BDMS จับมือ ศิริราช-เอ็มดี แอนเดอร์สันสู้มะเร็ง

BDMS จับมือ ศิริราช-เอ็มดี แอนเดอร์สันสู้มะเร็ง

BDMS จับมือ ศิริราช ยกระดับความร่วมมือกับ เอ็มดี แอนเดอร์สัน ศูนย์มะเร็งอันดับหนึ่งของโลก ร่วมเป็น “SISTER INSTITUTION” ประกาศต้านภัยมะเร็ง

บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ผู้ประกอบธุรกิจบริหารโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของประเทศไทย ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญกับคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในการเป็น “สถาบันพี่สถาบันน้อง” (Sister Institution) กับศูนย์มะเร็ง เอ็มดี แอนดอร์สัน แห่งมหาวิทยาลัยเทกซัส สหรัฐอเมริกา ตอกย้ำวิสัยทัศน์ “Your Trusted Healthcare Network” ต่อเนื่อง และนับเป็นครั้งแรกของความร่วมมือระหว่างสามสถาบันโดยองค์กรแพทย์ภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา พร้อมเดินหน้าร่วมค้นคว้าวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ในการลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งและพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ๆ เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในทุกระยะให้หายหรือมีชีวิตอย่างมีคุณภาพและมีความสุข

ทั้งนี้ จากสถิติการเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ทั่วโลกที่มีอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 14 ล้านราย ในแต่ละปี แม้จะมีวิวัฒนาการในการรักษาโรคอย่างต่อเนื่อง แต่สาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลกก็ยังเกิดจาก "โรคมะเร็ง" โดยเฉพาะ 5 โรคมะเร็งร้าย ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ และมะเร็งเต้านม ศูนย์มะเร็ง เอ็มดี แอนเดอร์สัน แห่งมหาวิทยาลัยเทกซัส สหรัฐอเมริกา จึงได้ริเริ่มโครงการ "Sister Institution" ร่วมกับสถาบันการแพทย์ชั้นนำทั่วโลกในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมงานวิจัยทั้งที่เป็นงานวิจัยพื้นฐานและการพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ๆ ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้กรณีศึกษาระหว่างภูมิภาค เพื่อการป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง รวมถึงการรักษาให้หายหรือมีชีวิตอย่างมีคุณภาพและมีความสุข โดยที่สถาบันการแพทย์ดังกล่าวจะต้องได้รับการรับรองว่ามีศักยภาพที่จะร่วมมือกับศูนย์มะเร็งเอ็มดี แอนเดอร์สัน ได้อย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นพ.ชาตรี ดวงเนตร กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ-การแพทย์ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) เปิดเผยว่า การได้ยกระดับความร่วมมือขององค์กรการแพทย์ในระดับนานาชาติสู่การเป็น “สถาบันพี่สถาบันน้อง” (Sister Institution) ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่มีความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศไทยและศูนย์มะเร็ง เอ็มดี แอนเดอร์สัน แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตัวอย่างของความร่วมมือในลักษณะที่จะได้ผลประโยขน์สูงสุดทั้งสามฝ่าย ซึ่งจากอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เป็นประเด็นสำคัญที่นำไปสู่เป้าหมายสูงสุดในความร่วมมือเพื่อการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งและความทุ่มเทเพื่อการรักษาผู้ป่วยให้หาย เนื่องจากปัจจุบันผู้ป่วยจะไปพบแพทย์ต่อเมื่อมีอาการของโรคแล้ว ทำให้การรักษาทำได้ยากขึ้น ซึ่งด้วยการถักทอเครือข่ายระหว่างสามองค์กรแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน จะทำให้การถ่ายโอนองค์ความรู้และการร่วมกันค้นคว้าวิจัยเป็นไปอย่างลงตัว

ทั้งนี้ ขอบเขตความร่วมมือจะครอบคลุมถึงการแลกเปลี่ยนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในการศึกษาและฝึกอบรม การดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะรายที่ยากและซับซ้อน วิธีการใหม่ ๆ ในการป้องกันและตรวจคัดกรองผู้ป่วยเพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ การขับเคลื่อนเครือข่ายเช่นนี้จะช่วยให้เราสามารถเตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและเทคโนโลยีความก้าวหน้าทางการแพทย์รองรับการรักษาผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม

ด้าน ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และภาคเอกชน ได้แก่ BDMS ร่วมกับสถาบันชั้นนำระดับโลก เช่น เอ็ม ดี แอนเดอร์สัน ถือเป็นก้าวที่สำคัญของวงการแพทย์และสาธารณสุขของไทย โดยศิริราชเป็นโรงเรียนแพทย์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และมีความเป็นเลิศทั้งในระดับชาติและระดับสากลในด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยและการวิจัย และได้ทำหน้าที่ผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็ง เช่น ศัลยแพทย์ผ่าตัดโรคมะเร็ง อายุรแพทย์ด้านเคมีบำบัด หรือแพทย์รังสีรักษา ความร่วมมือกับเอ็ม ดี แอนเดอร์สัน จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับนักวิจัย แพทย์และบุคลากรอื่นๆด้านโรคมะเร็งของศิริราช ม. มหิดล รวมทั้งทำให้เกิดความร่วมมือเพื่อพัฒนาแนวทางการรักษาใหม่ๆ เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ศ.ดร.โอลิเวอร์ บอกเลอร์ รองประธานอาวุโสฝ่ายวิชาการ และรองประธานโปรแกรมวิชาการในระดับนานาชาติ ศูนย์มะเร็ง เอ็มดี แอนเดอร์สัน แห่งมหาวิทยาลัยเทกซัส สหรัฐอเมริกา กล่าวเสริมว่า เรามีความยินดีและพร้อมที่จะเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับองค์กรทางการแพทย์ของภาครัฐอย่างศิริราชและ BDMS จากภาคเอกชน ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังมีโรคมะเร็งหลายชนิดหลายรูปแบบที่เราพบได้น้อยในซีกโลกด้านตะวันตก ทำให้ขาดโอกาสในการเรียนรู้พัฒนาความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆที่จะป้องกันรักษากลุ่มโรคมะเร็งดังกล่าว ด้วยความร่วมมือระหว่างกันที่นานถึง 5 ปี (พ.ศ. 2558-2563) เป็นระยะเวลานานมากพอสำหรับการลงพื้นที่เพื่อศึกษากรณีตัวอย่างในเชิงลึก อันจะนำไปสู่การวิจัยค้นคว้าเพื่อการรักษาที่ให้ประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะถูกส่งต่อเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรแพทย์ในพื้นที่ทั้งสองเป็นอย่างยิ่ง และสามารถสืบสานพัฒนาความสัมพันธ์นี้ให้สืบต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไปในอนาคต