วิเคราะห์ร่างรธน.ใหม่ ชี้มุ่งขยายพื้นที่อำนาจให้ฝ่ายมั่นคง

วิเคราะห์ร่างรธน.ใหม่ ชี้มุ่งขยายพื้นที่อำนาจให้ฝ่ายมั่นคง

เวทีวิเคราะห์ร่างรธน.ใหม่ ชี้เนื้อหามุ่งปมขยายพื้นที่อำนาจให้ฝ่ายมั่นคง คุมพื้นที่นิติบัญญัติ-บริหาร-ตรวจสอบต่อเนื่อง

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง"วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญฯ 2558 กับทิศทางการปฏิรูปการเมืองไทย : ทางออกหรือทางตัน" โดยมีนักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายลิขิต ธีระเวคิน นักวิชาการรัฐศาสตร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญคือหลักการจัดสรรอำนาจ โดยมีประเด็นที่เป็นประชาธิปไตยหลายส่วน ที่ให้ประโยชน์กับประชาชน และเป็นปรัชญาที่ดีซึ่งตนไม่ขอพูดถึง เพราะในร่างรัฐธรรมนูญ​มีหลายประเด็นไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย ได้แก่ 1.ไม่มีคำปรารภ เท่ากับการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีที่มาที่ไป เป็นแค่การรับจ้าง โดยไม่มีจิตวิญญาณ, 2.มาตรา3 กำหนดให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ตนถือเป็นหลักใหญ่ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นมาตราใดที่เขียนโดยขัดแย้งหลักการดังกล่าวถือเป็นมาตราที่ใช้ไม่ได้ ได้แก่ ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการสรรหา จำนวน 123คน,​ เปิดช่องให้มีนายกฯ​ ที่ไม่เป็น ส.ส.​ แม้จะกำหนดให้ใช้เสียงเห็นชอบ 2 ใน3 แต่ไม่มีหลักประกันใดว่าไม่มีการสร้างวิกฤตเพื่อเปิดโอกาสให้มีนายกฯ​ คนนอก,​ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เป็นคณะบุคคลที่ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ถือว่าขัดกับมาตรา 3และขัดกับหลักประชาธิปไตย ที่คนภายนอกสามารถควบคุมการบริหารราชการได้ แม้จะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแต่ยังมีผู้คอยกำกับ หรือ บิ๊ก บราเธอร์ อยู่ การทำงานก็ไปไม่ได้

"ผมมองว่าสปช.จะไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ เพราะหากผ่านแล้วเข้าสู่กระบวนการประชามติ หากประชามติไม่ผ่านจะเกิดผลกระทบเรื่องของการยอมรับจากประชาชนมากขึ้น และอาจเกิดความขัดแย้งมากขึ้น"นายลิขิต กล่าว

ขณะที่นายไพโรจน์​ พลเพชร สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีประเด็นที่ตนเป็นห่วงกรณีที่บทเฉพาะกาลกำหนดให้คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ ประเมินผลการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้แล้ว 4 ปี โดยมีประเด็นให้พิจารณาถึงการควบรวมกสม. เข้ากับผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำให้เห็นว่าแนวคิดของการควบรวมทั้ง 2 องค์กรยังมีอยู่ นอกจากนั้นคือการขยายพื้นที่ของฝ่ายความมั่นคงให้มีอำนาจมากขึ้น ทั้งในทางการเมือง และภาคท้องถิ่น โดยประเด็นดังกล่าว คือ การกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ​ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายความมั่นคงให้มีอำนาจทั้งการปฏิรูป ด้วยการเข้ามาเป็นผู้นำการปฏิรูป, ผู้นำของการทำยุทธศาสตร์ประเทศ ที่ระบุไว้ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รวมถึงขออำนาจในการเข้ามาทำหน้าที่สรรหา ส.ว. จำนวน 123 คน เพื่อจะเข้าควบคุมการแต่งตั้งบุคคล ตามที่ส.ว.มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้ง รวมถึงส.ว.ดังกล่าวนั้นยังมีบทบาทที่ทำงานคู่ขนานกับสภาผู้แทนราษฎร ในระยะเวลา 3ปี โดยตนมองว่าการขยายอำนาจในฝ่ายนิติบัญญัตินั้นอาจเป็นชนวนที่นำไปสู่ภาวะขัดแย้งและนำไปสู่รัฐล้มเหลวได้

