'KBANK'ผุดสินเชื่อจิ๋วแต่แจ๋วหนุนธุรกิจรายย่อย

'KBANK'ผุดสินเชื่อจิ๋วแต่แจ๋วหนุนธุรกิจรายย่อย

"ธนาคารกสิกรไทย" ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อจิ๋วแต่แจ๋ว หวังหนุนธุรกิจรายย่อย ตั้งเป้าปล่อย 5.3 พันล้านบาทในปีนี้

นายอลงกต บุญมาสุข ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อธุรกิจขนาดย่อม ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อจิ๋วแต่แจ๋ว เพื่อสนับสนุนเจ้าของธุรกิจร้านค้าทั้งธุรกิจบริการ เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ซักรีด ขายหรือซ่อมโทรศัพท์ ขายยา ร้านดอกไม้ ฯลฯ หรืออยู่ในภาคการผลิตที่เป็นโรงงานขนาดเล็ก ได้แก่ โรงงานผลิตชิ้นส่วน อะไหล่ ผลิตอาหารเครื่องดื่ม ฯลฯ ที่ทำธุรกิจมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี และมียอดขายไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี ซึ่งไม่ว่าจะจดทะเบียนพาณิชย์หรือไม่ก็สามารถยื่นขอสินเชื่อนี้ได้

เนื่องจากปัจจุบันคนไทยสนใจเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น โดยจะเริ่มจากธุรกิจเล็ก ๆ หรือธุรกิจของครอบครัว ซึ่งจากการสำมะโนธุรกิจพบว่าประเทศไทยมีผู้ประกอบการรายย่อยอยู่เกือบ 2,100,000 ราย แต่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้เพียง 338,000 ราย รวมเป็นยอดสินเชื่อ 949,000 ล้านบาท ซึ่งปัญหาที่พบคือ ผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจจะเริ่มต้นลงทุนด้วยเงินทุนสะสมส่วนตัวหรือของครอบครัว เมื่อไม่พอก็จะกู้ยืมเงินที่เป็นสินเชื่อบุคคลหรือกู้เงินนอกระบบที่มีต้นทุนดอกเบี้ยสูงมาก ทำให้เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจและการขยายกิจการในอนาคต

สินเชื่อจิ๋วแต่แจ๋ว จะให้วงเงินกู้ถึง 80% ของราคาประเมินหลักประกัน ซึ่งลูกค้าสามารถขอเป็นวงเงินโอดีเพื่อใช้หมุนเวียนทางธุรกิจได้ด้วย โดยมีวงเงินกู้รวมสูงสุด 3 ล้านบาท ระยะเวลาการผ่อนชำระนาน 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นที่เอ็มอาร์อาร์บวก 3% ต่อปี ซึ่งปัจจุบันเอ็มอาร์อาร์ของธนาคารกสิกรไทยอยู่ที่ 7.87% ทั้งนี้ลูกค้าที่ขอใช้บริการสินเชื่อดังกล่าวไม่ต้องใช้เอกสารประกอบการสมัครที่ยุ่งยาก พร้อมทั้งยังสามารถใช้บริการทางการเงินต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าในการทำธุรกิจได้ด้วย

ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าปล่อยเงินกู้ สินเชื่อจิ๋วแต่แจ๋ว ใน 4 เดือนสุดท้ายของปี 58 ไว้ที่ 5,300 ล้านบาท

"การให้บริการ สินเชื่อจิ๋วแต่แจ๋วจะช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น โดยเฉพาะขณะนี้ที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัว เงินทุนที่มีต้นทุนต่ำกว่าการกู้ยืมเงินประเภทอื่น ๆ เพื่อใช้บริหารและหมุนเวียนทางธุรกิจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจขนาดย่อม ซึ่งเป็นรากฐานที่จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ เนื่องจากมีผู้ประกอบการและมูลค่ารวมทางธุรกิจในกลุ่มนี้เป็นจำนวนมาก"นายอลงกต กล่าว