เพื่อไทยวอนสปช.คิดรอบคอบ ก่อนโหวตร่างรธน.

เพื่อไทยวอนสปช.คิดรอบคอบ ก่อนโหวตร่างรธน.

"อุดมเดช"วอนสปช.คิดรอบคอบก่อนลงมติร่างรธน. เพราะตัวร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถ้าประกาศใช้ไปแล้วเป็นที่รู้กันว่าโอกาสแก้ไขยากมาก

นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีตส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ จะลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย.ว่า อยากให้สปช.ทุกคนพิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดรอบคอบ ทั้งข้อดีและข้อเสีย แน่นอนว่าข้อดีนั้นมีอยู่ตามที่ผู้ร่างได้ออกมาชี้แจง แต่ข้อบกพร่องหรือข้อเสียของร่างก็มีไม่ใช่น้อย

โดยเฉพาะความคิดเห็นของนักวิชาการที่แสดงออกมา สปช.ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะตัวร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถ้าประกาศใช้ไปแล้ว เป็นที่รู้กันว่าโอกาสแก้ไขยากมากหรือแทบเป็นไปไม่ได้ เท่ากับว่าข้อบกพร้องนั้นจะถูกประกาศไว้ในรัฐธรรมนูญตลอดไป

แต่หากมีการคว่ำร่างไปก่อน ข้อดีต่างๆ ยังสามารถนำกลับมาร่างใหม่ได้ ดังนั้นขอให้สปช.พิจารณาให้รอบคอบก่อนลงคะแนน

เหน็บเงินเดือนสปช. 1.7 ล้านบาท คุ้มค่าถ้าโหวตคว่ำร่างรธน.

ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันที่ 6 ก.ย.ว่า ถึงวันนี้คะแนนของฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายต้านในสปช.น่าจะสูสีกัน  โดยประเด็นที่สปช.ฝ่ายคว่ำรับไม่ได้นั้น ถูกถอดรหัสออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งประเด็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) อำนาจล้นฟ้าของส.ว. นายกรัฐมนตรีคนนอก ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเป็นระเบิดเวลาทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกอย่างหนักในอนาคต  จึงมีความเสี่ยงสูงมากที่จะถูกคว่ำในชั้นประชามติ เพราะพรรคการเมืองและประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยรับไม่ได้ ถึงวันนั้นประเทศชาติจะเสียหายอย่างหนัก ทั้งค่าจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ ค่าบุคลากร ค่าดำเนินการทำประชามติกว่า 3,000 ล้านบาท ความเสียหายเหล่านี้ยากเกินกว่าที่สปช.จะรับผิดชอบได้ การเสนอวาทกรรมให้สปช.รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อนแล้วค่อยให้ประชาชนไปลงประชามติกันเองนั้น เป็นเหมือนกับหนังเก่าในปี 2550 ที่ให้รับไปก่อนแล้วไปแก้ทีหลัง แต่สุดท้ายก็แก้ไม่ได้ 

“ทางออกที่ดีที่สุดคือ ต้องหยุดร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้ในชั้นสปช. เพราะถึงอย่างไรท่านก็ต้องพ้นหน้าที่ไปอยู่แล้ว ทำไมไม่เลือกให้คนจดจำความกล้าหาญมากกว่าความหวาดกลัว ทำไมไม่ปล่อยให้คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ 21 คนมาปรับแก้ให้ดีขึ้นจนเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และค่อยนำร่างที่ได้รับการปรับแก้ไปให้ประชาชนลงประชามติ เหตุใดถึงเลือกที่จะผลักภาระให้ประชาชน เงินเดือนสปช. 1.7 ล้านบาท อาจจะดูคุ้มตรงที่ท่านกล้าคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับกดหัวประชาชนนี้ก็เป็นได้”นายอนุสรณ์กล่าว 

จี้สปช.รับผิดชอบค่าใช้จ่ายหากประชาชนโหวตไม่ผ่านประชามติ  

ขณะที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมว.พลังงาน กล่าวถึงกรณีที่สปช.โหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย.ว่า คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญก็ทราบดีว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหา ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งมีทั้งนายกฯ จากคนนอก การได้มาของส.ว.จากการลากตั้งกว่า 60% และยังมี คปป.มาคุมรัฐบาลอีกที แม้แต่รองนายกฯ ก็ยังออกมายอมรับเอง ตอนนี้สปช.ก็ยังทะเลาะกันไม่จบว่าจะรับหรือไม่รับดี ด้วยเหตุผลความไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ถ้าสปช.ยังยอมโหวตผ่านออกมาเพื่อทำประชามติจากประชาชน และหากประชาชนโหวตประชามติไม่ให้ผ่าน คำถามคือคนทั้งหมดเหล่านี้ควรจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการทำประชามติ 3,000 ล้านบาท รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการร่างทั้งหมดหรือไม่ ที่ร่วมมือกันยอมให้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยออกมา ทั้งๆ ที่รู้ว่ารัฐธรรมนูญแย่ขนาดนี้แต่ก็ยังยอมปล่อยออกมาทำประชามติ เหมือนตั้งใจดูถูกประชาชน