สร้างงานในบ้านเรา

สร้างงานในบ้านเรา

ปริญญาตรีหลบไป! ชาวตราดขอเสนอตัวเลือกมาแรงที่สร้างงานแพงโดยไม่ต้องเสียเวลา

“ที่เพาะไว้มีกว่า 300 สายพันธุ์ครับ” เสียงเกษตรกรรุ่นเล็กวัยสิบปลายๆ เล่าระหว่างเดินแนะนำสวนกล้วยไม้ในโรงเรียนกลางเขาที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ถึงกว่า 300 กิโลเมตร 

น้ำเสียงฉะฉาน และท่าทีกระตือรือร้น บอกได้ดีว่า เขาภูมิใจกับงานชิ้นโบแดงเหล่านี้ขนาดไหน

ถ้าจะบอกว่า เด็กๆ เหล่านี้ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในอนาคตของพื้นที่ติดชายแดนอย่างจังหวัดตราดคงไม่ผิดนัก เพราะทิศทางการผลักดันพื้นที่ให้มีศักยภาพเวลานี้ ใบปริญญาไม่มีความจำเป็นเลยแม้แต่น้อย

บ้านหลังเรียน

“น้ำเราใช้ระบบรดน้ำ เปิดทีเดียวก็รดได้หมด ส่วนการดูแล ก็หมั่นเอากรรไกรมาตัดใบที่ไม่ดีออก” หมา-สุวิทย์ ทองคำ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เล่าถึงกิจกรรมการเลี้ยงดูพันธุ์ไม้ที่เขา และเพื่อนๆ หมั่นทำกันเป็นประจำ โดย่ไม่ต้องรอให้ครูสั่ง แล้วก็ไม่ได้ทำไปเพื่อหวังตัวเลขสูงๆ ในช่องคะแนนของวิชาใด

“ตอนพักกลางวัน หรือไม่ก็ตอนเย็น อย่างน้อยเราก็ต้องมาดู” นัท-วีรพงษ์ ห่วนกิ่ม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เกษตรกรรุ่นเล็กอีกคน เล่าให้เห็นภาพของกิจกรรม “บ้านหลังเรียน” ของโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม โรงเรียนขนาดไม่เล็ก แต่ก็ไม่ได้ใหญ่มากในอำเภอเมือง จังหวัดตราด ซึ่งทำกิจกรรมนี้ต่อเนื่องมาแล้ว 10 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนเกิดทักษะให้รอบด้าน และส่วนหนึ่งก็เพื่อตอบรับกับเศรษฐกิจของจังหวัดที่เคลื่อนด้วยการเกษตร

“ครูท่านหนึ่งจะดูแลเด็ก 12-15 คน แล้วเด็กเขาสนใจที่จะทำกิจกรรมในเรื่องอะไร ครูก็ไปเป็นพี่เลี้ยงดูแล ใช้กระบวนการของรุ่นพี่ ถ้ากิจกรรมที่มีพี่เป็นหลัก ก็จะดึงน้องไปเสริม ตัวผู้เรียน 1 คน เราไม่ได้บังคับว่า อยู่ได้กิจกรรมเดียว สนใจกี่กิจกรรม ก็ไปได้หมด ถ้ามีเวลา เพราะมันเป็นเวลาหลังเรียน เราจึงเรียกว่า กิจกรรมบ้านหลังเรียน อย่าง เสาร์ อาทิตย์ หรือปิดภาคเรียนเขาก็มาทำ” ประธาน ทวีผล ผู้อำนวยการโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม อธิบายถึงกระบวนการการเรียนรู้ของนักเรียน

ไม่ได้มีแค่กล้วยไม้ แต่ที่เรือนเพาะชำของเกษตรกรรุ่นเล็กยังเขียวไปด้วยสีของไม้นานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นเฟิร์นชนิดต่างๆ ผักบุ้ง สับปะรดสี หม่อน ฟักข้าว ถัดออกไปก็ยังมีการเลี้ยงไส้เดือนดิน หรือหมักปุ๋ยชีวภาพกันจริงจัง หรือถ้ามีโอกาสเหมาะๆ ที่โรงเรียนก็จะเชิญเกษตรกรจังหวัดมาให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงแมลงหางหนีบ การเลี้ยงตัวชันโรง การทำเชื้อไตรโคเดอร์มา ฯลฯ

