'ลับแล' แค่รู้ว่า 'ลับ'

'ลับแล' แค่รู้ว่า 'ลับ'

จะดีแค่ไหนถ้าเราได้ยืนอยู่ในดินแดนที่ไม่มีใครโกหกใครสักคน ดินแดนที่คล้ายกับมีมนต์ขลัง แต่ทุกอย่างล้วนเป็นความจริง

หญิงคนนั้นยืนอุ้มทารกน้อยๆ ไว้ในอ้อมแขนอันอบอุ่น นัยน์ตาของเธอโศกเศร้าจับใจ ข้างๆ กันมีชายคนหนึ่งกำลังนั่งคอตกพร้อมถือถุงย่ามที่มีขมิ้นทองคำไว้ในกำมือ และนี่ก็คือ “ประติมากรรมแม่ม่ายเมืองลับแล” ที่ทำหน้าที่บอกเล่าตำนานเมืองอันเร้นลับแห่งนี้ให้ปรากฏ


เมืองแม่ม่าย, เมืองผีกินคน, เมืองป่าอาถรรพ์ ไม่ว่าจะกี่คำเรียกขาน แต่ ลับแล ที่หลายคนเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามมาเนิ่นนานนั้น ก็เป็นเมืองในตำนานที่มีอยู่จริง


ฉันเดินทางมาถึง “ประตูเมืองลับแล” เอาตอนบ่ายแก่ๆ ของวันหนึ่ง ความคึกคักที่ควรจะเป็นเช่นเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ กลับไม่เกิดขึ้นกับที่นี่ มีเพียงชาวบ้าน 3-4 คน ที่นั่งอยู่บนท้ายรถกระบะเท่านั้นที่หันมามองผู้มาเยือนอย่างสงสัย แต่แล้วรถคันนั้นก็แล่นหายเข้าไปในถนนเล็กๆ ที่อยู่ถัดจากประตูเมือง
พ้นสนามหญ้าเขียวๆ นั้น ฉันมาหยุดยืนดูประติมากรรมแม่ม่ายเมืองลับแลชัดๆ อีกครั้ง และพบว่าที่ฐานของประติมากรรมมีข้อความ “ขอเพียงสัจจะวาจา” จารึกไว้ด้วย


หรือนี่จะเป็นที่มาของเรื่องเล่าขานและตำนานแห่งความลี้ลับของเมืองลับแล “เมืองแม่ม่าย” – “เมืองที่ไม่มีใครพูดโกหก”


ลับแล เป็นอำเภอเล็กๆ ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์เพียง 9 กิโลเมตรเท่านั้น ทว่า ความคึกคักแตกต่างจากในเมืองอย่างสิ้นเชิง ที่นี่ออกจะเงียบและง่าย ในที่นี้หมายถึงการใช้ชีวิต ฉันพบชาวบ้านยังคงขี่จักรยานไปตลาด บ้างก็ขับรถอีแต๋นบรรทุกเพื่อนบ้านกลับจากไร่นา “พ่อขา-แม่ขา”(ตา-ยาย) นั่งมองความเคลื่อนไหวในเมืองนั้นอย่างช้าๆ ก่อนจะส่งยิ้มหวานให้กับผู้มาเยือน


เพราะเป็นเมืองที่ไม่ใหญ่มาก “จักรยาน” จึงเป็นพาหนะนำเที่ยวที่เหมาะสมที่สุด ตัดสินใจเดินเข้าไปภายใน “ศูนย์บริการนักท่องเที่ยววิถีเมืองลับแล” ที่อยู่ใกล้ๆ กับประตูเมืองเพื่อติดต่อขอยืมจักรยาน ซึ่งที่นี่มีจักรยานให้บริการยืมฟรี โดยมีแผนที่ปั่นกินลมชมวิว ณ เมืองลับแล มอบให้ด้วย


