร่าเริงและแจ่มใสขึ้น

“ประเทศไทยอยู่ในเขตมรสุม แสงแดดเจิดจ้า ดังนั้น โดยธรรมชาติ เหมาะที่จะวาดภาภาพออกมาให้มีสีสันฉูดฉาด คิดว่าเป็นเสน่ห์ของไทยที่ผมสนใจ โดยเนื้อแท้แล้ว สีสันทางจิตรกรรม จะมีลักษณะร่วมของทุกๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้หรือธรรมชาติของไทยที่มีความสดใส เป็นสิ่งที่จิตรกรเก็บภาพและวาดออกมาเพื่อสื่อถึงความผูกพันระหว่างกัน ศิลปะนั้นไม่มีพรมแดน เราจึงสามารถเชื่อมสายสัมพันธ์ของสองประเทศได้ด้วยงานศิลปะ”

ทางด้าน ซุ่ง ยูหมิง (Song Yuming) ซึ่งเคยเดินทางมาเยือนประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ.1998 เล่าว่า เมื่อกลับไปจีนคราวนั้น เขามีโอกาสวาดภาพเกี่ยวกับประเทศไทย นั่นคือ พระบรมมหาราชวัง และทิวทัศน์ของเมืองพัทยา

“กลับมาคราวนี้ นอกจากกรุงเทพฯ ผมจะไปเชียงใหม่ และกำลังมองหาอัตลักษณ์ความเป็นไทยเพื่อนำมาถ่ายทอดเป็นจิตรกรรม โดยส่วนตัวคิดว่ากิจกรรมครั้งนี้ ที่มีขึ้นเพื่อร่วมฉลองความสัมพันธ์ไทย-จีน เป็นสิ่งที่มีความหมาย และมีนัยยะทางประวัติศาสตร์ที่ดีงามยิ่ง”

เช่นเดียวกันกับ หยาง ซุน (Yang Xun) ยอมรับว่า การมีโอกาสมาเขียนภาพเกี่ยวกับประเทศไทยทำให้รู้สึกปลื้มปิติยิ่ง

“ประเทศไทยมีธรรมชาติสวยงาม คนไทยเป็นคนใจดี นับเป็นการมาเยือนเมืองไทยครั้งแรก หลังจากได้เห็นภาพและฟังคำบอกเล่าจากเพื่อนๆ ที่เคยมาไทย แล้วกลับไปเล่าให้ฟัง ผมขอบคุณทางเนชั่นที่เชิญมา และอยากเชิญชวนผู้สนใจศิลปะให้มาชมการจัดนิทรรศการครั้งนี้”

ส่วน คัง ชูเจิง (Kang Shuzeng) เป็นศิลปินที่เน้นสไตล์การเขียนแนวพู่กันขาวดำ บอกว่าก่อนมา เขาได้แวะหาข้อมูลจากเว็บไซต์ ได้เห็นภาพสวยๆ มากมาย รวมทั้งสุภาพสตรรไทยที่มีความสวยมาก

“ผมชอบวาดภาพคน คราวนี้จึงถือโอกาสศึกษา และจะกลับไปวาดภาพเกี่ยวกับเมืองไทยให้มากขึ้น”

ด้าน ฟง เสวียเหวิน (Feng Zuewen) เน้นการวาดภาพธรรมชาติเปิดเผยว่า

“ผมอยู่ทางฝั่งตะวันออกของจีน เขียนภาพเกี่ยวกับธรรมชาติเป็นหลัก ในครั้งนี้ ผมจะประสานภาพธรรมชาติของไทย รวมทั้งวัดวาอาราม ต่อไปจะพัฒนาภาพเหล่านี้ สื่อให้คนจีนได้เห็นความสวยงามของไทย”

ในกลุ่มศิลปินจีนที่มาเยือนไทยในครั้งนี้ แต่ละท่านจะมีความถนัดเฉพาะตัวแตกต่างกันไป เช่น หวาง เจียซุน (Wang Jiaxun) จะโดดเด่นในการสะท้อนภาพขนบธรรมเนียมจีนเป็นหลัก เจ้าตัวสารภาพว่า เคยวาดภาพเมืองไทยจากภาพถ่าย ในคราวนี้ จะได้มีโอกาสวาดภาพจากสถานที่จริงแล้ว

“ประเทศไทยเองก็มีกลุ่มคนหลายเชื้อชาติ รวมไปถึงชนกลุ่มน้อย ส่วนตัวผมอยากไปวาดภาพผู้คนเหล่านั้น เพราะศิลปะ จิตรกรรม สะท้อนถึงความรู้สึกนึกคิดของแต่ละคน แต่ละชนชาติ ผมจึงอยากชวนคนไทยให้มาสัมผัสผลงานศิลปะในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย”

ด้าน ฉาย บุกุก (Chai Bukuk) จิตรกรหญิงหนึ่งเดียวในคณะบอกว่า จุดเด่นของเมืองไทย คือความเป็นเมืองพุทธ เพราะมีวัดวาอารามมากมาย อย่างไรก็ตาม นอกจากวัฒนธรรมแล้ว แรงดลใจในการทำงานของศิลปินยังมาจากธรรมชาติอีกด้วย 

“โดยส่วนตัว อยากไปเชียงใหม่ ดิฉันเคยฟังเพลงของ เติ้งลี่จวิน ที่พูดถึงเสน่ห์ของเมืองเล็กๆ จึงคิดว่าน่าจะเป็นเมืองเชียงใหม่ “

สุดท้ายที่ ทัง ฉิง (Tang Qing) ซึ่งเน้นการเขียนภาพสัตว์ป่ามาตั้งแต่เด็ก จนเกิดความผูกพันกับธรรมชาติ อันเป็นแหล่งที่พักของสัตว์ป่า

“เราควรอนุรักษ์สัตว์ป่าและธรรมชาติ โลกนี้ไม่ใช่ของมนุษย์เท่านั้น ส่วนตัวผมชอบเมืองไทย เพราะเป็นเมืองพุทธ และความเป็นพุทธะก็คือความรักที่ยิ่งใหญ่นั่นเอง”

..................................

นิทรรศการ ‘Thailand Through the Dragon’s Brushes’ จะนำเสนอผลงานมากกว่า 80 ภาพ จะจัดแสดงขึ้น ณ เซ็นทรัลเวิลด์ ลานอีเดน ชั้น 1 โซนอี (ใกล้ห้างสรรพสินค้าเซน) ระหว่างวันที่ 2 - 4 ตุลาคม ศกนี้