โบก หรือ จิ้ม ชีวิตเลือกได้

โบก หรือ จิ้ม  ชีวิตเลือกได้

บริการรถแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่นเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้โดยสารแท็กซี่ แต่ดูเหมือนว่าสงครามบนท้องถนนครั้งนี้ ยังไม่มีที่ท่าว่าจะจบลงเช่นใด



งานเลี้ยงภายในโรงแรมหรูแห่งนั้นกำลังจะเสร็จสิ้นลงในไม่ช้า แพม ถือโอกาสนี้หยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาจากกระเป๋าถือ คราวนี้มิใช่การแชทผ่านโปรแกรมโปรดเหมือนทุกครั้ง แต่เธอกำลังจิ้มนิ้วลงไปยัง “แอพพลิเคชั่นแท็กซี่” ที่คุ้นเคย

ชั่วพริบตา แผนที่แสดงโลเกชั่นปัจจุบันของเธอก็เลื่อนขึ้นมาแทนที่ พร้อมด้วยสัญลักษณ์รถยนต์หลายคันกำลังเคลื่อนไหวไปมาอยู่รายรอบ ระบุว่ามีรถยนต์ให้บริการอยู่ในรัศมีพื้นที่ใกล้ๆ กันพอดี เธอกดปุ่ม Request เพียงชั่วอึดใจ หมายเลขทะเบียนรถ พร้อมคนขับ และเบอร์โทร.ติดต่อ ก็ปรากฏขึ้น

“อีก 10 นาทีจะมาถึง” เธอรำพึงในใจเมื่อสายตาเห็นข้อความตอบรับจากคนขับรถ พร้อมการคำนวณเวลาฉายขึ้นบนจอโทรศัพท์ ถึงตอนนี้ เธอยังพอมีเวลาสำหรับการส่งเสียงอำลา หรือเซลฟี่ร่วมกับเพื่อนๆ ก่อนจะเตรียมตัวกลับบ้าน
อีกไม่กี่นาทีถัดมา แพมเดินออกจากห้องจัดงานเลี้ยง ผ่านประตูหน้าของโรงแรม เมื่อสายตาเหลือบไปเห็นป้ายทะเบียนรถ ตรงกับที่ระบุไว้บนแอพพลิเคชั่น เธอก้าวขึ้นไปนั่งบนเบาะหลังของรถยนต์ป้ายดำ ที่เข้ามาเทียบท่าอย่างพอเหมาะพอดี

รถยนต์คันนั้น รู้แต่ต้นแล้วว่าต้องไปส่งแพมที่ใด

นี่คือไลฟ์สไตล์ใหม่ของคนร่วมสมัยวันนี้ แพมแทบลืมไปแล้วว่า การออกไปยืนโบกรถยนต์สาธารณะ หรือที่เรียกกันว่า “แท็กซี่” พร้อมกับประสบการณ์เลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นแทบทุกวันนั้นเป็นอย่างไร ภาพถ่ายอาการของคนก้มลงกราบแท็กซี่บนพื้นถนนเพื่อขอให้ช่วยส่งไปที่ถึงหมาย ดังที่เคยแชร์กันอย่างแพร่หลายในโซเชียลมีเดีย ช่างดูห่างไกลตัวออกไปทุกที

-1-

“เริ่มจากลองดาวน์โหลดแอพฯ มาใส่ในโทรศัพท์มือถือ แล้วลงทะเบียนป้อนรหัสส่วนตัวลงไป ใส่หมายเลขบัตรเครดิตทิ้งไว้ พอวันนึง ครึ้มอกครึ้มใจ ไม่อยากขับรถไปจตุจักร เพราะหาที่จอดยาก ก็เลยลองใช้บริการอูเบอร์ดู” พรประภา กิตติศัพท์ พนักงานออฟฟิศย่านสามเสน บอกเล่าถึงความประทับใจครั้งแรก ที่ทดลองใช้ผู้ให้บริการรถแท็กซี่ ผ่านแอพพลิเคชั่น “อูเบอร์” (Uber) ซึ่งมีกำเนิดจากสหรัฐอเมริกา