แต่ก่อนออกเดินทาง ฉันมีโอกาสได้พบกับ เจษฎา ศรุติสุต นายกเทศมนตรีตำบลศรีพนมมาศ เข้าพอดี ท่านเล่าให้ฟังว่า ลับแลเป็นเมืองโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ทว่า โดนมองข้ามมาโดยตลอด เพราะมีภูมิประเทศที่ไม่เหมาะสมนัก แต่ถ้าถามว่ารู้จัก “ลับแล” มั้ย หลายๆ คนบอกว่ารู้จัก และรู้จากตำนานเมืองแม่ม่ายนั่นเอง


“ตำนานเมืองแม่ม่ายเข้าไปอยู่ในแคมเปญ “เขาเล่าว่า...” ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กำลังประชาสัมพันธ์ โดยตำนานเมืองลี้ลับ เมืองที่ห้ามพูดโกหก หรือเมืองแห่งสัจจะวาจา มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า มีชายมาจากทางใต้ได้พลัดหลงกับเพื่อน แล้วมาพลบค่ำที่เมืองลับแล บังเอิญได้เจอสาวลับแล จะส่งตัวชายคนนี้กลับออกจากเมืองก็ไม่ได้ เพราะค่ำแล้ว จึงให้พักอยู่ในเมือง โดยกำชับชายคนนี้ตลอดเวลาว่า ห้ามโกหก กระทั่งทั้งสองรักและอยู่กินด้วยกันจนมีลูกชาย 1 คน ชื่อแดง


วันหนึ่งแดงร้องไห้หาแม่ พ่อซึ่งสานเข่งอยู่ปลอบเท่าไรก็ไม่หยุด จึงโกหกลูกว่า “แม่มาแล้วๆ” เมื่อพ่อแม่ฝ่ายหญิงได้ยินว่าโกหก จึงต้องขับไล่ชายผู้นั้นออกจากเมือง ครั้นฝ่ายหญิงกลับมาถึงบ้านรู้ว่าสามีโกหกลูกตัวเอง แม้เพียงเรื่องนิดเดียว แต่ก็ต้องทำตามกฎ ก่อนออกจากเมืองหญิงสาวจึงมอบถุงย่ามใบหนึ่งให้สามีติดตัวไป แต่กำชับว่าอย่าเพิ่งเปิดระหว่างทาง จากนั้นสามีก็เดินทางจากไป แต่พอระหว่างทางเกิดรู้สึกหนักจึงเปิดย่ามดู พบว่ามีแต่ขมิ้น ชายผู้นั้นจึงค่อยๆ ทิ้งขมิ้นไปทีละชิ้นๆ จนถึงบ้านแล้วเหลือขมิ้นอยู่แง่งหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายพบว่าเป็นขมิ้นทองคำ เขาจึงชักชวนเพื่อนๆ เดินกลับมาตามหาเมืองลับแลที่ว่านั้น แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครพบ”


นายกเทศมนตรีฯ จบเรื่องเล่าแต่เพียงเท่านี้ ก่อนจะย้ำว่า คนลับแลเชื่อมั่นในสัจจะวาจาเป็นอย่างยิ่ง และใครก็ตามที่ข้ามเข้าไปในประตูเมืองนี้แล้วจะต้องไม่พูดโกหก


“ตามประวัติศาสตร์ ลับแลเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เดิมชื่อ ศรีพนมมาศ ซึ่งเป็นคำบาลีสันสฤต ต่อมาถูกเรียกว่า ลับแล ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า ลับแลง (แลง ภาษาเหนือแปลว่า ตอนเย็น) คือตามลักษณะพื้นที่บริเวณนี้มีต้นไม้ร่มครึ้มขึ้นเต็มไปหมด และยังมีม่อน(ภูเขาลูกเล็กๆ)บดบัง เมื่อถึงเวลาเย็นแดดยังไม่ทันหมดดีก็ร่มครึ้มมืดมิดแล้ว ใครๆ จึงพากันเรียก ลับแลงๆ และเพี้ยนมาเป็นลับแลจนทุกวันนี้”


ฟังเรื่องเล่าเพลินจนเกือนจะเกินเวลาบ่ายเข้าข่าย “แลง” แล้ว จึงขออนุญาตจากลาท่านนายกเทศมนตรีตำบลศรีพนมมาศไปพร้อมจักรยานสีเขียวเหลืองที่มีป้าย “เมืองลับแล”


ประตูเมืองสีเหลืองสูงทะมึนนั้นตั้งขวางอยู่บนถนนอินใจมี ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นศิลปะประยุกต์แบบสุโขทัย ซึ่งออกแบบโดยกรมศิลปากร มีขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 41 เมตร เมตร ด้านข้างไกลๆ ออกไปทางทิศตะวันตก คือ “พิพิธภัณฑ์เมืองลับแล” ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมา และจัดแสดงอาคารเรือนลับแลในอดีตไว้


ฉันเหลือบตาไปมองทางขวามือของตัวเองอีกครั้ง นอกจากประติมากรรมแม่ม่ายเมืองลับแลแล้ว ใกล้ๆ กันยังมีข้อความตัวใหญ่ๆ ย้ำทุกคนก่อนผ่านเข้าประตูไปว่า “เมืองลับแล เขตห้ามพูดโกหก”

การออกแรงปั่นในช่วงบ่ายที่แดดร่มลมตกถือเป็นความเพลิดเพลินใจอย่างยิ่ง ฉันปั่นลอดประตูเมืองมาอย่างช้าๆ มองซ้ายมองขวาเห็นแต่ความเงียบนิ่ง จนรถวิ่งไปถึงสามแยกตลาดลับแลนั่นแหละ ความจอแจจึงมีให้เห็น


ตลาดลับแลในยามนี้กำลังได้รับการปรับทัศนียภาพให้สวยสดงดงามตา คือมีการก่อสร้างป้ายประตูตลาดให้มีลักษณะคล้ายผนังบ้านไม้เก่า มีระเบียงเล็กๆ ยื่นออกมา พร้อมกับคำขวัญประจำเมืองลับแลที่ว่า


งามพระแท่นศิลาอาสน์ ถิ่นลางสาดรสดี เมืองพระศรีพนมมาศ แหล่งไม้กวาดตองดง ดงหอมแดงเลื่องชื่อ ระบือตำนานเมืองแม่ม่าย


บรรยากาศในตลาดค่อนข้างคึกคัก แต่ก็ไม่มากจนเป็นความวุ่นวาย ใกล้ๆ ตลาดมี “อนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศ” ตั้งอยู่ ซึ่งพระศรีพนมมาศผู้นี้เป็นปูชนียบุคคลที่สร้างความเจริญให้แก่เมืองลับแล นอกจากจะเป็นนายอำเภอคนแรกของลับแลแล้ว ท่านยังเป็นผู้วางผังเมืองลับแล สร้างฝายหลวง พัฒนาการศึกษา รวมถึงส่งเสริมด้านการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกผลไม้ จนชาวลับแลให้ความเคารพนับถือเสมอมา


จากจุดนี้เราเลือกเลี้ยวขวาปั่นจักรยานไปตามถนนเขาน้ำตก หรือถนนข้าวแคบ จากนั้นก็เลี้ยวซ้ายเข้าซอยเล็กๆ ผ่านบ้านไม้หลังคาเตี้ยๆ ไปจนถึงสนามหญ้าหน้าบ้านหลังใหญ่หลังหนึ่ง


“บ้านราษฎร์สุดใจ” เป็นบ้านเก่าแก่หลังใหญ่ที่นายสรรพากรตระกูล “ราษฎร์สุดใจ” ปลูกไว้เมื่อ 100 กว่าปีก่อน ปัจจุบันตกทอดมาถึงรุ่นหลาน โดยมี มงคล ราษฎร์สุดใจ เป็นผู้ดูแล


