นกทะเล 90% มีพลาสติกอยู่ในท้อง

นกทะเล 90% มีพลาสติกอยู่ในท้อง

ผลการศึกษาล่าสุดชี้ นกทะเลในปัจจุบันมีพลาสติกอยู่ในท้องมากถึง 90% ตอกย้ำถึงผลกระทบของการใช้พลาสติกอย่างแพร่หลายที่ส่งผลกระทบถึงนกทะเลทั่วโลก

ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารโพรซีดดิงส์ ออฟ เดอะ เนชันนัล อะคาเดมี ออฟ ไซแอนซ์ระบุว่า พลาสติกจำนวนมหาศาลกำลังก่อมลภาวะไปทั่วทุกหนแห่ง การวิเคราะห์ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1960 จนถึงปัจจุบันพบว่า การพบพลาสติกในท้องของนกทะเลกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว อยู่ที่ 90% จากที่เคยพบไม่ถึง 5% ในช่วงคริสต์ทศวรรษหลังปี 1960 ก่อนเพิ่มเป็น 80% ในปี 2553

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังคาดว่า ภายในปี 2593 นกทะเลเกือบทุกตัวจะมีพลาสติกในท้อง โดบเป็นพลาสติกหลากหลายรูปแบบทั้งขวด ถุง ฝา เส้นใยสังเคราะห์ และของใช้ต่างๆ ที่ถูกทิ้งในแม่น้ำลำธาร ท่อระบายน้ำ แหล่งทิ้งขยะไปสู่ทะเลและมหาสมุทร

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า นกทะเลกินสิ่งเหล่านี้เข้าไปเพราะคิดว่าเป็นอาหารหรือกินโดยไม่ได้ตั้งใจ ทำให้พลาสติกไปอุดตันในระบบย่อยอาหารจนพวกมันผ่ายผอมและตายในที่สุด

ผลการศึกษายังพบว่า ทะเลแทสมันในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ที่อยู่ระหว่างออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ เป็นจุดที่นกทะเลเสี่ยงได้รับอันตรายจากพลาสติกสูงที่สุดในโลก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีหนทางลดอันตรายนี้ เพราะมีตัวอย่างในยุโรปที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การกำจัดขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพไม่ให้ปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมช่วยลดจำนวนพลาสติกในท้องของนกทะเลลงอย่างเห็นได้ชัดโดยใช้เวลาไม่ถึง 10 ปี