ร่างรธน.ฉลุยผ่านสปช. เดินหน้าสู่'ประชามติ'

ร่างรธน.ฉลุยผ่านสปช. เดินหน้าสู่'ประชามติ'

ร่างรัฐธรรมนูญฉลุยผ่านสปช. เดินหน้าสู่ทำ"ประชามติ" เพราะคสช.วางโครงสร้างอำนาจใหม่

ถึงนาทีนี้แล้วแม้จะมีข่าวว่า มีความพยายามที่จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญในชั้นการลงมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทั้งจากคนใน สปช.เอง และจากคนนอกทั้งที่เรียกร้องอย่างเปิดเผย เช่นพรรคการเมืองสองขั้วอย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย 

ยังรวมไปถึงข่าวที่ถูกปล่อยออกมาว่ามีคนในเครื่องแบบต้องการให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยเหตุผลบางประการ เช่น ต้องการให้รัฐบาลชุดปัจจุบันอยู่ในอำนาจต่อไป หรือต้องการให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อให้กำจัดฝ่ายตรงข้ามให้รุนแรงกว่านี้ 

แต่หากดูความเป็นไปล่าสุดแล้วโอกาสที่ร่างรัฐธรรมนูญจะตกในชั้น สปช. นั้น โอกาสแทบเป็นไปไม่ได้  

อะไรที่ทำให้ชี้ชัดลงไปเช่นนั้น นั่นก็คือท่าทีของคสช. ที่พอใจกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้  ต้องไม่ลืมว่าคสช. นั้นเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองครั้งนี้ เพื่อจัดการทุกอย่างให้เบ็ดเสร็จ รวมไปถึงการจัดสรรวางโครงสร้างอำนาจทางการเมืองใหม่ เพื่อมิให้กลับเข้าสู่โครงสร้างอำนาจทางการเมืองแบบเดิมหลังปี 2540 ที่อำนาจของชนชั้นนำเดิมถูกผ่องถ่ายไปอยู่ในมือนักการเมือง และนักการเมืองดูจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ  

ดังนั้นเราจึงเห็นการวางโครงสร้างอำนาจใหม่ ไม่ว่าะจะเป็นการวางระบบการเมืองที่ไม่เอื้อต่อการให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง หรือการวางระบบเลือกตั้งที่ทำให้เกิดรัฐบาลผสม เพื่อไม่ให้มีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งกุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด  และเมื่อต้องแคร์พรรคร่วมรัฐบาลทำให้นโยบายต่างๆก็ไม่สามารถเดินหน้าได้เต็มที่เพราะแต่ละพรรคย่อมมีแนวทางการดำเนินการตามนโยบายที่ต่างกัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือรัฐบาลต่างตอบแทน 

ขณะที่การใช้อำนาจก็ถูกวางข้อจำกัดไว้อย่างละเอียดละออ พอๆกับระบบการตรวจสอบโดยบุคคลที่ไม่มีความเชื่อมโยงจากประชาชนก็แทบจะเป็นตะแกรงตาถี่  สุดท้ายระบบเช่นนี้ก็จะทำให้การบริหารแบบสร้างสรรค์เป็นไปได้ยากขึ้น และสุดท้ายก็หมดคนที่จะจคิดสร้างสรรค์และเหลือทิ้งไว้เพียงซากการเมืองที่ดำเนินการเพียงอยู่บนผลประโยชน์ไปวันๆ 

นอกจากนี้ยังมีการสถาปนาองค์อำนาจใหม่ที่เรียกชื่อว่า"คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง (คปป.) " ซึ่งในนั้นมี ผบ.เหล่าทัพรวมอยู่ด้วย  และมีอำนาจที่เรียกว่าหากจะใช้ก็อยู่เหนือรัฐบาลปกจติ อาทิเมื่อเสนอแผนการเกี่ยวกับปกิรูปและการปรองดอง แม้รัฐบาลไม่เห็นด้วย แต่หากพวกเขายืนยันด้วยมติ 2 ใน 3 รัฐบาลก็ต้องดำเนินการตาม  นี่เองที่เรียกว่า “อำนาจเหนือ” รัฐบาลปกติ 

รวมไปถึงอำนาจที่จะเข้ามาควบคุมประเทศในสถานการณ์พิเศษ และบัญญัติไว้ว่าการปฏิบัติของพวกเขาชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่แปลกที่นี่เองจะจะถูกนิยามให้เป็น"รัฐประหารตามรัฐธรรมนูญ" 

เหล่านี้ถูกมองว่าคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ตามโจทย์ที่ คสช. ให้ไว้ เพราะหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้บังคับใช้โครงสร้างอำนาจจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง และที่ผ่านมาผู้มีอำนาจก็ไม่เคยรังเกียจรังงอนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 

แม้จะมีหลายคนพยายามลุ้นโดยจับเอาคำพูด “วิษณุ เครืองาม” ว่าอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งหากมีการทำประชามติ แต่หากดูคำสัมภาษณ์ทั้งหมดโดยรวมแล้วจะเห็นโทนว่าเขานั้นออกแนวสนับสนุนด้วยซ้ำ 

"หากมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่อีก ก็ยังไม่ทราบว่าประชาชนจะเกิดความพอใจหรือไม่เพราะหน้าตาและความคิดของผู้ร่างคณะใหม่ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร แล้วจะร่างออกมาอย่างไร จะหนักไปกว่าเดิมหรือไม่ ก็ยังไม่ทราบ ดังนั้นทางออกมีอยู่แล้วคือการโหวตของ สปช.ในวันที่ 6 ก.ย."

นอกจากนี้ ท่าทีของผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของ คสช. อย่างกลุ่ม กปปส. ที่นำโดย “สุเทพ เทือกสุบรรณ”  ก็ออกมาแถลงจุดยืนสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยระบุว่าดีพอที่จะนำไปสู่การทำประชามติ  

แม้แต่ในส่วน คปป. เอง"สุเทพ" ก็ออกมาการันตีให้อย่างเต็มร้อยว่า"เป็นหลักประกันที่ทำให้ประชาชนมั่นใจว่า เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้การปฏิรูปประเทศไทยจะได้ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้หน่วยงานของรัฐต้องทำการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็น และทำให้เชื่อมั่นว่าการปฏิรูปประเทศไทยจะเดินต่อไปได้"

และแม้จะมีความเปลี่ยนแปลง หากคสช. ไม่อยากให้รัฐธรรมนูญผ่านบังคับใช้ การให้ตกในชั้นประชามติก็สามารถทำได้ไม่ยากเพียงอยู่นิ่งๆ และดูจะชอบธรรมมากกว่าทำให้ตกไปในชั้นนี้เสียอีก

จึงเชื่อได้ว่าหากไม่เกิดอุบัติเหตุชนิดฟ้าถล่มดินทลาย ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้น่าที่จะผ่านความเห็นชอบในวันที่ 6 ก.ย. นี้ และเดินหน้าไปสู่การทำประชามติค่อนข้างแน่