“อย่างแรกเลย เป็นรถขนาดเล็ก เหมือนจะเป็นยาริส” เธอทบทวนความทรงจำ จากเหตุการณ์เมื่อหลายเดือนก่อน “สภาพไม่ใหม่มาก แต่ให้ความรู้สึกเหมือนเรานั่งรถเพื่อน คนขับสุภาพดี เป็นคนรุ่นใหม่อายุ 20 ปลายๆ ต้นๆ 30 จำได้ว่า วันธรรมดาเขาทำงานประจำ ออกมาขับเฉพาะช่วงเย็นหลังเลิกงาน กับวันเสาร์อาทิตย์ ดูเป็นคนมีการศึกษานะ ใช้ไอแพด สมาร์ทโฟน และที่ไม่เหมือนแท็กซี่ทั่วไป คือเขาขับรถนุ่มนวลกว่ามาก ไม่ปาด ไม่เร่ง ไม่ต้องลุ้น ไม่ด่าโวยวาย ไม่ทำให้เราเครียด นี่คือสิ่งที่ไม่คาดว่าจะเจอบนแท็กซี่แบบนี้ เลยประทับใจ”

นอกจากความประทับใจแล้ว ยังมีเรื่องของความสะดวกตามมา โดยพรประภาเล่าว่า เมื่อถึงที่หมาย เธอลงจากรถได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาจ่ายเงิน-ทอนเงิน เพราะบริการ “อูเบอร์” ไม่มีระบบเงินสด แต่เน้นการตัดบัญชีผ่านบัตรเครดิต รวมทั้งค่าผ่านทางพิเศษ (ทางด่วน) คนขับต้องทดรองจ่ายไปล่วงหน้าก่อน เพียงไม่กี่นาที เสียงอีเมลเข้าก็ดังขึ้นผ่านทางสมาร์ทโฟน ระบุยอดค่าใช้จ่าย พร้อมแจงรายละเอียดการเดินทาง

โดยหลักๆ อูเบอร์เอ็กซ์ (รถเล็ก) คิดค่าบริการเบื้องต้น 25 บาท บวกค่าโดยสารกิโลเมตรละ 4.50 บาท และบวกค่าเวลา นาทีละ 1 บาท ซึ่งโดยเปรียบเทียบ มีอัตราถูกกว่าโดยเปรียบเทียบจากแท็กซี่ทั่วไปพอสมควร (แท็กซี่ทั่วไป เริ่มต้นกิโลเมตรแรก 35 บาท จากนั้นในช่วงเกินกว่า 1-10 กิโลเมตรแรก คือกิโลเมตรละ 5.50 บาท , จากนั้นอีก 10 กิโลเมตรขึ้นเป็นกิโลเมตรละ 6.50 บาท แล้วปรับขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะทาง)

ทั้งนี้ ค่าบริการของอูเบอร์ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ให้บริการรถแท็กซี่ที่เรียกผ่านแอพพลิเคชั่น (รวมทั้งศูนย์ฯ หรือ คอลเซ็นเตอร์) อาจจะแตกต่างลดหลั่นไปบ้างกับผู้ให้บริการรายอื่นๆ โดยปัจจุบัน มีผู้ให้บริการหลายรายด้วยกัน นอกจาก ‘อูเบอร์’ แล้ว ยังมีเจ้าสนามเดิม ‘แกร็บ แท็กซี่’ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เริ่มต้นจากมาเลเซีย , ‘อีซี่ แท็กซี่’ นวัตกรรมจากบราซิล และล่าสุด เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คือผู้ประกอบการไทยแท้ ‘ออล ไทย แท็กซี่’ จากค่ายนครชัยแอร์ ที่ลงทุนถึง 700 ล้านบาท ด้วยรถยนต์ไฮบริด ป้ายแดง 500 คัน พร้อมพนักงานขับรถ ทำงานในรูปของค่าตอบแทนที่เป็นเงินเดือนและสวัสดิการ

ดูจากผู้ให้บริการที่ดาหน้าเรียงรายเข้ามา เพื่อช่วงชิงตลาดจากแท็กซี่ทั่วไป บ่งบอกชัดแจ้งว่า สนามนี้แข่งดุ !

-2-

“ผมไม่เห็นด้วยเลยกับการทำธุรกิจแบบนี้ มันเหมือนการชกใต้เข็มขัด” ศรุต เทพาเงิน เจ้าของอู่รถแท็กซี่รายหนึ่ง แสดงคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาต่อกรณีของ อูเบอร์ “หากเป็น แกร็บ แท็กซี่ หรือ อีซี่ แท็กซี่ ผมยอมรับได้นะ เพราะถือว่าเป็นการเสริมบริการให้รถแท็กซี่ป้ายเหลือง หรือแม้แต่นครชัยแอร์ ที่ดำเนินการมาอย่างถูกต้อง แต่แท็กซี่ป้ายดำมันผิดกฎหมายชัดๆ ผู้ให้บริการเขาดูจากอะไร แค่เช็คประวัติอาชญากรรมเท่านั้นเหรอ แล้วคนขับมีใบขับขี่สาธารณะมั้ย รถยนต์มีประกันหรือเปล่า มันมีคำถามตามมามากมาย”

ไม่มีข้อสงสัย วันนี้ อูเบอร์ ได้กลายเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของวงการแท็กซี่แบบดั้งเดิมไปแล้ว ไม่เพียงประเทศไทยเท่านั้น การเติบโตและแพร่ขยายตัวอย่างรวดเร็วของผู้ให้บริการอูเบอร์ในหลายๆ ประเทศ สร้างปัญหาด้านการแข่งขันและช่วงชิงลูกค้าให้แก่คนขับแท็กซี่มากมาย จนเกิดการประท้วงขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ของโลก เช่น ที่ฝรั่งเศส , สเปน และ อังกฤษ เป็นต้น

ทว่า เป็นที่น่าสังเกตตรงที่แทบไม่มีการตอบโต้กลับจากอูเบอร์แต่อย่างใด ราวกับบอกเป็นนัยว่า ท้ายที่สุดแล้ว ขอให้ผู้โดยสารเป็นผู้ตัดสิน และเป็นผู้มอบความไว้วางใจดีกว่า ว่าจะชั่งใจและเลือกใช้บริการแบบไหน

“ผมว่า ระบบแท็กซี่ที่มีอยู่เดิม มันกัดกร่อนและทำลายตัวมันเองลงไปทีละน้อย ในเมื่อคนไม่รักไม่ศรัทธาในอาชีพ แต่ดันเลือกมาประกอบอาชีพนี้ ภาพลักษณ์มันก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ นะ สมัย 20 ปีก่อน คุณจะเห็นคนขับแท็กซี่มีเครื่องแบบชัดเจนแน่นอน เดินมากินข้าวแกง นี่รู้เลยว่า ขับแท็กซี่ แต่ทุกวันนี้ ใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์ แต่งตัวตามสบาย ไม่มีกฎ ไม่มีการควบคุม”

ณรงค์ เลิศวิทยวุฒิ ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว สะท้อนความเห็นที่มีต่อผู้ให้บริการแท็กซี่ทุกวันนี้ให้ฟัง “แค่เรื่องเล็กๆ ยังทำไม่ได้ นับประสาอะไรกับการควบคุมไม่ให้ปฏิเสธผู้โดยสาร หรือมีจิตใจให้บริการ ทีนี้ พอมีผู้ให้บริการใหม่เป็นทางเลือก แท็กซี่ก็เลยไม่ใช่คำตอบสุดท้ายอีกต่อไป นักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เคยเอือมระอากับการเรียกแท็กซี่ในเมืองไทย ตอนนี้เขาก็เลี่ยงไปใช้อูเบอร์กันหมด เพราะอูเบอร์มันเป็นระบบเดียวกันทั่วโลก คุณดาวน์โหลดโปรแกรมนี้ คุณไปเรียกอูเบอร์แท็กซี่ประเทศไหนก็ได้”

ความเห็นของ ณรงค์ สอดคล้องกับประสบการณ์ที่ จักรพล พรศิริพรรณา คนในวงการเพลงที่ได้รับมาว่า “ผมเจอประจำแหละครับ หากคุณมาแถวพารากอนตอนเย็นๆ แล้วเดินสังเกตตามริมถนน คุณจะเห็นคนต่างชาติยืนเรียกแท็กซี่แล้วส่ายหัวกับปัญหาที่แก้ไม่ตกนี้ ช่างเป็นภาพที่น่าเวทนา ผมรู้สึกทั้งอาย ทั้งโกรธ เพราะนี่คือการทำลายภาพลักษณ์ประเทศที่โฆษณาว่าเป็นเมืองท่องเที่ยว คนขับแท็กซี่ไม่ยอมไปมิเตอร์ เขายกมือชู 5 นิ้วเลย หมายถึงเหมา 500 บาท ครั้งหนึ่ง เขาเคยคิดว่าผมเป็นญี่ปุ่น เปิดประตูรับ แต่พอรู้ว่าเป็นคนไทย ไล่ลงเลย ไม่ส่ง”

ที่ผ่านมา การกำกับดูแลของกรมการขนส่งทางบก เน้นการกำหนดราคาเป็นหลัก (การใช้มิเตอร์) แต่ยังมีข้อด้อยในเรื่องการพิจารณาถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ในการให้บริการที่แตกต่าง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ควรจะก้าวให้ทันเทคโนโลยี เรื่องนี้ ธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ได้พบปัญหาการร้องเรียนในประเด็นการปฏิเสธผู้โดยสาร , การไม่ใช้มาตรมิเตอร์ , สภาพของตัวรถ รวมถึงมารยาทคนขับ ทางกรมฯ จึงมีนโยบายจัดระเบียบแท็กซี่ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการแท็กซี่ทุกรายปรับปรุงการให้บริการให้ดีขึ้น เพื่อสร้างมาตรฐานการบริการของรถแท็กซี่ให้เป็นที่ยอมรับ

ทั้งนี้ จากสถิติการร้องเรียนแท็กซี่ อ้างอิงตัวเลขเดือนมีนาคม 2558 ที่ผ่านมา พบว่าการร้องเรียนอยู่ที่ 1,900-2,000 รายต่อเดือน ลดลงจากเดิมประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เพราะก่อนหน้านี้สถิติการร้องเรียนอยู่ที่ 3,500-4,000 รายต่อเดือน โดยพบว่าหัวข้อร้องเรียนอันดับหนึ่งยังคงเป็นเรื่องการปฎิเสธรับผู้โดยสาร ตามมาด้วยการให้บริการไม่สุภาพ และการขับรถหวาดเสียว

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในสัดส่วนของผู้ร้องเรียนนั้น เป็นชาวต่างชาติถึงร้อยละ 40 เลยทีเดียว

-3-

ขณะที่ผู้ให้บริการ “อูเบอร์” พยายามสร้างมาตรฐานการให้บริการขึ้นมา โดยที่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของข้อกฎหมายทั้งในประเทศไทยและหลายๆ ประเทศ แต่ดูเหมือนว่า ผู้ใช้บริการจำนวนไม่น้อย สามารถมองข้าม “ข้อด้อย” นี้ไปได้ ด้วยประสบการณ์ที่แตกต่างจากเดิม

“จะบอกว่า ยังเป็นสีเทา ไม่ถูกกฎหมาย แต่ก็ต้องถามกลับไปด้วยว่า แล้วสิ่งที่ถูกกฎหมายอย่างรถแท็กซี่ทั่วไปที่ขึ้นทะเบียนโดยนิตินัย แต่โดยพฤตินัยแล้ว เขาไม่ยอมรับผู้โดยสาร ยังเป็นเรื่องถูกกฎหมายหรือเปล่า แล้วต้องดูว่าภาครัฐบังคับใช้กฎหมายได้มั้ย” นครินทร์ ตั้งศรีสุข อาชีพนิติกร ตั้งข้อสังเกต ก่อนจะเสริมว่า

“ปัญหานี้คงไม่เกิดขึ้น หากมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เหมือนในบางประเทศเช่นฮ่องกง ซึ่งเคยมีปัญหาคล้ายๆ เมืองไทย แต่พอภาครัฐเอาจริงเรื่องนี้ มีการปราบปราม จับ และยกเลิกใบอนุญาตอย่างจริงจัง ผลปรากฏว่าทุกวันนี้ ไม่มีปัญหานี้อีกแล้ว จึงต้องถามว่า เมืองไทยจะทำจริงมั้ย ถ้าปัญหาเดิมยังแก้ไม่ได้เสียที ปัญหาใหม่ก็คงจะแก้ได้ยากเหมือนกัน ยิ่งในยุคนี้ที่ใครๆ ก็ติดต่อผ่านออนไลน์กันหมดแล้ว การปราบการจับก็คงยากยิ่งขึ้น”

เพื่อสร้างความพร้อมในการแข่งขัน ผู้ให้บริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่น จึงต้องสร้างฐานคนขับให้มีจำนวนมากขึ้น เช่นกรณีของ ออลไทยแท็กซี่ ซึ่งอาจจะประสบปัญหาจำนวนรถมีไม่เพียงพอในชั่วโมงเร่งด่วน หรือในกรณีของ อูเบอร์ ที่มีแคมเปญเชิญชวนให้เจ้าของรถบ้านมาสมัครขับอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งนี้ เพื่อให้รองรับความต้องการของผู้โดยสารได้อย่างเต็มที่ โดยที่ลูกค้าไม่ต้องรอรถนานจนเกินไป เพราะการเรียกแท็กซี่ผ่านสมาร์ทโฟน ผู้ใช้ต้องวางแผน และต้องไม่เปลี่ยนใจไปเรียกแท็กซี่ทั่วไปเสียก่อน ซึ่งอาจจะถูกปรับเอาได้ง่ายๆ

“คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคยกับสมาร์ทโฟน ดังนั้น ผมคิดว่า ยังไม่มีผลกระทบต่อคนขับแท็กซี่ป้ายเหลืองเท่าใดนัก” มานพ กลิ่นทวี โชเฟอร์แท็กซี่ ซึ่งปัจจุบัน มีรถแท็กซี่ของตนเองให้เช่าหลายคัน แสดงความเห็น “ลองนึกถึงแม่ค้าตามตลาดทั้งหลาย คนงาน หรือชาวบ้านทั่วไป ใครจะมาใช้โทรศัพท์กดแอพพลิเคชั่นเรียกแท็กซี่ เขาไม่เสียเวลารอหรอก คนที่ใช้บริการก็ต้องเป็นอีกสถานภาพหนึ่ง ต้องมีการศึกษา และต้องวางแผนล่วงหน้า ถึงจะเรียกแท็กซี่แบบใหม่ได้ ดังนั้น โดยส่วนตัวผมไม่เคยหนักใจกับการแข่งขันที่ว่า”

มานพ ยังบอกด้วยว่า เรื่องห้ามไม่ให้แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารคงทำได้ยาก แต่ปัญหานี้ก็แก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยการเรียกแท็กซี่คันใหม่ เพราะทุกวันนี้ มีรถแท็กซี่นับแสนคัน อย่างน้อยๆ ก็น่าจะมีสักคันพร้อมให้บริการ ดังเช่นตัวเขาเอง ซึ่งมองว่าการไม่เลือกผู้โดยสาร และให้บริการที่ดีที่สุด อย่างน้อยๆ ก็น่าจะเป็นทางออกหนึ่งของคนทำอาชีพนี้ ด้วยประสบการณ์บนท้องถนนมากว่า 20 ปี เจ้าตัวยังขยายความถึงเคล็ดลับการทำงาน ชนิดไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม (และอูเบอร์) ว่า

“ใครจะใช้วิทยุศูนย์ ใช้โทรศัพท์มือถือ เพื่อหางานก็ทำไปตามความถนัด ผมเป็นคนโลว์เทค ก็ใช้วิธีการเดิมๆ เพราะจริงๆ แล้ว การบริการด้วยใจ และรักในอาชีพจริงๆ ยังไงก็อยู่ได้นะ ผมมีลูกค้าประจำ ที่มีงานเรียกใช้เสมอๆ ให้ไปรับส่งลูก ให้ไปรับสินค้ามาส่ง ให้ไปนั่นไปนี่ เหมาไปต่างจังหวัดก็มี ไปเที่ยวด้วยกันสนุกสนาน ลูกค้าท่านใดขึ้นมานั่ง พอคุยถูกใจขอเบอร์ไปเรียกใช้วันหลัง ก็มีอยู่เสมอๆ ”

