กฟน.พร้อมเปลี่ยนสายไฟฟ้าอากาศเป็นใต้ดิน

กฟน.พร้อมเปลี่ยนสายไฟฟ้าอากาศเป็นใต้ดิน

กฟน. พร้อมเดินหน้าเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ตามมติครม. เผยที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้ว 35 กม.

นายสมชาย โรจน์รุ่งวศินกุล ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 ได้อนุมัติแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน โดยโครงการดังกล่าว ซึ่งมีระยะทางรวม 261.6 กิโลเมตร มีกรอบงบประมาณลงทุนโครงการประมาณ 1.43 แสนล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ ได้แก่ 1) ด้านการจ่ายไฟฟ้า เพื่อเพิ่มความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า และรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต 2) ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มสภาพภูมิทัศน์และรักษาสิ่งแวดล้อมให้สวยงาม และเพิ่มความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

โครงการฯ ประกอบด้วย 2 ระยะ คือ โครงการระยะที่ 1 จำนวน 39 เส้นทาง ใช้งบประมาณดำเนินโครงการประมาณ 4.87 หมื่นล้านบาท ระยะทางรวมประมาณ 127.3 กิโลเมตร และโครงการระยะที่ 2 ระยะทางประมาณ 134.3 กิโลเมตร ซึ่งจะต้องขอความเห็นชอบในการกำหนดพื้นที่และเส้นทางที่เหมาะสมในภายหลัง

สำหรับโครงการในระยะที่ 1 ได้เลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสมตามความเห็นของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จำนวน 39 เส้นทางเป็นระยะทาง 127.3 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 48,717.2 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้เพื่อลงทุนจำนวน 39,100 ล้านบาท และเงินรายได้ของการไฟฟ้านครหลวงจำนวน 9,617.2 ล้านบาท

สำหรับพื้นที่การดำเนินการในระยะที่ 1 นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) เขตพื้นที่เมืองชั้นในและศูนย์กลางเขตธุรกิจของกรุงเทพฯ เช่น ถนนอังรีดูนังต์ ถนน ชิดลม ถนนสาทร ถนนพระราม 4 เป็นต้น 2) พื้นที่เชื่อมโยงระบบส่งระหว่างสถานีไฟฟ้าต้นทางเพื่อสนับสนุนพื้นที่เมืองชั้นในและศูนย์กลางเขตธุรกิจ เช่น ถนนเจริญราษฎร์ ถนนเพชรบุรี และถนนดินแดง เป็นต้น 3) พื้นที่เปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่น เช่น ถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน ถนนสามเสน ถนนวิภาวดี-รังสิต ถนนลาดพร้าว เป็นต้น

ส่วนการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวงที่ผ่านมา ได้ดำเนินการนำสายไฟฟ้าลงใตัดินแล้วเสร็จทั้งสิ้น 35 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 2.2 พันล้านบาท และที่กำลังดำเนินการอยู่อีก 53.3 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งช่วยให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าในพื้นที่เศรษฐกิจที่มีความสำคัญได้อย่างเพียงพอ มีประสิทธิภาพ ลดปัญหาไฟฟ้าตก-ดับ ลดอุบัติเหตุและภัยธรรมชาติ ลดปัญหาสายสื่อสารรกรุงรังจากการลักลอบพาดบนเสาไฟฟ้าตลอดจนช่วยปรับปรุงทัศนียภาพของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวติดอันดับโลก ซึ่งถือเป็นภารกิจที่สำคัญของ กฟน. ในการพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง มอบบริการที่ดี เชื่อถือได้ และเข้าถึงได้ง่ายรวมไปถึงความห่วงใยต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม