ไอทีญี่ปุ่นมั่นใจไทย ฟูจิซิร็อกซ์ผุดศูนย์นวัตกรรม

ไอทีญี่ปุ่นมั่นใจไทย ฟูจิซิร็อกซ์ผุดศูนย์นวัตกรรม

ไอทีญี่ปุ่นยังเชื่อมั่นศักยภาพไทย ล่าสุด “ฟูจิ ซีร็อกซ์” ยกไทย “ฮับ” งานพิมพ์อาเซียน ทุ่ม 5 ล้านดอลลาร์ ตั้งศูนย์นวัตกรรมในจ.สมุทรปราการ

นายมาซาชิ ฮอนดะ ประธานและผู้บริหารสูงสุด บริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด กล่าวว่า ได้เปิดตัวศูนย์นวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์ (Integrated Customer Experience Center; ICEC) เพื่อรองรับลูกค้าทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและประเทศจีน ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ ใช้งบประมาณการลงทุนเบื้องต้นประมาณ 5 ล้านดอลลาร์ ศูนย์ดังกล่าวตั้งอยู่ที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ บนพื้นที่กว่า 3,600 ตารางเมตร นับว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก ขณะนี้ใช้พื้นที่ไปเพียง 70% ดังนั้นสามารถขยายต่อได้อีก โดยบริษัทยังมีแผนเพิ่มการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

เขากล่าวว่า สาเหตุที่เลือกประเทศไทย เนื่องจากเป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพเติบโตสูง ขณะเดียวกันตลาดมีความหลากหลาย พร้อมด้านบุคลากร สิ่งอำนวยความสะดวก การเดินทางสะดวกห่างจากสนามบินเพียง 30 นาที จากเขตเศรษฐกิจ 45 นาที

“แม้บางช่วงจะมีเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมือง ภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม หรือแม้แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันอื่นๆ แต่บริษัทยังมีความเชื่อมั่น อีกทางหนึ่งทรัพยากรบุคคลของเรามีความพร้อมและความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์อย่างมาก ด้านลูกค้าที่มาก็รู้สึกดีที่เข้ามาติดต่อธุรกิจในไทย”

อย่างไรก็ดี เป้าหมายสำคัญของการจัดตั้ง ไม่ได้เน้นทำเป็นโชว์รูมเพื่อเพิ่มยอดขายโดยตรง ทว่าวางตำแหน่งเป็น “วัน สต็อป ซัพพอร์ต” มุ่งนำเสนอเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านการพิมพ์ โชว์เคสลูกค้า ความสามารถผลิตภัณฑ์ และพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่สนับสนุนการเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจหลากหลายรูปแบบ

ขณะที่ ภายในศูนย์ประกอบด้วยห้องสัมมนา ห้องประชุมกลุ่มย่อย ห้องทำงานสำหรับลูกค้าที่เข้ามาดูงานระบบบริหารจัดการเครื่องพิมพ์ สามารถทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาแอพพลิเคชั่นงานพิมพ์ใหม่ๆ จากการจำลองสภาพใช้งานจริง มากกว่านั้นบริษัทยังได้เชื่อมโยงทำงานร่วมกับอีก 2 ศูนย์เทคโนโลยีในประเทศญี่ปุ่นเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า

“บริษัทหวังว่า ลูกค้าของเราในภูมิภาคนี้จะสามารถขยายตลาดหรือกลุ่มลูกค้าด้วยการเพิ่มกำลังผลิตให้ธุรกิจ จากการให้บริการแบบใหม่ล่าสุด พร้อมเพิ่มโอกาสใหม่ๆ ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า”
ปัจจุบัน ไทยเป็นตลาดใหญ่สามารถสร้างรายได้เป็นอันดับท็อป 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์ ปีนี้บริษัทตั้งเป้าผลประกอบการโดยรวมจะโตได้ไม่น้อยกว่า 10%