ลักษณะเป็นเรือนไม้สักใต้ถุนสูงขนาดกว้างเชื่อมต่อกัน 2 หลัง ด้านล่างเป็นเสาเรือนตั้งเรียงกันถี่ยิบ นับได้ 66 ต้น ส่วนด้านบนแบ่งเป็นห้องต่างๆ มากมาย ซึ่งในอดีตเรือนนี้คงมีทั้งคหบดีและบ่าวไพร่อาศัยอยู่มาก ทว่า ปัจจุบันเหลือทายาทที่ดูแลและเปิดเป็นโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักบ้างเป็นบางเวลา


เพลินอยู่กับเรือนไม้หลังใหญ่จนเกือบจะเย็นย่ำ ฉันรีบปั่นจักรยานกลับเข้ามาในตัวเมืองลับแลอีกครั้ง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนอินใจมี ก่อนจะเลี้ยวซ้ายอีกทีเข้าถนนราษฎร์อุทิศ หรือในอีกชื่อหนึ่งว่า “ถนนคนกิน” ได้ยินชื่อถนนแบบนี้คงรู้แล้วใช่มั้ยว่าฉันกำลังจะไปไหน


จริงๆ เล็งไว้หลายร้าน แต่เรามาจนเกือบจะค่ำจึงมีร้านอาหารท้องถิ่นเปิดรอต้อนรับเราเพียง 2 ร้านเท่านั้น นั่นคือ “ร้านเจ๊นีย์ของทอดลับแล” ที่เปิดขายของทอดมานานกว่า 30 ปี จนตอนนี้ “แม่ขานีย์” อายุปาเข้าไป 84 ปีแล้ว


ร้านนี้เด่นดังเพราะวัตถุดิบที่นำมาทอดนั้นมีหลายอย่าง ทั้งผักทอด เต้าหู้ทอด เผือกทอด ข้าวโพดทอด ปอเปี๊ยะทอด กุ้งทอด เกี๊ยวทอด และที่เด็ดสุดคือ หน่อไม้ทอด จำหน่ายในราคาย่อมเยาคือชิ้นละ 2 บาทไปจนถึงชิ้นละ 10 บาทเท่านั้น


อธิบายอย่างเดียวคงไม่รู้ความ ว่าแล้วก็สั่งผักทอดชนิดต่างๆ มาวางไว้ตรงหน้า แล้วก็ลงมือชิมอย่างช้าๆ จนสุดท้ายอย่าเรียกว่าชิมเลย กินจนพุงกางซะมากกว่า แม่ขาสุนีย์ที่นั่งดูอยู่ไกลๆ ถึงกับหัวเราะออกมาเพราะความที่คนกินดูมูมมามเกินไป


แต่อย่าเพิ่งคิดว่าฉันจะอิ่ม เพราะร้านถัดไปนี้ถือเป็นของเด็ดของดีที่พบได้เฉพาะเมืองลับแลแห่งนี้เท่านั้น(เมื่อก่อนนะ ปัจจุบันมีขายทั่วไป) นั่นก็คือ หมี่พัน และร้านดังก็คือ “หมี่พันป้าหว่าง” นั่นเอง


หมี่พัน เป็นอาหารพื้นถิ่นของคนลับแล กินเป็นของว่างก็ได้ หรือจะกินแทนมื้ออาหารก็สะดวก แต่ปกติจะเป็นของว่างมากกว่า เพราะคนลับแลจะกินข้าวเหนียวตอนเช้า ตกกลางวันกินก๋วยเตี๋ยวกันทั้งเมือง ส่วนข้าวแคบและหมี่พันมักจะกินเป็นของว่าง


