นิทาน เรื่องเล่า สัพเพเหระ'ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์'

นิทาน เรื่องเล่า สัพเพเหระ'ยอดเยี่ยม  เทพธรานนท์'

เป็นหมอบ้านที่ตอบทุกปัญหา ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องชีวิต เพราะเขาเชื่อว่า มีวันนี้ เพราะชีวิตเป็นหนี้แผ่นดิน

 

             นอกจากจัดรายการวิทยุ คุยกับหมอบ้าน ทางคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม 96.5 เมกกะเฮิร์ต ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ กรรมการอำนวยการบริษัทอินเตอร์ แพค จำกัด ยังเป็นนักเขียน มีผลงานหนังสือมากมาย อาทิ บัญญัติ 20 ประการ เตรียมบ้านก่อนน้ำท่วม ,1 ร้อยพันเรื่องราวจากอีเมล์ของยอดเยี่ยม, 2 ร้อยพันนิทานจากอีเมล์ยอดเยี่ยม และร้อยพันปัญหาในการก่อสร้างหลายเล่มของสมาคมสถาปนิกสยาม ฯลฯ

 

           ส่วนใหญ่หนังสือของเขาเขียนไว้ว่า "ไม่มีลิขสิทธิ์ หากต้องการนำไปใช้ เพื่อสังคมที่ดีขึ้น" และหลายเล่มแจกให้อ่านฟรี รวมถึงเอกสาร การเตรียมสภาพแวดล้อมเพื่อผู้สูงอายุ ผู้พิการและเด็ก ซึ่งปรับปรุงมาจากมาตรฐานที่ทำไว้หลายครั้ง โดยผ่านการศึกษา วิจัย ดูงานร่วมกับแพทย์ พยาบาล และทีมงานสถาปนิกอาสา-วิศวกรใจดี เขียนวาดข้อมูลพื้นฐาน เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้ปรับปรุงบ้านและสถานพยาบาลตามมาตรฐานทางกายภาพ เพื่อลดอันตรายที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น โดยเป็นเอกสารไม่มีลิขสิทธิ์ ที่เรียกว่า ดีที่สุดในเวลานี้

            อีกส่วน เขายังเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัย ที่ครั้งแรกเดินเข้าไปขอสอนฟรีๆ และตอนนี้ก็ยังสอนอยู่ เพราะคิดว่า ชีวิตตัวเอง ก็เรียนมาจากภาษีประชาชน ก็ควรจะใช้หนี้แผ่นดิน

            และที่แน่ๆ คือ เขาเป็นสถาปนิกที่คนว่าจ้าง และไม่ว่าจ้างให้ออกแบบ รู้ดีว่า อาจารย์ยอดเยี่ยมเป็นอย่างไร นอกจากนี้เขายังเป็นนักคิดที่ลับคมความคิดอยู่เรื่อยๆ ชอบที่จะเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน นิทานเซน และชอบเล่าเรื่องเปรียบเปรยให้ผู้คนเห็นคุณค่าบางอย่างที่คนมองข้าม

            ต้องบอกว่า เขาเป็นสถาปนิกที่รู้จริง รู้ลึก และเป็นคนที่ทำเพื่อสังคมคนหนึ่งในประเทศนี้ เป็นผู้ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน แม้ระหว่างการพูดคุย หลายครั้งเขาจะพูดว่า "ผมไม่ใช่คนดีอะไรมากมาย"

            และนี่เป็นการพูดคุยสบายๆ สไตล์ยอดเยี่ยม และเป็นแค่เศษเสี้ยวในสิ่งที่เขาเขียนและพูด ...

                                   

ทำไมอาจารย์คิดว่า ชีวิตเป็นหนี้แผ่นดิน

            จริงๆ เรากำลังใช้หนี้ เพียงแต่เจ้าหนี้ไม่ได้ทวง ชีวิตเราเป็นหนี้คนมากมาย การที่เรามาถึงตรงนี้ได้ มีคนให้โอกาสเราเยอะแยะ อย่างผมทำรายการหมอบ้าน ผมทำโดยไม่ได้เงินมายี่สิบกว่าปี ถามว่า ผมเป็นคนดีหรือเปล่า ผมไม่ได้เป็นคนดี เพียงแต่ผมทำงานใช้หนี้  ตอนผมเรียนหนังสือ ผมใช้ภาษีประชาชน เพราะทำให้คนอื่นที่อยากเรียนเสียโอกาส ผมทำรายการนี้ขึ้นมา เพื่อใช้หนี้ ดังนั้นถามว่า "เรา คือ ผู้ให้ไหม" ผมมิบังเอิญที่จะเป็นผู้ให้ เราก็ทำงานใช้หนี้ไป อย่างเรามีครูดีๆ ดึงเราจากขุมนรกขึ้นมาได้ ครูต้องการอะไร ครูก็ไม่ต้องการอะไรจากเรา เราก็มีหน้าที่ทำสิ่งนี้ เพื่อคนอื่นต่อไป ถ้าเราไปคิดว่า เราเป็นผู้ให้ จะทำให้เราอหังการ์ ติดอยู่กับอะไรสักอย่าง เราทำ เพราะเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบ

 

ถ้าอย่างนั้น อะไรเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน

            ผมเชื่อว่า ในหลวงเป็นแรงดลใจของคนเยอะแยะเลย เมื่อเราอยู่บนแผ่นดินนี้ ถามว่าเราเป็นหนี้ใคร เป็นหนี้ในหลวงก็ได้ คุณเคยอ่านเรื่องลุงขาวไหม เป็นเรื่องที่ผมเขียน เอาไว้สอนนักศึกษา ลุงขาวเป็นชาวนา จังหวัดร้อยเอ็ด เรียนจบประถม 4 ครอบครัวเขาเป็นชาวนามาสี่ชั่วอายุคน ลุงขาวไม่เคยผลาญทรัพยากรแผ่นดิน แต่ลุงขาวก็ยังปลูกข้าว และด้วยความชำนาญก็ปลูกข้าวหอมมะลิ ส่งออกไปขายต่างประเทศ เอาเงินเข้าประเทศปีละสี่แสนกว่าบาท ถ้าเทียบกับอาชีพสถาปนิก คุณคิดยังไง

            ถ้าเมื่อใดประเทศเกิดวิกฤติ ผมให้ปืนคุณกระบอกหนึ่ง ถ้าต้องยิ่ง คุณจะยิ่งลุงขาวหรือสถาปนิก ถามว่าสถาปนิกกับลุงขาว ใครมีประโยชน์มากกว่ากัน ถ้าคุณตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ และกระล่อนไปวันๆ คุณก็ไม่สามารถช่วยอะไรแผ่นดินนี้ได้ ชีวิตที่ผ่านมา ผมได้ทำสิ่งที่อยากทำและทำไปเรื่อยๆ ผมมีความสุข ง่ายๆ เลยว่า วันเฉลิมพระชนมพรรษา ผมคิดกิจกรรมไม่ออก ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ผมก็หยิบไม้กวาด มากวาดถนนหน้าบ้าน และข้างบ้านอีก 3 หลัง และคิดว่า ทำให้ในหลวง ไม่เห็นต้องคิดอะไรมาก ทำไปเถอะ อย่าโง่ก็แล้วกัน

 

เรื่องที่อาจารย์ยกตัวอย่าง ถ้าให้คนส่วนใหญ่ตอบ ก็จะบอกว่า สถาปนิกมีค่าต่อสังคมมากกว่าลุงขาว ?

            คุณจะตอบยังไงก็ได้ แค่คุณฟังแล้ว คุณมีความรู้สึกก็พอแล้ว ผมคิดว่า ระบบการศึกษาทำให้เรามีแต่ความรู้ แต่ไม่มีความรู้สึก การมีความรู้สึกผมว่าสำคัญ ถ้าคุณมีแต่ความรู้ ไม่มีความรู้สึก คุณเดินต่อไม่ได้ คุณก็เป็นดิจิตอลเฉยๆ แค่นั้นเอง  เวลาผมเห็นนักศึกษาที่สอน มันเพี๊ยนๆ มันฝันๆ  อยากเป็นโน้น เป็นนี่ ผมก็จะเล่านิทานให้ฟัง

            คุณเคยได้ยินเรื่อง กบข้างกำแพงวัดไหม มีกบตัวหนึ่งเกาะข้างกำแพงวัด เห็นพระบิณฑบาตร กบก็เลยอยากเป็นพระ เพราะมองว่า พระไม่ต้องทำอะไร ก็มีข้าวกิน แต่พอพระฉันข้าวเสร็จ ก็มีลูกศิษย์วัดมากินข้าวต่อจากพระ กบก็อยากเป็นลูกศิษย์วัดอีก เพราะเห็นว่า ไม่ต้องบิณฑบาตร ถึงเวลาก็มีข้าวกิน แค่ล้างจาน

            พอลูกศิษย์วัดกินข้าวเสร็จ ก็เทข้าวลงพื้่นให้สุนัขกิน กบก็อยากเป็นสุนัขอีก เพราะเป็นสุนัข ไม่ต้องล้างจาน แค่คอยเฝ้าก็ได้กินข้าว ขณะที่สุนัขกินข้าว แมลงวันฝูงหนึ่งบินมาตอม แล้วกินอาหาร กบก็อยากเป็นแมลงวันอีก เพราะสบายกว่า ไม่ต้องรออาหารเหมือนสุนัข ปรากฎว่า เมื่อแมลงวันบินมาใกล้มัน มันก็แลบลิ้น ฉกแมลงวันกิน แต่เมื่อกินแมลงวันแล้ว มันก็รู้สึกตัวเองว่า จริงๆ แล้ว มันเป็นตัวมันเองดีกว่า ไม่ต้องอยากเป็นแบบอื่นเลย เรื่องนี้ผมเปรียบเปรยว่า ถ้าคุณเป็นตัวคุณ คุณมีความสุข เป็นอะไรก็มีคุณค่าทั้งนั้น อย่ามาบอกว่า อาชีพอะไรมีคุณค่ามากกว่ากัน

 

ช่วงชีวิตที่ผ่านมา อาจารย์เคยหลงไปกับเรื่องใดบ้าง

            ความหลงเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นทุกคน ใครไม่เป็นอย่างนั้น ก็แสดงว่าเป็นหุ่นยนต์ เพียงแต่วินาทีที่ต้องตัดสินใจทางเดินชีวิต ผมก็เลือกทางเดินของชีวิตที่เรามีความสุข แล้วเดินไปตามนั้น สมัยหนุ่มๆ ผมเคยสอนหนังสือให้เด็กฝรั่งสองปีที่อเมริกา ได้ความรู้สึกสองอย่าง คือ ขณะที่ฝรั่งมองเราเหมือนกะเหรี่ยงที่พูดภาษาอังกฤษไม่ชัด เมื่อผมเดินเข้าไปในห้องเรียน เด็กฝรั่งจะดูถุูกผมก่อน ผมต้องแสดงความสามารถเพื่อให้พวกเขาเห็นว่า ผมเก่งกว่า สอนพวกเขาได้ ผ่านไปครึ่งเทอม พวกเขาก็ยอมรับผม นั่นคือ การสอนหนังสือให้เด็กฝรั่ง เมื่อฝรั่งมองว่า อาจารย์ไทยๆ โง่ เราต้องพิสูจน์ตัวเองว่า เราเป็นอาจารย์ที่ฉลาดกว่า แต่ในเมืองไทย พออาจารย์เดินเข้ามาในห้องเรียน นักศึกษาจะเห็นว่า อาจารย์เก่งมากเลย แต่พอเรียนไปเรื่อยๆ ก็ค้นพบว่า อาจารย์ไม่รู้อะไรมาก เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ว่า เราดีกว่าเขา หรือเขาดีกว่าเรา

            สมัยที่สอนหนังสืออยู่ที่อเมริกา ผมเกิดความรู้สึกว่า ทำไมกูไม่กลับมาสอนหนังสือในเมืองไทย ถ้าผมจะอยู่อเมริกา ก็ทำได้ แต่ปรากฎว่า เมื่อกลับมาเมืองไทย ผมก็งงๆ ในยุคนั้นสมัครเป็นอาจารย์ เงินเดือนน้อยมาก ตอนนั้นผมไม่มีอะไรเลย  ไม่สามารถยังชีพอยู่ได้ ผมก็เลยหันไปทำวิชาชีพสถาปนิก พอมาถึงจุดหนึ่งก็กลับมาสอนหนังสือ

 

ทำไมกลับมาสอนหนังสืออีก

            ผมรู้สึกว่า ผมต้องทำอะไรถวายในหลวงบ้าง ในหลวงเคยมีพระราชดำริว่า เวลาที่เรามีความทุกข์ เราก็จะทำทาน ทานมีสามระดับ คือ วัตถุทาน เมื่อคนให้...ให้ร้อย คนรับ ก็รับร้อย ถือเป็นทานขั้นต่ำสุด 2.  วิทยาทาน ก็คือ คนให้...ให้ร้อย คนรับ...รับห้าสิบ และ 3. อภัยทาน คนให้...ให้ร้อย แต่คนรับ...ไม่รู้เรื่องเลย ในแง่วัตถุทาน ผมเองก็ไม่ได้มีเงินให้ใครมากมาย แต่ในแง่วิทยาทาน แม้คนจะให้ร้อย คนรับ...รับได้แค่ห้าสิบ แต่ก็เป็นทานที่ต้องกำหนดจิต และเป็นทานที่สูงกว่าวัตถุทาน ตอนนั้นผมอายุ 40 กว่าๆ ผมก็ตัดสินใจว่า จะสอนหนังสือเพื่อในหลวง

            ตอนที่ผมอยากสอนหนังสือ ผมก็ดูตัวเองว่า เราสอนได้ไหม เราก็เป็นคนที่พูด พอฟังรู้เรื่อง ก็น่าจะสอนได้ เมื่อพอมีความรู้บ้าง อยากสอนหนังสือก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก ผมก็เดินเข้าไปในมหาวิทยาลัย แล้วบอกอาจารย์ว่า ผมอยากสอนหนังสือ จะสอนวิชาไหนได้บ้าง แล้วบอกว่า ผมไม่เอาเงิน ก็ได้สอนหนังสือมาจนถึงปัจจุบันนี้ ถามว่ามีความสุขไหม ก็มีความสุข

 

ตอนนี้ยังสอนสอนหนังสือเป็นวิทยาทานอีกไหม ?

            บางมหาวิทยาลัยไม่ให้ค่าสอน ก็ไม่ว่าอะไร ถ้าให้ค่าสอน ก็บริจาคคืน ผมทำแบบนี้ตลอด ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการสอนหนังสือในเมืองไทย ไม่ได้ค่าตอบแทนอะไรมากมาย เมื่อเราตั้งใจว่า เราจะเป็นแบบนี้ ก็ต้องเป็นแบบนี้ให้ชัดๆ ผมเคยคุยกับสัญญา คุณากร ตอนออกรายการเจาะใจ ผมถามสัญญาว่า เคยเล่นเทนนิสไหม เขาบอกว่า เล่น แล้วผมถามเหนื่อยไหม เขาก็บอกว่า เหนื่อย เสียเวลาไหม...เสียเวลา เสียเงินไหม...เสียเงิน มีความสุขไหม..มีความสุข  ผมก็บอกว่า เวลาผมไปสอนหนังสือ แม้ผมจะเหนื่อย เสียเวลา แต่ผมไม่เสียเงิน และผมมีความสุข ผมไม่ใช่คนเสียสละอะไรมากมาย แต่ผมมาใช้หนี้ บางทีไปต่างจังหวัด ผมก็ออกค่าเดินทางเอง บางทีผมก็สอนหมอและพยาบาล โดยใช้วิชาชีพสถาปนิก สอนเรื่องการใช้ชีวิตและกายภาพของโรงพยาบาล

            เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมไปสอนหนังสือที่จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษายากจน ผมบินไปสอน 10 ครั้ง ผมเคยให้นักศึกษาแนะนำก่อนว่า อยากให้อาจารย์อย่างผมทำอะไรบ้าง นักศึกษาคนหนึ่งบอกว่า อาจารย์ครับ อย่าแจกประวัติอาจารย์ได้ไหม พอเขาอ่านประวัติผม แล้วบอกว่า "มันดีหมดแล้ว แต่มันทำให้ผมหมดหวังที่จะก้าวหน้าหรือทำดี"  เขาบอกว่า "ชีวิตผมตายแล้วเกิดใหม่ก็ไม่ได้แบบอาจารย์" ผมขอบคุณเขา เพราะผมไม่สามารถเปิดน้ำลงขวดได้ ถ้าไม่เปิดจุก เพราะประวัติชีวิตผมก็เหมือนจุกที่ปิดอยู่ น้ำที่เทเข้าไป ก็เข้าไม่ได้

 

ความรู้มุมไหนของสถาปนิกที่อาจารย์นำมาสอนแพทย์พยาบาล

            อย่างคนไข้ที่เป็นโรคเมอร์สที่มาจากโอมาน วันนั้นโชคดีมากที่คนไข้เข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ถ้าเขาเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลที่ไม่มีห้องกันแบบนั้น อาจเกิดโรคติดต่อไปสู่คนอื่นได้ จะทำให้คนไทยเสียชีวิตเป็นร้อย เพราะห้องนั้น มีแรงดันน้อยกว่าปกติ อากาศในห้องขยายออกไปข้างนอกไม่ได้ โรคติดต่อก็ไม่ขยายออกไป ถ้าตอนนั้นไปผิดที่ แล้วไปนั่งในห้องตรวจโรคทั่วไป อาจทำให้เกิดโรคติดต่อในเมืองไทย สถาปนิกมีหน้าที่ออกแบบเพื่อทำให้โรงพยาบาลมีความปลอดภัยมากที่สุด หรือเวลาหมอพยาบาลเดินเข้ามาหาคนไข้ ทำไมต้องเข้ามาทางด้านขวาคนไข้ เพราะแขนซ้ายของคนไข้จะให้น้ำเกลือ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ มีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องสอน เป็นเรื่องสถาปัตยกรรมโดยตรง

 

มีการนำความรู้ด้านสถาปัตยกรรมมาสอนคนทำงานด้านสาธารณสุขมากน้อยเพียงใด

            น้อยครับ เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งคำว่า "บวร" คือ บ้าน วัด โรงเรียน ตอนนี้เราจะไม่ค่อยเห็นโรงเรียนเปิดใหม่เลย ยกเว้นโรงเรียนอินเตอร์ เพราะเด็กเกิดใหม่น้อย อัตราการเจริญพันธุ์ของคนไทยถดถอยเป็นสิบๆ ปีแล้ว นอกจากไม่มีทารกเกิดใหม่ คนแก่ก็ไม่ค่อยตาย เพราะวิทยาการทางการแพทย์ ในขณะเดียวกัน คนพิการเยอะขึ้น ดังนั้นคำว่า "บวร" แทนที่จะเป็น บ้าน วัด โรงเรียน เหมือนเมื่อก่อน ก็กลายเป็น บ้าน วัด โรงพยาบาล

            เนื่องจากโรงพยาบาลสำคัญมาก คนรุ่นพ่อผมไปโรงพยาบาลสิบครั้ง แล้วก็ตาย คนรุ่นผมไปโรงพยาบาลร้อยครั้ง ถึงจะตาย คนรุ่นหลังไปโรงพยาบาลสามร้อยครั้งถึงตาย เพราะฉะนั้นคนใช้ชีวิตในโรงพยบาลหลายร้อยครั้งถึงจะตาย เราก็ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ เหมือนการทำงานใช้หนี้ เวลาผมสอนนักศึกษา ผมบอกเด็กๆ ว่า เวลาตื่นขึ้นมา แล้วมองกระจก คุณเคยถามคนในกระจกไหมว่า  ถ้าคนในกระจกหายไป สังคมจะดีขึ้นหรือแย่ลง หากแย่ลง คุณต้องพิจารณาตัวเอง

 

นอกจากเรื่องสถาปัตยกรรม อาจารย์ยังให้ความสำคัญเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้าน มองเรื่องนี้อย่างไร

            สภาพสังคมเรา โดยเฉพาะระบบการเรียนการสอน มันกำหนดชีวิตเราเกินไป ในประเทศไทยขาดคนในวิชาชีพอาชีวะ แต่คนเรียนด้านนี้ กลายเป็นพลเมืองชั้่นสอง ผมคิดว่าไม่ถูกต้อง คุณคิดว่า ช่างไม้หนึ่งคนกับสถาปนิกหนึ่งคน มีความสำคัญต่อสังคมเท่ากันไหม ถ้าคนเราเอาคำว่า สถาปนิก มากำหนดชีวิตเราไปชั่วชีวิต ผมว่าตลก ผมไปภูเรือ เห็นต้นสักอายุ 12 ปี แล้วผมเดินต่อไป เจอต้นมะค่าอายุเท่ากัน แต่ราคาถูกกว่า เล็กกว่า จนมาเจอไม้แดงอายุเท่ากัน ถูกกว่าอีก และสุดท้ายเดินไปเจอต้นประดู่ อายุเท่ากันอีก เล็กกว่าและถูกกว่า

            ผมก็บอกชาวบ้านว่า ปลูกไม้สักดีกว่า โตเร็วกว่า ชาวบ้านที่จบประถม 4 บอกผมว่า ต้นสักเป็นต้นไม้ที่เห็นแก่ตัว เวลาใบร่วง ตะไคร้ขึ้นใต้ต้นก็ไม่ได้ แต่กิ่งประดู่มีประโยชน์ ทำเป็นไม้ตีควายได้ เขาบอกอีกว่า คนเมืองตัดสินคุณค่าสิ่งต่างๆ ด้วยความงามของสิ่งที่ตายแล้ว ต้นสักจะมีค่าก็ต่อเมื่อตัดมันแล้วเลื่อย จึงจะเห็นลายไม้สวยๆ แต่ชาวบ้านตัดสินใจสิ่งต่างๆ ด้วยประโยชน์ใช้สอยของต้นไม้ที่ยังไม่ตาย เขาเห็นว่า กิ่งไม้ประดู่มีประโยชน์มากกว่า

 

เป็นการมองต่างมุม ?