จากความตั้งใจของครูที่จะให้กิจกรรมสีเขียวคอยเสริมให้นักเรียนเรียนรู้เรื่องการเกษตร ตอนนี้ดูเหมือนว่า การหมั่นมา “เรียน” วิชาการดูแลพันธุ์ไม้จะเป็นงานหลักของเด็กๆ ไปแล้ว ซึ่งก็ไม่ใช่แค่กับนักเรียนที่ได้เรียน แต่ตัวครูเองก็ยังได้ความรู้ใหม่ไปพร้อมกับเด็กเหมือนกัน

“ใช้วิธีที่เรียนรู้ไปกับเด็ก” สมเกียรติ แซ่เต็ง ครูคณิตศาสตร์ของโรงเรียนเอ่ย เขายอมรับว่า บางอย่างเขาก็เพิ่งเริ่มเรียนเพราะต้องสอนนักเรียน

“เราสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันแล้วก็พัฒนาไปเรื่อยๆ องค์ความรู้มันอยู่ที่เดิม แต่มันเป็นฐานที่ใหญ่ขึ้น เช่น ตอนนี้เรามาปลูกข้าว ครูก็ปลูกข้าวไม่เป็นเลย แต่เราใช้กิจกรรมพวกนี้เข้าไปเรียนรู้ร่วมกัน พอรุ่นนี้จบ ครูก็ปลูกข้าวเป็น ครั้งหน้าเอาใหม่ ครูเก่งกว่าเด็ก ความรู้ก็เติมต่อกันไปเรื่อยๆ”

แม้ครูจะมีความรู้เพื่อสอนในห้องเรียนวิชาสามัญ แต่ในวิชาอาชีพ ครูหลายคนก็ไม่น้อยหน้า เพราะด้วยบริบทของพื้นที่ สังคม และเศรษฐกิจ ของจังหวัด ครูต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ให้เด็กไว้ใช้กับอาชีพในอนาคต ซึ่งเล็งเห็นแล้วว่าภาคการเกษตร เป็นภาคสำคัญที่ควรส่งเสริมให้เกิดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ

“ถ้าเด็กเขาคิดว่า 1 วัน ไม่ไปเที่ยวกับเพื่อน แต่มาปลูกต้นไม้อะไรมันคุ้มที่สุด ถ้าเขาคิดได้แบบนั้น แสดงว่ามันก็คือการคุ้มเหมือนกัน เราสร้างเด็กถูกทาง”

...และทางที่โรงเรียนสร้างให้ก็ไม่ได้หยุดที่ความรู้เรื่องต้นไม้เท่านั้น

เมล็ดพันธุ์พร้อมโต

“เอาไปขายครับ” หมาเอ่ยถึงอีกงานสำคัญที่นอกจากจะลงมือปลูกแล้ว เขาและเพื่อนๆ ยังช่วยกันเอาผลผลิตที่ได้จากการเพาะไปสร้างรายได้ให้ตัวเองด้วย

ตอนนี้หมา และเพื่อนขายพันธุ์กล้วยไม้และเฟิร์นทางเฟซบุ๊ค และตามงานต่างๆ ของจังหวัด มีรายได้คนละหมื่นกว่าบาทต่อเดือน เขาบอกว่า กระบวนการขายด้วยตัวเองแบบนี้ได้ช่วยให้เขาฝึกการพูดคุยกับผู้คน และรู้จักการวางแผนด้วย