หลายคนคงสงสัยว่าข้าวแคบและหมี่พันหน้าตาอย่างไร เล่าถึงข้าวแคบก่อน ข้าวแคบจะเป็นแผ่นแป้งบางๆ ที่อาจจะใส่งาบ้าง ใส่พริกตำบ้าง เวลากินก็จะฉีกกินธรรมดา แต่ถ้าอยากกินแบบมีรสชาติก็ต้องกิน หมี่พัน เมนูนี้จะเป็นการเอาหมี่ขาวมาคลุกกับเครื่องยำ ทั้งถั่วงอก คะน้าลวก กุยช่าย กากหมู กระเทียมเจียว น้ำตาล น้ำปลา น้ำส้ม พริกป่น ผสมกันจนอร่อย แล้วนำมาวางบนข้าวแคบ จากนั้นก็ค่อยๆ พันให้เป็นม้วน ป้าหว่างขายหมี่พันแค่ม้วนละ 2 บาทเท่านั้น รสชาติจัดจ้านจนฉันลืมนับว่ากินไปกี่ชิ้นแล้ว


สรุปง่ายๆ ว่ามื้อเย็นนี้คงไม่ต้องมีอะไรตกถึงท้องอีกแล้ว เพราะแค่ “ชิม” เสมือน “กิน” อาหารพื้นถิ่นจากทั้ง 2 ร้าน ก็เรียกว่าพุงกางจนถึงจุดอิ่มตัว เวลานี้แค่จะลุกขึ้นไปนั่งบนหลังอานแล้วปั่นจักรยานต่อไปก็แทบจะไร้สมรรถภาพ แต่ยังไงเราก็ต้องไปต่อ


คราวนี้ปั่นไกลออกไปสักหน่อย และตะวันก็คล้อยต่ำลงไปทุกทีๆ จนที่สุดก็ถึง “พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวน ลับแล” ที่ดูแลโดย ครูโจ-จงจรูญ มะโนคำ


บ้านหลังใหญ่ที่จัดไว้เป็นโซนพิพิธภัณฑ์มีกี่ทอผ้าหลายหลังอยู่ใต้ถุนบ้าน ส่วนด้านบนนั้นจัดแสดงผ้าซิ่นโบราณ และผ้าซิ่นลวดลายพื้นเมืองของชาวลับแล


ครูโจ ซึ่งเป็นคนที่มีหัวใจรักในศิลปวัฒนธรรม รวมถึงผืนผ้าโบราณมาตั้งแต่เด็กเล่าให้ฟังว่า ผ้าทุกผืนที่นำมาจัดแสดงนั้นมีที่มา บางผืนเป็นผ้าโบราณอายุเป็นร้อยปี บางผืนก็เป็นผ้าใหม่ที่มีลวดลายสวยงาม ซึ่งชาวลับแลเดิมนั้นสืบเชื้อสายมาจากโยนกเชียงแสน เมื่อมาอยู่ที่ลับแลจึงยึดถือเอาผ้าซิ่นเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงชาติพันธุ์ของชาวลับแล


“เมื่อก่อนสาวๆ ลับแลทุกบ้านจะทอผ้าเป็นหมด เดี๋ยวนี้มีไม่กี่บ้านที่ทอได้ จะเหลือที่บ้านคุ้มนี่เองที่ทอกันเยอะ ปี 2545 จึงได้รวมกันเป็นกลุ่มทอผ้าบ้านคุ้ม เพื่อช่วยกันออกแบบและผลิตผ้าซิ่นตีนจกออกมาสร้างรายได้ให้กับชุมชน”


ด้วยความที่เป็นคนรักในสิ่งที่ทำ ครูโจจึงพยายามออกแบบผ้าซิ่นตีนจกให้มีความหลากหลายทั้งสีสันและลวดลาย แต่ยังคงเอกลักษณ์ของความเป็นลับแลเอาไว้ นั่นก็คือ การจกด้วยขนเม่น รวมถึงการใช้สีจากธรรมชาติในการย้อม ทำให้ผ้าซิ่นตีนจกจากกลุ่มทอผ้าบ้านคุ้มได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก


“สีธรรมชาติก็เริ่มหายาก บางอย่างก็แพงมาก อย่างมะกายที่ให้สีเหลือง กิโลกรัมละ 3,000 บาท หรือครั่งที่ให้สีแดงก็กิโลกรัมละ 200 เมื่อก่อนครั่งหายาก แต่เดี๋ยวนี้ที่(อำเภอ)ฟากท่าเขาเลี้ยงครั่งขายแล้ว เราเลยไม่ต้องไปหาที่ไหน” ครูโจ เล่าพร้อมกับพาชมห้องจัดแสดงในชั้นลอย ซึ่งเก็บผ้าโบราณไว้มากมาย


มีผ้าหลายลายที่เป็นลายของชาวลับแลแท้ๆ แต่ที่ฉันสะดุดตาคือ ผ้าลายแซงผีเงือก ครูโจบอกว่า แซงผีเงือกเป็นลายเอกลักษณ์ของลับแล โดยมีเรื่องเล่าว่า ผีเงือกได้แปลงร่างเป็นหญิงสาวมาขอยืมฟืมทอผ้าจากชาวลับแล พอเสร็จแล้วก็นำมาคืน แต่มีผ้าติดมากับฟืมด้วย เป็นผ้าลวดลายสวยงาม ชาวบ้านจึงทอผ้าตามลวดลายที่ติดมากับฟืม และเรียกว่า “ซิ่นลับแลลายแซงผีเงือก”


ลับแลช่างมีเรื่องเร้นลับชวนอัศจรรย์ใจมากมายเสียจริง แค่ฉันสูดลมหายใจเข้าออกอยู่ในเมืองนี้นิ่งๆ ไม่นาน ก็สัมผัสได้ความแปลก แตกต่าง และไม่เหมือนใคร


จริงอยู่ว่า ลับแลเป็นเมืองที่ง่ายงามเหมาะกับใครก็ตามที่รักความสงบ แต่ถ้าไม่อยากพบเรื่องราวชวนหัวเหมือนในตำนาน ก็จงรักษาสัจจะวาจา และอย่าเป็นคนโกหกในเมืองลับแล


............


การเดินทาง


จากกรุงเทพฯ ไปลับแลได้หลายวิธี ถ้าต้องการความเร็วต้องขึ้นเครื่องบินไปลงที่พิษณุโลก แล้วนั่งรถต่อไปอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ อีกประมาณ 1 – 1.30 ชั่วโมง แต่ถ้ารถโดยสารประจำทางก็อาจจะใช้เวลานานหน่อย มีหลายบริษัททัวร์ให้บริการ สอบถามที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทรศัพท์ 1490 หรือ www.transport.co.th ส่วนรถไฟแนะนำให้ไปลงที่สถานีอุตรดิตถ์ แล้วต่อรถสองแถวไปอีกไม่ไกล สอบถามตารางรถไฟ โทรศัพท์ 1690 หรือ www.railway.co.th


สำหรับคนที่อยากขับรถไปเอง แนะนำให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี พอถึงอำเภออินทร์บุรีให้แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 11(อินทร์บุรี-ตากฟ้า) วิ่งไปเรื่อยๆ จนถึงทางหลวงหมายเลข 12(พิษณุโลก-หล่มสัก) แล้วเลี้ยวซ้ายไปประมาณ 8 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 11 วิ่งตรงไปจนถึงอุตรดิตถ์ และอำเภอลับแลที่อยู่ติดกัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง


มาถึงแล้วติดต่อขอยืมจักรยานพร้อมแผนที่ปั่นรอบเมืองได้ที่ “ศูนย์บริการนักท่องเที่ยววิถีเมืองลับแล” ที่อยู่บริเวณซุ้มประตูเมืองลับแล สอบถามเพิ่มเติมที่ เทศบาลตำบลศรีพนมมาศ โทรศัพท์ 0 5543 1076 หรือ www.e-nu.com และ ททท.สำนักงานแพร่ โทรศัพท์ 0 5452 1127 www.facebook.com/tatphrae