            มองคนละมุม ทำให้เกิดความหลากหลายทางสังคม บันเทิงปัญญา ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ต้องไม่มีสิ่งแอบแฝง ผมอาจโชคดีกว่าคนอื่นคือ พูดเก่งและเขียนได้ เมื่อเรียบเรียงได้ ก็สอนหนังสือและเขียนหนังสือได้ มีหลายคนชอบบอกว่า อาจารย์ยอดเยี่ยมเป็นนักกิจกรรม จริงๆ แล้วผมเป็นคนขี้เหงา ผมกินข้าวคนเดียวนอกบ้านไม่ถึงสามสิบครั้ง ด้วยความเหงาของเราก็อยากเจอคน การทำกิจกรรมเพื่อสังคมก็เป็นเรื่องดี อย่าไปมองว่า เราเก่ง ไม่ขนาดนั้น ต้องระวังว่า ความเก่งจะเป็นการวัดในเชิงวัตถุและตัวเลข

 

ถ้าจะพัฒนาตัวเองเป็นผู้รู้ที่แท้จริง ต้องทำอย่างไร

            ถ้ามองในเชิงวัตถุนิยม ก็น่าจะเก่ง เป็นเรื่องธรรมดา อาจเป็นเพราะผมพูดเยอะ เขียนมาก แม่ผมเป็นครู แม่จะจับอ่านหนังสือตั้้งแต่เด็ก ผมจะมีความสุขมากในการอ่านหนังสือ และอ่านเยอะ เวลาไปสอนหนังสือหมอหรือพยาบาลที่เป็นผู้บริหาร ผมจะบอกว่า ผมไม่รับผิดชอบในสิ่งที่ผมพูด ผมไม่ใช่นักบริหาร แต่ผมเป็นคนที่อ่านหนังสือเยอะ ผมก็เอาสิ่งที่อ่านมาเล่าให้ฟัง 6 ชั่วโมงที่ผมสอนเหมือนคุณได้อ่านหนังสือสิบเล่ม ผมไม่ได้ฉลาด และปกติถ้าเราด่าใครว่า กบในกะลา เขาจะไม่พอใจ ผมก็จะบอกว่า คุณเป็นกบที่ออกนอกกะลามาเรียบร้อยแล้ว แต่คุณเป็นกบที่นั่งไขว่ห้างอยู่บนกะลาที่ลอยน้ำ โดยไม่รู้ว่ากะลาจะตกเหว ติดฝั่ง หรือไปถึงเป้าหมาย สิ่งที่ต้องระมัดระวังก็คือ อย่าเป็นกบที่นั่งไขว่ห้างบนกะลา

            ผมจะบอกนักศึกษาบ่อยๆ ว่า 1. ข้อมูลไม่ใช่ข้อสรุป เพราะฉะนั้นการหาข้อมูล แล้วสรุปเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ 2. เราต้องผลิตงานภายใต้แรงกดดันให้ได้ 3. จงเป็นคนที่พูดให้คนอื่นรู้เรื่อง ผมคิดว่า ทุกคนคงได้ยินที่ไอสไตน์บอกว่า "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้" ถามว่าเขาพูดแค่นั้นจริงหรือ ไอสไตน์บอกว่า เวลาที่คุณต้องการสิ่งใหม่ หรือสร้างสรรค์สิ่งใด คุณต้องมีองค์ความรู้ที่หลากหลาย แล้วนำมาเรียบเรียงลำดับจัดระเบียบ เสร็จแล้วก็เอาองค์ความรู้ที่หลากหลายมาแก้ปัญหา หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่

            แต่ถ้าคุณใช้องค์ความรู้ที่หลากหลายแล้ว ไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ไอสไตน์บอกว่า คุณอาจจะอยู่แค่เปลือกหรือกะพี้ คุณออกจากกล่องไม่ได้ คุณต้องวางองค์ความรู้ทั้งหมด แล้วทำใจให้ว่าง  ซึ่งวินาทีนั้น จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ เมื่อมีจินตนาการแล้ว ให้เอาองค์ความรู้มาทำจินตนาการให้เป็นจริง ถ้าคุณไม่สามารถเอาองค์ความรู้มาทำให้จินตนาการเป็นจริงได้ ให้กลับไปที่ข้อ 1. ซึ่งสังคมเราเป็นสังคมมักง่าย คิดง่ายๆ