ข้อมูลระบุว่า สัดส่วนการพิมพ์รูปแบบดิจิทัลหรือพิมพ์ออนดีมานด์ในเอเชียแปซิฟิกมีเพียง 10% รูปแบบเดิม หรือหรือออฟเซ็ตกว่า 90% ดังนั้นตลาดยังมีโอกาสขยายตัวได้สูงมาก ระดับภูมิภาคขณะนี้บริษัทครองอันดับ 1 เครื่องพิมพ์สำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์ ด้วยส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 50%

นายพิชัย ธัญญวัชรกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายผลิตภัณฑ์การพิมพ์อุตสาหกรรม บริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า 5 ปีที่ผ่านมา ประเมินจากบริษัทเองพบว่าการใช้ใช้งานการพิมพ์รูปแบบดิจิทัลในไทยเติบโตเฉลี่ย 30% ทุกปี

ทั้งนี้ แม้อายุการใช้งานเครื่องพิมพ์รูปแบบเดิมจะมีอายุกว่า 10 ปี ทว่าด้วยการแข่งขันที่รุนแรง กำไรลดลง การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ความต้องการเฉพาะทางของลูกค้า โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์ดิจิทัล และการใช้งานบนโมบายกำลังผลักดันให้ลูกค้าเกิดการลงทุนใหม่ๆ ส่วนของบริษัทมีสินค้าบริการราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 1 ล้านบาท กระทั่งระดับไฮเอนด์เชิงอุตสาหกรรมราคากว่า 60 ล้านบาท

สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่รองรับได้ ครอบคลุมทั้งธุรกิจการพิมพ์ รายย่อยระดับเอสเอ็มอี ลูกค้าสถาบันการศึกษา โดยรวมในไทยมีผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจการพิมพ์ราว 2,000 ราย แบ่งเป็นโรงพิมพ์และบริการการพิมพ์ใกล้เคียงกัน
เขาระบุว่า ไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ศูนย์กลางการพิมพ์ระดับอาเซียน ทางบริษัทแม่ญี่ปุ่นยังคงมีความเชื่อมั่น เข้าใจสถานการณ์ภายในประเทศโดยเชื่อว่าเหตุการณ์น่าจะไม่รุนแรง

นายชูจิ อาโสะ รองประธาน บริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีแผนงานระยะกลางที่จะขยายธุรกิจโซลูชั่นและบริการซึ่งรวมถึงบริการด้านการผลิตให้มีสัดส่วนมากกว่า 50% ดังนั้นศูนย์ไอซีอีซีแห่งใหม่ที่ไทยนี้จะมีส่วนสำคัญช่วยสนับสนุน สามารถรองรับลูกค้าได้ทั่วถึงและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ บริษัทไอทีสัญชาติญี่ปุ่นอีกรายอย่างบริษัทเอปสัน ประเทศไทย ที่ผ่านมาได้เดินหน้าลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่องเช่นกัน วางไทยเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของภูมิภาคนี้

ล่าสุดนายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเอปสันประสบ ความสำเร็จอย่างมากในตลาดพรินเตอร์ รวมถึงโปรเจ็คเตอร์ของเมืองไทย ในส่วนของโปรเจคเตอร์มีสัดส่วนยอดขายมากเป็นอันดับหนึ่งถึง 34% และหาก พิจารณาแยกตามรุ่นสินค้าแล้ว เอปสันยังครองเจ้าตลาดตั้งแต่รุ่นเอ็นทรี หรือเครื่องขนาดเล็กด้วยส่วนแบ่ง 43%

ทั้งนี้เอปสันวางยุทธศาสตร์ไว้ 4 ด้าน โดยบริษัทฯ จะป้อนสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า โดยปัจจุบันมีโปร เจ็คเตอร์ในตลาดนี้ถึง 18 รุ่นแล้ว และยังมีแผนที่จะเปิดตัวเครื่องที่มีความสว่างสูงขึ้นอีกในอนาคต

“เอปสันพัฒนาทีมผู้เชี่ยวชาญขึ้นหลายส่วน ทั้งส่วนการขาย การสนับสนุนด้านเทคนิค และการบริการ เพื่อศึกษาข้อมูลในด้านต่างๆ จนเข้าถึงความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า"