“งานนี้เราจะทำธีมไหนถึงจะเหมาะสม ทำไปแล้วก็ให้นักเรียนทุกคนขาย แบ่งเวลากันขายว่า จะขายช่วงนี้ พุดคุยกับลูกค้าช่วงนี้นะ ช่วยๆ กันขาย เราจะเตรียมของออกไปขาย ก็คือ ของที่โรงเรียนสต๊อกไว้ แล้วก็ของที่นักเรียนปลูกเอง” หมาเล่า ซึ่งนี่ก็ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายของโรงเรียนที่อยากให้เกิดทักษะเหล่านี้เพื่อเอื้อต่อการการประกอบอาชีพในอนาคต

“จริงๆ เป้าหมายของเราไม่ได้มุ่งเรื่องการเกษตรอย่างเดียว เราจะบอกเด็กๆ ว่า เราไม่ได้เรียนเรื่องการเกษตร สิ่งที่เขาเป็นตอนนี้คือเขาเป็นในเรื่องของการค้า แล้วเด็กกลุ่มนึงก็มองไปยังเรื่องการพัฒนาศักยภาพของโรงเรียนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เราจะมีเด็กอีกหนึ่งกลุ่มที่พร้อมที่จะเป็นภาคบริการ เด็กพร้อมที่จะหาโอกาสที่จะเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟที่เราจะเอาผลผลิตของเราไปตั้งได้ มีเด็กกลุ่มนึงที่เรียนรู้เรื่องการเป็นเจ้าของธุรกิจที่ดี หรือเด็กหลายๆ คนไม่ได้ถูกพัฒนาให้เป็นลูกจ้าง ก็พร้อมที่จะเป็นนายจ้างตัวเอง” ครูผู้ร่วมผลักดันกิจกรรมอธิบายเสริม

มากกว่าการท่องสูตรสมการต่างๆ ได้ คือ การรู้ว่า เราคำนวณตัวเลขเหล่านั้นไปเพื่ออะไร นี่คือเป้าหมายที่สำคัญของครูคณิตศาสตร์อย่างสมเกียรติ ซึ่งเขาก็ภูมิใจมากที่นักเรียนหลายคนลงมือทำกิจกรรมบ้านหลังเรียนแล้วเกิดไอเดียไปทำเองที่บ้าน และกลายเป็นว่า ชักชวนให้ผู้ปกครองเข้ามาลงแรงด้วยกันเป็นกิจกรรมในครอบครัว ซึ่งก็อยู่เหนือความคาดหมายของเขามาก

“เงินที่ได้มา ผมเอาไปต่อยอดโดยการไปซื้อกระถางมาปลูก พอพ่อแม่เริ่มเห็นว่า ทำแล้วมันได้รายได้เพิ่มเรื่อยๆ เขาก็เริ่มส่งเสริม ทำโรงเรือนกล้วยไม้ให้ เขาก็ช่วยปลูก” หมาเล่า

จากการคลุกคลีกับพันธุ์ไม้ แผนงานจำหน่าย หรือระบบการบริหาร นอกเวลาเรียน ทำให้อีกหนึ่งดอกผลที่เกิดจากเรียนรู้ชีวิตการทำงานแต่เนิ่นๆ คือ การเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนของนักเรียน

“พอถามเด็กว่า จบ ม. 6 ไปไหน เขาก็จะบอกว่า เรียนเกษตรศาสตร์ ผมว่า เด็กเขามองเรื่องเรียนมหา‘ลัยขาด แม้กระทั่งมองอาชีพตัวเองหลังจบมหา’ลัยได้ ดังนั้นในกลุ่มนี้ไม่ใช่เป็นบัณฑิตตกงาน” สมเกียรติบอก และมั่นใจว่าเด็กเหล่านี้จะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง ไม่ใช่แค่การเกษตร แต่ยังรวมไปถึงการบัญชี การบริการ ฯลฯ ด้วย

“ภาพในอนาคตอีก 10 ปี 15 ปี เราจะเห็นเลยว่า ชุมชนจะอุ้มโรงเรียน เพราะจะมีแต่เด็กๆ ที่เรียนจบแล้วไม่ได้ไปอยู่ในเมือง แต่จะกลับมาพัฒนาพื้นที่”

ทัศนะ พิเศษ

แม้ความพยายามส่วนหนึ่งได้เกิดขึ้นแล้วในโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม แต่วันนี้การศึกษาของเยาวชนโดยรวมของจังหวัดตราดยังห่างไกลกับการพัฒนานักเรียนสู่อาชีพที่จะหล่อเลี้ยงพื้นที่ได้

ชื่อเสียงเรียงนามของตราด ไม่ว่าจะในเรื่องการท่องเที่ยวหรือการค้าชายแดน อาจจะไม่โดดเด่นเท่าภูเก็ต สระแก้ว หรือหาดใหญ่ แต่ก็มีความสำคัญทางเศรษฐกิจไม่น้อย ยิ่งเมื่อเร็วๆ นี้ พื้นที่ของ อ.คลองใหญ่ เพิ่งจะถูกประกาศให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษที่ในอนาคตจะเกิด “นิคมอุตสาหกรรมบริการ” เรียกบรรดานักลงทุนเข้ามา ประกอบกับการที่พื้นที่จังหวัดยังติดต่อกับ “พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเกาะกง” ของฝั่งกัมพูชา ก็การันตีได้ว่า เศรษฐกิจที่ชายแดนย่านนี้จะคึกคักยิ่งกว่าเดิม

ภาพในอนาคตของพื้นที่แห่งนี้คือการคลาคล่ำไปด้วยผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมี “มือ” คอยซัพพอร์ทให้เครื่องจักรหมุนไปได้ด้วยความรู้ทางเทคนิค ความชำนาญในวิชาชีพ หรือแม้กระทั่งภาษา ซึ่งยังสวนทางกับภาพในปัจจุบันที่ขาดแคลนมือเหล่านี้จากคนในพื้นที่ เนื่องจากคนรุ่นใหม่และผู้ปกครองจำนวนมากไม่เปลี่ยนทัศนคติเรื่องการเรียน ซึ่งตรงนี้คือปัญหาใหญ่ของการขาดแคลนแรงงาน และปัญหาการว่างงานของคนจบปริญญาในจังหวัด จนถึงระดับประเทศ

“ลูกหลานของคนตราด จบ ม.ต้น แล้ว 70 เปอร์เซ็นต์ ไปเรียนต่อ ม.ปลาย อีก 30 เปอร์เซ็นต์ ไปเรียนทางอาชีวะ แต่เราจะทำอย่างไร เรากลับตัวเลขนี้ได้มั้ย เหตุผลคือ เรียนอาชีวะ 3 ปี ก็สามารถทำงานได้เงินได้เลย ตอนนี้คนในจังหวัดไม่พอแล้ว ทั้งๆ ที่ลูกหลานเราเป็นเถ้าแก่น้อยได้ทุกคน” ธันยา หาญผล ประธานคณะกรรมการโครงการปฏิรูปการเรียนรู้เชิงพื้นที่จังหวัดตราด เสนอความเห็น

อาชีพที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ด้วย ได้เงินดีด้วย สำหรับพื้นที่พิเศษนี้เป็นอาชีพที่ต้องมีทักษะและประสบการณ์ การดึงเยาวชนให้เข้าสู่การฝึกฝนได้เร็ว จึงเป็นการความคาดหวังต่อระบบการเรียนการสอนในพื้นที่ อาจจะเป็นในรูปแบบของการจัดการศึกษาที่เรียนสายสามัญไปพร้อมกับสายเทคนิค หรืออาจจะเป็นกิจกรรมเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในโรงเรียน หรือแม้แต่การเพิ่มจำนวนหลักสูตรของสถาบันอาชีวะให้ตอบโจทย์มากขึ้น ก็ล้วนเป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนของจังหวัดที่ไม่ต้องพึ่งคนจากที่อื่น