นายไพโรจน์ กล่าวด้วยว่า ในร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้คณะกรรมการร่วมรัฐเอกชน (กกร.) ขยายพื้นที่ให้ตัวแทน กกร. เข้ามาเป็นกรรมการสรรหาองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) , คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดังนั้นตนมองว่าการจัดสรรความสัมพันธ์ทางอำนาจ ฝ่ายความมั่นคงมีพื้นที่ทางอำนาจต่ออีก 5ปี เป็นเจตจำนงที่เขียนไว้ในกฎหมาย ทั้งนี้เจตจำนงยังถูกออกแบบ วางผังไว้ในกฎหมาย แต่ความสัมพันธ์ทางการเมืองไม่เป็นไปตามกฎหมาย เช่น ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่อยู่ในทัศนคติ ความกลัว ที่จะทำให้เกิดการยอมรับอำนาจ ที่ขยายผลให้ ข้าราชการประจำเข้ามาสู่ในวงการการเมืองมากขึ้น บนความที่ไม่ไว้วางใจฝ่ายการเมือง

"ผมมองว่าสปช.จะผ่านร่างรัฐธรรมนูญ แต่กระบวนการต่อจากนั้นคือการทำประชามติ ผมขอให้คสช. เปิดโอกาสให้มีการแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ตามระบอบประชาธิปไตยที่ให้เสรีภาพ เพื่อเป็นการให้ความรู้กับประชาชน ไม่ให้สังคมร่วมถกเถียง โดยไปสู่ความขัดแย้ง" นายไพโรจน์ กล่าว

ด้านนายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญรอบปัจจุบันมีเป้าหมายคือลดความเหลื่อมล้ำทางการเมือง ให้มีรัฐบาลผสม หรือให้เป็นพรรคเล็กเหมือนกันหมด เพื่อให้การเมืองไม่มีพรรคใดที่ใหญ่ไปกว่ากัน ให้เป็นรัฐบาลผสม เพื่อให้ควบคุมกันได้ง่าย ส่วนการทำประชามติที่เรียกร้องถือเป็นการหลงเข้าไปตามเกม เนื่องจากการทำประชามติเป็นเรื่องที่ถูกออกแบบให้ไว้แล้ว แต่เมื่อเรียกร้องให้มีการทำประชามติแล้ว จะเป็นผลที่ทำให้ไม่มีทางแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้ อย่างไรก็ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตนขอเรียกว่าเป็นการมัดตาชก เพราะไม่มีใครเห็นเนื้อหาระหว่างกระบวนการยกร่าง ได้แก่ 1.กรณีให้นายกฯ​มาจากคนนอก, 2.กรณีที่ขอตั้งส.ว.สรรหา จำนวน 123 คนด้วยตนเอง แม้จะกำหนดให้มีวาระ 3ปี สิ่งที่เขาต้องการคือ คือ การแต่งตั้ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้กำหนดหรือวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญ, กรรมการ ป.ป.ช.​, 3.คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งตนมองว่าจะไม่เกิดการยอมรับในอำนาจ หากกลไก หรือฟันเฟืองมีการขับเคลื่อนแล้ว แกนประเทศจะขาด 

"ผมมองว่าหากเราย้อนไปถึงที่มาที่มีปัญหา ดูรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนแก้ปัญหาไว้หมดแล้ว ทั้งระบบรัฐสภา ที่มีพรรคเล็ก, วุฒิสภาถูกกระจาย, มีการควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติ เปรียบเหมือนมีกุญแจเพื่อปลดเดทล็อคทั้งในรัฐสภา ทั้งการชุมนุม การลุแก่อำนาจ ถือเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่ปัญหาคือตั้งกรรมการยุทธศาสตร์​ฯ ทำไม เหมือนกับมีกุญแจล็อคกุญแจอีกชั้น ทำไมไม่ปล่อยให้กระบวนการได้เติบโต นอกจากนั้นแล้วกรณีของการมีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เป็นกลไกบริหารการปฏิรูป ทั้งที่ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐวางกติกาแล้ว ขณะนี้สิ่งที่เราดีไซน์ กลัวเกินไป เราสร้างปัญหารัฐบาลซ้อนรัฐบาล และกังวลว่ารัฐบาลจะกลายเป็นเป็ดง่อย หากนายกฯ​รัฐบาลหน้ามาจากคนนอก และเป็นหัวหน้าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ​จากเป็ดง่อย จะเป็นพยัคฆ์ติดปีก ถือเป็นสิ่งที่น่ากลัวและนำไปสู่ความเสียหายยิ่งใหญ่ ผมกลัวว่าสิ่งที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทำแม้จะบริสุทธ์ิใจ แต่อาจกลายเป็นบาปบริสุทธิ์ได้"นายนิกร กล่าว  

