‘ธนพิริยะ’โชห่วยพันธุ์ไทย สู้ศึก…’โมเดิร์นเทรด’

‘ธนพิริยะ’โชห่วยพันธุ์ไทย สู้ศึก…’โมเดิร์นเทรด’

‘ธนพิริยะ’ โลคัล คอนวีเนียนฯทุนท้องถิ่นอยู่รอดท่ามกลางการรุกคืบเข้ามาของยักษ์โมเดิร์นเทรดแข่งขันรุนแรง พาธุรกิเข้าจดทะเบียนตลาดฯ MAI สำเร็จ

จากร้านค้าแผงลอยเล็กๆ ในตลาดสดเทศบาลเมืองเชียงราย ที่เริ่มเปิดขายมาตั้งแต่รุ่นพ่อ-แม่ เมื่อปี 2508 (เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา) ก่อนจะย้ายเข้ามาเปิดที่ร้านห้องแถวบริเวณแยกหอนาฬิกา กลางเมืองเชียงราย โดยใช้ชื่อว่า “โง้วทองชัย”

ในปี 2534 ได้พัฒนารูปแบบให้เป็นมินิมาร์ทที่มีความทันสมัยมากขึ้น โดยการนำของ “ธวัชชัย - ภ.ญ.อมร พุฒิพิริยะ” สองสามีภรรยา ที่เข้ามาปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการภายใต้ชื่อว่า “พิริยะซูปเปอร์” และได้จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดธนพิริยะ ในปี 2543 โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

หลังจากนั้น ธนพิริยะเริ่มเติบโตขึ้น จนมีสาขาที่ 2 ในปี 2550 และได้ขยายสาขามาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2555 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธนพิริยะ ได้แปรสภาพเป็นบริษัท ธนพิริยะ จำกัด จากแนวคิดของ ธวัชชัย และ ภ.ญ.อมร  มุ่งเน้นการบริหารจัดการระหว่างราคาที่คุ้มค่า และความสะดวก จำหน่ายสินค้าทั้งปลีกและส่ง เน้นการบริการที่ดีให้กับลูกค้า 

ภายใต้สโลแกน “ราคาถูกจริง ชอปปิงถูกใจ อยู่ใกล้บ้านคุณ” 

จากความมานะในการทำงานและมีแนวคิดต้องการให้ธุรกิจรุดหน้า ธนพิริยะจึงก้าวเข้าสู่การเป็นบริษัทมหาชน ในปี 2558 ภายใต้ชื่อ บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) ถือเป็นค้าส่ง-ค้าปลีกสายเลือดไทย “รายแรก” ของประเทศที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI โดยมีผู้ถือหุ้นเป็นคนท้องถิ่น พร้อมทั้งกระจายหุ้นให้กับพนักงานได้มีโอกาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการ

ภ.ญ.อมร พุฒิพิริยะ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังว่า เริ่มเข้ามาช่วยบริหารจัดการธนพิริยะ ด้วยเงินค่าสินสอดเพียง 3 แสนบาท เมื่อปี 2534 ด้วยการลงทุนปรับร้านขายของชำที่มีอยู่เดิมให้เป็นมินิมาร์ทที่มีความทันสมัย โดยซื้อสินค้าจากยี่ปั้วในจังหวัดเข้ามาวางจำหน่าย เมื่อมีลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าชนิดเดียวกันจำนวนมากจึงได้เริ่มลดราคาให้ 

โดยยึดหลักซื้อมากถูกลง ลูกค้าจึงเริ่มเข้ามาเหมาสินค้าในร้านไปจำหน่ายต่อ ในขณะที่เวลานั้น ยังไม่มีคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการคิดราคา การออกใบเสร็จยังต้องเขียนด้วยลายมือ 

จนกระทั่งเมื่อประมาณปี 2540 มี “โมเดิร์นเทรดรายใหญ่” เข้ามาในพื้นที่ เป็นจุดที่ทำให้ธนพิริยะเกือบที่จะต้องปิดตัวเอง เนื่องจากขณะนั้นเป็นเพียงมินิมาร์ทขนาดเล็ก ขายของทั้งปลีกและส่ง และมีข่าวว่าหากโมเดิร์นเทรดเข้ามาในพื้นที่ร้านค้าของคนไทยจะต้องได้รับผลกระทบอย่างหนักและภายใน 10 ปี ร้านค้าโชห่วย ของคนไทยจะถูกกลืนหายไป

วันนั้น คิดว่าเราต้องเดินหน้าเพื่อบริหารธุรกิจนี้ต่อไปให้ได้ คิดว่า เราจะไม่ยอมตายเป็นรายแรก แต่หากเราจะต้องตายในธุรกิจนี้เราจะต้องตายเป็นรายสุดท้าย”

ภ.ญ.อมร เล่าว่า การรุกคืบของโมเดิร์นเทรด เข้ามาเปิดในพื้นที่ในช่วง 3 เดือน ยอดขายของธนพิริยะหายไปถึง 50% เหลือวันละ 30,000 บาท จึงเริ่มหันกลับมามองร้านของตัวเอง 

จะทำอย่างไรให้ลูกค้าอยากเข้ามาในร้านเพิ่มขึ้น !

จึงเริ่มที่จะพัฒนาร้านให้ “ทันสมัย” ..กล้าที่จะเสียเพื่อที่จะได้มา  “

สิ่งที่ผ่านมาที่ธนพิริยะไม่กล้าขยับขยายลงทุนเพิ่ม เพราะติดที่ใจเราไม่กล้าที่จะเสีย แต่เมื่อเรากล้าที่จะเสียเพื่อแลกกับสิ่งที่ได้ ทำให้ลูกค้าเริ่มเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งมีการขยายสาขาเป็นสาขาที่ 2 เพื่อรองรับลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อปี 2550 ห่างจากสาขาแรกเป็นเวลาถึง 16 ปี และเริ่มขยายสาขาเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนปี 2557 ธนพิริยะมีสาขาอยู่ในจังหวัดเชียงรายทั้งสิ้น 10 สาขา ปัจจุบันในปี 2558 มีทั้งสิ้น 12 สาขา และมีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มในปี 2559 อีก 3 สาขา”

โดยนิยามตัวเองเป็น “local convenience supermarket” หรือห้างท้องถิ่นเชียงราย ที่มีความสะดวกสบายมีสินค้าอุปโภคบริโภคไว้รองรับกลุ่มลูกค้า นอกจากต้องกล้าเสียจึงจะได้มาแล้ว อีก“กลยุทธ์” การปรับตัวเมื่อมีโมเดิร์นเทรดรายใหญ่เข้ามาในพื้นที่  คือ ธุรกิจต้องปรับตัวให้เร็ว 

“บริษัทเน้นในเรื่องของราคาถูกจริง เนื่องจากบริษัทไม่ได้มีค่าใช้จ่ายในเรื่องโฆษณา ไม่มีค่าใช้จ่ายในการใช้สื่อต่างๆ ธนพิริยะจึงสามารถจำหน่ายสินค้าที่ถูกได้ ด้านการบริการให้กับลูกค้าถือเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่จะต้องดูแลลูกค้าให้มีความสุขในการเข้ามาจับจ่ายกับธนพิริยะ ประกอบกับ ธนพิริยะมีสาขาที่กระจายอยู่ทั่วในจังหวัดเชียงราย อยู่ใกล้กับผู้บริโภคสะดวกที่จะเข้าไปหาซื้อสินค้า”

ปัจจุบันยังจัดโปรโมชั่นสินค้า เพื่อดึงกลุ่มลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ และจัดทำเว็บไซด์ แฟนเพจ ใช้โซเซียลเข้ามาในการกระจายข่าวสารออกไปให้ทั่วถึง ทำให้ลูกค้าเริ่มรับรู้ข่าวสารและเลือกที่จะเข้ามาใช้บริการมากขึ้น 

เขายังสรุปวิธีคิดการทำร้านโชห่วยให้ประสบความสำเร็จว่า ผู้ประกอบการต้อง “เปลี่ยนวิธีการคิด ต้องกล้าที่จะเรียนรู้” สิ่งไหนยังไม่รู้ต้องศึกษาให้รู้อย่างชัดเจน เพื่อนำความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้กับธุรกิจให้มีความเหมาะสมกับวัฒนธรรมขององค์กร มีความผสมผสานจนออกมาเป็นโมเดลของตัวเอง 

“ในขั้นแรกต้องเปิดรับเพื่อที่จะเรียนรู้ ธุรกิจจะเติบโตได้อย่างมั่นคงขึ้นอยู่กับการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจของตัวเอง ไม่ใช่ลอกเลียนแบบความรู้ทั้งหมดมาใช้ แต่นำมารู้ที่ได้รับมาปรับใช้ แม้ กระทั่งขนาดของธุรกิจก็ไม่สามารถที่จะลอกเลียนขนาดกันได้ ต้องศึกษาถึงความเหมาะสมของธุรกิจที่ทำอยู่ว่าควรมีขนาดเท่าไหร่ ต้องเรียนรู้เพื่อที่จะบริหารความเสี่ยงเป็น อยากให้ร้านโชห่วยรวมตัวกันให้ได้เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ การต่อรองกับซัพพลายเออร์จะมีเพิ่มมากขึ้น”

สำหรับผลประกอบการเมื่อปี 2557  ธนพิริยะ มีรายได้อยู่ประมาณ 1,200 ล้านบาท โดยคาดว่าในปี 2558 จะมีผลประกอบการเพิ่มขึ้นประมาณ10% โดยคาดว่าอัตราการเติบโตของบริษัทจะขยายตัวไปได้อย่างต่อเนื่อง กลุ่มลูกค้าของบริษัทจะเป็นคนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงราย ปัจจุบันยังไม่มีแผนที่จะขยายออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน 

แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( AEC) ในต้นปี 2559 จะต้องปรับตัวอีกอย่างแน่นอน

-------------------------

 ยึดสูตรบริหาร “80 / 20”

ภ.ญ.อมร พุฒิพิริยะ รองกรรมการผู้จัดการธนพิริยะ ยังเล่าว่า ในครั้งแรกที่เริ่มทำงาน มีพนักงานคนเดียว มีผู้บริหาร 4 คน เปิดร้านตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม โดยไม่มีวันหยุด  

ใน 5 ปีแรกทำเช่นนี้มาอย่างต่อเนื่อง ยอมเสียสละเวลาของตัวเองเพื่อทำงานวันละ 10 ชั่วโมง จนปัจจบันมีผู้บริหารทั้งสิ้น 50 คน มีพนักงานปฏิบัติการกว่า 700 คน ในระยะเวลา 25 ปีของการดำเนินธุรกิจ

การขยายตัวของธนพิริยะ ยังเกิดมาจากส่วนตัวเป็นคนชอบการอบรม แสวงหาความรู้และเปิดรับสิ่งใหม่เข้ามาเพื่อนำมาปรับใช้ โดยเฉพาะ “ระบบบัญชี” เพราะเห็นความสำคัญว่าจะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะที่การทำการตลาด เชื่อว่า ผู้ประกอบการทุกแห่งต่างมีอยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว โดยส่วนตัว ยังมีแนวคิดในการบริหารงานที่ว่า การบริหารจัดการธุรกิจ 80 % จะต้องมองไปข้างหน้า 20% เป็นการทำงานในปัจจุบัน การบริหารจัดการจะต้องโปร่งใส เพื่อการบริหารจัดการที่ง่ายสะดวกมองเห็นได้ชัดเจน สิ่งไหนไม่รู้ต้องศึกษาให้รู้อย่างชัดเจน ร้านโชห่วยไทยต้องเปลี่ยนวิธีคิด ต้องกล้าที่จะเรียนรู้ เพื่อนำกลับมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจที่ทำอยู่

เธอยังบอกว่า แม้ปัจจุบันจะดำเนินธุรกิจโดยทายาทรุ่นที่ 2 แต่ได้เตรียมแผนการบริหารให้กับรุ่นที่ 3 และ รุ่นที่ 4 ไว้เรียบร้อยแล้ว 

“จากที่ได้ฟังผู้รู้ในหลายๆ บอกว่าธุรกิจคนไทยส่วนใหญ่จะหยุดอยู่ที่รุ่นที่ 3 มีอายุธุรกิจไม่ถึง 100 ปี จึงอยากที่จะทำธุรกิจให้มาก 100 ปีขึ้นไป โดยเริ่มวางแผนบริหารการมีทายาทโดย ทายาท 2 คนแรก ซึ่งจะเป็นรุ่นที่ 3 ที่จะเข้ามาสืบทอดธุรกิจ มีอายุห่างจาก คนสุดท้ายประมาณ 12 ปี ซึ่งถูกวางไว้เป็นผู้บริหารรุ่นที่ 4 และได้พยายามบ่มเพาะทายาทให้มองธุรกิจโชห่วยไม่ใช่ธุรกิจที่ต่ำต้อย โดยสอนทายาททุกคนว่า ธุรกิจใดๆ ก็ตามที่มีความโปร่งใส มีคุณธรรม คือธุรกิจที่มีศักดิ์ศรี”

ส่วนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีคนในท้องถิ่นเข้ามามีหุ้นในบริษัทยิ่งจะทำให้บริษัทมีความเข้มแข็งมากขึ้น เนื่องจากทุกคนเป็นเจ้าของธนพิริยะ หากจะซื้อสินค้าก็ต้องซื้อจากร้านค้าของตัวเอง 

-----------------------------------------

Key to Success

ทางรอด “ทุนท้องถิ่น” 

-กล้าลงทุนปรับปรุงร้านให้ทันสมัย

-เรียนรู้ระบบบัญชี

-เปลี่ยนวิธีคิด เรียนรู้อยู่เสมอ

-ปรับตัวให้เร็ว

-ธุรกิจต้องมองไปข้างหน้า