ตรงข้ามกับสิงห์สนามอย่าง มานพ ซึ่งต้องขับแท็กซี่แบบเต็มเวลา ทว่าในกรณีของผู้จัดการโรงแรมแห่งหนึ่งในย่านสุขุมวิท ขอระบุนามสมมติว่า พงษ์ศักดิ์ ซึ่งเพิ่งสมัครขับรถให้อูเบอร์เพียง 3 เดือนบอกว่า แค่ขอรายได้เพิ่มเป็น “ค่าเชื้อเพลิง” ในแต่ละวันก็พอใจแล้ว แม้รายได้ของเขา จะถูกทางผู้ให้บริการและวางระบบหักไป 20 เปอร์เซนต์ก็ตาม

“เศรษฐกิจแบบนี้ การสมัครขับรถก็เหมือนช่วยค่าใช้จ่าย ปกติบ้านผมอยู่มหาชัย ขับรถมาทำงานที่สุขุมวิททุกวัน พอมีบริการแบบนี้ ผมลองสมัครไปทดลองขับก็ถือว่าคุ้มนะ เพราะพอถึงเวลาเลิกงาน 5 โมงเย็น ผมเปิดสัญญาณให้บริการ แค่เพียงไม่กี่นาที ก็มีผู้โดยสารเรียกให้ไปรับแล้ว ทำสัก 2-3 ชั่วโมง ผมก็ได้ค่าน้ำมันรถ หรืออย่างตอนเช้าเวลาออกจากบ้านที่มหาชัยมาทำงาน เนื่องจากชั่วโมงทำงานผมยืดหยุ่นพอ บางทีก็มีผู้โดยสารเรียกเข้าเมืองมาพอดี”
สนามแข่งขันบนท้องถนนนี้ จึงมีทั้งมืออาชีพทำงานแบบเต็มเวลา และมือสมัครเล่นที่ทำงานแบบ “พาร์ทไทม์” มาสร้างความร้อนระอุอย่างคึกคักยิ่ง

-4-

“เราทำงาน บางครั้งติดพัน ไปรับลูกไม่ทัน ก็กดจากแอพพลิเคชั่น ปักหมุดเลือกสถานที่รับ และสถานที่ส่ง แล้วโทร.บอกลูกให้ขึ้นรถทะเบียนที่รับแจ้ง แค่นี้ ก็มีคนรับลูกแทนแล้ว” คุณแม่ที่ต้องทำงาน สะท้อนถึงความสะดวกสบายให้ฟัง

“ผมจอดรถทิ้งไว้เลยครับ ในวันที่มีงานเลี้ยงสังสรรค์ตอนค่ำ เพราะนโยบายเมาไม่ขับ กลับแท็กซี่ ช่วยได้ในเรื่องของความปลอดภัย แต่ผมคิดว่า ถ้าเป็นอูเบอร์ มันสะดวกยิ่งขึ้น เพราะไม่ต้องควักกระเป๋าตังค์จ่าย อีกทั้งยังไว้วางใจได้ ด้วยระบบที่วางมาอย่างดี ไม่ต้องกังวลเรื่องจี้ปล้นตอนดึก ทั้งคนขับและคนโดยสาร ถือเป็นการลดความแปลกหน้าไปในตัว” หนุ่มพนักงานออฟฟิศอีกคน บอกเล่าถึงประสบการณ์ของเขา

ไม่ว่าจะมองจากมุมใด บริการรถแท็กซี่ทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ ถือเป็นทางเลือกให้ผู้โดยสารเลือกใช้บริการได้อย่างหลากหลาย และตอบสนองความต้องการที่แตกต่างได้มากขึ้น เหมือนดังที่ ดร. สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยแสดงทัศนะไว้อย่างน่าสนใจว่า แม้บริการของอูเบอร์ผิดกฎหมาย แต่เป็นบริการที่สร้างทางเลือกที่ดี จึงควรกำกับดูแลเพื่อให้ผู้ใช้บริการรถยนต์สาธารณะมีทางเลือกและมีคุณภาพการให้บริการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น การยกข้อกฎหมายมาบังคับใช้ โดยที่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ก็เท่ากับตัดทางเลือกไปอย่างน่าเสียดาย

จะไปยืนโบกแท็กซี่แบบเดิมๆ หรือเลือกจิ้มจากสมาร์ทโฟน ถึงที่สุดแล้ว ทุกคนย่อมปรารถนาเดินทางถึงที่หมายอย่างปลอดภัยเช่นเดียวกัน.