ศาลไต่สวนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ฟ้องกสทช.ชดใช้9.5พันล.

ศาลไต่สวนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ฟ้องกสทช.ชดใช้9.5พันล.

ศาลปกครองไต่สวน 5 ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ฟ้องกสทช.ชดใช้กว่า 9.5 พันล้าน ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอลไม่สมบูรณ์

ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ วันที่ 31 ส.ค.58 เวลา 13.30 น. ศาลปกครองได้ไต่สวน คดีที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ช่อง จีเอ็มเอ็ม ONE , ช่องจีเอ็มเอ็ม แชลแนล , ช่องพีพีทีวี ,ช่อง ไทยรัฐทีวี และช่องไบรท์ทีวี ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ประเภทบริการธุรกิจระดับชาติ มอบอำนาจให้ นายสุขสวัสดิ์ เวทไว และนายวศิน เลิศวไลพงศ์ ทนายความ ยื่นฟ้อง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) , สำนักงาน กสทช.และเลขาธิการ กสทช.เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 เรื่องละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมาย หรือดำเนินล่าช้าทำให้เกิดความเสียหาย ที่จะให้มีการเปลี่ยนผ่านระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ เป็นระบบดิจิทัล

โดยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ทั้ง 5 ช่อง ผู้ฟ้อง ขอให้ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้ กสทช.ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด และใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ออกมาตรการเยียวยาความเสียหายให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล พร้อมชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิด ต่อทีวีดิจิทัลทั้ง 5 ช่อง เป็นเงิน 9,550 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีด้วย 

โดยนายบดินทร์ อดุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทจีเอ็มเอ็ม ONE ทีวี , นาง สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชแนล , นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอกมีเดีย แอนด์ บอร์ดคาสติ้ง จำกัด , นายวัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ทริปเปิลวี บอร์ดคาส (ผู้บริหารไทยรัฐทีวี) และนายสมชาย รังษีธนานนท์ ประธานกรรมการบริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารทีวีดิจิทัลทั้ง 5 ช่อง ผู้ฟ้อง ได้เดินทางมาเพื่อให้ถ้อยคำกับศาล 

ส่วนฝ่าย กสทช. ผู้ถูกฟ้อง มี พล.อ.อ.ธเรศ ปุณสรี ประธาน กสทช. , พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทศทัศน์ (กสท.) และนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เดินทางมาให้ถ้อยคำชั้นไต่สวนนี้ 

ขณะที่การไต่สวน ใช้เวลานานกว่า 4 ชั่วโมงจึงเสร็จสิ้น ซึ่งนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า กสทช. ยืนยันต่อศาลว่าได้ดำเนินการตามกรอบที่กฎหมายกำหนดทุกอย่าง และมีหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและส่งเสริมทีวีดิจิตอล กสทช.ได้ดำเนินการแล้วในหลายส่วน โดยส่วนที่มีมติและกำลังจะดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ถูกฟ้อง คือ เรื่องเงินสนับสนุนตามกฎค่าดำเนินการเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (มัสต์แคร์รี่) ที่เดิมผู้ประกอบการเป็นผู้จ่ายนั้น กสทช.ก็จะเป็นผู้รับภาระจ่ายแทน 

นายฐากร เลขาธิการ กสทช. กล่าวอีกว่า ส่วนค่าธรรมเนียมรายปี ที่จะจัดแบบขั้นบันได แทนการจ่ายปีละร้อยละ 2 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การจัดเก็บ อีกทั้งมติบอร์ดกสทช .ที่ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายได้ เข้ากองทุนวิจัยและพัฒนา กสทช. เพื่อประโยชน์สาธารณะ (ยูโซ่) ที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายและมติบอร์ด กสทช. ได้อนุมัติสนับสนุนค่าการกำกับดูแลบริการแบบประยุกต์ประเภทสำรวจความนิยม (เรตติ้ง) ในวงเงิน 368 ล้านบาทแล้ว

"กสทช. ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ แม้ผู้ประกอบการจะไม่ฟ้องร้อง แต่ กสทช.ได้ดำเนินการอยู่แล้ว" นายฐากร เลขาธิการ กสทช. กล่าวและว่า

ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการ ขอเลื่อนชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ตั้งแต่งวดที่ 3 นั้น จะนำไปหารือในที่ประชุมบอร์ด กสทช. วันที่ 16 ก.ย. นี้ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะเงินจำนวนดังกล่าวเมื่อนำส่งถือเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งก่อนหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) , คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอัยการสูงสุด ได้ส่งข้อท้วงติงมายัง กสทช. ว่าไม่ควรให้มีการเลื่อนจ่าย แต่ขณะนั้นยังไม่มีผู้เดือนร้อนมาฟ้องร้อง ดังนั้นที่ประชุมกสทช.จะได้มีการพิจารณาทบทวนในส่วนนี้ อย่างไรก็ตามถ้ามีมติให้มีการเลื่อนก็จะมีผลใช้บังคับกับทีวีดิจิทัลทั้งหมด 24 ช่อง

ด้านนายเขมทัตต์ กก.ผอ.ใหญ่ บจก.บางกอกมีเดีย ฯ หนึ่งในผู้ประกอบการดิจิตอล กล่าวว่า คำชี้แจง กสทช.ต่อศาลวันนี้ ผู้ประกอบการ เคยมีหนังสือเรียกร้องให้ กสทช.ดำเนินการมาตลอด 2 ปีนับแต่ได้รับสัมปทานส่วนกรณี กสทช. ต้องสนับสนุนเรื่องการจัดเรตติ้ง การอนุมัติงบ 386 ล้านบาทนั้นยังไม่ถือว่าครอบคลุม เพราะในช่วงการเปลี่ยนผ่านเรตติ้ง ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาทีวีดิจิทัลและเป็นเครื่องวัดการทำงาน กสทช.เองด้วย 

การที่ดิจิทัลทั้ง5ช่อง ขอให้ กสทช.กำหนดมาตรการเยียวยาโดยเลื่อนการจ่ายค่าใบอนุญาตงวดที่ 3 เพราะเรามีความเสียหาย จากการล่าช้าในการดำเนินการของกสทช. การที่เราฟ้องเรียกค่าเสียหายเฉลี่ย 400-600 ล้านบาท ในแต่ละช่อง ซึ่ง กสทช.ระบุว่าจะนำไปหารือในที่ประชุมในวันที่ 16 ก.ย. เราได้ขอเพิ่มเติมว่าควรจะมีการกำหนดมาตรการเยียวยาเพิ่ม เช่น การขยายระยะเวลาของใบอนุญาตเพิ่มจาก 15 ปี เป็น 20 ปี แต่ กสทช.อ้างว่าไม่มีอำนาจ เราจึงเสนอว่า กสทช.สามารถทำเรื่องเสนอไปยัง ครม.พิจารณาได้ 

"ตอนนี้มีอีกหลายช่องที่มีปัญหา ห้าช่องนี้ ถือเป็นหน่วยกล้าตายมาฟ้องร้องก่อน ซึ่งการฟ้องไม่ได้มุ่งที่จะเลิกทำธุรกิจ เห็นได้ว่าเราจ่ายค่าใบอนุญาตมาครบถ้วนร้อยละ 80 มีการลงทุนได้ด้านต่างๆ แต่ กสทช.ไม่ทำให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน จึงจำเป็นที่ต้องมาฟ้อง" นายเขมทัตต์ ระบุ