'วิษณุ'เผยฝ่ายการเมือง แถลงความเห็นร่างรธน.ได้

'วิษณุ'เผยฝ่ายการเมือง แถลงความเห็นร่างรธน.ได้

"วิษณุ"เผยฝ่ายการเมืองตั้งโต๊ะแถลงความเห็นร่างรธน.ได้ ปัดส่งสัญญาณสปช.โหวตคว่ำ ส่วนผลประชามติให้นับเสียงเกินครึ่งของผู้มาใช้สิทธิ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้ชี้แจงความคืบหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 1ก.ย.ที่ผ่านมารับทราบแล้ว ทั้งในส่วนของเนื้อหาที่ลดลงจาก 315 มาตรา เหลือ 285 มาตรา รวมถึงอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.)

โดยที่ประชุมได้ถามถึงรายละเอียด แต่นายกรัฐมนตรีไม่ได้มีข้อกังวลใดๆ และได้ชี้แจงว่าคปป.มีทั้งอำนาจในยามปกติและอำนาจพิเศษในยามวิกฤตตามมาตรา 280 ในร่างรัฐธรรมนูญ และจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อสภาเห็นชอบด้วยเสียง 2 ใน 3 และต้องอยู่ในภาวะที่รัฐบาลไม่สามารถใช้อำนาจใดๆในการควบคุมแก้ไขวิกฤตได้แล้ว ทั้งยังต้องขอความเห็นจากประธานศาลปกครอง ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นมาตรการที่รัดกุมตามแบบฉบับที่เขียนในรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ นอกจากนี้ที่ประชุมไม่ได้กังวลกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของหลายฝ่าย 

เมื่อถามถึงกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน แถลงสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นเรื่องของนายสุเทพ ไม่ทราบเพราะเป็นเรื่องของหลายฝ่าย ประเทศไทยเรามีหลายฝ่าย ซึ่งนายสุเทพ สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด ใครก็สามารถแสดงความเห็นได้ คงไม่ใช่การชี้นำ แต่เป็นการแสดงความคิดเห็น เราไม่ได้ปิดปากอย่างที่มีการกล่าวหากัน

เมื่อถามว่าการที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ขอแถลงข่าวบ้างจะได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ได้ ไม่มีปัญหาอะไร แถลงข่าวให้สัมภาษณ์ได้ทั้งนั้น ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทย(พท.)แถลงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น รัฐบาลไม่ได้ห้าม แต่ห้ามการจัดกิจกรรมทางการเมือง เพราะรัฐบาลกังวล อย่าให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยจนแตกแยกสามัคคี แต่ประเภทที่ฝ่ายหนึ่งพูดแล้วอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอม ปิดถนน ยึดโรงพยาบาล ปิดโรงเรียน ยึดสนามบิน ตรงนี้ทำไม่ได้ เสรีภาพนั้นมีอยู่ และรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ก็ให้เสรีภาพ 

เมื่อถามว่า สมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.) บางส่วนระบุว่ารัฐบาลส่งสัญญาณให้โหวตคว่ำในวันที่6ก.ย.นี้เนื่องจากกลัวความขัดแย้ง นายวิษณุ กล่าวว่า วันนั้นผู้สื่อข่าวเป็นคนถาม แต่ปัญหาของคนที่ตอบคือสื่อไม่ค่อยจะลงคำถาม เพราะตอนนั้นได้ตอบเรื่องข้อดีข้อเสียของคปป. และจากนั้นผู้สื่อข่าวได้ถามว่ากลัวจะเกิดความแตกแยกแตกสามัคคีกันหรือไม่ ซึ่งตนก็ตอบว่าจะแตกแยกตอนนี้หนหนึ่ง และตอนมีรัฐบาลแล้วอีกหนหนึ่ง ซึ่งกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ รู้ว่าเรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว และรัฐบาลก็ไม่ได้ส่งสัญญาณอะไร ไม่เคยบอก ถ้าจะส่งสัญญาณตนพูดไปตรงๆไม่ดีกว่าหรือ 