            สิ่งที่ผมเห็นคือ สังคมไทยเรียนหนังสือด้วยระบบตะวันตก อัดความรู้เข้าไปในตัวเรา แล้วครูก็สอบองค์ความรู้นั้น เมื่อเราเรียนรู้ศาสตร์ตะวันตก ก็ต้องกลับมาดูจีน อินเดีย ศาสตร์ตะวันออก ซึ่งมีทั้งองค์ความรู้และความรู้สึกด้านใน อย่างนิทานเซน หรือปรัชญาอินเดีย เวลาอ่านแล้ว ไม่ใช่ว่าให้เชื่อเลย อยู่ที่ว่าใครจะผสมผสานอย่างไร

           

นั่นทำให้การบริหารจัดการบริษัทที่ก่อตั้่งมานานกว่า 20 ปีมีวิธีการต่างจากบริษัททั่วไป

            ตอนที่ผมเรียนจบ ผมเปิดบริษัทตอนอายุ 40 ปี ผมถามตัวเองว่า ทำไมผมมาถึงวันนี้ได้ เพราะผมมีลูกน้องดี เมื่อถามว่า ผมให้อะไรลูกน้อง ผมก็ให้เงินเดือน และโบนัสตามที่เราอยากจะให้ ตอนนั้นผมก็คิดใหม่ว่า บริษัทที่ผมตั้งขึ้น เป็นของลูกน้อง ไม่ใช่ของเรา เพียงแต่เราเป็นผู้นำ เวลาเรารบชนะ ไม่ได้แปลว่าแม่ทัพรบคนเดียว และผมเคยเรียกลูกน้องมาคุยกัน แล้วบอกว่า บริษัทเป็นของพวกเขา ไม่ใช่ของผม เพราะฉะนั้นผมจะแจกหุ้นหมื่นหุ้น แม่บ้านที่เดินมา ตอนนั้นถือหุ้นมากกว่าผม ผมถือไว้ 1 หุ้น จนปี 2540 ฟองสบู่แตก พนักงานต้องการขายหุ้น ผมต้องเอาเงินมาซื้อหุ้นคืน จนปี 2544 เศรษฐกิจดีขึ้น มีกำไร ผมก็เอาเงินกำไรมาซื้อหุ้นบริษัท  ณ วันนี้พนักงานสองร้อยกว่าคน มีเงินในบริษัทสามร้อยกว่าล้าน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ถ้าผมเกษียณอายุ 65 ก็จะไปแล้ว โดยไม่เอาเงินเหล่านี้ไปด้วย เราก็ไม่ได้เป็นผู้เสียสละอะไร เราก็ได้เงินเดือน และผมไม่ใช่เจ้าของ เงินกำไรของบริษัทเป็นกองกลาง ถ้าหมดรุ่นผม พวกเขาบริหารจัดการเจ๊ง ก็เจ๊งไป มันไม่ใช่ของเรา

 

ช่วยอธิบายวิธีคิดแบบนี้อีกสักนิด

            คนเรามีวิธีการของการจัดการชีวิตตั้งหลายอย่าง ยกตัวอย่าง ถ้าคุณเป็นกบ คุณก็กระโดดได้ไกลกว่าคนอื่น แต่ถ้าคุณบินไม่ได้ ก็อย่าเปรียบเทียบกับนก และนกก็ไถนาไม่ได้ ดังนั้่นอย่าเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับควาย ดังนั้นวินาทีที่เราเป็นควาย เป็นนก เป็นกบ คุณมีประโยชน์หรือเปล่า

            คนเราอย่าไปแข่งขันเชิงวัตถุหรือตัวเลขมากนัก แล้วที่บอกว่า คนเราเกิดมาต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน ก็ใช่ นั่นเป็นต้นทุนทางวัตถุ ตอนเด็กๆ ผมก็จนมาก สมมติว่า ผมไปบวชเป็นพระ ผมสามารถทำให้เด็กที่จะเป็นโจรไม่เป็นโจรได้ ชีวิตผมมีประโยชน์ไม่น้อยกว่าหมอที่รักษาคนไข้ไม่ให้ตาย แต่ละคนมีประโยชน์ทั้งนั้น เพราะสังคมไปวางกรอบทางวัตถุแบบนั้น เราก็เลยคิดแบบนั้น เป็นเพราะแม่ผมดี ครูดี ผมเป็นคนที่ไฮเปอร์ ถ้าเราเป็นแบบนั้น แล้วมีคนตบให้เราไปถูกทาง เราก็จะวิ่งไปได้เร็วกว่าคนอื่น ทั้งครูและแม่ ทำให้เราคิดและยั้งคิด การยั้งคิดก็สำคัญนะ ตอนผมเรียนจบ ครูผมบอกว่า ถ้าคุณลงเรือผิด หรือ พายเรือผิด ก็จะไปไม่ถึงเป้าหมาย