นายนิกร กล่าวว่าขอวิเคราะห์แบบการเมืองว่า สปช.จะให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันที่ 6 ก.ย.​นี้ ส่วนเหตุการณ์ หลังจากนั้นจะเกิดความขัดแย้งขึ้น อาทิ อันดับแรก คือการส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความประเด็นของเสียงผ่านประชามติ เพราะในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่1) พ.ศ.2558 กำหนดเสียงที่ผ่านประชามติ คือ เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ซึ่งเป็นไปได้ยาก หากมีผู้ที่นอนหลับทับสิทธิอาจทำให้รัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ, สปช.ที่ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ จะออกมาเป็นผู้นำพรรคการเมืองในการค้านร่างรัฐธรรมนูญที่สื่อสารไปยังประชาชน และทำให้กระแสไหลไปทิศทางเดียวกัน ซึ่งอาจเกิดลักษณะของการคัดค้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมขึ้นได้อีก ทั้งนี้ความขัดแย้งระหว่างประชาชนและอำนาจรัฐอาจเกิดขึ้น ทำให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงได้อีก

"ประชามติ ผ่านไม่ง่าย หากไม่ผ่านก็กลับมาทำใหม่ แต่วันนั้นความเชื่อถือ ความยอมรับ และความไว้ใจจากฝ่ายต่างๆ จะไม่เกิดขึ้น กรรมการที่เข้ามาดูแลการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือการเลือกตั้งก็จะมีปัญหา ทั้งนี้ผมมองว่าเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมไทยเรียนรู้ แต่เป็นบทเรียนที่แพงมาก และประเทศบอบช้ำ"นายนิกร กล่าว

ส่วนนางฉันทนา หวันแก้ว ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปรองดอง ตนมองว่าบทบาทของกองทัพหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากกองทัพมีภาวะผู้นำ ในการปฏิรูป หรือสร้างความสัมพันธ์กับการเเมืองได้ จะเป็นหลักประกันให้องค์ประกอบทางการเมืองที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ นอกจากนั้นในส่วนกลไกการปรองดองและกลไกติดตามความขัดแย้งถือเป็นการปกติ แต่ไม่ใช่ภาคบังคับ หรือกำหนดชี้ชัด โดยหลักการคือการทำงานร่วมกัน เมื่อนำมาเขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ และพิจารณาองค์กรประกอบผู้ที่กำกับ เช่น กรรมการที่ไม่มีฝ่ายค้าน ดังนั้นไม่รู้จะปรองดองได้อย่างไร, ที่ระบุว่าแก้รัฐประหารตนมองว่าควรจะแก้เรื่องการปฏิรูปกองทัพจะเหมาะสมกว่า ทั้งนี้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ​มีความเสี่ยงสูงในเรื่องการใช้อำนาจ และความเกี่ยวพันกับอำนาจอื่นๆ อย่างไร ตนมองว่ากรณีดังกล่าวเป็นจุดที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในองค์กรทางการเมืองและกลายเป็นความขัดแย้งรอบใหม่ได้  