"ไม่ได้เห็นสัญญาณอะไร นายกฯพูดเสมอว่า ให้ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแม็พตามขั้นตอนของมัน ท่านพูดอย่างอื่นไม่ได้หรอก แม้จะอยากพูด แต่ก็เป็นความคิดส่วนตัว ในแง่ของรัฐบาลก็ต้องพูดว่า ขั้นตอนของทุกอย่างเป็นอย่างไร ซึ่งอย่างน้อยการที่รัฐบาลได้ให้เตรียมการรับมือประชามติ ที่จะใช้เวลา 4 เดือน เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งว่ารัฐบาลต้องเตรียมทุกเรื่องเอาไว้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น"

นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนการทำประชามติ ในระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ได้ระบุถึงบทลงโทษของผู้กระทำผิด เพราะในรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว กกต.ไม่สามารถลงโทษได้ จึงให้นำ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 มาบังคับใช้ ซึ่งมีเพียงการห้ามทั่วไป เช่น ห้ามฉีกบัตร ห้ามขัดขวางการออกเสียงประชามติ ห้ามทำโพลเผยแพร่ก่อนลงประชามติ 7 วัน อย่างไรก็ตาม แม้บรรดานักการเมืองจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นอะไร ไม่ถือเป็นความแตกแยก แต่ไปมองในเรื่องอื่นมากกว่าที่ทำให้ขัดต่อความสงบเรียบร้อย

นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนผลการประชามตินั้น ในรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว ฉบับแก้ไข พ.ศ.2558มาตรา 37 (7) ไม่ได้นับว่ามีผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติจำนวนเท่าไหร่ แต่ให้นับว่ามีผู้มาใช้สิทธิจำนวนเท่าไหร่ และร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการออกเสียงประชามติได้ก็ต่อเมื่อมีเสียงเกินครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ เพราะ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ปี 2552 จะต่างจากปี 2550 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการลงประชามติในประโยชน์ของสาธารณะ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ 

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้เคยแสดงข้อกังวลว่าหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วอาจจะเกิดความขัดแย้ง นายวิษณุ กล่าวว่า ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วคงไม่มีอะไรมาก แต่ตอนที่ร่างกฎหมายลูกก็จะมีการถกเถียงกันเหมือนตอนร่างรัฐธรรมนูญ จะมีคนไม่พอใจออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้น ไม่ว่าจะร่างกฎหมายลูกกี่ฉบับก็จะทะเลาะกันเท่าจำนวนที่ร่าง และเมื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ก็จะมีการถกเถียงว่าพรรคนั้นพรรคนี้ได้หรือไม่ได้ มีการโกงเลือกตั้ง เรื่องเก่าๆก็จะกลับคืนมา แต่ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการคาดการณ์ ไม่ได้แช่ง ใครที่เป็นวิญญูชนก็สามารถคาดการณ์เช่นนี้ได้ จึงจำเป็นจะต้องมีมาตรการไว้รับมือ แล้วถ้าหากไม่เกิดอะไรขึ้นก็ถือว่าดี และมาตรการที่ว่าก็ไม่ต้องนำมาใช้ 

นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไรก็มีคนไม่พอใจอยู่อย่างนั้น ไม่มีรัฐธรรมนูญที่ไหนเขียนมาแล้วคนจะพอใจทั้งหมด ซึ่งในชั้น กมธ.ยกร่างฯ เองก็มีการโหวตโดยต้องยอมรับเสียงข้างมากและข้างน้อย ซึ่งรู้ๆกันอยู่ว่าฝ่ายเสียงข้างน้อยนั้นไม่พอใจ แต่เขาก็ไม่ได้ไปทำอะไรเรื่องก็จบ 

เมื่อถามว่า คำถามพ่วงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ควรเปิดเผยให้สาธารณะได้ถกเถียงกันก่อนหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ทราบว่าทางสปช.เตรียมการไว้แล้วในเรื่องการประชุมและการโหวต ในวันโหวตทุกคนมีสิทธิจะยกแนวคิดตัวเองขึ้นมา และข้อบังคับไม่ได้ระบุว่าคำถามนั้นต้องเปิดเผยก่อนวันโหวต 30วัน ดังนั้น ทุกคนจึงสงวนความคิดตัวเองไว้แล้วค่อยยกขึ้นมาโหวตกัน ซึ่งจะมีการพูดถึงข้อดีข้อเสียของคำถาม หากไม่แน่ใจก็ไม่ต้องเลือก