 

วกมาเรื่องการออกแบบบ้านในอนาคตสักนิด

            สังคมเปลี่ยนไป บ้านก็เปลี่ยนไป ปัจจัยรอบด้านเปลี่ยนหมด คนจะกลับเข้าหาธรรมชาติมากขึ้น ผมก็รวบรวมจุดอ่อนต่างๆ ในเรื่องการออกแบบเอาไว้ เพราะคนไทยมีนิสัยชอบซื้อ ไม่ชอบทิ้ง บ้านส่วนใหญ่ของคนไทยข้างนอกสวย ข้างในรกหมด เพราะฉะนั้นการบริหารห้องเก็บของจะสำคัญมาก ซึ่งจะเป็นลักษณะบ้านทศวรรษหน้า

 

ความเป็นไทย ง่ายๆ พื้นๆ นั่นเป็นสไตล์ออกแบบของอาจารย์หรือเปล่า

            แทนที่จะพูดถึงวัฒนธรรมกรีก ก็มาพูดถึงวัฒนธรรมอีสาน ผมเคยถามนักศึกษาว่า การออกแบบอะไรที่สำคัญที่สุดในงานสถาปัตยกรรม คนก็บอกว่า หลังคา พื้นที่ใช้สอยต้องดี พื้นต้องแข็งแรงใหญ่โต ผมคิดว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ฐานรากและเสาเข็ม แต่บางคนมองไม่เห็น ถ้าให้ความสำคัญตรงนี้ เราก็จะได้อาคารที่มีความมั่นคงแข็งแรง สามารถปรับเปลี่ยนเป็นรูปทรงใดก็ได้ ถ้าไม่มีฐานรากและเสาเข็มแข็งแรง มันอันตรายเกินไป อีกอย่างคุณเคยอ่านนิทานเซนไหม

 

ทำไมอาจารย์สนใจนิทานเซน

            ผมได้แนวคิดจากนิทานเซนเยอะมาก ยกตัวอย่าง ผู้ชายสองคนกำลังเถียงกันเรื่องธง คนหนึ่งบอกว่า ธงนั้นปลิวไสวอยู่ อีกคนบอกว่า ลมต่างหากที่ปลิวไสว และเมื่อพระเซนองค์หนึ่งเดินผ่านมา ก็ตอบว่า ธงจะปลิวหรือลมจะปลิว ไม่สำคัญเท่าจิตใจทั้งคู่ที่กำลังปลิวอยู่

            อีกอย่างชีวิตผมเริ่มสวดมนตร์ตั้งแต่อายุ 6 ปี จนถึงปัจจุบัน เวลาจะจัดระบบความคิดให้เป็นระบบ ก่อนนอนให้ทบทวนว่า ตื่นขึ้นมา คุณเอาเท้าข้างซ้ายหรือขวาลง แล้วเดินไปไหนบ้าง จนกระทั่งกลับมานอน จิตคนเราเร็วกว่าแสงอีก วันแรกๆ ผมใช้เวลา 10 นาทีสำรวจตัวเอง ช่วงหลังใช้เวลา 30 นาที  ตื่นขึ้นมา ก่อนจะลุกจากที่นอน ผมวางแผนเลยว่า จะทำอะไรบ้าง ทำให้กังวลน้อยลง ทำให้รู้ตัว แล้วความคิดก็จะเป็นระเบียบมากขึ้น

 

อาจารย์วางแผนชีวิตต่อไปอย่างไร

            ผมก็ทำงานไปเรื่อยๆ ให้เหมาะสมกับวัย เหมาะสมกับสมอง เหมาะกับแรง จนตายก็จบข่าว ผมก็อยากทำตัวให้มีประโยชน์ เมื่อไหร่ที่เราตื่นขึ้นมา แล้วคิดว่า เราจะอยู่ไปทำไม นั่นมีปัญหาแล้ว ถ้าเราพูดถึงคนแก่ ถ้าเขายังมีสมอง มีแรง และทำอย่างอื่นได้ ก็ทำ อยู่ที่ว่า เราจะใช้ประโยชน์ของคนสูงวัยได้ยังไง อย่างในญี่ปุ่น ตอนที่เกิดปัญหานิวเคลียร์ ต้องหาคนไปปิดเครื่องนิวเคลียร์ มีคนสูงวัยญี่ปุ่น 600 กว่าคนอาสาสมัคร พวกเขาเสียสละ แม้จะตายก็ไม่เป็นไร เพื่อให้คนหนุ่มสาวอยู่พัฒนาชาติต่อไป