นายอดิสร เกิดมงคล ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำลายสิทธิของกระบวนการแรงงานอย่างไม่ตั้งใจ ในกรณีที่กำหนดให้ผู้ใช้แรงงานตั้งสหภาพแรงงานได้ ไว้ในหมวดสิทธิของปวงชนชาวไทย หากมุมมองการดำเนินงานนั้นถูกเปลี่ยนไปในเรื่องของความมั่นคง​ ส่วนกรณีที่ให้มีคณะกรรมการประเมินผลฯ เพื่อทำหน้าที่ประเมินในส่วนของหน่วยงาน ทำให้ไม่เกิดการยึดโยงกับประชาชน สิ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดด้วยการเปิดพื้นที่ให้ประชาชน ตนสงสัยว่าประชาชนอยู่ตรงไหนของการเมือง แม้จะมีการมีส่วนร่วมเสนอกฎหมายหรือประชาธิปไตย เป็นเพียงขนมหวาน ส่วนที่เหลือเป็นการให้รัฐราชการทำหน้าที่กำกับ ทำให้ประชาธิปไตยห่างไกลจากประชาชนไปเรื่อยๆ

"สิ่งที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้เหมือนเป็นกล่องที่ให้คือ ความหวังประชาชน แต่จริงๆ แล้วในกล่องคือไม่มีสิ่งใดเป็นความหวังเลย มีแต่ปีศาจ พอประชาชนรับก็มีแต่ปีศาจออกมาเต็มไปหมด ผมจึงกังวลอย่างยิ่ง" นายอดิสร กล่าว  

ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีความเห็นต่างอย่างเข้มข้นทั้งจากฝั่งราชการ นักการเมือง และประชาชน ซึ่งแต่ละคนตีความเจตนารมณ์ในต่างมุมกัน เช่น ความเห็นของข้าราชการ มองว่าร่างรัฐธรรมนูญเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากเกินไป และอาจทำให้เป็นอุปสรรคของการทำงาน ขณะที่ประชาชนมองว่าให้สิทธิต่อกระบวนการมีส่วนร่วมน้อยไป ทั้งนี้เข้าใจว่าการเขียนรัฐธรรมนูญนั้นมีความขัดแย้งไม่อยู่ และอยู่จุดสูงสุดที่รอจุดเปลี่ยนแปลง ส่วนกรณีที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ตนเข้าใจว่าเป็นสิ่งใหม่ และแปลกเมื่อเทียบกับมุมมองเสรีประชาธิปไตย และไม่สามารถตอบได้ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์แล้วจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ยอมรับว่าได้เขียนเนื้อหาในสัปดาห์สุดท้ายของร่างรัฐธรรมนูญและเมื่อเขียนเสร็จได้แถลงให้สาธารณะรับรู้ทันที ตนมองว่าหลายเรื่องเป็นประชาธิปไตยในเชิงเนื้อหา และภาคพลเมือง แต่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเมื่อนำทฤษฎีเสรีประชาธิปไตยมาจับ ทั้งนี้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีส่วนที่ยึดโยงกับประชาชน คือ มีประธานรัฐสภา มีนายกฯ​ และมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปฏิรูปด้านต่างๆ ที่มาจากรัฐสภาแต่งตั้ง ร่วมเป็นกรรมการ

"ส่วนการทำงานของกรรมการฯ ที่มีทั้งกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดอง และสภาดำเนินการปฏิรูปนั้น ไม่ใช่เป็นการคิดอะไรใหม่ แต่เป็นไปตามกรอบของแนวทางที่สปช. ได้ทำมา ส่วนอำนาจพิเศษนั้นไม่ใช่ในภาวะปกติ ผมภาวนาใน5 ปีจะไม่เกิดเหตุขัดแย้งจนรัฐบาลแก้ไขปัญหาไม่ได้ขึ้นมา อาจออกมาอีกมุมคือการระงับความขัดแย้งและนำชาติสู่ความสงบ ทั้งนี้ขอให้ประชาชนร่วมตัดสินใจ"นายบัณฑูร กล่าว  

เขา กล่าวอีกว่า ขณะนี้สนช.ยังสามารถ ที่จะเสนอคำถามประกอบการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งหาก สนช.  ตั้งคำถามว่า ประชาชนเห็นด้วยกับการมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯหรือไม่ และหากประชาชนเห็นด้วยกับคำถามนี้ตัวร่างรัฐธรรมนูญ  ยังสามารถที่จะกลับมาแก้ไขในเนื้อหาใหม่ได้อีก