หลายประเทศคุมเข้ม 'เซลฟี่'ที่สาธารณะ

หลายประเทศคุมเข้ม 'เซลฟี่'ที่สาธารณะ

หลายประเทศออกมาตรการคุมถ่ายเซลฟี่ในที่สาธารณะ หวั่นเกิดอันตรายหลังมีผู้เสียชีวิตหลายคนทั่วโลก

รัฐบาลหลายประเทศทยอยออกมาตรการรณรงค์และควบคุมการถ่ายภาพตัวเองด้วยสมาร์ทโฟน หรือ “เซลฟี่” เพราะถือเป็นพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสาธารณะ หลังมีผู้เสียชีวิตจากการเซลฟีหลายรายทั่วโลก

เริ่มจากกระทรวงมหาดไทยรัสเซียเริ่มรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายของการเซลฟี่ด้วยการพิมพ์โปสเตอร์เตือนว่า “ภาพเซลฟี่เจ๋งๆ อาจต้องแลกด้วยชีวิต” ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเซลฟี่กับสิงโต ขณะที่สหภาพยุโรป หรืออียูเสนอกฎหมายเมื่อเดือนมิถุนายนให้การเซลฟี่กับสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอย่างหอไอเฟลในกรุงปารีสของฝรั่งเศส หรือน้ำพุเทรวี่ในกรุงโรมของอิตาลีแล้วไปโพสต์ในสังคมออนไลน์เป็นการกระทำผิดกฎหมาย

ขณะที่อินเดียได้ประกาศเขตห้ามเซลฟีในเทศกาลกุมภะ เมลา หรือพิธีอาบน้ำชำระบาปในแม่น้ำโคทาวรี รัฐมหาราษฏระ เพราะเกรงว่าจะเป็นต้นเหตุให้เกิดการเหยียบกันตาย ส่วนบางประเทศกลับใช้การเซลฟี่เป็นจุดดึงดูดให้คนต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว อย่างออสเตรเลียเพิ่งประกาศว่าจะเซลฟี่ครั้งใหญ่ที่สุดในโลกด้วยการทำแท่นเซลฟี่ขนาดยักษ์ตามแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของประเทศ และมีแอพพลิเคชันให้นักท่องเที่ยวถ่ายภาพตนเองด้วยกล้องที่ติดตั้งอยู่ไกลมากแต่ได้ภาพที่มีความคมชัดสูง

ปัจจุบันแม้มีข่าวผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากการเซลฟี่ แต่พฤติกรรมนี้ยังคงได้รับความนิยมมากขึ้น โดยปีที่แล้วมีการสืบค้นข้อมูลการเซลฟี่ในเว็บกูเกิลเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าจากปีก่อนหน้านั้น ทำให้เสิร์ชเอนจินยักษ์ใหญ่รายนี้ต้องยกให้ปี 2557 เป็นปีแห่งการเซลฟี่

ส่วนนักวิชาการด้านการสื่อสาร มหาวิทยาลัยรัฐโอไฮโอของสหรัฐวิจัยพบว่า ผู้ที่ชอบแสดงออกถึงบุคลิกภาพด้านมืด 3 ประเภทคือ หลงตัวเอง ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ตามที่ต้องการ และผิดปกติทางจิต มักลุ่มหลงกับการเซลฟีโดยไม่สนใจอะไรทั้งนั้น ทั้งผลที่เกิดขึ้นกับสถานที่ท่องเที่ยวและการสร้างความรำคาญใจให้แก่เพื่อนในสังคมออนไลน์