“เราไม่ต้องไปไหน เราอยู่ในบ้านเรานี่แหละ ถ้าเรามีอะไรดี มีศักยภาพที่ดีเขาก็จะมาหาเรา ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเรียนเพื่อที่เร่งรัดให้ได้ปริญญาตรี ในระยะเวลาประมาณ 10 กว่าปี ม.ต้น ไป ม.ปลาย ไปเข้าสถาบันอุดมศึกษา อีก 4 ปี เพื่อให้ได้ปริญญาตรี การเล่าเรียนของตัวเองไม่มีขีดจำกัดแล้ว นั่งอยู่ที่นี่ก็เรียนได้ คือไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งเพื่อที่จะเอาปริญญา แต่เรียนเพื่อเร่งที่จะได้ความรู้” ธันยาบอก

ภาคการเกษตร ภาคการท่องเที่ยว ภาคการค้าชายแดน คือ 3 ส่วนสำคัญที่กำลังอยู่ในแผนการเตรียมคนให้พร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะปลูกพืช ทำประมง ค้าขาย ทำรีสอร์ต ชิปปิ้ง ขนส่งของ พื้นที่แห่งนี้ก็ยังขาดคนที่มีความเชี่ยวชาญเหล่านี้อยู่

เรื่องท่องเที่ยว เรามีคนอยู่ในพื้นที่หมู่เกาะช้าง เกาะกูด เกาะกระดาด ไม่ถึงสองหมื่น แต่นักท่องเที่ยวมาเป็นล้าน ยิ่งเราบริการดี เรายิ่งได้ ภาษาสำคัญมาก ภาษาอังกฤษต้องให้ได้อันแรก กัมพูชาเราก็ควรจะเอา ภาษาที่สามก็เลือกแล้วแต่เราชอบ นี่เพื่อการท่องเที่ยว การค้าชายแดน เขาจะเอาเงินมาให้เรา แต่เราไม่มีปัญญาที่จะเจรจากับเขา แล้วเราจะได้เงินได้ยังไง ถ้าเราไม่มีความรู้ก็ทำไม่ได้ ธันยา ฉายให้เห็นประโยชน์ของการรีบเปลี่ยน “ทัศนคติ” ตั้งแต่ตอนนี้

เช่นเดียวกับ เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้รับผิดชอบโครงการดูแลระบบสารสนเทศเพื่อการเก็บข้อมูลแรงงานความต้องการในจังหวัดตราด ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ที่เห็นว่า การเตรียมคนเพื่ออาชีพนั้นต่างจากการเตรียมคนเพื่อเข้าระบบมหาวิทยาลัย ถ้าจะให้เกิดประสิทธิภาพสูง ต้องเริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาตอนต้น โดยจะเกิดได้นั้นคนตราดเองต้องมีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการทำงานสายอาชีพตั้งแต่ต้น

“ที่ตราดกำลังทำวันนี้ คือ การนับหนึ่งของการพัฒนาอีกสิบกว่าจังหวัด” เขาบอก โดยเขาและทีมงานกำลังใช้หลักวิชาการมาวิเคราะห์เพื่อแนวทางการเปลี่ยนแปลงให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งกับคนและสังคม

“จังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด ตราด สระแก้ว เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ตาก ประจวบ ฯลฯ โครงสร้างเหมือนกันเลย มีการเกษตร ท่องเที่ยว การค้าชายแดน แล้วก็จะเป็นบทเรียนให้พื้นที่ติดพม่า ลาว กัมพูชา ที่มีสถานะคล้ายๆ กับตราดด้วย”เกียรติอนันต์ กล่าวไว้ในเวทีสรุปแนวคิด “จังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ จ.ตราด”

เวลานี้ปัญหาสำคัญที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาจะต้องแก้ให้ได้ คือ การผลิตบุคลากรออกมาแล้วไม่ตอบโจทย์ด้านการประกอบอาชีพ หรือไม่ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ในบ้านเราเท่าที่ควร

การทำความเข้าใจเรื่องอาชีพใหม่ ที่จริงแล้วอาจจะไม่ใช่แค่พื้นที่ชายแดนหรือพื้นที่พิเศษใดๆ แต่ควรจะเกิดขึ้นทั้งประเทศ